วิธีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดอย่างไร? ป้องกันได้กี่ปี?

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) หรือที่นิยมเรียกกันว่า “โรคกลัวน้ำ” เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies Virus) ผ่านทางน้ำลายของสัตว์เลือดอุ่น หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ติดเชื้อไวรัสนี้อยู่ จากการถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณบาดแผล เนื้อเยื่อบุตา หรือปาก

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากสุนัข หรือแมวกัดเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว โรคพิษสุนัขบ้าสามารถเกิดได้กับสัตว์เลือดอุ่นทุกชนิด โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ชะนี ลิง กระรอก วัว สุกร หนู หรือค้างคาว

โรคพิษสุนัขบ้านั้น ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรค คน หรือสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสนี้ จะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงสุดถึง 100% แต่อย่างไรก็ตาม โรคพิษสุนัขบ้าสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine)

สารบัญ

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดได้กี่แบบ?

แนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่

  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค เป็นวิธีการที่แนะนำ โดยเฉพาะในผู้ที่ต้องใกล้ชิดกับสัตว์เป็นประจำ เพราะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันล่วงหน้า ทำให้การรักษาหลังสัมผัสโรคทำได้ง่ายขึ้น และช่วยลดการใช้อิมมูโนโกลบินได้
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างทันท่วงที โดยจะมีวิธีการฉีดที่แตกต่างกันในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน และผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีน

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค (PrEP) ฉีดอย่างไร?

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis rabies: PrEP) คือ การฉีดวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้ และสามารถรักษาด้วยการฉีดวัคซีนและอิมมูโนโกลบินเท่านั้น

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรคนั้น จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาหลังสัมผัสโรค ลดจำนวนเข็มวัคซีนที่ต้องฉีด และไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบินที่บริเวณบาดแผล ซึ่งช่วยลดความเจ็บปวด และค่าใช้จ่ายในการรักษาได้มาก

โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิศสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค ฉีดได้ 2 วิธี ดังนี้

  1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วยวิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular regimen: IM) ฉีด 1 โดส ในวันที่ 0, 7, 21 หรือ 28 รวมเป็นทั้งหมด 3 เข็ม โดยผู้ใหญ่ฉีดที่บริเวณต้นแขน ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ให้ฉีดที่บริเวณหน้าขา
  2. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วยวิธีการฉีดเข้าผิวหนัง (Intradermal regimen: ID) ฉีด 1 มล. บริเวณต้นแขน ในวันที่ 0, 7, 21 หรือ 28 รวมเป็นทั้งหมด 3 เข็ม ทั้งนี้ผู้ที่ใช้ยาเคมีบำบัดต้านมาลาเรีย (Antimalarial chemoprophylaxis) จะไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้

โดยร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้สูงพอที่จะป้องกันโรค ภายใน 7-10 วัน หลังรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มสุดท้าย

ทั้งนี้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วยวิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อกับฉีดเข้าผิวหนัง จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย คือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าการฉีดเข้าที่ผิวหนัง

อย่างไรก็ตาม เมื่อฉีดเข็มกระตุ้นแล้วจะมีระดับภูมิคุ้มกันที่ใกล้เคียงกัน ประมาณ 83-98%

สำหรับใครที่สนใจฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค สามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อเลือกวิธีการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมกับตนเองได้ หรือเลือกฉีดพร้อมกับวัคซีนชนิดอื่นๆ ได้

เช่น ในเด็กเล็กสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าพร้อมกับฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และโปลิโอ (DTP-IPV) ได้เลย

เมื่อถูกสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ต้องทำอย่างไร?

ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับวิธีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค ผู้อ่านควรที่จะรู้จักวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียที่บาดแผล เสียก่อน มีรายละเอียดดังนี้

  • จับสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าขังไว้เพื่อสังเกตอาการ แต่ถ้าหากสัตว์เสียชีวิต ให้นำซากสัตว์แช่น้ำแข็ง แล้วรีบนำไปส่งตรวจภายใน 24 ชั่วโมง
  • หากอยู่ไกลจากสถานพยาบาล ให้ล้างแผลทุกแผลด้วยน้ำสะอาด และฟอกสบู่หลายๆ ครั้ง ให้ลึกถึงก้นแผล อย่างน้อย 15 นาทีก่อน โดยระมัดระวังไม่ให้แผลช้ำ
  • เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือแอลกอฮอล์ 70% และรีบไปพบแพทย์ทันที
  • เมื่อไปพบแพทย์แล้ว แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และให้วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก หลังจากนั้นแพทย์จะพิจารณาระดับสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

ระดับสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า มีกี่ระดับ?

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้แบ่งระดับสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • สัมผัสโรคระดับ 1 บริเวณที่สัมผัสน้ำลายสัตว์ เป็นผิวหนังปกติ ไม่มีบาดแผล
  • สัมผัสโรคระดับ 2 สัตว์กัด หรือข่วน เป็นรอยช้ำ เป็นแผลถลอก หรือสัตว์เลียบาดแผล
  • สัมผัสโรคระดับ 3 สัตว์กัด หรือข่วน มีเลือดออกชัดเจน น้ำลายสัตว์ถูกเยื่อบุตา ปาก หรือบาดแผลเปิด บริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่ทำให้สุก

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค (Rabies PEP) ฉีดอย่างไร?

หลังจากที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้น และประเมินระดับสัมโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว แพทย์จะทำการรักษาด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค (Rabies Post-Exposure Prophylaxis: Rabies PEP) เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างทันท่วงที

โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค แบ่งเป็น 2 กลุ่มดังนี้

1.การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค ในผู้ที่เคยรับวัคซีนแล้ว

ในกรณีที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าภายใน 10 ปี ไม่ว่าจะสัมผัสโรคระดับ 1, 2 หรือ 3 ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบิน แต่ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยสามารถเลือกฉีดได้หลายวิธี ดังนี้

  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าผิวหนัง 1 ครั้ง ในกรณีที่เคยรับวัคซีนเข็มสุดท้ายน้อยกว่า 3 เดือน
  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าผิวหนัง 2 ครั้ง (วันที่ 0 และ 3) ในกรณีที่เคยรับวัคซีนเข็มสุดท้ายมากกว่า 3 เดือน
  • ฉีดเข้าผิวหนัง 4 จุด บริเวณต้นแขนและต้นขาทั้งสองข้าง ภายในครั้งเดียว

2.การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค ในผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีน

แนวทางการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค ในผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน จะขึ้นอยู่กับระดับการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า มีหลายกรณี ดังนี้

  • กรณีสัมผัสโรคระดับที่ 1 ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา พิจารณาให้ฉีดวัคซีนแบบ PrEP
  • กรณีสัมผัสโรคระดับที่ 2
    • ตรวจสมองสัตว์ ผลเป็นลบ ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา พิจารณาให้ฉีด PrEP
    • ตรวจสมองสัตว์ ผลเป็นบวก ให้รักษาด้วยการฉีดแบบ Rabies PEP
    • สัตว์หนีไป หรือเป็นสัตว์ป่า ให้รักษาด้วยการฉีดแบบ Rabies PEP
    • สุนัข หรือแมวที่มีอาการปกติ ถูกเลี้ยงดูอย่างดี ได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้า ครบ 2 เข็ม และกัดเพราะมีแรงจูงใจ ให้กักสัตว์ไว้เพื่อสังเกตอาการ 10 วัน หากสัตว์ตาย ให้ส่งตรวจสมองสัตว์ และเริ่มรักษาด้วยวิธีการฉีด Rabies PEP ทันที
    • สุนัข หรือแมวที่มีอาการปกติ แต่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือเลี้ยงแบบปล่อย ให้กักสัตว์เพื่อสังเกตอาการร่วมกับการฉีดวัคซีนแบบ Rabies PEP
  • กรณีสัมผัสโรคระดับที่ 3 วิธีรักษาเหมือนกับระดับที่ 2 แต่จะต้องฉีดอิมมูโนโกลบินร่วมด้วย โดยควรฉีดตั้งแต่วันแรกที่ถูกกัด หากวันแรกไม่สามารถฉีดได้ ให้ฉีดในวันถัดไป และไม่ควรฉีดช้าเกิน 7 วัน

โดยการวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรคในผู้ที่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน จะแบ่งเป็น 2 วิธี ดังนี้

  • ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เรียกว่า “สูตร ESSEN” โดยฉีดวัคซีน 1 เข็ม บริเวณกล้ามเนื้อต้นแขน ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28
  • ฉีดเข้าผิวหนัง เรียกว่า “สูตร TRC-ID” โดยฉีดวัคซีนบริเวณผิวหนังต้นแขนทั้งสองข้าง ข้างละ 1 จุด รวมเป็น 2 จุด ในวันที่ 0, 3, 7 และ 28

การฉีดอิมมูโนโกลบินร่วมกับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า คืออะไร?

อิมมูโนโกลบิน (Immunoglobulin) คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในเลือด ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกัน หรือภูมิต้านทานโรค เมื่อฉีดเข้าไปที่บาดแผลบริเวณที่ถูกสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัด จะสามารถทำลายเชื้อไวรัสบริเวณบาดแผลได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังฉีด

แพทย์มักพิจารณาให้ฉีดอิมมูโนโกลบินร่วมกับฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ในผู้ที่สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าระดับ 3 และไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามาก่อน โดยสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าได้เลย

โดยอิมมูโนโกลบิน แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • อิมมูโนโกลบูลินที่ผลิตจากซีรั่มของมนุษย์ (Human rabies immunoglobulin: HRIG)
  • อิมมูโนโกลบูลินที่ผลิตจากซีรั่มของม้า (Equine rabies immunoglobulin: ERIG) จะต้องทำการตรวจภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Intradermal skin test) ก่อนทุกครั้ง เพราะอาจมีอาการแพ้ ผื่นคัน หรือลมพิษได้

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดแล้วป้องกันได้กี่ปี?

ปกติแล้ว หลังจากที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 1-2 ปี ระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายจะค่อยๆ ลดลง จนไม่สามารถป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้

ดังนั้นหลังจากที่สัมผัสโรคแล้ว จะต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นทุกครั้ง ซึ่งร่างกายจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงพอที่จะป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องฉีดอิมมูโนโกลบินร่วมด้วย

สามารถเลื่อนฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่?

ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่มีคำแนะนำในการเลื่อนนัดการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จึงไม่ควรเลื่อนนัดการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในผู้ที่ฉีดวัคซีนหลังสัมผัสโรค ควรฉีดวัคซีน 3 เข็มแรกให้ครบภายใน 7 วัน เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคได้อย่างทันท่วงที

ในกรณีที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่ครบ ต้องทำอย่างไร?

ในกรณีที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 3 เข็มแล้ว และสัตว์ที่ถูกกักขังไว้ ไม่เสียชีวิต หรือไม่มีอาการผิดปกติใดๆ หลังสังเกตอาการครบ 10 วัน ไม่จำเป็นต้องฉีดต่อ ให้ถือว่าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบก่อนสัมผัสโรคแล้ว

หญิงตั้งครรภ์สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้หรือไม่?

หญิงตั้งครรภ์สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และอิมมูโนโกลบินได้ตามปกติ แต่จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบว่า กำลังตั้งครรภ์อยู่

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในเด็กและในผู้ใหญ่ มีความแตกต่างกันหรือไม่?

การให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในเด็กและในผู้ใหญ่ ไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งแบบฉีดก่อนสัมผัสโรค และฉีดหลังสัมผัสโรค

โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคที่ไม่มียารักษา เมื่อได้รับเชื้อแล้ว ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างทันท่วงที สามารถส่งผลร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ วิธีการที่ดี่ที่สุดในการลดอันตรายที่อาจเกิดจากโรคนี้ จึงเป็นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรคนั่นเอง

Scroll to Top