ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนเป็นเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีก็อาจเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนในระบบอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งล้วนอันตรายและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้มาก มาดูกันว่าโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานมีอะไรบ้าง อันตรายแค่ไหน ควรดูแลตัวเองหรือลดความเสี่ยงอย่างไร
สารบัญ
โรคเบาหวาน และประเภทของเบาหวาน
โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากร่างกายผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ที่ใช้ในปรับสมดุลของระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่เพียงพอ ไม่ผลิตเลย หรือร่างกายดื้อต่ออินซูลิน จึงส่งผลระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นต่อเนื่องในระยะยาว
ปริมาณน้ำตาลที่สะสมในกระแสเลือดจะเข้าไปทำลายอวัยวะต่าง ๆ ให้เสียหายหรือเสื่อมลงได้ เช่น ระบบประสาทส่วนปลาย หัวใจ หลอดเลือด สมอง ดวงตา แขนขา หรือไต พอควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี จะยิ่งนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนในหลายระบบอวัยวะได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
เบาหวานแบ่งได้เป็น 4 ประเภทหลัก มีสาเหตุการเกิดที่ต่างกันดังนี้
- เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 diabetes) เป็นผลมาจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน สาเหตุเกิดจากกรรมพันธุ์และสภาพแวดล้อม พบในเด็กและวัยรุ่นราว 5–10%
- เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 diabetes) เป็นผลมาจากร่างกายผลิตอินซูลินไม่เพียงพอร่วมกับมีภาวะดื้ออินซูลิน สาเหตุเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดี พบในผู้ใหญ่ได้กว่า 90%
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) เป็นเบาหวานที่เกิดในตอนตั้งครรภ์ หลังคลอดแล้วมักจะกลับสู่ภาวะปกติ แต่บางรายที่ไม่ได้ดูแลตัวเองให้ดี อาจกลายเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ต่อเนื่องได้
- โรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะอื่น ๆ เป็นเบาหวานที่เกิดจากโรคหรือสาเหตุต่าง ๆ ที่กระทบต่อการทำงานของอินซูลิน เช่น โรคของตับอ่อน ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ โรคของต่อมไร้ท่อ การใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาที่มีสารสเตียรอยด์
อ่านเพิ่มเติม: เบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 ต่างกันอย่างไร
เสี่ยงเบาหวานแต่ละชนิดแค่ไหน? รู้ได้ด้วยการ ตรวจคัดกรองเบาหวาน หรือ ตรวจเลือด จองกับ HDmall.co.th ได้โปรดี แถมส่วนลด
ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานมีอะไรบ้าง
ผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีตามเกณฑ์กำหนดเป็นเวลานานหรืออย่างน้อย 5 ปี มีโอกาสเผชิญกับภาวะแทรกซ้อนได้ในหลายอวัยวะ โดยอาจเกิดขึ้นแบบฉับพลันหรือเรื้อรัง
ภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันจากเบาหวาน
เป็นผลจากระดับน้ำตาลในเลือดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ จึงควรนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เช่น
(1) ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
ผู้ป่วยเบาหวานตรวจน้ำตาลในเลือดจากปลายนิ้วแล้วพบค่าน้ำตาลต่ำกว่าหรือเท่ากับ 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร อาการที่มักพบคือ อยากอาหาร เหงื่อออกมาก มือสั่น ใจสั่น อ่อนเพลีย สับสน แขนขาไม่มีแรง ชัก ไม่รู้สึกตัว หรือหมดสติ
ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำในผู้ป่วยเบาหวานต้องได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นทันที หากอาการไม่รุนแรงดูแลได้โดยใช้หลัก 15:15:15 คือ
- ให้กินคาร์โบไฮเดรต 15 กรัม เช่น น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ, ลูกอม 3 เม็ด, น้ำผลไม้หรือน้ำผลไม้ประมาณ 180 มล. 1 แก้ว, น้ำหวานเข้มข้น 2 ช้อนโต๊ะผสมน้ำเปล่า
- หลังจากนั้น 15 นาที ให้ตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง ถ้าน้ำตาลในเลือดมากกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ให้กินอาหารมื้อหลักได้เลยเมื่อถึงเวลา
- แต่ถ้าน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ให้กินคาร์โบไฮเดรต 15 กรัมซ้ำ รอ 15 นาทีแล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำที่รุนแรงจนผู้ป่วยมีอาการสับสน ชัก ไม่รู้สึกตัว หรือหมดสติ ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที ห้ามให้กินอาหารเด็กขาด เพราะอาจสำลักลงหลอดลมได้
(2) ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
แบ่งได้เป็น 2 ภาวะคือ ภาวะเลือดเป็นกรด (Diabetic ketoacidosis: DKA) ผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลสูงกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ร่วมกับเลือดเป็นกรดจากสารคีโตนที่คั่งในร่างกาย
อีกภาวะคือ ภาวะเลือดมีความเข้มข้นสูง (Hyperosmolar hyperglycemic state: HHS) ผู้ป่วยจะมีระดับน้ำตาลในเลือดเกินกว่า 600 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และความเข้มข้นเลือดสูงกว่า 320 มิลลิออสโมลต่อกิโลกรัม
ผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำตาลในเลือดสูงมักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายตัว เหนื่อยหอบ เซื่องซึม ปัสสาวะมาก ชัก และหมดสติ ซึ่งต้องรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากเบาหวาน
โรคแทรกซ้อนชนิดเรื้อรังมักพบในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานนานหลายปี หรืออย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป เมื่อปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน เส้นเลือดและเนื้อเยื่อในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายจะถูกทำลายจนเสื่อมลง
ภาวะแทรกซ้อนเรื้อรังจากเบาหวาน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่
(1) โรคบริเวณหลอดเลือดขนาดเล็ก
ยกตัวอย่างเช่น
1.1 เบาหวานขึ้นตาหรือโรคตาจากเบาหวาน (Diabetic retinopathy) ส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม อักเสบ โป่งพอง หรือลอก มาพร้อมอาการสายตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน เสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นมากกว่าคนทั่วไป 30 เท่า
1.2 เบาหวานลงไตหรือโรคไตจากเบาหวาน (Diabetic nephropathy) ไตมีเส้นเลือดฝอยจำนวนมากที่ช่วยกรองของเสีย น้ำตาลที่สะสมในเลือดจะเข้าไปทำให้ไตเสียหายหรือเสื่อมลง ไตทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานลงไตระยะแรกมักไม่มีอาการ
พออาการรุนแรงขึ้น จะมีอาการบวมตามร่างกาย ปัสสาวะเป็นฟอง ความดันโลหิตสูง มีโปรตีนไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ และอาจนำไปสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งต้องฟอกไตเป็นประจำ และยังเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในผู้ป่วยเบาหวานด้วย
1.3 โรคเกี่ยวกับเส้นประสาท (Diabetic neuropathy) มักก่อให้เกิดอาการชาที่ปลายมือปลายเท้าเป็นหลัก ส่วนอาการอื่นที่เกิดขึ้นได้ก็เช่น ปวดแสบปวดร้อน เจ็บเหมือนโดนเข็มทิ่ม ชา ไร้ความสึกเจ็บปวด หรือแขนขาอ่อนแรง เมื่อเป็นแผลที่เท้าจึงไม่รู้สึกตัว จนอาจต้องตัดนิ้วหรือขาบางส่วนออก เพื่อป้องกันแผลลุกลาม
หากเป็นเส้นประสาทที่ควบคุมระบบย่อยอาหารก็อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก โดยเฉพาะในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันสูง หรือสูบบุหรี่ร่วมด้วย
(2) โรคบริเวณหลอดเลือดขนาดใหญ่
ยกตัวอย่างเช่น
2.1 โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน
ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสูงกว่า และรุนแรงกว่าคนทั่วไปมาก เพราะระดับน้ำตาลสูงจะทำให้หลอดเลือดที่หล่อเลี้ยงหัวใจเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว หลอดเลือดแข็ง หนาตัวขึ้นจนอาจตีบตัน
ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจกล้ามเนื้อได้น้อยลง เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ ทำให้มีอาการแน่นหน้าอกคล้ายจุกเสียด หายใจหอบ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ใจสั่น ปวดร้าวที่ท้องแขนด้านใน หน้ามืด อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายได้สูง และเสี่ยงเสียชีวิต
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเบาหวานอาจมีอาการเจ็บหน้าอกไม่ชัดเจนหรือไม่มีอาการเลย ร่วมกับมีปลายประสาทรับความรู้สึกเสื่อมสภาพ ทำให้สังเกตหรือวินิจฉัยได้ยาก
2.2 โรคหลอดเลือดสมอง
กลไกการเกิดเหมือนกับโรคหัว เพียงแต่เกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เส้นเลือดสมองตีบตัน ไม่สามารถลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ กระทบต่อการทำงานของระบบประสาทและสมอง
ทำให้เดินเซ ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด ตาพร่ามัว ชาครึ่งซีก เสี่ยงเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหลอดเลือดสมองพบมากในผู้ป่วยสูงอายุ มักมีความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย
2.3 โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
หลอดเลือดแดงส่วนปลายเป็นหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย ยกเว้นหัวใจและสมอง เช่น แขน ขา ไต ช่องท้อง มีหน้าที่หล่อเลี้ยง ทั้งกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และกระดูก
เมื่อการไหลเวียนของเลือดไม่ดี ทำให้แผลหายช้า เสี่ยงเกิดแผลเรื้อรังตามมา และเกิดแผลที่เท้าหรือปัญหาเบาหวานลงเท้า โดยเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ต้องตัดอวัยวะบางส่วนออก
นอกจากนี้ ยังมีภาวะแทรกซ้อนอื่นที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น การติดเชื้อที่ผิวหนัง เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ การสูญเสียการได้ยิน โรคปริทันต์อักเสบหรือฟันอักเสบ โรคกระดูกพรุน โรคซึมเศร้า รวมถึงโรคสมองเสื่อมอย่างอัลไซเมอร์ด้วย
ดูแลตัวเองอย่างไร ห่างไกลภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน
การป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวานได้ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยสามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ได้
- กินอาหารให้เหมาะสม เน้นอาหารจำพวกผัก ผลไม้ ธัญพืช อาหารที่ดีต่อหัวใจอย่างเนื้อปลา หรืออาหารอุดมไขมันดีอย่างอะโวคาโด
- หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มน้ำตาลสูง เพื่อป้องกันร่างกายได้รับน้ำตาลเกิน
- จำกัดอาหารไขมันชนิดไม่ดี อย่างขนม เนยเทียม ของทอด หรือเนื้อสัตว์แปรรูป รวมถึงงดทานอาหารรสเค็ม ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของโรคไตและความดันโลหิตสูง
- ปรับพฤติกรรมตัวเอง โดยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด หมั่นออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- กรณีต้องใช้ยารักษาโรคเบาหวานหรือยาอื่น ๆ ตามที่แพทย์สั่ง ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หากพบความผิดปกใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลทราบ
ในระหว่างนี้แพทย์จะแนะนำให้ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพื่อติดตามอาการ ตรวจประสิทธิภาพในการควบคุมระดับน้ำตาล รวมถึงปรับการรักษาให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี และชะลอความเสี่อมหรือเสียหายต่ออวัยวะต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด
คุณเสี่ยงโรคเบาหวานแค่ไหน? มา ตรวจเบาหวาน หรือ ตรวจเลือด ด่วนๆ จองกับ HDmall.co.th ได้โปรดี ๆ แถมส่วนลดในราคาที่ถูกสุด