รางจืด เป็นสมุนไพรที่ได้ชื่อว่า ราชาแห่งการล้างพิษ ตลอดจนช่วยถอนพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายออกไป เชื่อว่าหลายๆ คนอาจยังไม่รู้จักกันมากนัก
สารบัญ
- รู้จักรางจืด
- ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- สารสำคัญในรางจืด
- คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของรางจืด
- สรรพคุณตามตำรายาไทยของรางจืด
- สรรพคุณการดูดซับพิษของรางจืด
- 1. ต้านพิษของสารกำจัดศัตรูพืช (ยาฆ่าหญ้า)
- 2. ช่วยลดพิษของตะกั่ว
- 3. ช่วยรักษาผู้ป่วยผู้ติดยาบ้า
- 4. ช่วยรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง
- 5. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
- 6. มีฤทธิ์ต้านพิษจากสัตว์ที่เป็นพิษและพืชพิษ
- 7. มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของเชื้อมะเร็ง
- 8. มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต
- 9. มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
- 10.มีฤทธิ์แก้อักเสบ
- ข้อแนะนำในการใช้ รางจืด สำหรับล้างพิษ
- วิธีการรับประทานยารางจืด
- ผลจากการรับประทานรางจืดติดต่อกันนานเกินไป
- อันตรายที่พบจากรางจืด
รู้จักรางจืด
รางจืด เป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (Acanthaceae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Thunbergia laurifolia Lindl.” และยังมีอีกหลายชื่อ ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นต่างๆ ที่คนไทยในแต่ละพื้นที่จะเรียกขานกัน เช่น
- กำลังช้างเผือก
- ขอบชะนาง
- เครือเขาเขียว
- ยาเขียว (ภาคกลาง)
- น้ำแน่ (ภาคอีสาน)
- รางเย็น (ยะลา)
- ดุเหว่า (ปัตตานี)
- ทิดพุด (นครศรีธรรมราช)
- น้ำนอง (สระบุรี)
- ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
รางจืดเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ใบเดี่ยว รูปขอบขนานหรือรูปไข่ กว้าง 4-7 เซนติเมตร ยาว 8 – 14 เซนติเมตร ขอบใบเว้าเล็กน้อย ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีม่วงแกมน้ำเงิน ใบประดับสีเขียวประสีน้ำตาลแดง ผลเป็นผลแห้ง แตกได้
สารสำคัญในรางจืด
สารสำคัญที่พบในรางจืดประกอบด้วย
- กลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenol) ได้แก่ กรดฟีนอลิค (Phenolic acid) เช่น Gallic acid และ Caffeic acid ซึ่งมีฤทธิ์อนุมูลอิสระ protocatechuic acid
- กลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ได้แก่ apigenin และ apigenin glucoside โดยเฉพาะ apigenin ซึ่งเป็นสารสำคัญในรางจืดที่สามารถยับยั้งพิษของสารหนู
พืชสมุนไพรประเภทนี้มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากมายตั้งแต่ใบจรดราก โดยสามารถแก้อาการที่เกิดจากพิษต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่
- พิษยาเบื่อ
- ยาสั่ง
- ยาฆ่าแมลง
- พืชพิษ
- เห็ดพิษ
- พิษสุรา และยาเสพติด
- พิษงู แมลงป่อง หรือตะขาบ
คุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของรางจืด
- มีฤทธิ์ต้านพิษของสารกำจัดศัตรูพืช (ยาฆ่าหญ้า)
- มีฤทธิ์ต้านพิษจากสัตว์ที่เป็นพิษและพืชพิษ
- มีฤทธิ์ต้านพิษของตะกั่วต่อสมอง
- มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ (มะเร็ง)
- มีฤทธิ์ลดความดัน
- มีฤทธิ์ต้านพิษเหล้า
- มีฤทธิ์ต้านสารเสพติด
- มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
- มีฤทธิ์แก้อักเสบ
สรรพคุณตามตำรายาไทยของรางจืด
- แก้ท้องร่วง
- แก้ร้อนใน กระหายน้ำ
- ใช้ปรุงเป็นยาเขียวลดไข้
- รักษาโรคหอบหืดเรื้อรัง
- แก้ผื่นคันจากอาการแพ้ต่างๆ
- แก้พิษเบื่อเมา เนื่องจากเห็ดพิษ
- ถอนพิษผิดสำแดง และพิษอื่นๆ
- ช่วยถอนพิษสุราหรืออาการเมาค้าง
- รักษาโรคข้ออักเสบ และปวดบวม
- ใช้รักษาผู้ที่ได้รับสารเคมีที่มีพิษร้ายแรง เช่น สารหนู หรือยาฆ่าแมลง
นอกจากนี้ รางจืด ยังสามารถนำไปแก้พิษที่เกิดขึ้นในสัตว์ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น สุนัข หรือแมว อีกทั้งในตำรายาไทย และตำรายาพื้นบ้านยังได้อธิบายเอาไว้ว่าส่วนต่างๆ ของพืชชนิดนี้ สามารถนำไปบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็น
- ใบ ใช้ต้มดื่มขณะอุ่นๆ หรือคั้นดื่ม หรือแปรรูปเป็นชาชงรางจืด ดื่มเพื่อเป็นการล้างพิษในร่างกาย
- ราก ให้ใช้รากที่มีอายุเกิน 1 ปี มีขนาดเท่ากับนิ้วชี้นำมาฝนกับน้ำดื่ม เพื่อเป็นการล้างพิษในร่างกาย
- ยอดอ่อน และดอก เป็นยาอายุวัฒนะ สามารถรับประทานเป็นผักเหมือนกับผักพื้นบ้านทั่วๆ ไปได้ โดยใช้วิธีการปรุงอาหาร คือ การลวก หรือการนำไปปรุงเป็นแกง เช่น ผัดยอดรางจืด ไข่เจียวดอกรางจืด แกงส้มยอดรางจืด สลัดสมุนไพรรางจืด
ในภูมิปัญญาอีสานมีเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาว่า ก่อนที่จะมีการปรุงอาหารที่เก็บมาจากป่าทุกครั้ง ให้ใส่ใบ และดอกของเถารางจืดเข้าไปด้วย เพื่อป้องกันพิษที่อาจเกิดขึ้นจากพืช หรือสัตว์ป่าที่อาจทำให้เกิดอันตรายหลังจากที่เรารับประทานเข้าไป
โดยเคล็ดลับเหล่านี้ก็ตรงกันกับข้อมูลของหมอยาชาวไทยใหญ่ที่ได้แนะนำ ให้เอายอด และดอกของเถารางจืดมาปรุงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ อีกทั้งหมอยาพื้นบ้านยังนิยมใช้รางจืดเพื่อช่วยลดความดันโลหิต รักษาอาการแพ้ และผดผื่นคันบนผิวหนังได้เป็นอย่างดี
สรรพคุณการดูดซับพิษของรางจืด
1. ต้านพิษของสารกำจัดศัตรูพืช (ยาฆ่าหญ้า)
กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษเหล่านี้มากที่สุด คือ เกษตรกรที่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชเป็นประจำ หากได้รับพิษกลุ่มนี้เข้าไป จะทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
เพราะรางจืด มีฤทธิ์ต้านพิษยากำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตได้ เนื่องมาจากสารสกัดของสมุนไพรชนิดนี้มีผลลดการยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส (Cholinesterase) หรือทำให้ระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ รางจืดยังมีฤทธิ์ยับยั้งลิพิดเปอร์ออกซิเดซัน (Lipid peroxidation) ซึ่งเป็นกลไกการออกฤทธิ์ต้านพิษพาราควอตอีกกลไกหนึ่งด้วย
2. ช่วยลดพิษของตะกั่ว
รางจืด นับได้ว่าเป็นสมุนไพรที่เข้ากับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในบ้านเราเป็นอย่างมาก ยิ่งเป็นสภาพแวดล้อมในเมืองหลวงแล้ว โอกาสที่จะเกิดมลภาวะอากาศเป็นพิษก็ยิ่งเป็นไปได้สูง
โดยหนึ่งในตัวการที่ทำให้เกิดมลภาวะอากาศเป็นพิษ ก็คือ สารตะกั่วจากไอเสียน้ำมันเบนซิน ซึ่งเมื่อคุณสูดเอาไอเสียเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย และสะสมเอาไว้มากๆ ก็มีความเสี่ยงที่คุณจะเป็นโรคพิษสารตะกั่วเรื้อรังในระยะยาวได้
นอกจากนี้ สารตะกั่วเหล่านี้ยังจะเข้าไปสะสมในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำ และการเรียนรู้ (Hippocampus) ด้วย
จากการศึกษาพบว่า สมุนไพรรางจืดสามารถช่วยลดอัตราการตายของเซลล์สมองอันเนื่องมาจากพิษของตะกั่วได้ ทั้งยังสามารถยับยั้งการลดลงของสารต้านอนุมูลอิสระในสมองที่เกิดจากพิษของตะกั่วได้
3. ช่วยรักษาผู้ป่วยผู้ติดยาบ้า
ในปัจจุบัน หมอชาวบ้านได้มีการนำสมุนไพรพื้นบ้าน อย่าง รางจืด เข้ามาช่วยแก้พิษที่เกิดจากยาเสพติด ซึ่งในปัจจุบันมีรายงานทางการศึกษาว่า รางจืด มีฤทธิ์ที่ช่วยกระตุ้นประสาทเช่นเดียวกับ โคเคน (Cocaine) และ ยาบ้า แต่มีฤทธิ์ที่อ่อนกว่า
ดังนั้นรางจืดจึงมีแนวโน้มที่นำมาใช้ เพื่อให้ผู้ที่ติดยาเสพติดสามารถเลิกเสพยาเสพติดได้
นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากการดื่มเหล้าได้อีกด้วย โดยจากการศึกษาพบเพิ่มเติมอีกว่า รางจืด มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในระดับที่สูงมาก
4. ช่วยรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง
เพราะรางจืดมีฤทธิ์ในการต้านพิษแอลกอฮอล์ต่อตับได้ อีกทั้งสารสกัดด้วยน้ำของรางจืดช่วยป้องกันการตายของเซลล์ตับจากพิษของแอลกอฮอล์ได้
นอกจากนี้ ยังช่วยลดการเกิด hepatic lipid peroxidation ลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด และเพิ่มระดับเอนไซม์ alcohol dehydrogenase และ aldehyde dehydrogenase ด้วย
ปัจจุบันคลินิก โรงพยาบาลรัฐหลายแห่งในประเทศไทยที่มีแพทย์แผนไทยประจำอยู่ ได้เริ่มใช้รางจืดเพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังควบคู่กับการรักษาโดยแพทย์แผนตะวันตก
โดยรางจืดจะมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะและมีฤทธิ์ลดความเป็นพิษของแอลกอฮอล์ต่อตับ ทำให้ผู้ป่วยสามารถค่อยๆ ถอนพิษสุราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดีกว่าการหักดิบ งดสุราเลยทันทีซึ่งจะส่งผลไม่ดีต่อผู้ป่วยโดยตรง
5. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
ในปัจจุบัน ได้มีการยืนยันจากรายงานการศึกษาที่ระบุว่า รางจืด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและสามารถต้านไวรัสโรคเริมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ได้มีการออกมาสนับสนุนให้มีการใช้รางจืดในการรักษาผดผื่นคัน เริม งูสวัด หรืออาการผิวหนังอักเสบอื่นๆ
6. มีฤทธิ์ต้านพิษจากสัตว์ที่เป็นพิษและพืชพิษ
รางจืดช่วยแก้พิษแมงดาทะเลได้ ซึ่งสารพิษที่อยู่ในแมงดาทะเล คือ เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) สารนี้จะพบในแมงดาทะเลและปลาปักเป้า มีพิษทำให้ผู้ป่วยอาจถึงตายได้ ซึ่งวความรุนแรงของอาการพิษขึ้นอยู่กับปริมาณไข่แมงดาทะเลที่ได้รับ
มีรายงานการใช้รางจืดแก้พิษกับผู้ป่วยที่กินไข่แมงดาทะเลที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นหมดสติว่า มีการใช้น้ำสมุนไพรรางจืดทาง NG tube 40 นาที ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวและอาการดีขึ้นตามลำดับ
7. มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ของเชื้อมะเร็ง
รางจืดมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง โดยมีการศึกษาฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ ซึ่งทั้งรางจืดแบบสดและแบบแห้งสามารถใช้ได้ผลเช่นกัน
อีกทั้งรางจืดยังมีสารออกฤทธิ์อาจเป็นกรดฟีนอลิก ได้แก่ caffeic acid และ apigenin และสารกลุ่มคลอโรฟิลล์ ได้แก่ chlorophyll a, chlorophyll b,pheophorbide a และ pheophytin a ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมาก ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้
8. มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต
การสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดแห้งมีผลทำให้ความดันโลหิตของหนูแรตลดลง โดยกลไกการออกฤทธิ์ส่วนหนึ่งอาจผ่าน Cholinergic receptor และทำให้หลอดเลือดแดงคลายตัว และช่วยขับปัสสาวะ
9. มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
สารสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และทำให้เบต้าเซลล์ของตับอ่อนฟื้นฟูขึ้นบ้างแม้จะไม่สมบูรณ์
10.มีฤทธิ์แก้อักเสบ
รางจืดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบสูงกว่ามังคุดประมาณ 2 เท่า และสารสกัดรางจืดในรูปแบบของครีมสามารถลดการอักเสบได้ดีเท่ากับสเตียรอยด์ครีม
ข้อแนะนำในการใช้ รางจืด สำหรับล้างพิษ
- เพื่อการล้างพิษควรรับประทานติดต่อกัน 7 – 10 วัน
- การใช้รางจืดสำหรับถอนพิษยาฆ่าแมลง หรือสารพิษ ต้องใช้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เกิดผลดี หากพิษซึมเข้าสู่ร่างกายในปริมารมาก หรือปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนการถอนพิษด้วยรางจืดจะได้ผลน้อยลง
ข้อควรระวังในการใช้ รางจืด สำหรับล้างพิษ
- ไม่ควรดื่มน้ำที่คั้นจากรางจืดนานติดต่อกันเกิน 30 วัน
- อาจเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำของในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน
- ควรระวังการใช้ร่วมกับยาอื่น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เพราะรางจืดอาจเร่งขับยาเหล่านั้นออกจากร่างกาย ควรเว้นระยะเวลารับประทานรางจืดจากยาตัวอื่นๆ ประมาณ 2 ชั่วโมง
- ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำและหญิงตั้งครรภ์ ควรปรึกษาผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแผนปัจจุบัน หรือผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยประยุกต์ และแพทย์แผนไทยก่อนใช้
หลักการรับประทานรางจืดอย่างถูกต้องและปลอดภัย
เมื่อสรรพคุณของรางจืด คือ ยาถอนพิษ ตามคำแนะนำของแพทย์แผนไทยควรดื่มในความเข้มข้นน้อย และหลีกเลี่ยงการดื่มติดต่อกันทุกวัน ส่วนในกลุ่มที่รับประทานรางจืดแบบสกัดออกมาเป็นผงแคปซูล ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนาน 1 เดือน
หากคุณเป็นผู้ป่วยมีโรคประจำตัว ก็ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไท หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ยารางจืด เข้าไปลดฤทธิ์ยาที่จำเป็นต้องรับประทานอยู่ตลอดลง
วิธีการรับประทานยารางจืด
- กรณียาชง รับประทานครั้งละ 2 – 3 กรัม โดยชงกับน้ำร้อน 100-200 ซีซี วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารหรือเมื่อมีอาการ
- นำใบรางจืดที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปจำนวน 5-7 ใบ โขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำดื่ม หรือน้ำซาวข้าว จำนวน 250 ซีซี หรือคั้นน้ำรางจืด ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 ซีซี) วันละ 1 ครั้ง หรือรับประทานเมื่อมีอาการ
- นำรากที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป ขนาดรากเท่านิ้วก้อย ตัดความยาวเท่าที่มือจับ โขลกหรือฝนผสมกับน้ำสะอาด หรือน้ำซาวข้าว รับประทานครั้งละ 1 แก้ว (250 ซีซี) วันละ 1 ครั้ง หรือรับประทานเมื่อมีอาการ
ผลจากการรับประทานรางจืดติดต่อกันนานเกินไป
เนื่องจากรางจืดเป็นหนึ่งในพืชที่ถูกยกย่องให้เป็นสมุนไพรไทยที่มีประโยชน์ และมีสรรพคุณในการดูแลรักษาร่างกายได้อย่างดีเยี่ยม จึงมีการนำเอารางจืดไปสกัด ทำเป็นแคปซูลและเป็นผงชงดื่ม
การรับประทานสมุนไพรชนิดนี้ ควรรับประทานด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเชื่อคำอวดอ้างชวนเชื่อมากเกินไป เพราะการรับประทานผิดวิธี และติดต่อกันนานเกินไป จะทำให้ตับ และไตต้องทำงานหนักมากขึ้น
อันตรายที่พบจากรางจืด
การรับประทานรางจืดติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะประเภทแคปซูล สามารถทำให้การทำงานของระบบเลือดผิดปกติได้ อีกทั้งตับ และไตจะต้องทำงานหนักมากขึ้น จนกระทั่งส่งผลให้เกิดความเสื่อมสภาพตามมา
ผู้ป่วยที่มีการใช้ยารักษาโรคที่ต้องรับประทานเป็นประจำ หากไม่ได้ปรึกษาแพทย์ หรือแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์ก่อน ว่ารางจืดมีผลต่อยาที่รับประทานประจำหรือไม่ รางจืดก็อาจเข้าไปลดฤทธิ์ยาที่รับประทานเป็นประจำ จนทำให้กระบวนการรักษาโรคด้อยประสิทธิภาพลง
การรับประทานรางจืดในระยะยาว แม้จะไม่ได้มีผลวิจัยออกมาแน่ชัด แต่แพทย์ให้ระวังอาการที่จะไปทำให้ตับ และไตทำงานหนักได้
ดังนั้นสมุนไพรพื้นบ้านในบ้านเรานอกจากจะนำมาปรุงอาหารได้แล้ว ก็ยังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยบรรเทาอาการต่างๆ ให้หายขาดได้ นับว่าเป็นเรื่องที่ดีและมีความปลอดภัยขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งจากการใช้ยาปฏิชีวนะในปัจจุบัน
คุณควรบริโภคสมุนไพรพื้นบ้านทุกชนิด แต่พอดี เมื่ออาการเจ็บป้วยเริ่มบรรเทาลงแล้ว ก็ควรลดปริมาณลงตามลำดับ
เพราะในข้อดีของสมุนไพรทุกชนิด ยังอาจมีข้อเสียที่คุณยังไม่รู้ และคุณควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สุขภาพของคุณแข็งแรงเต็มขั้น ไม่มีโรคใดๆ มาทำให้เจ็บป่วยได้อีก