หนองในแท้ (Gonorrhea) คืออะไร ข้อมูลโรค อาการ รักษา ป้องกัน

โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า ไนซ์ซีเรีย โกโนร์เรีย (Neisseria gonorrhoeae) โดยเชื้อแบคทีเรียนี้เป็นเชื้อดื้อยา เรียกว่า ซุปเปอร์บั๊ก (Superbug) ทำให้การรักษาโรคหนองในแท้นั้นทำได้ยากขึ้น

สถิติการเกิดโรคหนองในแท้

หน่วยป้องกันและควบคุมโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) คาดการณ์ว่าในประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยโรคหนองในแท้รายใหม่ประมาณ 820,000 รายต่อปี โดย 570,000 รายนั้นอยู่ในช่วงอายุ 15-24 ปี แต่จากรายงานในปี 2013 พบว่ามีผู้ป่วยโรคหนองในแท้เพียง 333,004 ราย ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการประมาณการติดเชื้อทั้งหมดที่เราสามารถตรวจพบและมีการรายงาน

โรคหนองในแท้นี้ยังเป็นปัญหาต่อทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลก (The World Health Organization: WHO) ได้ประมาณไว้ว่ามีผู้ป่วยโรคหนองในแท้รายใหม่จำนวน 106 ล้านรายต่อปี

โรคหนองในแท้ติดต่อผ่านทางใดได้บ้าง?

โรคหนองในแท้ติดต่อได้ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นทางช่องคลอด ทางทวารหนัก หรือทางช่องปาก โดยอาจเป็นเพศสัมพันธ์ที่มีหรือไม่มีการหลั่งน้ำอสุจิก็ได้ โดยเชื้อแบคทีเรียจะเข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัสเยื่อบุต่างๆ เช่น เยื่อบุปากมดลูก เยื่อบุมดลูก และเยื่อบุปีกมดลูกในผู้หญิง และเยื่อบุท่อปัสสาวะทั้งในผู้ชายและผู้หญิง นอกจากนี้ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุปาก ช่องคอ ตา และทวารหนักได้อีกด้วย

นอกจากนี้โรคหนองในแท้ยังสามารถติดต่อผ่านทางเลือด และหากไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้ผู้ที่ติดเชื้อเสี่ยงต่อการรับเชื้อและแพร่เชื้อเอชไอวี (HIV) มากขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้ คือ โรคหนองในแท้แบบแพร่กระจาย (Disseminated gonococcal infection หรือ DGI) ที่จะส่งผลให้มีอาการของข้ออักเสบ เส้นเอ็นอักเสบ และผิวหนังอักเสบ

อ่านเพิ่มเติมอาการโรคหนองใน

อาการของโรคหนองในแท้

โรคหนองในแท้ในผู้หญิง

จากการอ้างอิงของ CDC ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโรคหนองในแท้มักจะไม่มีอาการใดๆ หรือหากมีก็จะมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้มักจะได้รับการวินิจฉัยคลาดเคลื่อน โดยเข้าใจว่าเป็นการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะซะส่วนใหญ่

อาการของโรคหนองในแท้ในผู้หญิงที่พบได้ คือ

  • ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
  • ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะแสบขัด
  • เจ็บช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด
  • เจ็บคอ
  • มีไข้ และปวดท้องด้านล่างอย่างรุนแรง
  • หากการติดเชื้อแพร่กระจายไปยังปีกมดลูกและบริเวณกระเพาะอาหาร

ไม่ว่าผู้หญิงที่เป็นโรคหนองในแท้นั้นมีอาการอะไร หรือมีความรุนแรงแค่ไหน ก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายอย่างการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic inflammatory disease หรือ PID) ซึ่งจะทำให้มีอาการต่อไปนี้

  • มีไข้และปวดท้อง
  • เกิดฝีหนองภายในร่างกาย และปวดท้องน้อยเรื้อรัง
  • เกิดภาวะมีบุตรยาก หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก หากปีกมดลูกถูกทำลายอย่างรุนแรง
  • หญิงที่ตั้งครรภ์สามารถแพร่เชื้อไปยังบุตรได้ในระหว่างที่คลอดบุตร ซึ่งจะทำให้ทารกตาบอด ติดเชื้อที่ข้อ หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้

โรคหนองในแท้ในผู้ชาย

ผู้ชายส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโรคหนองในแท้มักจะไม่มีอาการใดๆ เช่นเดียวกับในผู้หญิง อาการที่อาจพบได้มีดังนี้

  • ปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะแสบขัด
  • มีหนองสีขาว เหลือง หรือเขียว ออกมาจากท่อปัสสาวะ โดยจะเกิดภายใน 14 วันแรกของการติดเชื้อ
  • รูเปิดท่อปัสสาวะแดงหรือบวม
  • เจ็บคอ

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหนองในแท้ในผู้ชายที่พบได้ คือ การอักเสบของท่อเก็บเชื้ออสุจิในถุงอัณฑะ (Epididymitis) ซึ่งจะทำให้เจ็บอัณฑะ เจ็บถุงอัณฑะ และในบางรายอาจทำให้เป็นหมันได้

การติดเชื้อหนองในแท้ที่ทวารหนักและช่องปาก

การติดเชื้อหนองในแท้ที่ทวารหนักและช่องปากสามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยการติดเชื้อหนองในแท้ที่ทวารหนักอาจไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บ คัน มีเลือดออก มีสารคัดหลั่งไหลออกจากทวารหนัก รวมทั้งรู้สึกปวดเวลาลำไส้เกิดการเคลื่อนตัว ส่วนการติดเชื้อหนองในแท้ในช่องปากก็อาจไม่ทำให้เกิดอาการใดๆ เลยได้เช่นกัน แต่บางครั้งก็อาจทำให้มีอาการเจ็บคอได้

โรคหนองในแท้สามารถแพร่เชื้อผ่านทางการจูบ และการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องปากได้ แม้ว่าการแพร่เชื้อของโรคนี้ที่ทวารหนักและช่องปากจะพบได้น้อยมากก็ตาม

การรักษาโรคหนองในแท้ และเชื้อดื้อยา (Superbug)

หน่วยป้องกันและควบคุมโรค (CDC) รายงานว่าการดื้อยาของเชื้อหนองในแท้เป็นที่น่ากังวลมากที่สุด เนื่องจากเชื้อหนองในแท้นั้นสามารถพัฒนาตัวเองให้ทนทานต่อยาฆ่าเชื้อที่นำมาใช้รักษาโรคมากขึ้น และจากข้อมูลในบทความเกี่ยวกับโรคติดเชื้อทั่วโลก (The Journal of Global Infectious Diseases) ปี ค.ศ. 2010 รายงานว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เชื้อหนองในแท้ได้ทนทานต่อยาฆ่าเชื้อหลายๆ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) กลุ่มยาเพนิซิลิน (Penicillins) กลุ่มยาเตตราซัยคลิน (Tetracyclines) และกลุ่มยาควิโนโลน (Quinolones)

เดิมทีการรักษาโรคหนองในแท้นั้นใช้ยาฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolones) เป็นหลัก แต่ต่อมาเกิดเชื้อดื้อยาแพร่กระจายไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1990-2009 ทำให้เหลือยาเพียงกลุ่มเดียวที่สามารถใช้รักษาโรคหนองในแท้ได้ คือ กลุ่มยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin)

ในปี ค.ศ. 2007 หน่วยป้องกันและควบคุมโรคแนะนำว่า ใครก็ตามที่ได้รับการรักษาโรคหนองในแท้ ควรได้รับการรักษาโรคหนองในเทียมร่วมด้วย เนื่องจากเป็นเชื้อที่สามารถพบร่วมกันได้ โดยเชื้อหนองในเทียมเป็นเชื้อแบคทีเรีย ชื่อคลามีเดียทราโคมาติส (Chlamydia trachomatis) และยังแนะนำว่าการรักษาโรคหนองในแท้ควรใช้ยากลุ่มเซฟาโลสปอริน โดยฉีดยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) หรือกินยาเซฟฟิซีม (Cefixime) ร่วมกับกินยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) หรือยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) ซึ่งยาทั้งคู่นี้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหนองในแท้ทั้งคู่ แต่ยาอะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) จะมีประสิทธิภาพดีกว่า

อย่างไรก็ตามเชื้อหนองในแท้ก็ได้ทนทานต่อยาเซฟฟิซีมมากขึ้น ทำให้หน่วยป้องกันและควบคุมโรคของประเทศสหรัฐอเมริกาต้องปรับปรุงแนวทางการรักษาโรคหนองในแท้อีกครั้งในปี ค.ศ. 2012 นั่นคือ การรักษาโรคหนองในแท้และหนองในเทียมโดยการฉีดยาเซฟไตรอะโซน 250 มก. 1 ครั้ง ร่วมกับกินยาอะซิโธรมัยซิน 1 มก. 1 ครั้ง หรือกินยาดอกซีไซคลิน 100 มก. วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน ยกเว้นในรายที่ไม่สามารถทนต่อการใช้ยาเซฟไตรอะโซนได้ โดยในขณะที่ได้รับการรักษาโรคหนองในแท้อยู่ ผู้ที่ได้รับการรักษาควรละเว้นการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันทั้งทางช่องคลอด ทางทวารหนัก และทางช่องปากด้วย ฃ

หากเชื้อหนองในแท้ที่ดื้อต่อกลุ่มยาเซฟาโลสปอริน (Cephalosporin) แพร่หลายมากขึ้น หน่วยป้องกันและควบคุมโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้คาดการณ์ไว้ว่าจะมีผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (PID) มากขึ้น 75,000 ราย โรคท่อเก็บเชื้ออสุจิอักเสบ (Epididymitis) มากขึ้น 15,000 ราย และผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) มากขึ้น 222 ราย ภายในระยะเวลา 10 ปี

ยารักษาหนองใน

ให้ยาปฏิชีวนะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ พร้อมกับแนะนำให้ส่งต่อผู้ป่วยไปพบแพทย์

  1. เซฟิซีม (Cefixime) 400 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
  2. ซีฟาคลอร์ (Cefaclor) ขนาด 1 กรัม ครั้งเดียว
  3. เอซิโธรมัยชิน (Azithromycin) 1 กรัม ครั้งเดียว
  4. ไซโปรฟล็อกซาชิน (Ciprofloxacin) 500 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
  5. โอฟล็อกซาชิน (Ofloxacin) 400 มิลลิกรัม ครั้งเดียว
  6. ลีโวฟล็อกซาชิน (Levofloxacin) 250 มิลลิกรัม ครั้งเดียว

คำแนะนำที่ควรสำหรับผู้ป่วยระหว่างการรักษาหนองในแท้

  • งดการมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เนื่องจากยาปฏิชีวนะมีผลต่อยาคุมกำเนิด
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ประมาณ 2-4 สัปดาห์ ผู้ที่ไม่งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีโอกาสเป็นหนองในเทียมได้ง่าย
  • ในเพศชาย ห้ามรีดท่อปัสสาวะ เพราะทำให้ปัสสาวะช้ำ หายช้า

หากสงสัยว่า ตัวคุณ หรือคู่นอน อาจมีอาการของโรคหนองในแท้ ควรงดมีเพศสัมพันธ์ในทุกช่องทาง และไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป อบ่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคหนองใน ด้วยการงดมีเพศสัมพันธ์ ไม่มีพฤติกรรมสำส่อน เปลี่ยนคู่นอน  และควรใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง: ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STD)


คำถามจากผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคหนองในแท้

มีอาการเจ็บๆ แสบๆ คันๆ ตรงช่องคลอดมีเหมือนตกขาวไหลออกมาเป็นสีเขียวเยอะมากค่ะ เสี่ยงเป็นหนองในมั้ยคะ

คำตอบ: สงสัยมีการติดเชื้อครับ ต้องไปพบแพทย์ทำการตรวจร่างกายเพื่อหาสาเหตุ เพื่อที่จะได้ทำการรักษาต่อไปครับ ไม่แนะนำให้ซื้อยากินเองครับ – ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)

สอบถามครับหากรู้ตัวเองว่าเป็นหนองในเทียมควรปฏิบัติตัวอย่างไร และจะมีวิธีรักษาเบื้องต้นอย่างไรบ้างครับ

คำตอบ: หนองในเทียมรักษาโดยการกินยาครับ แต่ไม่ควรซื้อยากินเอง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาการแยกยากกับหนองในแท้ การตรวจยืนยันคือนำหนองที่อวัยวะเพศไปย้อมสีครับ – ตอบโดย กิตติศัพท์ สินน้อย (นพ.)

รู้สึกแสบเวลาปัสสะวะมากค่ะ และมีน้ำขาวๆ เหลืองๆ ออกตลอด และตรงแคมเป็นตุ่มๆ ก่อนแล้วกลายเป็นเหมือนแผล ร่วมกับปวดท้องน้อย ปวดใกล้ๆ มดลูกทั้งสองข้างเลยค่ะ เป็นหนองในรึเปล่าคะ

คำตอบ: ให้ไปพบสูตินรีแพทย์ค่ะ เพราะจากอาการที่เล่ามาช่องคลอดอาจอักเสบจากการติดเชื้อ ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจต้องตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยค่ะ และอาจต้องให้คู่นอนมาตรวจด้วย และถ้ามีการติดเชื้อจริง แพทย์จะให้ยาฆ่าเชื้อมากินค่ะ – ตอบโดย นิชดา พงษ์ธัญญกรณ์ (พญ.)

อาการเริ่มต้นคือแสบตอนปัจสาวะ และมีหนองออกมานิดหน่อยตอนปัจสาวะเสร็จ แบบนี้ซื้อยามากินจะหายไหมครับ

คำตอบ 1: อาการแบบนี้ควรไปพบแพทย์ เพื่อเก็บปัสสาวะตรวจและเก็บหนองที่ไหลออกมาไปตรวจด้วยว่าเกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือว่าโรคหนองใน ซึ่งการใช้ยาฆ่าเชื้อต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ด้วยค่ะ เพื่อป้องกันการดื้อยาค่ะ – ตอบโดย วลีรักษ์ จันทร (พว.)

คำตอบ 2: อาการเช่นนี้แสดงว่ามีการติดเชื้อของท่อทางเดินปัสสาวะ ต้องไปพบแพทย์ครับ เพื่อตรวจวินิจฉัย ย้อมหนองหาเชื้อก่อโรค จะได้รักษาได้อย่างถูกต้องครับ ไม่ควรไปหาซื้อยามารับประทานเอง – ตอบโดย ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top