“อบเชย” (Cinnamon) เป็นเครื่องเทศที่มีกลิ่นหอม ได้มาจากเปลือกไม้ชั้นในที่แห้งแล้วของต้นอบเชย อบเชยมีหลายชนิด มักจะเรียกตามแหล่งเพาะปลูกเช่น อบเชยจีน อบเชยลังกา อบเชยญวน เป็นต้น นอกจากนำมาใส่ในขนมหรือเครื่องดื่มเพื่อให้มีกลิ่นหอมแล้ว ยังมีผู้นำอบเชยมาใช้ในการรักษาโรคเบาหวานอีกด้วย
หมายเหตุ : อบเชยที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศศรีลังกา ซึ่งเป็นคนละชนิดกันกับอบเชยไทย ซึ่งมี 2 ชนิด ได้แก่
- Cinnamomum bejolghota (Buch.-Ham.) Sweet: ชื่อท้องถิ่น ขนุนมะแวง จวงดง เฉียด เชียกใหญ่ บริแวง ฝนแสนห่า พะแว มหาปราบ มหาปราบตัวผู้ โมงหอม ระแวง แลงแวง สมุลแว้ง
- Cinnamomum iners Reinw. ex Blume: ชื่อท้องถิ่น กระแจะโมง กระดังงา กะเชียด กะทังนั้น กะพังหัน โกเล่ เนอม้า บอกคอก ฝักดาบ พญาปราบ มหาปราบตัวผู้ อบเชยต้น
อบเชยแต่ละชนิดต่างกันอย่างไร
อบเชยลังกา (หรือเรียกว่า อบเชยเทศ) เปลือกบางมาก อบเชยจีนเปลือกหนากว่าของอบเชยลังกาเล็กน้อย ส่วนอบเชยไทยเป็นต้นไม้ขนาดกลาง ใช้เปลือกเป็นไม้หอมชนิดหนึ่ง ขึ้นอยู่ทั่วประเทศไทยและตามเทือกเขาหิมาลัย มีกลิ่นหอม ในประเทศไทยมีมากทางภาคเหนือ เป็นไม้เปลือกเนื้อแน่นสีน้ำตาล ส่วนอบเชยญวนเปลือกหนากว่าของอบเชยลังกาและอบเชยจีน อบเชยญวนมีกลิ่นหอมมากที่สุด อบเชยไทยเปลือกหนาที่สุด
คุณค่าทางโภชนาการ
อบเชยน้ำหนัก 100 กรัม ให้พลังงาน 247 กิโลแคลอรี่ มีสารอาหารดังนี้
- ไขมันทั้งหมด 1.2 g
- โซเดียม 10 mg
- โพแทสเซียม 431 mg
- คาร์โบไฮเดรต 81 g
- ใยอาหาร 53 g
- น้ำตาล 2.2 g
- โปรตีน 4 g
- วิตามินซี 3.8 mg
- แคลเซียม 1,002 mg
- เหล็ก 8.3 mg
- แมกนีเซียม 60 mg
ที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย (ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม)
สรรพคุณของอบเชย
- อบเชยเทศมีสรรพคุณทางยาใกล้เคียงกับอบเชยไทย ตามตำราสรรพคุณยาโบราณกล่าวว่า อบเชยมีกลิ่นหอม รสสุขุม (รสกลางๆ) มีสรรพคุณบำรุงดวงจิต แก้อ่อนเพลีย แก้ใจหวิว ใจสั่น บำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย คนโบราณจึงนิยมนำอบเชยเป็นส่วนประกอบของยาหอม โดยจะนำสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบของยาหอม ไปตากแห้ง แล้วบดเป็นผงยา เมื่อมีอาการวิงเวียน หรืออ่อนเพลีย ก็จะนำผงยาไปละลายในน้ำต้มสุก แล้วค่อยๆจิบจะหมดแก้ว แต่ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้ โดยนำผงยาหอม ไปผสมกับพิมเสนและการบูร ห่อในผืนผ้าขนาดเล็ก แล้วใส่ห่อผ้าเข้าไปในกรักยาดม ใช้ดมเวลารู้สึกจะเป็นลม หรือวิงเวียน
- ใบอบเชยเทศ ใช้กันมาแต่โบราณ ทั้งเป็นยาบำรุงกำลังและบำรุงร่างกาย แก้จุกแน่นและท้องเสีย นิยมรับประทานในรูปแบบต้มกับน้ำเดือด
- ในประเทศอินเดียและศรีลังกา มีการใช้อบเชยเทศเป็นยาพื้นบ้านรักษาโรคเบาหวานและแก้ไข้สันนิบาต มีวิธีรับประทานหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่นำผงอบเชยไปปั้นกับน้ำผึ้งเป็นเม็ดลูกกลอน หรือนำอบเชยมาต้มดื่ม
- ใช้เป็นยานัตถุ์ แก้อาการปวดศีรษะ แก้อาการคัดจมูก ทำให้หายใจสะดวก
- รากและใบมีกลิ่นหอม ใช้ทำน้ำต้ม ช่วยบรรเทาอาการไข้ที่เกิดขึ้นหลังจากคลอดบุตร แก้โรคหนองใน
- เป็นส่วนประกอบของยาขับลม แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับผายลม ปัจจุบันนำมาผลิตในรูปแบบยาน้ำ เช่น ยาธาตุอบเชย เป็นต้น
การปรุงอาหาร
อบเชยไทย นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของยามากกว่าอาหาร ส่วนอบเชยที่ใช้ในการประกอบอาหารคืออบเชยเทศ(อบเชยลังกา) โดยนำผงอบเชยเทศทำเป็นเครื่องแกง เช่น แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น หรือใช้ผสมเป็นไส้ของขนมกะหรี่ปั๊ป หรือใช้ร่วมกับโป๊ยกั๊กในการดับคาวในอาหารประเภทต้ม เช่น พะโล้และเนื้อตุ๋นต่างๆ ส่วนในต่างประเทศ มักใช้ผงอบเชยเทศที่บดละเอียดโรยหน้ากาแฟหรือขนมหวาน
อบเชยกับเบาหวาน
เนื่องจากในประเทศอินเดียมีการใช้อบเชยเทศเป็นยาพื้นบ้านในการรักษาเบาหวานกันอย่างกว้างขวาง จึงมีนักวิจัยสนใจ และได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดของอบเชยกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่าหลังจากรับประทานสารสกัดน้ำจากอบเชยติดต่อกันนาน 4 เดือน ผู้ป่วยมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยไม่พบอาการข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์
อย่างไรก็ตาม การรับประทานอบเชยเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดอาจจะไปเสริมฤทธิ์กับยาที่แพทย์สั่ง และถ้าหากระดับน้ำตาลต่ำลงมากเกินไป ก็อาจเป็นอันตรายแก่ผู้ป่วย จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้อบเชยช่วยรักษาอาการเสมอ เพื่อความปลอดภัยควรเริ่มใช้อบเชยในปริมาณต่ำๆ ก่อน และคอยสังเกตอาการระหว่างที่รับประทานด้วยเป็นระยะ