ตรวจวัดสายตา สั้นเท่าไร ยาวเท่าไร วัดให้รู้กันไปเลย

การตรวจสายตา (Visual Acuity Test) จัดเป็นอีกหนึ่งกระบวนการสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการตรวจสุขภาพประจำปีของเราทุกคน เพราะค่าสายตาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติมีส่วนสำคัญทำให้การมองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวชัดเจนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะในระยะใกล้หรือระยะไกล โดยไม่ต้องพึ่งพาการใส่แว่นสายตา

หรือหากเราจะต้องใส่แว่นตา การตรวจสายตาก็จะช่วยให้เรารู้ว่า จะต้องตัดแว่นที่ช่วยเปลี่ยนแปลงระยะการมองเห็นมากแค่ไหน นอกจากนี้การตรวจสายตายังเป็นการตรวจคัดกรองสัญญาณความผิดปกติบางอย่างที่เกี่ยวกับดวงตาได้ เช่น โรคต้อหิน โรคต้อกระจก สำหรับผู้ที่สนใจตรวจวัดสายตา หรือกำลังจะไปตรวจสุขภาพประจำปีที่มีรายการตรวจสายตาอยู่ด้วย ในบทความนี้จะพามาดูข้อควรรู้ต่างๆ เช่น วิธีการตรวจ ขั้นตอนการตรวจ การเตรียมตัว และประโยชน์อื่นๆ มากมาย

การตรวจวัดสายตามีประโยชน์อย่างไร?

การตรวจสายตานั้นมีประโยชน์หลายด้าน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

  • เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตาซึ่งนำมาสู่การเกิดปัญหาสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง
  • เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถผลิตเลนส์แว่นสายตา หรือคอนแท็กเลนส์ให้ระยะที่พอดีกับค่าสายตาของผู้เข้ารับบริการ
  • เพื่อตรวจคัดกรองค่าสายตา สำหรับนำไปตั้งค่าเครื่องยิงเลเซอร์สำหรับทำเลสิก (LASIK)
  • เพื่อหาความเสี่ยงเกิดโรคหรือความผิดปกติบางชนิดเกี่ยวกับดวงตา เช่น โรคต้อหิน โรคต้อกระจก โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง
  • เพื่อตรวจดูอาการผิดปกติเพิ่มเติมของโรคประจำตัวที่อาจส่งผลกระทบไปถึงสายตาด้วย
  • เพื่อตรวจดูประสิทธิภาพในการขับขี่พาหนะ และเป็นอีกหนึ่งกระบวนการในการทำใบขับขี่รถยนต์

ใครควรตรวจวัดสายตา

จริงๆ แล้วเราทุกคนควรตรวจวัดสายตาโดยไม่มีข้อยกเว้น และยังควรตรวจสม่ำเสมอทุกปี ถึงแม้ว่า ในปีก่อนหน้านั้นจะไม่พบความผิดปกติหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้นกับสายตา

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจวัดสายตาอย่างขาดไม่ได้ เพราะอาจจำเป็นต่อกระบวนการรักษาหรือดูแลสุขภาพ จะได้แก่

  • กลุ่มผู้ที่รู้สึกว่าค่าสายตาเปลี่ยนแปลงไป โดยอาจรู้สึกว่ามองเห็นไม่ชัดในระยะใกล้หรือไกล พยายามเพ่งแล้วแต่ไม่หาย ควรลองมาตรวจวัดสายตาเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของประสิทธิภาพการมองเห็น
  • ผู้ที่คนในครอบครัว หรือผู้ใกล้ชิดทางสายตามีโรคประจำตัวเกี่ยวกับดวงตา เพราะโรคเกี่ยวกับดวงตาหลายโรค รวมถึงภาวะทางสายตาสามารถส่งต่อถึงกันได้ผ่านทางพันธุกรรม
  • ผู้ที่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพตา และอยากจะเช็กสมรรถภาพการมองเห็นของตนเอง
  • ผู้ที่ใส่แว่นตา แต่รู้สึกว่า ค่าสายตาเปลี่ยนแปลงไปจนแว่นตาชิ้นเดิมไม่สามารถช่วยเสริมการมองเห็นได้ และต้องการตัดแว่นใหม่
  • ผู้ที่ต้องการทำเลสิก ซึ่งเป็นการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนแปลงค่าสายตาให้กลับมาคมชัด จะต้องรับการตรวจค่าสายตาอย่างละเอียดกับแพทย์ก่อนผ่าตัดทุกราย

วิธีการตรวจวัดสายตา

วิธีการตรวจวัดสายตา เพื่อประเมินสมรรถภาพการมองเห็นขั้นพื้นฐานจะแบ่งเป็น 3 กระบวนการหลักๆ ได้แก่

  • การตรวจระดับการมองเห็น (Visual Acuity Test)
  • การวัดลานสายตา (Visual Field)
  • การวัดค่าสายตา (Refraction)

1. การตรวจระดับการมองเห็น (Visual Acuity Test)

การตรวจระดับการมองเห็นเป็นการทดสอบความสามารถการมองเห็นในระยะใกล้และไกลของผู้ตรวจ

วิธีวัดการมองเห็นระยะไกล จะเป็นการตรวจด้วยการอ่านแผนภูมิตัวอักษร หรือตัวเลขที่จะเรียงจากขนาดใหญ่ไปเล็กทั้งหมด 8 บรรทัด (หรือมากกว่า) ที่เรียกว่า “Snellen Chart” โดยผู้อ่านจะต้องยืนหรือนั่งห่างจากแผ่นแผนภูมิซึ่งติดอยู่บนผนังประมาณ 4-6 เมตร ใช้อุปกรณ์ปิดตา 1 ข้าง แล้วลองอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขที่มองเห็นให้เจ้าหน้าที่ฟัง จากนั้นปิดตาอีกข้าง แล้วลองอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขให้เจ้าหน้าที่ฟังอีกครั้ง

Snellen Chart ตรวจวัดสายตา
ตัวอย่าง Snellen Chart
ในระหว่างที่อ่านตัวอักษรหรือตัวเลข หากผู้อ่านรู้สึกมองไม่ชัดหรือไม่แน่ใจ สามารถเอ่ยคาดเดาตัวอักษรหรือตัวเลขที่คิดว่าถูกต้องกับเจ้าหน้าที่ได้ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะบันทึกผลการอ่าน Snellen Chart ออกมา

สำหรับวิธีการตรวจระดับการมองเห็นระยะใกล้ จะเป็นการอ่านแผ่นแผนภูมิที่มีตัวอักษรเรียงตั้งแต่ตัวใหญ่ไปเล็กคล้ายๆ กับ Snellen Chart แต่จะมีรายละเอียดการแปลผลต่างกัน เรียกได้อีกชื่อว่า “Near Chart” ผู้อ่านจะต้องยืนห่างจากแผ่นแผนภูมิประมาณ 33 เซนติเมตรหรือ 14 นิ้ว แล้วอ่านรายละเอียดตัวอักษรที่อยู่บนแผนภูมิทีละบรรทัดให้เจ้าหน้าที่ฟัง

2. การวัดลานสายตา (Visual Field)

การวัดลานสายตา หมายถึง การตรวจดูพื้นที่ทั้งหมดที่ตัวเองตาของเราสามารถมองเห็นได้โดยรอบไม่ว่าจะด้านหน้า หรือด้านข้าง โดยลานสายตาที่มีความผิดปกติสามารถเป็นสัญญาณซ่อนเร้นของการเกิดโรคเกี่ยวกับตาบางชนิดได้ เช่น โรคเกี่ยวกับจอประสาทตา โรคต้อหิน โรคเกี่ยวกับระบบประสาท

วิธีการตรวจวัดลานสายตาทำได้ไม่ยาก ปัจจุบันมักตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์และต้องปิดไฟห้องให้มืดสนิท โดยผู้เข้าตรวจจะปิดตาหนึ่งข้าง แล้วเอาใบหน้าไปวางบนแท่นของเครื่องตรวจซึ่งจะมีลักษณะเป็นกล้องให้ส่องดูภาพขนาดเล็กด้านใน มือข้างหนึ่งถือกล่องที่จะมีปุ่มกดติดตั้งอยู่ด้านบน

ในระหว่างการตรวจ ผู้เข้าตรวจจะต้องจ้องภาพที่มีลักษณะเป็นแผ่นวงกลมโล่งๆ ด้านในกล้องอยู่ตลอด สามารถกระพริบตาได้ แต่ให้มองด้วยตาข้างเดียวที่ยังไม่ได้ถูกปิดเท่านั้น

เมื่อใดที่แผ่นวงกลมซึ่งมองเห็นได้ผ่านกล้องนั้นมีจุดแสงไฟเกิดขึ้น ให้ผู้เข้าตรวจกดปุ่มบนกล่องส่งสัญญาณที่อยู่ในมือทันที โดยให้กดทุกครั้งที่เห็นจุดแสงไฟ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนำข้อมูลการวัดลายสายตาออกมาอ่านสรุปให้ผู้เข้าตรวจฟัง หรือส่งให้แพทย์เป็นผู้อ่านผลตรวจต่อไป

3. การวัดค่าสายตา (Refraction)

การวัดค่าสายตา เป็นกระบวนการตรวจหาความผิดปกติของค่าสายตาทั้ง 2 ข้างซึ่งผลต่อความคมชัดในการมองเห็น เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง มีวิธีการตรวจวัดง่ายๆ ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกัน โดยผู้ตรวจจะต้องขึ้นไปนั่งเพ่งอ่านภาพ ตัวอักษร หรือตัวเลขผ่านเครื่องวัดค่าสายตาที่มีชื่อว่า “Phoropter”

โดยบนตัวเครื่อง Phoropter จะมีช่องวงกลมคล้ายกับแว่นตา 2 ข้างติดตั้งอยู่ ผู้เข้าตรวจจะต้องนั่งในระดับความสูงที่พอดีและดวงตาจะต้องสามารถจ้องมองภาพผ่านเลนส์แว่นตาของเครื่อง Phoropter ได้

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะเปลี่ยนเลนส์สายตาบนเครื่อง Phoropter ให้มีความใกล้เคียงกับข้อมูลสายตาเบื้องต้นของผู้เข้าตรวจ แล้วให้ผู้เข้าตรวจลองอ่านภาพที่มองเห็นอยู่ตรงหน้าให้ฟัง หากผู้เข้าตรวจรู้สึกว่ายังมองไม่ชัด ภาพที่เห็นยังพร่าเบลอ หรืออ่านผิด เจ้าหน้าที่จะมีการเปลี่ยนเลนส์สายตาบนเครื่อง Phoropter อีกครั้ง แล้วให้ผู้ตรวจอ่านภาพที่มองเห็นใหม่

เมื่อตรวจเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่จะบันทึกค่าเลนส์สายตาที่ผู้เข้าตรวจใช้อ่านภาพตรงหน้าได้อย่างชัดเจนออกมา ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงค่าสายตาที่เปลี่ยนแปลงหรือเกิดความผิดปกติ

ในกลุ่มผู้เข้าตรวจที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ประมาณ 38-40 ปีขึ้นไป ซึ่งมักเผชิญปัญหาสายตายาวอยู่แล้ว บางสถานพยาบาลอาจให้ผู้เข้าตรวจใส่เลนส์แว่นสำหรับผู้ที่สายตายาว แล้วลองอ่านแผ่นพับหรือรูปภาพที่มีขนาดเท่าตัวหนังสือทั่วไปร่วมด้วย เพื่อตรวจเช็กหาค่าสายตายาวที่แม่นยำมากขึ้น

การเตรียมตัวก่อนตรวจสายตา

ก่อนตรวจสายตา ผู้เข้ารับบริการไม่จำเป็นต้องเตรียมสุขภาพใดๆ ล่วงหน้า เพียงพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้สายตาไม่อ่อนล้าและพร้อมต่อการตรวจสายตา และหากมีข้อมูลความผิดปกติเกี่ยวกับสายตาในอดีต ก็สามารถนำมาให้แพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจอ่านวิเคราะห์เพื่อประกอบการตรวจวัดสายตาได้

ขั้นตอนการตรวจสายตา

การตรวจสายตาของแต่ละสถานพยาบาลอาจแตกต่างกันไปตามการจัดคิวและพื้นที่การตรวจวัดสายตาของเจ้าหน้าที่ ซึ่งโดยทั่วไปสถานที่ตรวจสายตาจะต้องเป็นห้องที่มีแสงสว่างเพียงพอ และมีพื้นที่กว้างมากพอที่จะให้ผู้ตรวจยืนห่างจากป้าย หรือแผนภูมิที่ใช้ตรวจวัดสายตาได้

โดยส่วนมากขึ้นตอนการตรวจวัดสายตาจะเริ่มเป็นลำดับจากการอ่านระดับการมองเห็นก่อน ต่อด้วยการวัดลานสายตา และวัดค่าสายตา นอกเหนือจากนี้อาจมีขั้นตอนการตรวจสุขภาพตาอื่นๆ แทรกได้ เช่น การวัดความดันลูกตา การทดสอบตาบอดสี การวัดความโค้งของกระจกตา ทั้งนี้ขึ้นอยู่จำนวนรายการตรวจวัดสายตาหรือการตรวจสุขภาพตาโดยรวมที่ทางสถานพยาบาลแต่ละแห่งกำหนด

การดูแลตัวหลังตรวจวัดสายตา

หลังจากตรวจวัดสายตาเรียบร้อยแล้ว หากผู้เข้าตรวจไม่ได้มีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ก็สามารถกลับบ้านและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่หากค่าสายตามีความผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก แพทย์ก็จะแนะนำให้ผู้เข้าตรวจตัดแว่นหรือใส่คอนแทคเลนส์ เพื่อให้การมองเห็นคมชัดยิ่งขึ้น

การตรวจวัดสายตาเป็นขั้นตอนง่ายๆ ที่ใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ต้องดูแลตนเองหลังตรวจ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลายคนละเลยไม่ยอมไปตรวจวัดสายตาทุกปี เพราะคิดว่าคงไม่ตรวจพบความผิดปกติมากมาย

แต่ความจริงแล้ว โรคเกี่ยวกับดวงตาหลายโรคนั้นไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า และน้อยคนที่จะรู้ตัวว่าค่าสายตาของตนเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงไม่รู้ว่าเปลี่ยนแปลงเพราะสาเหตุใด

การตรวจวัดสายตาจึงเป็นอีกขั้นตอนการตรวจสุขภาพที่เราทุกคนจะมองข้ามไม่ได้ และควรให้เวลากับกระบวนการตรวจนี้กันทุกคนอย่างครบถ้วนทุกกระบวนการ

Scroll to Top