วัคซีนพิษสุนัขบ้า ฉีดทันเวลาป้องโรคได้แม้ถูกกัดไปแล้ว

ประเทศไทยมีผู้ที่เลี้ยงสุนัขและแมวจำนวนมาก รวมถึงสุนัขจรจัดตามท้องถนนก็เยอะเช่นกัน ทำให้โรคที่มีสุนัขและแมวเป็นพาหะอย่างโรคพิษสุนัขบ้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด

ในบทความนี้จะพามารู้จักโรคพิษสุนัขบ้าถึงประเด็นที่ควรทราบ ทั้งอาการของโรค ช่วงที่ควรฉีดวัคซีน จำนวนเข็ม รวมถึงข้อควรรู้ต่างๆ อ่านจบแล้วหากเข้าข่ายผู้ที่ควรฉีด ก็สามารถเช็กราคาแพ็กเกจฉีดวัคซีนได้ทันที

โรคพิษสุนัขบ้า คืออะไร?

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสเข้าไปส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง และอาจทำให้เกิดการอักเสบในสมองได้ เชื้อพิษสุนัขบ้าสามารถติดต่อได้จากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด หรือข่วนจนเป็นแผล

ตัวอย่างสัตว์ที่เป็นพาหะได้ เช่น สุนัข แมว กระต่าย แรคคูน สกั๊งค์ ค้างคาว เมื่อรับเชื้อเข้าไป เชื้อจะมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 4-12 สัปดาห์ก่อนจะเริ่มแสดงอาการ ในบางกรณีอาจแสดงอาการได้ตั้งแต่ภายใน 2-3 วันแรกที่ติดเชื้อ

อาการของพิษสุนัขบ้าในระยะแรก อาจดูคล้ายกับไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นเหน็บชา รู้สึกแสบร้อนบริเวณที่ถูกกัด

แต่เมื่อเชื้อไวรัสเริ่มส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง อาการอาจแสดงออกได้ทั้งทางร่างกาย และทางจิตประสาท ดังนี้

  • ตื่นตัวง่าย
  • อารมณ์แปรปรวน
  • นอนไม่หลับ
  • วิตกกังวล
  • สับสัน
  • เห็นภาพหลอน
  • น้ำลายไหลมากผิดปกติ
  • กลืนอาการลำบาก
  • กลัวน้ำ
  • เป็นอัมพาต

ผู้ติดเชื้อที่เป็นอัมพาต มักมีเวลาฟักตัวของเชื้อนานกว่าอาการทางจิตประสาท แต่อาการจะรุนแรงกว่า และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ซึ่งหนึ่งในวิธีป้องกันก็คือการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies Vaccine) คืออะไร?

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine) คือ การนำเชื้อไวรัสชนิดเชื้อตายมาฉีดให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเรบีส์ หรือเชื้อพิษสุนัขบ้านั่นเอง โดยเชื้อตายจะไม่ทำให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้าจริงๆ แต่อาจมีผลข้างเคียงบ้างในบางกรณี

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสามารถฉีดได้ทั้งก่อนรับเชื้อเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมาเตรียมพร้อมไว้ก่อน และควรฉีดกระตุ้นอีกครั้งในกรณีที่ถูกกัดด้วย

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามีด้วยกัน 2 ชื่อการค้าหลักๆ ได้แก่

  • RabAvert
  • Imovax

แต่อย่างไรก็ตาม วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ไม่สามารถป้องกันการติดโรคได้ 100%

ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า?

ผู้ที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อาจมีดังนี้

  • ผู้ที่เป็นสัตวแพทย์
  • ผู้ที่ต้องดูแลสัตว์ หรือเลี้ยงสัตว์
  • ผู้ที่ทำงานในห้องปฎิบัติการเกี่ยวกับพิษสุนัขบ้า
  • ผู้ที่สัมผัส หรือมีโอกาสสัมผัสสัตว์ที่มีโอกาสติดเชื้อ
  • ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ อาจมีโอกาสมากขึ้นที่จะได้รับเชื้อ
  • ผู้ที่ถูกสัตว์พาหะกัด ข่วน หรือทำให้เป็นแผล

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดกี่เข็ม?

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือการฉีดก่อนรับเชื้อ และการฉีดเมื่อรับเชื้อไปแล้ว

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis rabies: PrEP)

เป็นการฉีดเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคขึ้นมาเช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่นๆ รายละเอียดการฉีดมีดังนี้

  • ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม
  • เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 7 วัน
  • เข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 2 ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับแพทย์ประเมิน

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค (Rabies Post-Exposure Prophylaxis: Rabies PEP)

การฉีดประเภทนี้เป็นการฉีดวัคซีนหลังจากสงสัยว่ารับเชื้อพิษสุนัขบ้ามาแล้ว เช่น หลังจากถูกสุนัขกัด โดยวัคซีนจะเข้าไปป้องกันเชื้อไวรัสไม่ให้เข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง รายละเอียดการฉีด อาจมีดังนี้

  • หากไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน และถูกสุนัขกัด อาจต้องฉีดวัคซีนทั้งหมด 4 เข็ม โดยเข็มแรกจะต้องฉีดให้เร็วที่สุดหลังถูกกัด ซึ่งแพทย์อาจฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (Human rabies immunoglobulin: HRIG) เพื่อฆ่าเชื้อบริเวณแผล จากนั้นจึงรับวัคซีนตามปกติอีก 3 เข็ม โดยวัคซีนปกติเข็มต่อจาก HRIG ฉีดให้วันที่ 3, 7 และ 14 หลังจากเข็มแรกตามลำดับ
  • หากเคยรับวัคซีนมาก่อนในอดีตแล้ว อาจฉีดกระตุ้นเพียง 2 เข็ม โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 3 วัน โดยไม่ต้องฉีดอิมมูโนโกลบูลิน แต่ยังคงต้องมารับวัคซีนเร็วที่สุดหลังจากถูกกัดเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนกรณีไหน การรับวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้ตรงตามกำหนดที่แพทย์แนะนำมีผลอย่างมากต่อประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันเชื้อ

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ป้องกันได้กี่ปี?

ไม่มีระยะเวลาป้องกันของวัคซีนที่ชัดเจน ดังนั้นหากรับเชื้อหรือถูกกัดหลังจากฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 6 เดือนขึ้นไป ต้องกลับมารับวัคซีนกระตุ้นทันที แต่อาจฉีดเพียง 2 เข็ม หรือขึ้นอยู่กับแพทย์ประเมิน

นอกจากนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงรับเชื้อพิษสุนัขบ้าในชีวิตประจำวัน เช่น เลี้ยงสุนัข ควรรับวัคซีนทุก 2 ปี และหากมีความเสี่ยงสูง เช่น ทำงานในห้องปฎิบัติการตรวจเชื้อพิษสุนัขบ้า อาจต้องฉีดกระตุ้นทุก 6 เดือน ร่วมกับตรวจเลือดเพื่อกำหนดแนวทางการฉีดวัคซีนด้วย

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร?

ผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามักพบได้ไม่บ่อย แต่มีความเป็นไปได้ที่จะพบอาการ ดังนี้

  • เจ็บ ปวด หรือบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีน
  • อาจมีอาการปวดหัว หรือเวียนหัว
  • อาจมีอาการคลื่นไส้
  • อาจมีอาการปวดท้อง
  • อาจมีอาการปวดกล้ามเนื้อ

แม้ผลข้างเคียงของวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจะไม่รุนแรง แต่หากมีอาการแพ้สารชนิดใด หรือเคยรับวัคซีนตัวไหนแล้วแพ้มาก่อนในอดีต ควรแจ้งกับแพทย์ก่อนที่จะรับวัคซีน

รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากโรคเรื้อรัง หรือการใช้ยาบางชนิด เช่น สเตียร์รอยด์ (Steroids) ควรแจ้งกับแพทย์ให้ทราบเช่นกัน

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่ตรงวัน เป็นอะไรไหม?

การรับวัคซีนให้ครบตามกำหนดมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้นหากหากลืมนัดหมายฉีดวัคซีน ควรติดต่อแพทย์เพื่อรับวัคซีนให้ครบตามกำหนด

Scroll to Top