Default fallback image

รู้จักเบาหวานลงไต โรคแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยเบาหวานต้องระวัง

ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะรู้กันดีว่า การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าควบคุมได้ไม่ดีอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ง่าย หนึ่งในนั้นคือ ภาวะเบาหวานลงไต (Diabetic nephropathy) 

ภาวะเบาหวานลงไตอาจนำไปสู่ภาวะไตวายและเสี่ยงเสียชีวิต ผู้ป่วยจึงควรหมั่นดูตัวเอง ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ เพื่อลดความเสี่ยงของเบาหวานลงไตในอนาคต มาศึกษากันในบทความนี้เลย  

เบาหวานลงไต คืออะไร

เบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งเป็นตัวช่วยแปลงน้ำตาลไปเป็นพลังงาน ได้ไม่เพียงพอหรือไม่ผลิตเลย 

ทำให้เกิดการสะสมของน้ำตาลในกระแสเลือด ซึ่งอาจกระทบหรือเป็นอันตรายต่ออวัยวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นดวงตา ระบบประสาทส่วนปลาย หัวใจ หลอดเลือด สมอง รวมถึงไตเองก็เช่น จนเป็นที่มาของคำว่า เบาหวานลงไต หรือโรคไตจากโรคเบาหวาน นั่นเอง   

เบาหวานลงไตได้อย่างไร อันตรายแค่ไหน

การควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีในระยะยาวทำให้เซลล์ไตและหลอดเลือดในไตที่ช่วยกรองของเสียถูกทำลาย ส่งผลให้ไตทำงานผิดปกติ ความดันในหลอดเลือดฝอยในไตสูงขึ้น ไตกรองของเสียได้ลดลง หรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ 

เบาหวานลงไตยังอาจไปเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ เส้นประสาทควบคุมกระเพาะปัสสาวะเสีย ภาวะไตวาย โรคหัวใจและหลอดเลือด และการเสียชีวิตได้

เบาหวานลงไตเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยเบาหวานทุกประเภท และยังจัดเป็นประเภทหนึ่งของโรคไตเรื้อรังด้วย  

นอกจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดีหรือควบคุมไม่ได้แล้ว (Hyperglycemia) เบาหวานลงไตยังอาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น  

  • ความดันโลหิตสูงต่อเนื่องและควบคุมไม่ได้ (Hypertension) 
  • พฤติกรรมการสูบบุหรี่
  • ภาวะอ้วน
  • ภาวะคอเลสเตอรอลสูง
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน โรคไต หรือไตเรื้อรัง

อาการและระยะของเบาหวานลงไต มีหลายระดับ

เบาหวานลงไตแบ่งได้ 5 ระดับ ตามค่าอัตราการกรองของไต (GFR) สูงสุดที่ 100% และปริมาณโปรตีนอัลบูมิน (Albumin) ที่รั่วในปัสสาวะ โดยแต่ละระยะก็จะมีอาการแสดงแตกต่างกันไปด้วย ดังนี้ 

ระยะที่ 1 และ 2

  • ระยะนี้อาจไม่พบอัลบูมินในปัสสาวะหรือพบไม่เกิน 30 มิลลิกรัมต่อวัน แต่อาจพบน้ำตาลในปัสสาวะได้ 
  • การทำงานของไตอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือลดลงเล็กน้อย ค่า GFR ของระยะที่ 1 อยู่ที่ 90% ขึ้นไป ส่วนระยะที่ 2 อยู่ที่ 60–89% 
  • ผู้ป่วยอาจไม่พบอาการแสดงใด ๆ หรืออาจพบอาการจากเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อย หรือหิวน้ำบ่อย 

ระยะที่ 3

  • เริ่มพบอัลบูมินในปัสสาวะประมาณ 30–300 มิลลิกรัมต่อวัน
  • การทำงานของไตอาจลดลงปานกลางถึงมาก ความดันโลหิตสูงขึ้น ค่า GFR อยู่ที่ 30–59%  
  • เบาหวานลงไตระยะ 3 มักพบในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ที่เป็นมานาน ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อาจพบได้ตั้งแต่เริ่มเป็นเบาหวาน
  • หากรักษาระดับน้ำตาลในเลือดและดูแลตัวเองได้ดีอาจกลับเข้าสู่ระยะที่ 2 ได้ 

ระยะที่ 4 

  • ระยะนี้พบอัลบูมินในปัสสาวะเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน
  • การทำงานของไตอาจลดลงอย่างมาก และมักมีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย ค่า GFR อยู่ที่ 15–29% 
  • หากดูแลตัวเองได้ดีอาจทำให้อัลบูมินในปัสสาวะลดลง ชะลอไตเสื่อมได้ 

ระยะที่ 5 

  • การทำงานของไตลดลงจนเข้าสู่ภาวะไตวายระยะสุดท้าย ค่า GFR ต่ำกว่า 15%
  • ไตที่สูญเสียการทำงานจะทำให้ของเสียและสารเคมีต่าง ๆ ค้างอยู่ในเลือด ทำให้ผู้ป่วยต้องฟอกไตหรือฟอกเลือดอยู่เสมอ

อาการของเบาหวานลงไตมักแสดงออกมาในช่วงระยะที่ 4–5 โดยอาการที่มักพบได้ คือ แขน ขา หรือใบหน้าบวมจากน้ำคั่ง กดแล้วบุ๋ม ผิวแห้งมาก คันตามตัว ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะเป็นฟองมากผิดสังเกต อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือง่วงซึม 

นอกจากนี้ เมื่อตรวจปัสสาวะแล้วจะเจอไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ (โปรตีนอัลบูมิน) ตรวจเจอค่าของเสียในเลือดสูงขึ้น ความดันโลหิตสูงหรือคุมได้ยากขึ้นแม้จะใช้ยาช่วย บางรายอาจมีระดับน้ำตาลต่ำในเลือดบ่อยครั้ง จนเข้าใจว่าควบคุมเบาหวานได้ดี 

ลดความเสี่ยงเบาหวานลงไต ชะลอไตเสื่อมได้อย่างไร

วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดเบาหวานลงไต หรือโรคไตจากเบาหวานทำได้โดย

ควบคุมการกินน้ำตาล

ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกกินอาหารที่มีใยอาหารสูง ไม่หวานหรือหวานน้อย เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืช แทนอาหารน้ำตาลสูง โดยเฉพาะของหวาน น้ำอัดลม และน้ำหวานต่าง ๆ เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณมาก

ไม่กินเค็มเกินไป 

เพื่อไม่ให้ไตทำงานหนักเกินไปจนเสี่ยงเกิดโรคไต และโรคความดันโลหิตสูงตามมา ควรลดกินเค็มหรือปรุงเครื่องปรุงรส อย่างน้ำปลาหรือเกลือเพิ่มเติม 

จำกัดการกินโปรตีนสูง

ผู้ป่วยเบาหวานควรจำกัดโปรตีนในอาหารให้อยู่ที่ 0.8 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน หรือตามแพทย์แนะนำ เพื่อชะลอการเสื่อมของไตจนอาจทำให้เกิดเบาหวานลงไตตามมา

ลดการกินไขมันชนิดไม่ดี

ควรเลี่ยงการกินไขมันไม่ดีหรือไขมัน LDL ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจชะลอการเสื่อมของไต และลดอัลบูมินในปัสสาวะ โดยระดับไขมัน LDL ในผู้ป่วยเบาหวานควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

แพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อติดตามอาการเป็นระยะ และปรับแผนการรักษาให้เหมาะสม โดยผู้ป่วยเบาหวานจะใช้การตรวจดูระดับน้ำตาลเฉลี่ยช่วง 2–3 เดือนที่ผ่านมา หรือการตรวจ HbA1c (Hemoglobin A1c) 

ผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หรือตามแพทย์แนะนำ เกณฑ์มาตรฐานของการตรวจ HbA1c มีดังนี้

  • ค่าน้อยกว่า 5.7% ถือว่าปกติ
  • ค่าอยู่ระหว่าง 5.76.4% ถือว่าเสี่ยงเป็นเบาหวาน
  • ค่าเท่ากับหรือมากกว่า 6.5% อาจถือว่าเป็นโรคเบาหวาน

ควบคุมระดับความดันโลหิตให้เหมาะสม

การควบคุมความดันโลหิตในผู้ป่วยเบาหวานจะช่วยลดการเกิดเบาหวานลงไต ลดปริมาณโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะ ช่วยชะลอการเสื่อมของไต และลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

นอกจากหลีกเลี่ยงการกินอาหารรสเค็มจัดที่ส่งผลต่อระดับความดันโลหิตแล้ว ควรตรวจวัดและรักษาระดับความดันโลหิตให้ต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท กรณีที่ต้องกินยาลดความดัน ควรปรึกษาแพทย์ถึงกลุ่มยาที่เหมาะสม โดยเฉพาะยากลุ่ม ACEIs และยากลุ่ม ARBs 

หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ 

เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและช่วยควบคุมน้ำหนัก แนะนำให้ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ (Cardio) อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ โดยอาจเลือกกิจกรรมหรือกีฬาที่สนใจเป็นหลัก เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน หรือเดินเร็ว จะช่วยให้สนุกไปกับการออกกำลังกาย 

เลิกสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์

การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์อาจไปเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวาน เบาหวานลงไต ไตเสื่อม รวมถึงโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย

โรคเบาหวานและเบาหวานลงไตเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรัง ส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย แต่ถ้าเราหมั่นดูแลตัวเอง ลดพฤติกรรมเสี่ยง และควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ ความเสี่ยงเหล่านี้ ก็จะลดลงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ตรวจสุขภาพประจำปี ช่วยลดความเสี่ยงเบาหวาน 

โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่อาจก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้มากมาย ไม่เฉพาะแค่เบาหวานลงไต แม้จะไม่มีอาการของโรคก็ควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยคัดกรองความเสี่ยงและโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว 

การตรวจสุขภาพพื้นฐานมักจะมีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อดูความเสี่ยงของเบาหวานรวมอยู่ด้วย ซึ่งการตรวจคัดกรองเบาหวานนั้นทำได้หลายวิธี แต่วิธีตรวจเบาหวานที่ทำได้ง่ายและนิยมทำ จะเป็นการตรวจวัดน้ำตาลในเลือดช่วงอดอาหาร (FPG) 

กรณีผลการตรวจสุขภาพออกมาผิดปกติ แพทย์จะแนะนำการดูแลสุขภาพ เพื่อลดความเสี่ยงหรือป้องกันการเกิดโรคในอนาคต ถ้ามีความเสี่ยงอื่น ๆ อาจได้รับคำแนะนำให้ตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมด้วย 

ติ๊กถูกลดความเสี่ยงครบทุกข้อแล้ว อย่าลืมข้อ ตรวจคัดกรองเบาหวาน นะ HDmall.co.th รวมครบทุกแพ็กเกจตรงใจ ราคาโปร ช้าหมดอดนะ!

Scroll to Top