โดยเฉลี่ยแล้วแมวสามารถขยายพันธุ์ได้เร็วกว่ามนุษย์ถึง 45 เท่า สำหรับผู้เลี้ยงแมวทั้งตัวผู้และตัวเมียที่ไม่ต้องการให้แมวของตนเองตั้งครรภ์ หรือออกไปผสมพันธ์กับแมวตัวอื่นจนมีลูกมากมาย การทำหมันเป็นวิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบัน นอกจากจะช่วยควบคุมประชากรของแมวแล้ว การทำหมันแมวยังมีส่วนช่วยให้แมวมีพฤติกรรม และสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยในระยะยาว
ในบทความนี้จะพูดถึงการทำหมันแมวตัวผู้ ถึงระยะเวลาที่ควรพาไปทำหมัน ประโยชน์ของการทำหมันแมวตัวผู้ การเตรียมตัว และการดูแลหลังจากทำหมันแล้ว
สารบัญ
- ทำหมันแมวตัวผู้คืออะไร?
- ทำไมถึงควรทำหมันแมวตัวผู้
- ประโยชน์ของการทำหมันแมวตัวผู้
- ข้อเสียของการทำหมันแมวตัวผู้
- ควรทำหมันแมวตัวผู้ตอนอายุเท่าไร
- การเตรียมตัวก่อนทำหมันแมวตัวผู้
- ขั้นตอนการทำหมันแมวตัวผู้
- การดูแลหลังทำหมันแมวตัวผู้
- สัญญาณอันตรายหลังทำหมันแมวตัวผู้
- ทำหมันแมวตัวผู้แล้วจะเลิกฉี่ไม่เป็นที่ไหม?
- ทำหมันแมวตัวผู้แล้วนิสัยจะเปลี่ยนไปไหม?
- ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการทำหมันแมวตัวผู้
ทำหมันแมวตัวผู้คืออะไร?
การทำหมันแมวตัวผู้ (Neuter) เป็นกระบวนการนำเอาอัณฑะและท่อนำน้ำเชื้อของแมวตัวผู้ออก เพื่อให้แมวตัวผู้ไม่สามารถไปผสมพันธุ์ทำให้แมวตัวเมียมีลูกได้ แต่ไม่ได้ตัดเอาถุงอัณฑะหรืออวัยวะเพศของแมวแต่อย่างใด
โดยปกติแล้วการควบคุมประชากรแมวอาจแบ่งได้หลักๆ 2 วิธีคือ การคุมกำเนิดชั่วคราว และการคุมกำเนิดแบบถาวร แต่การคุมกำเนิดชั่วคราว เช่น การซื้อยามาฉีดเอง หรือให้ยาคุมฮอร์โมนแบบมนุษย์ มีโอกาสเกิดอันตรายต่อสัตว์เลี้ยงสูง จึงยกเลิกการคุมกำเนิดชั่วคราวไปเรียบร้อยแล้ว
ปัจจุบันจึงเหลือแต่การทำหมันแมวตัวผู้ที่คลินิกสัตวแพทย์ หรือโรงพยาบาลสัตว์เท่านั้น
ทำไมถึงควรทำหมันแมวตัวผู้
เมื่อแมวตัวผู้จะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ในช่วงอายุประมาณ 5-6 เดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศชายจึงอาจทำให้แมวมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น
- ปัสสาวะไม่เป็นที่เพื่อแสดงอาณาเขต
- ชอบแอบหนีออกจากบ้าน เพื่อพยายามขยายอาณาเขตของตนเอง และหาคู่ผสมพันธุ์
- มีความก้าวร้าวมากขึ้น และอาจไปต่อสู้กับแมวตัวอื่นๆ เพื่อแย่งคู่ผสมพันธุ์ จนบาดเจ็บและติดเชื้อ
- อาจส่งเสียงร้องดังจนรบกวนผู้เลี้ยง
- ในระยะยาว แมวตัวผู้ที่ไม่ได้ทำหมัน มีโอกาสเป็นโรคร้ายแรงมากกว่า เช่น มะเร็งอัณฑะ
อาจกล่าวได้ว่า แมวในปัจจุบันอาจไม่ได้ต้องการฮอร์โมนเพศมากเท่ากับที่มนุษย์ต้องการ รวมถึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคอีกด้วย การทำหมันเพื่อลดฮอร์โมนเพศชายของแมวลงจึงอาจทำให้แมวมีพฤติกรรม และสุขภาพที่ดีขึ้นในระยะยาว
ประโยชน์ของการทำหมันแมวตัวผู้
การทำหมันแมวตัวผู้ส่งผลดีทั้งต่อผู้เลี้ยง สังคม และตัวแมวเองหลายข้อ ดังนี้
- ช่วยให้แมวสุขภาพดีขึ้นในระยะยาว การทำหมันแมวตัวผู้ช่วยป้องกันโรคมะเร็งอัณฑะ (Testicular Cancer) และลดโอกาสเป็นมะเร็งตับอ่อนได้ด้วย
- ช่วยให้แมวหนีออกจากบ้านน้อยลง เพราะการทำหมันแมวตัวผู้ช่วยหยุดการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศผู้ที่ทำให้แมวอยากหนีออกไปหาคู่ผสมพันธุ์ และต่อสู้กับแมวตัวอื่น
- ช่วยลดความก้าวร้าวของแมว หลังจากทำหมันแล้วแมวจะมีความก้าวร้าวน้อยลงมาก เป็นผลมาจากการลดลงของฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนเช่นกัน
- ช่วยลดพฤติกรรมปัสสาวะไม่เป็นที่ หลังทำหมันแมวตัวผู้แล้วแมวจะปัสสาวะเพื่อแสดงอาณาเขตน้อยลง ช่วยให้ผู้เลี้ยงสอนปัสสาวะเป็นที่ได้ง่ายขึ้น
- ช่วยประหยัดเงินมากกว่าในระยะยาว แม้การทำหมันแมวจะมีค่าใช้จ่าย แต่ในระยะยาวการทำหมันแมวตัวผู้จะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพได้หลายอย่าง ซึ่งอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะกว่าการทำหมัน
- ช่วยควบคุมประชากรแมว แมวสามารถขยายพันธุ์ได้เร็วกว่ามนุษย์เฉลี่ย 45 เท่า ช่วงที่แมวตัวผู้ถึงวัยเจริญพันธุ์ อาจแอบหนีออกไปนอกบ้านและผสมพันธุ์กับแมวตัวอื่นได้ การทำหมันแมวตัวผู้จึงอาจช่วยควบคุมประชากรแมวได้ด้วยเช่นกัน
ข้อเสียของการทำหมันแมวตัวผู้
การทำหมันแมวตัวผู้มักไม่มีผลเสียร้ายแรง แต่อาจมีผลกระทบบ้างในแมวบางสายพันธุ์ เช่น ขนที่ขึ้นมาใหม่บริเวณแผลผ่าตัดอาจมีสีผิดไปจากเดิม
อีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนเจอคือ การทำหมันแมวตัวผู้อาจทำให้แมวมีการเผาผลาญลดลงเนื่องจากแมวลดพฤติกรรมการหนีออกไปตระเวนนอกบ้าน จนอาจทำให้แมวมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้แก้ได้โดยการปรับปริมาณอาหารให้เหมาะสมกับกิจวัตรของแมว รวมถึงจัดเวลาให้แมวออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะสามารถควบคุมน้ำหนักแมวได้เหมือนเดิม
ควรทำหมันแมวตัวผู้ตอนอายุเท่าไร
สถานพยาบาลสัตว์ของสหรัฐอเมริกา (American Animal Hospital Association: AAHA) แนะนำว่าช่วงที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการทำหมันแมวตัวผู้คืออายุประมาณ 5-6 เดือน หรือก่อนการติดสัดครั้งแรก
เพราะร่างกายของลูกแมวตัวผู้จะค่อยๆ สร้างลูกอัณฑะขึ้นและค่อยๆ เคลื่อนลงมาอยู่ที่ถุงอัณฑะ กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นในที่ลูกแมวอายุประมาณ 3-6 สัปดาห์ ทำให้การทำหมันแมวตัวผู้ตอนที่อัณฑะเข้าที่เรียบร้อยแล้ว (อายุ 5-6 เดือน) ง่ายขึ้น แผลเล็ก และฟื้นตัวได้เร็ว
อีกหนึ่งเหตุผลคือ หากปล่อยให้แมวตัวผู้ปัสสาวะไม่เป็นที่นานเท่าไร โอกาสที่แมวจะลดพฤติกรรมนี้ลงได้หลังทำหมันก็จะน้อยลงไปด้วย เพราะแมวได้ติดเป็นนิสัยเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับทำหมันแมวตัวผู้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยด้านสุขภาพ พฤติกรรม สภาพแวดล้อมที่เลี้ยง จึงควรพาแมวไปปรึกษากับสัตวแพทย์เพื่อกำหนดระยะเวลาทำหมันแมวของคุณอย่างเหมาะสมที่สุด
การเตรียมตัวก่อนทำหมันแมวตัวผู้
หลังจากเข้าไปปรึกษากับสัตวแพทย์และนัดวันทำหมันเรียบร้อยแล้ว สัตวแพทย์จะแนะนำวิธีการเตรียมตัวก่อนถึงวันนัดผ่าตัดทำหมัน ซึ่งอาจมีดังต่อไปนี้
- งดให้อาหาร ขนม รวมถึงนมกับแมวหลัง 2-3 ทุ่มเป็นต้นไป อาจให้น้ำได้เล็กน้อยระหว่างคืนก่อนมาทำหมัน แต่ควรงดให้ตั้งแต่เช้าวันทำหมันเลยเช่นกัน
- ไม่ควรให้แมวออกไปเล่นข้างนอกคืนก่อนไปทำหมัน เพราะหากตัวเลอะหรือสัมผัสสิ่งสกปรกอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อหลังทำหมันได้
- เช้าวันที่มาทำหมัน ไม่ควรให้แมวทำกิจกรรมหนักเกินไป เช่น ออกกำลังกาย หรือวิ่งเล่นหนักๆ
วิธีดังกล่าวเป็นเพียงวิธีเบื้องต้นเท่านั้น หากสัตวแพทย์แนะนำแนวทางอื่นๆ เพิ่มเติม ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์เป็นหลัก
ขั้นตอนการทำหมันแมวตัวผู้
การทำหมันแมวตัวผู้อาจมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละสถานที่ และความชำนาญของสัตวแพทย์ ต่อไปนี้จึงเป็นเพียงวิธีคร่าวๆ ที่ช่วยให้เห็นภาพรวมของกระบวนการเท่านั้น
- สัตวแพทย์อาจทำการตรวจเลือดเพื่อเช็กความพร้อมของแมวก่อนเริ่มการผ่าตัด
- หากผลเลือดเป็นปกติดี สัตวแพทย์จะให้ยาสลบ ซึ่งอาจใช้วิธีดมยาหรือแบบฉีดก็ได้
- หากลูกอัณฑะของแมวเคลื่อนมาอยู่ในถุงอัณฑะทั้ง 2 ลูกแล้ว สัตวแพทย์จะทำการเปิดแผลขนาดเล็กบริเวณเถุงอัณฑะ ก่อนจะนำเอาอัณฑะทั้ง 2 ลูกออก
- ในกรณีที่ลูกอัณฑะยังไม่เคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ หรือเคลื่อนลงมาเพียงลูกเดียว สัตวแพทย์อาจต้องเปิดแผลหลายตำแหน่ง เช่น บริเวณหน้าท้อง
- หากสัตวแพทย์พิจารณาแล้วว่าแผลมีขนาดเล็กมาก และการใช้ไหมเย็บอาจทำให้แมวเกิดการระคายเคือง สัตวแพทย์อาจใช้เพียงแผ่นปิดแผลเอาไว้โดยปล่อยให้แผลสมานเอง แต่หากมีการเปิดแผลบริเวณช่องท้อง หรือเห็นว่าควรเย็บแผลไม่ว่าตำแหน่งใด สัตวแพทย์ก็อาจมีการเย็บแผลและนัดมาตัดไหมภายใน 10-14 วัน
- หากสัตวแพทย์ให้ยาสลบแบบดมยา ก็จะมีการเปิดออกซิเจนให้แมวฟื้น และมีสติดีก่อนจะส่งคืนให้กับผู้เลี้ยง
การดูแลหลังทำหมันแมวตัวผู้
แผลผ่าตัดทำหมันแมวตัวผู้มักมีขนาดเล็ก และมักฟื้นตัวได้เร็วภายใน 5-7 วัน หรือบางกรณีที่มีการเปิดแผลหลายจุด อาจใช้เวลา 10-14 วัน เพื่อให้การฟื้นตัวเป็นไปได้อย่างเรียบร้อยที่สุด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ระวังอย่าให้แมวนั่งคอตก โดยปกติสัตวแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเหมาะสมว่าควรให้ผู้เลี้ยงรับแมวกลับตอนไหน เพราะแมวบางตัวอาจยังไม่ฟื้นจากฤทธิ์ยาสลบเต็มที่ หากแมวเผลอนั่งคอตกอาจทำให้ทางเดินหายใจถูกปิดจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ จึงควรปรึกษากับสัตวแพทย์ก่อนรับกลับมา
- ไม่ควรรีบป้อนน้ำหรืออาหารทันที การป้อนน้ำหรืออาหารทันทีหลังจากรับแมวกลับมา อาจมีความเสี่ยงที่แมวจะได้รับอันตรายเพราะฟื้นจากยาสลบไม่เต็มที่ ดังนั้นควรรอให้แมวกินอาหาร หรือน้ำด้วยตัวเองเท่านั้น
- สวมปลอกคอกันเลีย ช่วยป้องกันไม่ให้แมวเลียหรือกัดแผลผ่าตัด ควรสวมเอาไว้อย่างน้อย 5-7 วัน แต่หากทำหมันแบบมีการเย็บแผล อาจต้องสวมไว้นาน 10-14 วัน หรือจนกว่าสัตวแพทย์จะอนุญาต
- คอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด อาการผิดติทั้งจากแผลและพฤติกรรม อาจเป็นสัญญาณของอาการติดเชื้อได้ เช่น แมวซึมมาก แผลบวม แดง มีหนอง หรือแผลแตก ควรปรึกษาสัตวแพทย์ทันที
- อย่าให้แมวทำกิจกรรมเยอะเกินไป เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะเลือดคั่งที่ถุงอัณฑะ (Scrotal Hematoma) รวมถึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้นด้วย ควรให้แมวลดกิจกรรมจากปกติลงอย่างน้อย 5-7 วัน
- ให้ยาตามสัตวแพทย์แนะนำ ไม่ควรหยุดให้ยาที่สัตวแพทย์จ่ายเองโดยที่สัตวแพทย์ไม่ได้บอก แม้แมวจะอาการดูปกติก็ตาม
- ดูแลรักษาความสะอาดพื้นที่เลี้ยงแมว ระหว่างที่แผลทำหมันยังไม่หายดี อาจมีโอกาสที่แมวจะนอนราบไปตามพื้นจนทำให้เชื้อโรคเข้าสู่แผลและเกิดการติดเชื้อได้ ผู้เลี้ยงจึงควรดูแลรักษาความสะอาดสถานที่เลี้ยงเป็นอย่างดีเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ
- อย่าให้แผลสัมผัสน้ำ ช่วงแรกหลังการผ่าตัดทำหมันไม่ควรให้แผลโดนน้ำ เพราะอาจมีโอกาสติดเชื้อได้
- ไปพบสัตวแพทย์ตามนัด สัตวแพทย์อาจมีการนัดไปตัดไหม หรือนัดไปทำแผล ควรไปตามนัดทุกครั้ง
สัญญาณอันตรายหลังทำหมันแมวตัวผู้
หลังทำหมันแมวตัวผู้มาแล้วสังเกตเห็นความผิดปกติต่อไปนี้ ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการแทรกซ้อนต่างๆ
- มีรอยแดงมาก บวม มีเลือดออก หรือแผลแตก
- ไม่ปัสสาวะเลยในรอบ 24 ชั่วโมง
- พฤติกรรมของแมวเปลี่ยนไปกระทันหัน เช่น เซื่องซึม
- ไม่ยอมกินอาหาร
- อาเจียน หรือท้องเสีย
ทำหมันแมวตัวผู้แล้วจะเลิกฉี่ไม่เป็นที่ไหม?
การทำหมันแมวตัวผู้ช่วยลดพฤติกรรมปัสสาวะไม่เป็นที่ได้ โดยปกติแล้วหากทำหมันแมวตัวผู้ในช่วงกำลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หรือช่วงอายุ 5-6 เดือน มักไม่มีปัญหาเรื่องปัสสาวะไม่เป็นที่มากนัก
แต่หากทำหมันแมวตัวผู้หลังจากที่อายุเกิน 1 ปีขึ้นไปแล้ว แมวอาจปัสสาวะไม่เป็นที่จนเป็นนิสัยไปแล้ว ดังนั้นจึงอาจมีการปัสสาวะไม่เป็นที่บ้าง แต่ก็จะลดลงจากก่อนจะทำหมันได้มากเช่นกัน
ทำหมันแมวตัวผู้แล้วนิสัยจะเปลี่ยนไปไหม?
หลายคนอาจได้ยินมาว่า การทำหมันแมวตัวผู้ช่วยลดความก้าวร้าว และพฤติกรรมหนีออกนอกบ้าน จึงกังวลว่า “นิสัย” หรือตัวตนของแมวจะเปลี่ยนไปด้วยจนไม่เหมือนกับแมวที่เคยเลี้ยง
แต่ความจริงคือ พฤติกรรมก้าวร้าวและหนีออกนอกบ้านของแมวเป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศผู้ การทำหมันทำให้ฮอร์โมนเพศผู้ลดลงอย่างมาก ส่งผลให้พฤติกรรมเหล่านั้นลดลงหรือหายไปด้วย
แต่นิสัยหรือตัวตนของแมวนั้นเป็นผลมาจากพันธุกรรมและการเลี้ยงดู ซึ่งไม่มีแม้จะมีฮอร์โมนเพศผู้หรือไม่มีก็ตาม อาจกล่าวได้ว่านิสัยและตัวตนของแมวจะยังคงเหมือนเดิม ที่เปลี่ยนไปคือพฤติกรรมที่เกิดจากฮอร์โมนเท่านั้น
ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการทำหมันแมวตัวผู้
โดยปกติแล้วความเสี่ยง หรือภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการทำหมันแมวตัวผู้นั้นมีโอกาสน้อย แต่เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกประเภทที่ยังมีโอกาสเสี่ยงเช่นกัน โดยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น อาจมีดังนี้
- ได้รับผลข้างเคียงจากยาสลบ ยาสลบมีฤทธิ์กดการทำงานของปอดและหัวใจ ซึ่งอาจอันตรายถึงชีวิตได้ แต่กรณีเกิดขึ้นน้อยมากเพราะสัตวแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจเลือดเพื่อดูความพร้อมก่อนผ่าตัดอยู่แล้ว นอกจากนี้หากแมวมีอาการป่วย เช่น อาเจียน ท้องเสีย ในวันที่ผ่าตัดก็อาจเพิ่มโอกาสที่จะได้รับอันตรายขณะอยู่ใต้ฤทธิ์ยาสลบเช่นกัน จึงควรเลื่อนการทำหมันแมวตัวผู้ออกไปก่อนจนกว่าจะหายดี
- สำลักขณะอยู่ภายใต้ยาสลบ แมวที่ได้รับยาสลบจะสูญเสียความสามารถในการกลืนอาหารและน้ำชั่วคราว หากแมวไม่ได้รับการอดอาหารหรือน้ำอย่างเหมาะสมก่อนรับยาสลบ อาจทำให้อาหารและน้ำเข้าจากกระเพาะอาหารไหลเข้าสู่ปอดของแมวจนเสียชีวิตได้
- อาจเกิดการติดเชื้อหลังผ่าตัด กรณีนี้เกิดบริเวณรอบๆ แผลผ่าตัดหรือด้านใน แต่ส่วนมากมักป้องกันได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ
- อาจเกิดอาการท้องผูก แมวบางตัวมีอาการท้องผูกเล็กน้อยหลังทำหมัน แต่หากสังเกตว่าแมวไม่ขับถ่ายอุจจาระเลยในรอบ 48-72 ชั่วโมง ควรปรึกษาสัตวแพทย์เนื่องจากอาจมีภาวะขาดน้ำ หรืออาการแทรกซ้อนอื่นๆ ทั้งนี้แม้แมวจะมีอาการท้องผูกบ้าง ก็ไม่ควรให้ยาระบายหรืออาหารเสริมกับแมวโดยเด็ดขาด เพราะอาจทำให้แมวเสียชีวิตได้
คุณสามารถลดความเสี่ยงจากการทำหมันแมวตัวผู้ให้ต่ำที่สุดได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำของสัตวแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งก่อนและหลังจากทำหมัน รวมถึงแจ้งให้สัตวแพทย์ทราบทันทีหากรู้ว่าแมวป่วยในวันที่รับบริการ
โดยสรุปแล้ว การทำหมันแมวตัวผู้ไม่ได้เพียงแต่ช่วยควบคุมประชากรแมวเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยให้แมวมีสุขภาพดีขึ้นในระยะยาว รวมลดความเสี่ยงที่แมวจะออกไปสู้กับแมวตัวอื่นและได้รับบาดเจ็บด้วย
ทั้งนี้ การจะวางแผนทำหมันแมวตัวผู้นั้นไม่สามารถพาเดินเข้าไปทำได้ในวันเดียวเลย ต้องมีการนัดเข้าไปตรวจร่างกาย และนัดวันผ่าตัดด้วย โดยคุณสามารถเช็กราคาทำหมันแมวตัวผู้จากคลินิกและโรงพยาบาลสัตว์ได้ที่ HDmall.co.th พร้อมบริการเช็กคิวทำนัด ฟรี