การถอนฟันโดยทั่วไปเป็นทางเลือกที่รวดเร็วในการรักษาสุขภาพในช่องปากทางหนึ่ง แต่เมื่อกล่าวถึงฟันกราม หลายท่านอาจยังไม่ทราบหรือสับสนว่า ฟันกรามคือฟันซี่ไหน สำคัญอย่างไร เมื่อไหร่จึงจำเป็นต้องถอน หรือถอนแล้วเจ็บไหม วันนี้ HDmall.co.th ได้รวบรวมข้อมูลสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการถอนฟันกรามมาฝากกัน
สารบัญ
การถอนฟันกรามคืออะไร?
การถอนฟันกราม คือ การนำฟันกรามซี่ที่ทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถให้การรักษาทางทันตกรรมด้านอื่นได้ เช่น การอุดฟัน การรักษาคลองรากฟัน และจะทำกรณีผู้ที่มีความจำเป็นเท่านั้น จึงควรทำกับทันตแพทย์ในโรงพยาบาลหรือคลินิคทันตกรรมที่มีมาตรฐาน และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ฟันกรามมีกี่แบบ?
ฟันกราม (Molar Tooth) คือ ฟันที่งอกขึ้นอยู่ท้ายสุดของแถวฟัน ทั้งแถวบนและแถวล่าง ซึ่งจะมีขนาดใหญ่และมีความแข็งแรงกว่าฟันซี่อื่น ทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหาร และเนื่องจากฟันกรามเป็นฟันแท้ ถ้าหักหรือถอนไปแล้วจึงไม่มีการงอกขึ้นมาใหม่ทดแทนฟันซี่เดิม
โดยฟันกรามแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่
- ฟันกรามน้อย ลักษณะของฟันกรามน้อยจะมีรูปร่างกลมและเล็กกว่าฟันกรามธรรมดา ทำหน้าที่ฉีกอาหารเป็นชิ้นเล็กๆ และบดเคี้ยวอาหาร มีจำนวน 8 ซี่ บน 4 ซี่ ล่าง 4 ซี่
- ฟันกรามธรรมดา มีหน้าที่หลักคือการบดเคี้ยวอาหาร มีจำนวน 12 ซี่ บน 6 ซี่ ล่าง 6 ซี่ โดยจะนับจากซี่ในสุดเป็นฟันกรามซี่ที่ 3 เรียงออกมาฝั่งละ 3 ซี่ แล้วก็ต่อด้วยฟันกรามน้อยซี่ที่ 2
ใครควรถอนฟันกราม?
ผู้ที่ฟันกรามมีปัญหาจนทันตแพทย์พิจารณาให้ถอนฟันกรามออก โดยทั่วไปมีดังนี้
- ผู้ที่มีฟันกรามผุ มักเกิดจากการบริโภคน้ำตาลและทำความสะอาดไม่เพียงพอ ทำให้เนื้อฟันถูกกรดจากแบคทีเรียกัดกร่อนจนลึกไปถึงโพรงประสาทฟันหรือรากฟัน ทันตแพทย์อาจพิจารณาให้ถอนฟันกรามที่ผุออก และทำฟันปลอมทดแทนให้
- ผู้ที่มีฟันกรามเป็นโรคปริทันต์รุนแรงรอบตัวฟัน จนไม่สามารถรักษาได้
- ผู้ที่มีฟันคุด เกิดจากฟันกรามที่งอกมาเบียดฟันซี่ข้างเคียงให้ล้มเอียง และถ้าหากงอกออกมาได้แค่บางส่วน มีส่วนที่ติดอยู่ในเนื้อเยื่ออ่อนหรือกระดูกขากรรไกร ซึ่งช่องเปิดของฟันที่งอกออกมาไม่หมด จะเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรียและอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในช่องปากได้ ทันตแพทย์อาจต้องใช้เทคนิคการกรอกระดูกฟันรวมกับการผ่าตัดในการถอนฟัน
- ผู้ที่ต้องการจัดฟัน ซึ่งจำเป็นต้องถอนฟันกรามออก ประมาณ 1-4 ซี่ (ขึ้นอยู่กับการจัดเรียงฟันของแต่ละคน) เพื่อให้เกิดเนื้อที่ในช่องว่างบนขากรรไกรที่ฟันซี่ข้างๆ จะได้ขยับไปในจุดที่เหมาะสมตามที่ทันตแพทย์วางแผนเอาไว้
- ผู้ที่ฟันกรามได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ จนฟันแตก ฟันร้าว รากฟันหัก ซึ่งทันตแพทย์พิจารณาแล้ว ไม่สามารถเก็บฟันกรามไว้ได้
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องให้เคมีบำบัดหรือฉายรังสี บริเวณปาก ศรีษะ และลำคอ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจ และประเมินช่องปาก เพื่อวางแผนการรักษาทางทันตกรรม ถ้าจำเป็นต้องถอนต้องถอนให้เสร็จก่อนฉายรังสี อย่างน้อย 2 สัปดาห์ และ ก่อนให้เคมีบำบัด อย่างน้อย 5-7 วัน เพื่อป้องกัน ภาวะกระดูกขากรรไกรตายจากการรับรังสี
การเตรียมตัวก่อนถอนฟันกราม
ผู้ที่เข้ารับการถอนฟันกราม ก่อนวันนัดถอนฟัน ควรเตรียมตัวดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- หากเกิดอาการกลัวหรือเครียดมาก ควรปรึกษากับทันตแพทย์
- หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดัน โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติเลือดออกง่าย เลือดไหลไม่หยุด ผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด หรือ รับประทานอาหารเสริมบางชนิด ซึ่งอาจมีผลกับการแข็งตัวของเลือด รวมทั้งผู้ที่ได้รับการให้เคมีบำบัดหรือฉายรังสีบริเวณปากหรือบริเวณข้างเคียง จะต้องแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบโดยละเอียด เพื่อสามารถประเมินแผนการรักษาเบื้องต้นได้
- ในวันถอนฟัน ควรรับประทานอาหารก่อนมาพบทันตแพทย์ เพื่อที่เวลาถอนฟันเสร็จ คนไข้จะรู้สึกชา เมื่อหายชาอาจมีอาการปวดและไม่อยากรับประทานอาหาร
ขั้นตอนการถอนฟันกราม
การถอนฟันกรามนั้นไม่ได้มีขั้นตอนที่แตกต่างจากการถอนฟันซี่อื่น แต่อาจมีเทคนิคการถอนตามลักษณะของฟัน โดยมีขั้นตอนดังนี้
- ก่อนที่จะทำการถอนฟัน ทันตแพทย์จะตรวจประวัติทางการแพทย์ และประวัติทางทัตนกรรมอย่างละเอียด ตรวจความผิดปกติของฟันกราม แล้วเอกซเรย์ฟัน เพื่อประเมินระดับความยุ่งยากของการถอนฟัน ว่าต้องส่งต่อให้ศัลยแพทย์ช่องปาก หรืออาจจำเป็นต้องได้รับการถอนฟันที่โรงพยาบาลหรือไม่
- ตรวจวัดความดัน
- ทันตแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณรอบๆ ฟันที่จะถอน
- เมื่อยาชาออกฤทธิ์ ทันตแพทย์ก็เริ่มกระบวนการถอนฟันกราม ตามเทคนิคที่เหมาะสม
- หลังจากนำฟันกรามออกมาได้ บางครั้งทันตแพทย์อาจมีการเย็บแผลเพื่อปิดขอบเหงือกเหนือแผล ซี่งไหมที่ใช้เย็บมักใช้แบบละลาย
เทคนิคการถอนฟันกราม
สำหรับเทคนิดในการการถอนฟันกราม จะขึ้นอยู่กับความผิดปกติของฟันซี่ที่จะถอน ซึ่งทันตแพทย์จะประเมินวิธีการที่เหมาะสม ดังนี้
- เทคนิคถอนฟันโดยใช้คีมถอนฟัน เป็นเทคนิคถอนฟันที่มักใช้เมื่อผู้ป่วยมีเนื้อฟันให้ถอนมากพอสมควร และไม่มีอาการรากฟันผิดปกติ โดยทันตแพทย์จะใช้คีมหนีบฟัน ออกแรงโยกฟัน แล้วดึงฟันออกมา
- เทคนิคถอนฟันโดยใช้แรงแบบคานงัด หรือใช้อุปกรณ์แซะเหงือก (Elevator) เป็นเทคนิคถอนฟันที่มักใช้สำหรับถอนฟันกรามซี่ในสุด ทั้งนี้ทันตแพทย์จะใช้เทคนิคคานงัด ร่วมกับการใช้คีมถอนฟัน โดยทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือที่เรียกว่าเครื่องแซะในการทำให้ฟันหลวมจากเหงือก จากนั้นทันตแพทย์จะใช้คีมหนีบฟัน ออกมา
- เทคนิคถอนฟันโดยการแบ่งฟัน เป็นเทคนิคถอนฟันที่ช่วยในการนำตัวฟันและรากฟันออกมาที่ละส่วน หรือในกรณีที่ผู้ป่วยมีฟันเหลือแต่รากอยู่ใต้เหงือก หรือฟันมีหลายราก โค้งงอไปหลายทิศทาง ซึ่งไม่สามารถถอนโดยวิธีปกติได้
- เทคนิคการกรอกระดูก จะใช้ในกรณีที่ฟันคุดฝังอยู่ในกระดูก หรือใต้ฟันซี่อื่นๆ โดยทันตแพทย์จะต้องผ่าเปิดเหงือก เพื่อหาตำแหน่งกระดูกที่ฟันคุดฝังอยู่ แล้วใช้เทคนิคการกรอกำจัดกระดูกฟันส่วนที่ปกคลุมฟันคุดออก และทำการกรอตัดแบ่งฟันเป็นส่วนๆ จากนั้นค่อยๆนำแต่ละส่วนออกมาจนครบซี่
การดูแลตัวเองหลังถอนฟัน
หลังจากถอนฟันเสร็จ ทันตแพทย์จะวางผ้าก๊อซบริเวณที่มีการถอนฟัน ควรกัดผ้าก๊อซให้แน่น 1-2 ชั่วโมง อาการชาจะยังมีตกค้างอยู่อีกประมาณ 2-3 ชั่วโมง หลังจากยาชาหมดฤทธิ์ จะเริ่มมีอาการเจ็บ บวมบริเวณที่ถอนฟัน สามารถใช้การประคบเย็น หรือรับประทานยาพาราเซตามอลได้ แต่ถ้ามีอาการเลือดออกเป็นลิ่มๆ ในปริมาณมาก ควรรีบปรึกษาทันตแพทย์
- หลีกเลี่ยงการแปรงฟันบริเวณแผลที่ถอนหรือผ่าตัดโดยตรง
- หลีกเลี่ยงการกัดหรือเคี้ยวอาหารบริเวณจุดที่ถอนหรือผ่า
- งดบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากทุกชนิด โดยสามารถใช้น้ำเกลือกลั้วเบาๆ ให้ทั่วปากได้หลังถอนฟันแล้ว 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและช่วยลดการอักเสบ ทำให้ปากสะอาดและแผลหายเร็ว
- งดสูบบุหรี่และงดใช้หลอดดูดน้ำ เพราะอาจทำให้แผลหายช้า
- รับประทานอาหารอ่อน ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป งดอาหารที่แข็ง เหนียว กรอบ หรือรสจัด
- หากมีเศษอาหารติดบริเวณแผล ให้ใช้วิธีบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ ไม่ใช้สิ่งอื่น เช่น ไม้จิ้มฟัน หรือนิ้ว ไปแคะเศษอาหารออก เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบ หรือแผลติดเชื้อได้
- งดการออกกำลังกายหนัก หลังการถอนฟันอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- ควรนอนหมอนสูง เพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลออกจากแผล
ผลข้างเคียงของการถอนฟันกราม
โดยทั่วไปผลข้างเคียงของการถอนฟันกรามเกิดได้ไม่บ่อย และโดยมากจะสามารถแก้ไขได้ โดยอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- เลือดไหลไม่หยุด (Hemorrhage) เลือดไหลออกมาปริมาณมาก มีสาเหตุจากการไม่กัดผ้าก๊อซให้แน่นและนานพอ หรือบ้วนปากแรงๆ หรือมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับแข็งตัวของเลือดและรับประทานยาที่มีผลกับการแข็งตัวของเลือด สามารถแก้ไขโดยการให้กัดผ้าก๊อซผืนใหม่แล้วรีบไปพบทันตแพทย์
- เกิดการฟกช้ำและห้อเลือด (Ecchymosis) เป็นอาการแผลช้ำที่เกิดขึ้นเป็นปกติจากเลือดซึ่งซึมอยู่ในผิวชั้นใต้เยื่อเมือก หรืออาจเกิดจากการที่ลักษณะของฟันที่ถอนหรือผ่าตัดนั้นทำได้ยาก จึงต้องใช้เวลานาน จนทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ถอนฟันช้ำกว่าปกติ อาการจะค่อยๆ หายไปในเวลา 7-14 วัน อาจจะอมน้ำเกลือ และใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบ เพื่อช่วยทำให้อาการหายเร็วขึ้น
- อ้าปากได้จำกัด (Trismus) เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ ซึ่งมักพบได้บ่อยในการผ่าตัดฟันกรามล่างซี่ที่ 3 หรือ อาจเกิดจากฟันที่ถอนยากหรือใช้เวลาผ่าตัดนานๆ การรักษาให้ผู้ป่วยพยายามอ้าปาก ใช้นิ้วมือหรือไม้กดลิ้นง้างปากบ่อยๆ ร่วมกับการใช้น้ำอุ่นประคบ
- การติดเชื้อ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การทำความสะอาดแผลผ่าตัด หรือแผลถอนฟันในช่องปากไม่ดีพอ ถ้ามีอาการไข้ หนาวสั่น ควรรีบไปพบทันตแพทย์
- กระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Alveolar Osteitis หรือ Dry Socket) มักพบบ่อยในการถอนฟันกรามล่างซี่ที่ 3 โดยอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกเนื้อเยื่อบริเวณฟันกรามระหว่างถอนฟันหรือผ่าตัด มีการติดเชื้อทำให้มีการละลายของลิ่มเลือดในกระดูกเบ้าฟัน จึงทำให้มีอาการปวดรุนแรง อาจปวดร้าวไปที่บริเวณหน้าหู และศีรษะ แผลถอนฟันจะมีกลิ่นเหม็น หรือมีสีเทาของเนื้อเยื่อที่อักเสบ ให้รีบมาพบทันตแพทย์เพื่อทำการรักษา
- อาการบวม (Edema) เป็นอาการที่พบได้ในการผ่าตัดฟันคุด โดยเฉพาะเทคนิคการผ่าตัดแบบเปิดเหงือก หรือเกิดได้จากการถอนฟันหลายซี่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของกล้ามเนื้อเหงือก ใบหน้าผู้ป่วยจึงมีอาการบวมบริเวณที่ถอนฟันออกไป อาการบวมจะเกิดขึ้นในเวลา 24 – 72 ชั่วโมง และจะค่อยๆ ยุบลง ภายใน 7 วัน แนะนำให้ผู้ป่วยใช้ความเย็นประคบทุกๆ 20 นาที หลังจาก 24 ชั่วโมงแรก ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบแทน
ข้อควรระวังของการถอนฟันกราม
- สำหรับผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิสูง และโรคเลือด ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบอย่างละเอียด เพื่อเตรียมตัวและป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการถอนฟัน
- เมื่อถอนฟันกรามไปแล้ว จำเป็นต้องใส่ฟันปลอมเพื่อทดแทนช่องว่างที่เกิดขึ้น หากไม่ใส่ฟันปลอมจะเกิดช่องว่างบริเวณดังกล่าว ส่งผลให้ฟันที่อยู่ใกล้เคียงเอียงและล้มได้
- ช่องว่างตรงบริเวณที่ถอนฟันกรามออกไป เศษอาหารจะเข้าไปติดได้ง่ายขึ้น ต้องดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี เพื่อลดโอกาสการเกิดเป็นฟันผุและเป็นโรคเหงือก
- หลังผ่าตัดหรือถอนฟันกราม หากมีอาการปวดอย่างรุนแรง เลือดออกมาก มีไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียร บวมแดง หรือมีหนองบริเวณที่ถอดฟัน ต้องรีบไปพบทันตแพทย์
ถอนฟันกรามแล้วฟันจะล้มไหม?
การที่ถอนฟันกรามไปแล้ว ฟันจะล้มหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของฟันกราม เพราะถ้าเป็นตำแหน่งของฟันกรามซี่ในสุด ทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอดทั้งฟันซี่ด้านบนและด้านล่างที่เป็นคู่สบกัน ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดฟันล้ม และไม่จำเป็นต้องใส่ฟันปลอม แต่ถ้าถอดแต่ฟันกรามซี่ในสุดด้านล่าง ฟันกรามซี่ในสุดด้านบนจะห้อยลงสู่ช่องว่างด้านล่าง และทำให้ซอกในสุดฟันด้านบนมีเศษอาหารติดและผุในภายหลัง ส่วนตำแหน่งฟันกรามซี่อื่นๆ ควรจะใส่ฟันปลอม เพื่อป้องกันการล้มเอียงของฟันซี่ข้างๆ และลดการติดเชื้อ การอักเสบที่อาจเกิดขึ้นจากการทำความสะอาดไม่ทั่วถึง
ถอนฟันกรามเจ็บไหม?
ทันตแพทย์จะมีการใช้ยาชาเฉพาะที่แบบป้ายก่อน เพื่อให้เนื้อเยื่อบริเวณที่จะฉีดยามีอาการชา จากนั้นจะฉีดยาชาบริเวณที่จะถอนฟัน ทำให้ขณะถอนฟันเราจะไม่มีความรู้สึกอะไรเลย หลังจากยาชาหมดฤทธิ์ จะรู้สึกเจ็บปวดบ้าง ทั้งนี้ในกรณีที่ต้องกรอกระดูกอาจรู้สึกเจ็บกว่าปกติ ทันตแพทย์อาจจะจ่ายยาแก้ปวดให้เพื่อลดอาการปวด
ถอนฟันกรามกี่วันหาย?
หลังจากการถอนฟันกราม 2-3 วัน อาการปวดจะค่อยๆ ดีขึ้น และไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ จะสามารถทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ทั่วไปได้ตามปกติ ยกเว้นกรณีกรอกระดูก อาจต้องดูอาการ 1-2 เดือน ให้แผลผ่าตัดหรือรอยแยกระหว่างเหงือกกลับมาปิดสนิทเป็นเนื้อเดียวกับเนื้อเยื่อในช่องปาก
ถอนฟันกรามเองได้ไหม?
เราไม่ควรถอนฟันเองอย่างยิ่ง เพราะฟันกรามมีเส้นประสาทจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สูง เพื่อลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง หรือการติดเชื้อในภายหลัง
การถอนฟันกราม บางครั้งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และต้องได้รับการดูแลโดยทันตแพทย์อย่างใกล้ชิด ทุกคนควรต้องศึกษาข้อมูลการดูแลตัวเองหลังการทำทันตกรรม เพื่อลดผลกระทบจากผลข้างเคียง และกลับมามีสุขภาพในช่องปากที่ดีโดยเร็ว