เชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) เป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคเอดส์ (AIDS) เมื่อร่างกายของเราได้รับเชื้อ HIV เข้าไปแล้ว เชื้อจะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว (CD4) และระบบภูมิคุ้มกันให้เกิดการบกพร่อง ทำให้สภาพร่างกายค่อยๆ อ่อนแอลง จึงเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ง่าย ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HIV ผู้ป่วยติดเชื้อส่วนใหญ่จึงไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ และอาจนำไปสู่โรคเอดส์ในภายหลังได้
วิธีเดียวที่จะรู้ว่าติดเชื้อหรือไม่นั้น คือการตรวจหาเชื้อ HIV โดยเฉพาะ ในบทความนี้ HDmall.co.th ได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตรวจ HIV มาสรุปให้แบบเข้าใจง่าย ทั้งประเภทของการตรวจ การเตรียมตัวตลอดจนขั้นตอนการตรวจ รวมถึงข้อควรรู้อื่นๆ อีกมากมายมาฝากกัน
สารบัญ
ตรวจ HIV คืออะไร?
การตรวจ HIV คือ การนำสารคัดหลั่งจากร่างกายไปตรวจหาเชื้อ HIV ในห้องปฏิบัติการ โดยสามารถเก็บตัวอย่างได้จากการขูดเซลล์หรือน้ำลายในช่องปาก แต่ที่นิยมในปัจจุบัน คือ การตรวจจากเลือด ซึ่งมีให้บริการทั่วไปตามคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ นอกจากนี้หากไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ก็สามารถปรึกษาเภสัชกรเพื่อซื้อชุดตรวจ HIV แบบตรวจด้วยตัวเองมาใช้ได้ แต่หากได้รับผลเป็นบวกก็ยังคงต้องตรวจยืนยันผลอีกครั้งในห้องปฏิบัติการเช่นกัน
ทำไมต้องตรวจ HIV?
โดยทั่วไปผู้ติดเชื้อ HIV จะไม่แสดงอาการให้เห็นชัดเจน กว่าอาการจะเริ่มแสดงออกมาโรคก็อาจลุกลามรุนแรงมากขึ้นแล้ว ภูมิคุ้มกันลดลงต่ำมาก จนเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมซิสติส (Pneumocystis Carinii Pneumonia : PCP) วัณโรค (Tubercolosis) เชื้อไวรัสขึ้นจอประสาทตา เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงรับเชื้อ HIV จึงควรเข้ารับการตรวจ HIV โดยเร็วที่สุด หากพบเชื้อก็จะได้วางแผนการรักษาและดูแลตัวเองได้ทันก่อนที่อาการจะลุกลามมากขึ้น
ตรวจ HIV มีกี่แบบ?
การตรวจวินิจฉัยเชื้อ HIV โดยห้องปฏิบัติการในปัจจุบันมี 4 แบบหลักๆ ได้แก่
- การตรวจหาแอนติเจนของเชื้อ HIV (HIV p24 Antigen Testing) คือการตรวจโปรตีนของเชื้อที่ชื่อว่า p24 Antigen วิธีนี้ใช้สำหรับตรวจการติดเชื้อในระยะแรก ซึ่งร่างกายผู้ได้รับเชื้อยังไม่สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อ HIV (Anti-HIV) หรือร่างกายมีระดับแอนติบอดีที่ต่ำจนไม่สามารถตรวจวัดได้ โดยสามารถตรวจได้ภายหลังการติดเชื้อประมาณ 14-15 วัน
- การตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อ HIV (Anti-HIV Testing) คือการตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) ของร่างกายที่สร้างขึ้นมาเมื่อมีเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกาย และเป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน สามารถทราบผลได้ใน 1-2 ชั่วโมง โดยสามารถตรวจพบได้หลังการติดเชื้อประมาณ 3-4 สัปดาห์
- การตรวจโดยใช้ชุดตรวจแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อ HIV และตรวจแอนติเจนของเชื้อพร้อมกัน (HIV Ag/Ab Combination Assay) หรือเรียกอีกอย่างว่า ตรวจแบบใช้น้ำยา Fourth Generation ซึ่งเป็นการตรวจ Anti-HIV และ HIV p24 Antigen ในคราวเดียวกัน ปัจจุบันน้ำยาประเภทนี้มีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยสามารถตรวจพบเชื้อได้เร็วที่สุด 14-15 วัน หลังติดเชื้อ
- การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ HIV (Nucleic Acid Amplification Testing: NAT) สำหรับการตรวจ HIV RNA หรือ Proviral DNA นี้มีการใช้เพื่อติดตามปริมาณไวรัส (Viral Load) ก่อนและหลังการรักษา ซึ่งเป็นวิธีที่มีความรวดเร็วมาก สามารถตรวจการติดเชื้อได้ตั้งแต่ 3-7 วันหลังติดเชื้อโดยไม่ต้องรอ 14 วัน แพทย์มักจะนิยมใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการรับเชื้อ HIV และใช้ในการตรวจคัดกรองเลือดผู้บริจาคโลหิต
ตรวจ HIV หลังเสี่ยงกี่วัน?
ส่วนมากการตรวจ HIV ในปัจจุบันสามารถพบเชื้อได้หลังรับมาภายใน 30 วัน โดยอาจมีความแตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้
- การตรวจแบบ NAT สามารถตรวจพบเชื้อหลังเสี่ยงมาเกิน 7 วัน
- การตรวจหา Antibody สามารถตรวจพบเชื้อหลังเสี่ยงมาเกิน 21-30 วันขึ้นไป
- การตรวจแบบใช้น้ำยา Fourth Generation สามารถตรวจได้เร็วสุดตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังรับเชื้อ
อย่างไรก็ตาม แม้ตรวจในรอบแรกจะไม่พบเชื้อ แต่ก็ควรมาตรวจซ้ำอีกครั้งหลังผ่านไปแล้ว 3 เดือน เพื่อป้องกันผลคลาดเคลื่อน
ใครควรตรวจ HIV?
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่มีความเสี่ยงโดยไม่ได้ป้องกัน
- ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายทางทวารหนักโดยไม่ได้ป้องกัน
- ผู้ติดสารเสพติดที่ใช้เข็มร่วมกัน
- หญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์ที่สถานพยาบาล
- ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ป่วยวัณโรค เพราะวัณโรคเป็นโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ป่วยเอดส์ และการติดเชื้อ HIV ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดวัณโรค
- ผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- บุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุจากการทำหัตถการที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
การเตรียมตัวก่อนตรวจ HIV
- ควรทบทวนระยะเวลาความเสี่ยงว่า ได้รับความเสี่ยงมาแล้วกี่วัน โดยก่อนตรวจควรอยู่ในระยะได้รับความเสี่ยงมาแล้ว 14-30 วัน หรือถ้าตรวจด้วยวิธี NAT สามารถเข้าตรวจได้หลังรับความเสี่ยงมาเกิน 7 วัน
- การตรวจ HIV ไม่จำเป็นต้องงดอาหารหรือน้ำ สามารถดื่มน้ำเปล่าได้ แต่ควรงดดื่มชา กาแฟ น้ำหวาน
- เตรียมใจให้พร้อมสำหรับการฟังผลตรวจ
- เตรียมบัตรประชาชนสำหรับให้กับสถานพยาบาลที่ต้องการ
ขั้นตอนการตรวจ HIV
- ผู้ที่ต้องการตรวจจะต้องลงนามยินยอมเข้ารับการตรวจโดยสมัครใจ
- เจ้าหน้าที่อาจซักประวัติเพื่อประเมินความเสี่ยงติดเชื้อ HIV รวมถึงอาจให้คำแนะนำต่างๆ ด้วย
- เจ้าหน้าที่จะเจาะเลือดบริเวณข้อพับแขน แล้วส่งเข้าตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติการ
- เจ้าหน้าที่จะนัดวันมาฟังผลอีกครั้ง ซึ่งระยะเวลาในการแจ้งผลขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลนั้นๆ
การดูแลตัวเองหลังตรวจ HIV
- กรณีที่ผลเลือดเป็นบวก ผู้ให้บริการจะมีการแจ้งผลตรวจ แนะนำเกี่ยวกับการดูแลตัวเอง และแนะนำการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น ตรวจค่า CD4 หรือการตรวจร่างกายเพื่อประเมินความพร้อม เมื่อต้องกินยาต้านไวรัสรวมถึงการรักษาโรคฉวยโอกาสที่อาจเกิดขึ้น
- กรณีที่ผลเลือดเป็นลบ ผู้ให้บริการอาจพูดคุยหรือแนะนำแนวทางการลดความเสี่ยงในอนาคต เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หรือแนะนำให้มีการตรวจหาเชื้อ HIV ในกรณีมีความเสี่ยงทุก 3-6 เดือน
ผลตรวจ HIV เป็นอย่างไร
การวินิจฉัยผลเลือดจะมีทั้งหมด 2 แบบด้วยกัน ได้แก่ ผลบวก (Reactive หรือ Positive) คือ มีการติดเชื้อ HIV และ ผลลบ (Non-reactive หรือ Negative) คือ ไม่พบการติดเชื้อ HIV ซึ่งการแปลผลตรวจจะอาศัยผลตรวจทางห้องปฏิบัติการควบคู่กับความเสี่ยงหรือพฤติกรรมของผู้เข้ารับการตรวจก่อนหน้าการตรวจเลือดดังต่อไปนี้
- กรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจไม่มีประวัติเสี่ยงรับเชื้อและตรวจคัดกรองได้ผลลบ แสดงว่าผู้นั้นไม่ติดเชื้อเอชไอวี
- กรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจมีประวัติเสี่ยงต่อการติดเชื้อและตรวจด้วยคัดกรองวิธีแรกได้ผลบวก จะต้องตรวจซ้ำด้วยชุดตรวจที่ต่างกับชุดตรวจแรกอีก 2 ชุด ถ้าให้ผลบวกเหมือนกับชุดแรกจะรายงานว่าผู้เข้ารับการตรวจมีผลเลือดบวก นั่นคือมีการติดเชื้อ HIV แพทย์จะนัดมาเจาะเลือดซ้ำเพื่อยืนยันผลอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงมีตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ปริมาณไวรัสในเลือด ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาว ปริมาณเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ลิมโฟไซต์ เพื่อใช้ประเมินและวางแผนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสต่อไป
- แต่ถ้ากรณีผลการตรวจซ้ำไม่สอดคล้องกับการตรวจครั้งแรก แพทย์จะนัดมาเจาะเลือดตรวจอีกครั้งหนึ่งหลังจากการตรวจครั้งแรก 2 สัปดาห์และติดตามจนครบ 1 เดือนอีกครั้ง โดยในระหว่างนี้ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะได้การแนะนำในการดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้รับเชื้อเพิ่มหรือแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ถ้าภายหลัง 1 เดือนตรวจได้ Non-reactive แสดงว่าผู้เข้ารับการตรวจไม่ติดเชื้อ แต่ถ้าให้ผลบวกแสดงว่าติดเชื้อ
ตรวจ HIV กี่วันรู้ผล?
โดยปกติการตรวจคัดกรองการติดเชื้อ HIV สามารถทราบผลได้ภายใน 1 วัน แต่ก็อาจช้ากว่านี้ได้โดยขึ้นอยู่กับแต่ละสถานพยาบาลโดยผลการตรวจจะถูกเก็บเป็นความลับ
ตรวจ HIV เจ็บไหม?
การตรวจ HIV จากการเจาะเลือดจะรู้สึกเจ็บบริเวณที่เจาะเช่นเดียวกับการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไปเท่านั้น และมักไม่มีผลข้างเคียงอื่นๆ เลย
โดยสรุปแล้ว การตรวจ HIV ช่วยให้เจอเชื้อตั้งแต่ยังไม่มีอาการใดๆ ทำให้วางแผนการรักษาได้ตั้งแต่แรกเริ่ม อีกทั้งการตรวจยังไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาไม่นาน ผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อทุกคนจึงควรเข้ารับการตรวจ HIV หลังเสี่ยงแล้วประมาณ 30 วัน