อันตรายของไซยาไนด์ ออกฤทธิ์ต่อร่างกายยังไง

คุณคงได้ยินชื่อสารไซยาไนด์มาบ้างและคงเข้าใจนิยามของมันแค่ว่า เป็นสารอันตรายที่ควรอยู่ห่างเพราะอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

สารบัญ

ไซยาไนด์คืออะไร?

ไซยาไนด์ (Cyanide) เป็นสารเคมีที่มีพิษซึ่งประกอบขึ้นจากสารคาร์บอน (Carbon) และไนโตรเจน (Nitrogen) หรืออาจเกิดจากการทำปฏิกิริยาของสารเคมีจากธรรมชาติก็ได้

สารไซยาไนด์มีอยู่ในตัวสัตว์หลายชนิด เช่น ตะขาบย ผีเสื้อราตรี กิ้งกือ แมลงปีกแข็ง สัตว์เหล่านี้จะปล่อยสารไซยาไนด์ออกมาเพื่อป้องกันตัวจากศัตรู

แม้แต่ในร่างกายของมนุษย์ก็มีสารไซยาไนด์ประกอบอยู่ด้วยเช่นกัน เช่น น้ำลาย น้ำปัสสาวะ น้ำย่อย

พิษของไซยาไนด์ที่เราทุกคนต้องระมัดระวังไม่ได้มาจากธรรมชาติ แต่มักเกิดจากการเผาไหม้ ท่อไอเสีย ควันบุหรี่ หรือกระบวนการทางเคมีสำหรับอุตสาหกรรมบางอย่าง

ประเภทของไซยาไนด์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ไซยาไนด์มีหลายประเภท ตัวอย่างประเภทไซยาไนด์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์มีดังนี้

โซเดียมไซยาไนด์ (Sodium cyanide: NaCN)

เป็นไซยาไนด์ในรูปของแข็งสีขาว หรือเป็นผลึก ไม่มีสี ละลายน้ำได้ดีจึงทำให้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ดิน หรือท่อระบายน้ำได้ง่าย และเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ

โซเดียมไซยาไนด์มักนิยมใช้ในอุตสาหกรรมชุบโลหะด้วยไฟฟ้า เมื่อสลายตัวแล้วจะให้สารเคมีชื่อว่า “กรดไฮโดรไซยานิก” ซึ่งเป็นอันตรายสูงมาก

โพแทสเซียมไซยาไนด์ (Potassium cyanide: KCM)

เป็นไซยาไนด์ในรูปของแข็งสีขาว มีลักษณะคล้ายผงดูดความชื้น ละลายน้ำได้ดี เป็นพิษต่อสัตว์น้ำและเป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำของชุมชน

โพแทสเซียมไซยาไนด์มักนิยมใช้ในอุตสาหกรรมชุบโลหะด้วยไฟฟ้า การสกัดแร่ทองและเงิน ผลิตสีย้อม สารกำจัดแมลง หากสัมผัสนานๆ รวมถึงเป็นอันตรายถึงชีวิตหากกลืนกิน สัมผัส หรือสูดดมเข้าไป

นอกจากนี้หากโพแทสเซียมไซยาไนด์เมื่อได้สัมผัสกับกรดก็จะก่อให้เกิดก๊าซที่เป็นพิษสูง ผู้ที่หายใจเข้าไปต้องรีบออกไปในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ทันที

สารไซยาไนด์หากสูดดมนานเกิน 10 นาที – 1 ชั่วโมง มีโอกาสที่ระบบทางเดินหายใจของผู้สูดดมจะผิดปกติถึงขั้นเสียชีวิตได้ หรือหากสูดดมสารไซยาไนด์ในปริมาณ 2,000 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ก็อาจเสียชีวิตได้ภายใน 1 นาที

ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide: HCN)

เป็นไซยาไนด์ในรูปแบบก๊าซพิษ ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน สามารถพบได้ในควันบุหรี่ซึ่งสามารถเข้าไปทำลายเยื่อบุผิวหลอดลมส่วนปลายและถุงลม จนทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบหรือโรคถุงลมโป่งพองได้

ไฮโดรเจนไซยาไนด์มักใช้กันในอุตสาหกรรมทำเหมืองทอง สารกำจัดแมลง การผลิตมันสำปะหลัง

สารไซยาโนเจนคลอไรด์(cyanogen chloride: CNCl)

เป็นไซยาไนด์ของเหลวหรืออาจเป็นก๊าซ ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน ละลายน้ำได้ดี มักนิยมใช้ในอุตสาหกรรมชุบโลหะ ผลิตเส้นใยอะคริลิค สารกำจัดแมลง

สารไซยาโนเจนคลอไรด์ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหลายด้าน เช่น สามารถก่อให้เกิดอาการระคายเคืองตาจนเยื่อบุตาอักเสบได้

นอกจากนี้สารดังกล่าวยังเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจได้ถึงขั้นทำให้น้ำท่วมปอด สูญเสียการทรงตัว ความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งเลือดไหลผิดปกติที่หลอดลมใหญ่และหลอดลมฝอย

พิษของสารไซยาไนด์ต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย

โดยหลักๆ สารไซยาไนด์จะเข้าไปทำพิษต่อระบบทางเดินหายใจของผู้ที่สูดดม จนทำให้เซลล์ของร่างกายขาดออกซิเจนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้

อาการของผู้ป่วยจะร้ายแรงขนาดไหน ขึ้นอยู่กับระดับพิษและความเข้มข้นของไซยาไนด์ที่รับเข้าร่างกาย โดยอาการที่แสดงออกมาตามระบบต่างๆ จะมีดังต่อไปนี้

ระบบหัวใจและหลอดเลือด

พิษไซยาไนด์สามารถก่อให้เกิดอาการเจ็บ หรือแน่นหน้าอก อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ ความโลหิตต่ำ คลื่นไฟฟ้าหัวใจมีการเปลี่ยนแปลง เกิดภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัว ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ชีพจรอ่อน หัวใจหยุดเต้น

ระบบทางเดินหายใจ

เมื่อสูดดมไซยาไนด์เข้าไปมากๆ อัตราการหายใจอาจช้าผิดปกติหรือเร็วเกินไป หายใจติดขัด หอบ เกิดภาวะระบายลมหายใจเกิน เกิดภาวะน้ำท่วมปอด และขาดออกซิเจน

ระบบผิวหนัง

หากสัมผัสสารไซยาไนด์ พิษของสารชนิดนี้จะทำให้เกิดผื่นนูนขึ้นตามผิวหนัง อาการคันระคายเคือง เหงื่อออกมาก อุหณภูมิร่างกายลดลง ใบหน้ากับปากซีด แสบร้อนในปาก และลำคอ

ระบบการมองเห็น

การสัมผัส หรืออยู่ใกล้พิษไซยาไนด์เป็นเวลานานๆ สามารถส่งผลให้จอประสาทตาเสีย จอประสาทตาถูกทำลาย ม่านตาขยาย กระจกตาบวม หรืออักเสบ และการมองเห็นลดลง

ระบบประสาท

เมื่อสูดดมไซยาไนด์เข้าไปมากๆ จะก่อให้เกิดอาการมึนงง สับสน กระวนกระวาย เซื่องซึม ปวดศีรษะ อาเจียน หมดสติ รู้สึกตัวน้อยลง เวียนศีรษะแบบบ้านหมุน เกิดอาการโรคพาร์กินสัน โคม่า และชัก

ระบบทางเดินอาหาร

พิษไซยาไนด์สามารถก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย น้ำลายฟูมปาก และการเผาผลาญสารอาหารเพื่อนำไปสร้างพลังงานลดลง

นอกจากนี้สารไซยาไนด์ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ อาจทำให้เกิดโรคคอพอกได้ อีกทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับสารไซยาไนด์เข้าไป ยังส่งผลต่อพัฒนาของทารกในครรภ์ด้วย

ผักผลไม้ที่มีสารไซยาไนด์ประกอบอยู่

มีผักผลไม้บางชนิดที่มีสารไซยาไนด์ประกอบอยู่ และควรรับประทานอย่างระมัดระวัง หรือควรปรึกษาแพทย์เสียก่อนว่า สามารถรับประทานในปริมาณเท่าใด เช่น แอปเปิล เชอร์รี ผลแอปพริคอต ถั่วอัลมอนด์ หน่อไม้ เมล็ดพลัม ลูกพีช

กลุ่มผู้ที่เสี่ยงรับสารไซยาไนด์เข้าร่างกาย

กลุ่มผู้ที่ทำอาชีพเสี่ยงรับสารไซยาไนด์มากที่สุด ได้แก่

  • ผู้ทำงานในร้านถ่ายรูป ห้องล้างรูป
  • ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมรมควัน รมยา (Fumigation) เช่น โรงงานผลิตลังไม้ ตู้คอนเทนเนอร์ กล่องไม้ ยากำจัดแมลง
  • ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
  • ผู้ที่ทำงานในอุตสหกรรมเกี่ยวกับพลาสติก หรืออะคริลิค
  • ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมโลหะ (Metallurgy)
  • ผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมผลิตน้ำตายาทาเล็บ
  • ผู้ที่ทำงานปลูกมันสำปะหลัง
  • พนักงานกำจัดแมลง
  • พนักงานดับเพลิง

การปฐมพยาบาลผู้ที่สัมผัสสารไซยาไนด์

ขั้นแรกให้นำผู้ป่วยออกไปในที่อากาศบริสุทธิ์ ไม่มีการปนเปื้อนของสารไซยาไนด์ จากนั้นให้คอยสังเกตอาการ หากเป็นการรับพิษโดยการรับประทานแต่ยังไม่หมดสติ ให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาและให้รับออกซิเจนเพิ่ม

นอกจากนี้ให้ผู้ป่วยเปลี่ยนเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนสารไซยาไนด์ด้วย แต่หากผู้ป่วยหมดสติ ไม่หายใจแล้ว ต้องรีบให้ออกซิเจนเพิ่ม โดยใช้เครื่องช่วยหายใจและพาไปพบแพทย์ทันที

การรักษาผู้ป่วยที่รับสารไซยาไนด์เข้าไป

การรักษาผู้ป่วยที่รับสารไซยาไนด์แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ

1. รักษาโดยช่วยให้ร่างกายผู้ป่วยกลับมาทำงานได้ตามปกติ (Supportive treatment)

การรักษาแนวทางนี้ จะเน้นทำให้ระบบในร่างกายผู้ป่วยที่เสียหายกลับมาทำงานตามปกติ เช่น

  • เปิดทางเดินหายใจผู้ป่วยให้โล่งขึ้น
  • การนวดหัวใจให้ระบบไหลเวียนเลือดกลับมาทำงานตามปกติ
  • ให้ออกซิเจนหากผู้ป่วยหายใจช้า ตัวเขียว หรือร่างกายยังรับออกซิเจนไม่เพียงพอ
  • ให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเพื่อเพิ่มระดับความดันโลหิตให้ขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • ให้ยากันชัก เช่น ยาไดอะซีแพม (Diazepam)

2. รักษาโดยให้ยารักษาเฉพาะเจาะจง (Specific treatment)

อาจใช้วิธีจ่ายยาหรือให้สารเคมีที่ช่วยทำลายสารไซยาไนด์ในร่างกายได้ รวมถึงบำรุงระบบของร่างกายในส่วนที่เสียหายจากการรับสารพิษให้กลับมาทำงานได้อีกครั้ง เช่น

  • ให้สารโซเดียมไทโอซัลเฟต (Sodium Thiosulfate) ทางหลอดเลือดดำ เพื่อเปลี่ยนสารไซยาไนด์ในร่างกายให้เป็นสารโซเดียมไทโอไซยาเนท (Sodium Thiocyante) และถูกขับออกโดยทางไตอย่างไรก็ตาม สารโซเดียมไทโอซัลเฟตอาจส่งผลข้างเคียง ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการแสบร้อนบริเวณที่ฉีดยา เป็นตะคริว รวมถึงคลื่นไส้อาเจียนได้
  • เพิ่มสาร หรือยาที่ช่วยเพิ่มเมทฮีโมโกลบิน (Methemoglobin) ในร่างกาย เพื่อเข้าไปจับสารไซยาไนด์แล้วขับออกทางปัสสาวะ จากนั้นจะปรับให้เซลล์ในร่างกายกลับมาใช้ออกซิเจนในการขับเคลื่อนระบบการทำงานอีกครั้ง (Aerobic Metabolism)การเพิ่มเมทฮีโมโกลบินในร่างกายจำเป็นต้องรักษาอย่างระมัดระวัง เพราะการเพิ่มระดับเมทฮีโมโกลบินมากเกินไปร่วมกับสารไซยาไนด์ในร่างกาย อาจทำให้เกิดภาวะพร่องออกซิเจนจนเสียชีวิตได้

วิธีป้องกันตนเองจากสารไซยาไนด์

วิธีป้องกันสารที่มีส่วนผสมของไซยาไนด์อยู่นั้นไม่ยาก เพียงทำตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ในบ้าน โรงงาน หรือที่ทำงานให้พร้อม
  • ใช้สารดับเพลิงที่ไม่ทำปฏิกิริยากับสารไซยาไนด์
  • สูบบุหรี่ในที่ที่ถูกจัดไว้ ไม่สูบในห้อง ในบ้าน หรือบนเตียงนอน เพราะอาจเกิดเพลิงไหม้ได้
  • เก็บสารที่มีส่วนผสมของไซยาไนด์ไว้ในที่มิดชิด และพ้นมือเด็ก รวมถึงเก็บไว้ในที่แห้ง อากาศถ่ายเทสะดวก
  • แปะป้ายสัญลักษณ์ “เขตอันตราย” หรือ “วัตถุอันตราย” ไว้ในบริเวณที่มีสารไซยาไนด์ หรือที่เก็บสารไซยาไนด์
  • หากต้องทำงานในบริเวณที่มีสารไซยาไนด์ ให้สวมถุงมือ หน้ากาก หรือชุดป้องกันสารพิษขณะทำงาน
  • หากอยู่ในโรงงานที่มีการใช้สารไซยาไนด์ ควรเข้าร่วมหรือจัดให้มีการฝึกอบรมและฝึกซ้อมภาคปฏิบัติกรณีสารไซยาไนด์รั่วไหล หรือเกิดเพลิงไหม้ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
    และเตรียมยาหรือชุดปฐมพยาบาลไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถประคองอาการผู้รับสารไซยาไนด์เข้าร่างกายก่อนไปถึงโรงพยาบาลได้

ความจริงแล้วสารไซยาไนด์ไม่ได้อยู่ไกลจากตัวคุณหรือคนในครอบครัวเลย แต่ล้วนแฝงอยู่ในข้าวของเครื่องใช้รอบตัว รวมถึงผักผลไม้ที่ใช้รับประทานหลายอย่าง การเรียนรู้ข้อมูลของไซยาไนด์และวิธีป้องกันตนเองจากสารอันตรายชนิดนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณควรศึกษาไว้

Scroll to Top