prostate cancer treatment comparison

4 วิธีรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ฉายแสง ฮอร์โมนบำบัด คีโม ผ่าตัด

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นโรคมะเร็งอันดับต้นๆ ที่พบได้บ่อยในเพศชาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหลายด้าน อย่างไรก็ตาม การตรวจพบโรคนี้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้

การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มีหลากวิธีด้วยกัน แต่วิธีที่เป็นที่นิยม มีทั้งหมด 4 วิธี ได้แก่ 

  • การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการฉายแสง
  • การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการใช้ฮอร์โมนบำบัด 
  • การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด 
  • การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการผ่าตัด

แต่ละวิธีต่างกันอย่างไร เหมาะกับผู้ป่วยระยะไหน ข้อดี ข้อจำกัด ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร ดูรายละเอียดได้ในบทความนี้ 

สารบัญ

1. การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการฉายแสง

การใช้รังสีบำบัด (Radiation Therapy) หรือที่นิยมเรียกว่า “การฉายแสง” คือ การฉายคลื่นรังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายสารพันธุกรรมในเซลล์มะเร็งไม่ให้สามารถเจริญเติบโตและซ่อมแซมตนเองได้อีก และทำให้เซลล์มะเร็งตายลงในที่สุด สามารถแบ่งวิธีการฉายได้ 2 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่

  • การฝังแร่ (Brachytherapy) โดยแพทย์จะใส่อุปกรณ์ที่มีเม็ดกัมมันตรังสีอยู่ภายในและเป็นแหล่งกำเนิดของรังสีรักษาเข้าไปในต่อมลูกหมากของผู้ป่วย
  • การฉายรังสีระยะไกล (External Beam Radiation Therapy: EBRT) เป็นการฉายรังสีรักษาจากเครื่องฉายรังสีเข้าไปยังร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งสามารถปรับความเข้มข้นของรังสีตามความหนาและขนาดของก้อนมะเร็งได้

การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการฉายแสง เหมาะกับใคร?

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกๆ หรือระยะที่ตรวจพบเซลล์มะเร็งยังอยู่ในต่อมลูกหมาก และยังไม่แพร่กระจายไปไหน
  • ผู้ป่วยที่รักษาโดยใช้วิธีฮอร์โมนบำบัดบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การฉายแสงควบคู่ไปด้วย
  • ผู้ป่วยที่เคยรักษาโรคด้วยวิธีผ่าตัด แต่เซลล์มะเร็งยังกลับมาเจริญเติบโตอีก
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะรุนแรง แพทย์อาจใช้การฉายแสงเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไม่ให้ลุกลามไปกว่าเดิม

ข้อดีของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการฉายแสง

  • ผลการรักษาในแง่การควบคุมเซลล์มะเร็งในระยะแรกๆ จะมีแนวโน้มใกล้เคียงกับวิธีผ่าตัด
  • ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดได้
  • ไม่เสียเลือด ไม่มีบาดแผลผ่าตัด และไม่ต้องดมยาสลบในการรักษา

ข้อจำกัดของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการฉายแสง

  • อาจต้องใช้วิธีรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย จึงจะเห็นผลการรักษาที่ชัดเจน
  • ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุมากๆ หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆ ที่ยังประคองอาการไม่ได้อาจต้องใช้วิธีรักษาอื่น เพื่อป้องกันอาการข้างเคียงหลังการรักษาที่รุนแรง
  • สำหรับการการฉายรังสีระยะไกล ผู้ป่วยต้องเดินทางไปฉายแสงติดต่อกันทุกวันให้ครบจำนวนครั้งที่แพทย์กำหนด ซึ่งจำนวนครั้งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปประมาณ 25 ครั้งขึ้นไป

ผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการฉายแสง

เนื่องจากรังสีที่ส่งเข้าไปทำลายเซลล์มะเร็งที่ต่อมลูกหมาก อาจแผ่ไปถึงอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ จึงอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น

  • กลั้นปัสสาวะไม่ได้
  • ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • ท้องเสีย
  • ปวดแสบที่ทวารหนัก เนื่องจากเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้กับต่อมลูกหมาก
  • สมรรถภาพทางเพศลดลง หรืออวัยวะเพศชายแข็งตัวยากขึ้น

ค่าใช้จ่ายของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการฉายแสง

ค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของการฉายแสงรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะอยู่ที่ 100,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับแผนการรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย และเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล

2. การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการใช้ฮอร์โมนบำบัด

ฮอร์โมนบำบัด (Hormone Therapy) ในกรณีเพื่อการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก จะเป็นการใช้ยาเพื่อลดปริมาณและยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนเพศชาย หรือฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่อาจกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเติบโตมากขึ้น หรือในบางกรณี แพทย์อาจใช้วิธีรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัดในรูปแบบของการผ่าตัดอัณฑะ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย

การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการใช้ฮอร์โมนบำบัด เหมาะกับใคร?

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรก หรือระยะที่เซลล์มะเร็งยังอยู่ในต่อมลูกหมาก 
  • ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฉายแสง แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีฮอร์โมนบำบัดร่วมด้วย เพื่อให้เห็นผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ผู้ป่วยที่เคยรักษาโรคด้วยวิธีผ่าตัดหรือวิธีฉายแสง แต่เซลล์มะเร็งยังกลับมาเติมโตอีก
  • ผู้ป่วยที่ระยะของโรคมะเร็งลุกลามรุนแรง และไม่สามารถใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการฉายแสงได้อีก แพทย์อาจเลือกใช้การทำฮอร์โมนบำบัดเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง

ข้อดีของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการใช้ฮอร์โมนบำบัด

  • เป็นวิธีรักษาที่ค่อนข้างสะดวก โดยผู้ป่วยเพียงเดินทางมาฉีดยาหรือรับยาตามที่แพทย์นัดเท่านั้น
  • ใช้เป็นตัวช่วยเสริมให้วิธีรักษาอื่นๆ เห็นผลมากขึ้น

ข้อจำกัดของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการใช้ฮอร์โมนบำบัด

  • มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก
  • มีโอกาสทำให้เกิดผลข้างเคียงได้หลายประการ รวมถึงอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

ผลข้างเคียงการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการใช้ฮอร์โมนบำบัด

  • สมรรถภาพทางเพศลดลง หรือความต้องการทางเพศลดลง
  • เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น โรคกระดูกพรุน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
  • อาการอ่อนเพลีย
  • อาการร้อนวูบวาบ
  • น้ำหนักลด
  • ภาวะอารมณ์แปรปรวน หรือภาวะซึมเศร้า

ค่าใช้จ่ายของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการใช้ฮอร์โมนบำบัด

ค่าใช้จ่ายสำหรับยาฮอร์โมนบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะขึ้นอยู่กับแผนการรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย และเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล 

3. การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด

การให้ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) หรือที่นิยมเรียกกันในชื่อ “ทำคีโม” คือ การรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ทำให้มะเร็งไม่สามารถแบ่งเซลล์แพร่กระจายตัวเพิ่มได้อีก และตายในที่สุด โดยส่วนมากนิยมใช้เป็นชุดยาให้ทางหลอดเลือด แต่ละชุดจะใช้เวลาในการรักษา 1-5 วัน แต่ละชุดห่างกัน 3-4 สัปดาห์

การให้ยาเคมีบำบัดมักไม่ใช่ตัวเลือกการรักษาแรกในการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื่องจากมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก แต่มักใช้รักษาในผู้ป่วยที่ระยะของโรคอยู่ในขั้นรุนแรงมากแล้ว หรือในระยะที่เซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายออกจากต่อมลูกหมากไปค่อนข้างมากแล้ว

การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด เหมาะกับใคร?

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่ระยะของโรคมะเร็งอยู่ในขั้นลุกลาม 
  • ผู้ป่วยที่กำลังเตรียมการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ในช่วงก่อนผ่าตัด แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยยาเคมีบำบัดก่อนเพื่อลดขนาดก้อนมะเร็ง ทำให้การผ่าตัดง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้น
  • ผู้ป่วยที่เคยรักษาด้วยวิธีผ่าตัดบางราย อาจได้รับคำแนะนำให้รักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัดหลังการผ่าตัดด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งกลับมาเจริญเติบโตซ้ำอีก
  • ผู้ป่วยที่ใช้วิธีรักษาด้วยยาฮอร์โมนบำบัดอาจได้รับคำแนะนำให้ใช้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อให้เห็นผลการรักษาที่ชัดเจน

ข้อดีของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด

เป็นอีกวิธีรักษาที่ช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดโอกาสกลับมาเป็นโรคมะเร็งซ้ำอีกได้

ข้อจำกัดของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด

  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้น แพทย์มักยังไม่พิจารณาให้รักษาด้วยวิธีนี้
  • ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ มีบาดแผลตามร่างกาย ยาเคมีบำบัดอาจไปกดภูมิคุ้มกันให้อ่อนแอลง หรือทำให้บาดแผลหายช้า
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเป็นโรคตับหรือโรคไต ต้องแจ้งประวัติสุขภาพและประวัติโรคประจำตัวกับแพทย์ล่วงหน้าก่อน เนื่องจากตัวยาอาจไปส่งผลกระทบต่อโรคประจำตัวเดิมได้

ผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด

  • ผมร่วง
  • อ่อนเพลีย
  • เวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • มีแผลในปาก
  • เบื่ออาหาร
  • ติดเชื้อง่ายขึ้น เนื่องจากภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำลง
  • เกิดรอยฟกช้ำได้ง่ายขึ้น
  • ภาวะไตวาย

ค่าใช้จ่ายของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด

ค่าใช้จ่ายในการใช้ยาเคมีบำบัดรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะเริ่มต้นที่ 50,000 บาทขึ้นไปต่อรอบการรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาลด้วย

4. การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer Surgery) เป็นอีกวิธีรักษาที่นิยมใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น ในปัจจุบันสามารถแบ่งรูปแบบการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้ 3 รูปแบบหลักๆ ได้แก่

  • การผ่าตัดแบบเปิด เป็นการผ่าตัดเปิดแผลทางช่องท้องเพื่อตัดนำต่อมลูกหมาก ท่อน้ำเชื้อ ถุงพักน้ำเชื้อ รวมถึงต่อมน้ำเหลืองออกมา ปัจจุบันไม่ค่อยนิยมใช้การผ่าตัดแบบนี้นัก เนื่องจากมีแผลผ่าตัดค่อนข้างใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยเจ็บแผลมากกว่า เสียเลือดมากกว่า รวมถึงมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าด้วย
  • การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยการส่องกล้อง (Transurethral Resection: TUR) เป็นการผ่าตัดเพื่อสอดกล้องผ่าตัดที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก พร้อมขดลวดไฟฟ้าที่สามารถตัดจี้นำก้อนมะเร็งซึ่งอยู่ในระยะเริ่มต้นออกมาได้ และยังสามารถห้ามเลือดได้ในเวลาเดียวกันอีกด้วย
  • การผ่าตัดต่อมลูกหมาก พร้อมเลาะต่อมน้ำเหลืองออกด้วยการส่องกล้อง (Laparoscopic Radical Prostatectomy) เป็นการเจาะเปิดรูแผลขนาดเล็ก 3-5 รูที่หน้าท้อง เพื่อสอดกล้องผ่าตัดกำลังขยายสูง และเครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กเข้าไปตัดเลาะนำต่อมลูกหมากพร้อมต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับผลกระทบจากโรคมะเร็งออก 

การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการผ่าตัด เหมาะกับใคร?

วิธีผ่าตัดเป็นวิธีรักษาที่นิยมใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้น หรือเซลล์มะเร็งยังไม่ลุกลามออกนอกต่อมลูกหมาก

ข้อดีของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการผ่าตัด

  • ในปัจจุบันนิยมใช้เป็นเทคนิคผ่าตัดส่องกล้องซึ่งมีจุดเด่นด้านแผลผ่าตัดที่เล็ก ทำให้เจ็บน้อยกว่า ใช้เวลาฟื้นตัวไม่นาน และมีความแม่นยำในการผ่าตัดสูง
  • สามารถรักษาร่วมกับวิธีอื่นๆ ได้ ทำให้โอกาสหายจากโรคเพิ่มสูงขึ้น เช่น การใช้ฮอร์โมนบำบัด การใช้ยาเคมีบำบัด

ข้อจำกัดของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการผ่าตัด

แม้การผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะให้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี แต่ผู้ป่วยบางรายก็ไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้ เช่น

  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ 
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีโรคท่อปัสสาวะตีบร่วมด้วย 
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีโรคทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • ผู้ป่วยที่โรคมะเร็งต่อมลูกหมากอยู่ในระยะลุกลาม

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางโรคซึ่งต้องใช้ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านเกล็ดเลือด จำเป็นต้องแจ้งประวัติสุขภาพ รวมถึงปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนการรักษา

ผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการผ่าตัด

โดยส่วนมากผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากจะเป็นอยู่เพียงระยะแรกๆ เท่านั้น หลังจากนั้นอาการก็จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • อาการข้างเคียงจากการดมยาสลบ เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน 
  • แผลมีเลือดออก 
  • ปัสสาวะมีเลือดปน
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ท้องผูก
  • ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ภาวะมีบุตรยาก

ค่าใช้จ่ายของการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยการผ่าตัด

ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจะอยู่ที่ประมาณ 86,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล รวมถึงเทคนิคการผ่าตัดที่แพทย์เลือกใช้

จะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีวิธีรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหลายวิธี นอกจากนี้บางวิธีอาจใช้ร่วมกันได้ เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาที่ดียิ่งขึ้น 

ดังนั้นหากเริ่มเห็น สัญญาณเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เช่น ปัสสาวะไม่ออก กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะมีเลือดปน ให้รีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะการตรวจพบโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกๆ มีโอกาสที่จะรักษาให้หายได้สูงกว่า 

ฉี่แสบขัด ฉี่ลำบาก มีเลือดปน ฉี่ไม่พุ่ง อยากเช็กให้ชัวร์ ว่าอาการแบบนี้เข้าข่ายโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือเปล่า? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top