หากคุณกำลังลังเลว่าควรขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายหรือไม่ ควรขริบด้วยวิธีไหนดี บทความนี้จะพาคุณมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการขริบหนังหุ้มปลายในรูปแบบต่างๆ พร้อมข้อดี ข้อเสียของการขริบ เพื่อช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้น
สารบัญ
การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย คืออะไร
การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย หรือที่เรียกว่า Circumcision คือ การผ่าตัดเพื่อนำหนังหุ้มปลายของอวัยวะเพศชายออกบางส่วน เพื่อให้ปลายอวัยวะเพศสามารถเปิดออกได้สะดวกและทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น
การผ่าตัดนี้นอกจากจะช่วยให้ดูแลรักษาความสะอาดได้สะดวกขึ้นแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ และปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ เช่น ปัญหาหนังหุ้มปลายรูดเปิดยาก หรือหนังหนาเกินไปจนเปิดออกเองไม่ได้ จนส่งผลทำให้ปัสสาวะลำบาก
การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายมีกี่แบบ
การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายมีด้วยกัน 4 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้รับบริการ และปัญหาทางสุขภาพต่างๆ ได้แก่
- ขริบเล็กน้อย (Minimal): ขริบหนังหุ้มปลายออกเพียงเล็กน้อย เพื่อช่วยให้สามารถรูดเปิดหนังหุ้มปลายได้ง่ายขึ้น นิยมใช้รูปแบบนี้สำหรับผู้ที่มีปัญหาหนังหุ้มปลายรูดเปิดยาก หรือหนังหุ้มปลายปิด
- ขริบบางส่วน (Partial): ขริบหนังหุ้มปลายออกบางส่วน เพื่อให้ปลายอวัยวะเพศเปิดในขณะแข็งตัว ส่วนเวลาที่อวัยวะเพศอ่อนตัว จะยังเหลือหนังปกปิดส่วนหัวได้บางส่วน
- ขริบแบบหลวม (Loose): ขริบหนังหุ้มปลายออกจนเห็นส่วนหัวชัดเจน แต่ยังมีหนังหุ้มบางส่วนเหลือไว้
- ขริบแบบตึง (Tight): ขริบหนังหุ้มปลายออกจนเกือบหมด ทำให้เห็นส่วนหัวของอวัยวะเพศอย่างชัดเจนตลอดเวลา ในเวลาแข็งตัวจะไม่สามารถขยับผิวหนังขึ้นลงได้เหมือนการขริบแบบหลวม
นอกจาก 4 รูปแบบข้างต้นแล้ว การขริบที่นิยมในปัจจุบันยังแบ่งออกได้เป็น 2 เทคนิค ได้แก่
- ขริบแบบธรรมดา (Circumcision): แพทย์จะใช้มีดเปิดแผลและตัดหนังหุ้มปลายออก จากนั้นเย็บแผลด้วยมือ โดยแผลอาจมีขนาดแตกต่างกันตามประสบการณ์ของแพทย์
- ขริบแบบไร้เลือด (Staple Circumcision): แพทย์จะใช้อุปกรณ์พิเศษที่ช่วยตัดและเย็บหนังหุ้มปลายในขั้นตอนเดียว ทำให้แผลมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย และใช้เวลาไม่นาน
การขริบหนังหุ้มปลายจำเป็นไหม ผู้ชายทุกคนต้องขริบไหม
การขริบหนังหุ้มปลาย ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน แต่หากคุณพบปัญหาหรือภาวะที่เกี่ยวข้องกับหนังหุ้มปลาย เช่น ติดเชื้อบ่อย ทำความสะอาดยาก เกิดภาวะหนังหุ้มปลายตีบ หนังหุ้มปลายรูดเปิดยาก หรือหนังหนาเกินไปจนเปิดออกเองไม่ได้ จนส่งผลทำให้ปัสสาวะลำบาก
การขริบอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในการรักษาและป้องกันปัญหาทางสุขภาพเหล่านี้
การขริบสามารถทำได้ในทุกช่วงวัย โดยใช้เวลาประมาณ 30-60 นาที ซึ่งเป็นการผ่าตัดเล็กที่ไม่ซับซ้อน แต่จะมีความแตกต่างกันที่วิธีการระงับความรู้สึก โดยเด็กแรกเกิด จะใช้ยาชาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ เด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไป ใช้การดมยาสลบ ส่วนผู้ใหญ่ จะใช้ยาชาระงับความรู้สึกเฉพาะที่
ขริบปลายอวัยวะเพศชาย เตรียมตัว – ดูแลตัวเองยังไง อ่านต่อ คลิกเลย!
ข้อดีและข้อเสียของการขริบ
การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย มีทั้งข้อดีและข้อเสีย หรือข้อจำกัดบางประการ รายละเอียดดังนี้
ข้อดีของการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย
- ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อบริเวณหนังหุ้มปลาย และการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ช่วยให้การทำความสะอาดบริเวณปลายอวัยวะเพศง่ายขึ้นและสะอาดกว่าเดิม
- ลดความเสี่ยงจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น การติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
- ลดความเสี่ยงมะเร็งอวัยวะเพศชายที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ HPV
ข้อเสียหรือข้อจำกัดของการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย
- แม้การขริบจะใช้ยาชา หรือยาสลบ แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บหรือแสบในช่วงพักฟื้นได้
- ความเสี่ยงทั่วไปจากการผ่าตัด เช่น แผลติดเชื้อ อาการบวม มีไข้สูง ปัสสาวะไม่ออก ความไวในการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ลดลงในช่วง 2 เดือนแรก ผิวหนังส่วนหัวของอวัยวะเพศแห้ง หนังหุ้มปลายม้วนตัว ขณะมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม โอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนเหล่านี้ค่อนข้างน้อย
ถ้าไม่ขริบเสี่ยงโรคอะไร
หากไม่ขริบหนังหุ้มปลายอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางอย่าง ได้แก่
- การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ: การสะสมของคราบไขมัน หรือสารคัดหลั่งภายในหนังหุ้มปลาย อาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปลายอวัยวะเพศหรือทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถทำความสะอาดได้ดี
- การติดเชื้อที่หนังหุ้มปลาย: การสะสมของคราบไขมัน หรือสารคัดหลั่งในบริเวณหนังหุ้มปลายอาจทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อที่หนังหุ้มปลาย (Balanitis) จนเกิดอาการบวม แดง และเจ็บได้
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์: มีการศึกษาพบว่า การขริบช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น ซิฟิลิสและเริมได้ เนื่องจากหนังหุ้มปลายอาจเป็นที่สะสมของเชื้อแบคทีเรียและไวรัส ซึ่งการขริบช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์
- ภาวะหนังหุ้มปลายตีบ: หากไม่ขริบและมีภาวะหนังหุ้มปลายตีบ (Phimosis) ซึ่งทำให้ไม่สามารถรูดหนังหุ้มปลายลงได้ อาจทำให้เกิดปัญหาในการทำความสะอาดและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือเกิดอาการเจ็บปวดในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์
- โรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย: การติดเชื้อ HPV (Human Papillomavirus) เป็นปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคมะเร็งอวัยวะเพศชาย ซึ่งการขริบเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ได้ ฉะนั้นผู้ที่ไม่ขริบ ก็อาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งอวัยวะเพศได้สูงกว่าผู้ที่ขริบแล้ว
- ปัญหาการทำความสะอาด: อาจทำให้ทำความสะอาดบริเวณใต้หนังหุ้มปลายได้ยากขึ้น ซึ่งทำให้มีโอกาสสะสมของสิ่งสกปรก คราบไขมัน และเชื้อโรคมากขึ้น อาจทำให้เกิดการระคายเคือง หรือการติดเชื้อในระยะยาว
จะเห็นได้ว่าการขริบส่งผลดีต่อสุขภาวะทางเพศค่อนข้างมาก หากคุณกำลังตัดสินใจจะขริบหนังหุ้มปลายเพื่อประโยชน์ในระยะยาว แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อช่วยประเมินว่า การขริบรูปแบบใด เหมาะกับคุณมากที่สุด
ขริบรูปแบบไหนดี? วิธีไหนเสี่ยงน้อย แต่ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดสำหรับเรา? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย