อาการมวนท้อง เป็นอาการธรรมดาที่พบได้บ่อยๆ ในคนทุกเพศทุกวัย โดยมีลักษณะอาการ คือ รู้สึกปั่นป่วน ไม่สบายท้อง ปวดแน่นท้อง บางครั้งก็มีอาการท้องอืด คลื่นไส้ พะอืดพะอม และท้องเสียพ่วงแถมมาด้วย
อาการมวนท้องเกิดได้กับแทบทุกตำแหน่งในท้อง และมักทำให้เรารู้สึกอึดอัด ไม่สบายเนื้อตัว สาเหตุของอาการก็มีหลากหลายต่างกันไป ทั้งสาเหตุที่รุนแรง และไม่รุนแรง
สารบัญ
สาเหตุของอาการมวนท้อง
สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการปวดมวนท้อง ได้แก่
1. อาหารไม่ย่อย
หากรับประทานอาหารมากเกินไป หรือรีบร้อนรับประทานอาหารอย่างรวดเร็ว ก็มีโอกาสทำให้อาหารไม่ย่อย และเกิดอาการมวนท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ พะอืดพะอมได้
ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการย่อยอาหาร เช่น มีภาวะตับอ่อนอักเสบ ทำให้ผลิตน้ำย่อยได้น้อยลง ก็มีโอกาสเกิดอาการปวดมวนท้องได้บ่อยๆ เช่นกัน
2. อาหารเป็นพิษ
บ่อยครั้งที่เรารับประทานอาหารไม่สะอาดจนเกิดอาหารเป็นพิษ อาการปวดมวนท้อง มักจะเป็นอาการที่นำมาก่อนเป็นอย่างแรกๆ โดยอาหารเป็นพิษนั้นเกิดจากการรับประทานอาหาร และดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว
นอกเหนือจากอาการมวนท้องแล้ว คนไข้มักมีท้องร่วง ถ่ายเหลวเป็นน้ำหลายครั้ง และคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
3. กระเพาะอาหารอักเสบ
ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด และพฤติกรรมการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา กระเพาะอาหารอักเสบจึงส่งผลให้การย่อยอาหารในกระเพาะผิดปกติ และทำให้เกิดอาการปวดมวน ท้องไส้ปั่นป่วนได้
4. ลำไส้อักเสบ
ลำไส้เล็กเป็นอวัยวะสำคัญในระบบย่อยอาหาร ดังนั้นการเกิดลำไส้อักเสบจากสาเหตุใดก็ตาม ย่อมส่งผลให้การย่อยอาหารแปรปรวน และทำให้เรารู้สึกปวดมวนไม่สบายท้องได้
5. โรคกรดไหลย้อน
เมื่อรับประทานอาหารมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดกรดในกระเพาะอาหารมากได้ หรือใครที่มีพฤติกรรมชอบกินอิ่มแล้วนอนทันที ก็อาจทำให้เกิดกรดไหลย้อนกลับมาทางหลอดอาหาร ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากมวนท้อง คือ อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน และแสบร้อนหน้าอกร่วมด้วย
6. ไส้ติ่งอักเสบ
ไส้ติ่งเป็นส่วนที่อยู่ระหว่างลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ หากเกิดไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน หรือไส้ติ่งแตก จะมีอาการปวดท้องด้านล่างขวาอย่างรุนแรง รวมถึงอาจมีอาการท้องอืด และคลื่นไส้อาเจียนด้วย
7. เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่
ทำให้เนื้อเยื่อส่วนนี้ไปกดอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร จนอาจทำให้มีอาการปวดมวนท้องได้ในบางครั้ง
นอกจาก 7 สาเหตุด้านบน ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการมวนท้องได้อีก เช่น นิ่วในถุงน้ำดี หรืออาการป่วยก่อนมีประจำเดือนในผู้หญิง
การรักษา และดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการมวนท้อง สิ่งที่ควรทำเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่
- รับประทานอาหารอ่อนๆ และรสไม่จัด เช่น โจ๊ก ซุป เพื่อให้ย่อยง่าย และป้องกันการเกิดแก๊สในกระเพาะ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีแป้ง และไขมันสูง เพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารต้องทำงานหนัก
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆ จะช่วยปรับให้ระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติ
- หากสาเหตุเกิดจากการรับประทานเยอะ จนมีกรดในกระเพาะมาก อาจทานยาลดกรดเพื่อบรรเทาอาการ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา
- หากอาการปวดมวนท้อง มาพร้อมกับการท้องเสีย และอาเจียนหลายครั้ง ควรดื่มเครื่องดื่มผสมเกลือแร่เพื่อชดเชยสารน้ำในร่างกายด้วย
- หากอาการมวนท้องเกิดสาเหตุที่จำเพาะ ก็ต้องรักษาที่สาเหตุนั้น เช่น หากเกิดไส้ติ่งอักเสบ ก็ต้องผ่าตัดนำไส้ติ่งออก
การป้องกันอาการมวนท้อง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัดเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากๆ
- รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และอาหารที่มีเส้นใยสูงเป็นหลัก เช่น เนื้อปลา ผัก ผลไม้ ธัญพืช
- ไม่ควรรับประทานอาหารคราวละมากๆ หรือรับประทานอย่างเร่งรีบเกินไป
หากเป็นอาการมวนท้องที่เกิดจากโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร คุณจะต้องไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการ และรักษาอย่างเหมาะสม
แต่หากอาการมวนท้องเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ก็ให้คุณลองปรับเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารเสียใหม่ เพื่อที่กระเพาะอาหารจะได้ไม่ทำงานหนักจนเกินไป และระบบการย่อยอาหารไม่แปรปรวนจนเกิดอาการไม่สบายท้อง