เมื่อความรู้ทางการแพทย์และสุขภาพมีมากขึ้น คนก็ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจสุขภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน
แต่นอกจากการตรวจสุขภาพประจำปีทั่วไปแล้ว ปัจจุบันนี้คนยังหันมาสนใจการตรวจอีกประเภทหนึ่งด้วย ซึ่งก็คือการตรวจ STD
สารบัญ
ตรวจ STD คืออะไร ทำไมถึงสำคัญ?
STD ย่อมาจาก Sexually transmitted diseases หมายถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (กามโรค) เช่น เอดส์ ซิฟิลิส หนองใน เป็นต้น
การตรวจ STD จึงหมายถึงการตรวจหาเชื้อหรือสัญญาณโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะบางโรคใช้เวลานานกว่าจะแสดงอาการ กว่าจะรู้ตัวก็ทำให้เชื้อลุกลามจนรักษายากแล้ว
อ่านเพิ่มเติม: ตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิง สำคัญอย่างไร?
เวลาตรวจ STD เขาตรวจโรคอะไรกันบ้าง?
รายการตรวจ STD ของแต่ละคลินิกหรือโรงพยาบาลก็อาจแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่โรคที่มักตรวจกันบ่อยๆ คือ
- หนองใน (Gonorrhea)
- หนองในเทียม (Chlamydia)
- มะเร็งปากมดลูก (HPV)
- ซิฟิลิส (Syphilis)
- เริม (Herpes)
- ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B)
- เชื้อเอชไอวี (HIV)
นอกจากนี้ บางโปรแกรมตรวจอาจมีบริการให้คำปรึกษากับแพทย์ในวันรับผลด้วย อย่าลืมสอบถามรายละเอียดโปรแกรมตรวจก่อนด้วยนะ
อ่านเพิ่มเติม: ราคาแพ็กเกจ ตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน
ใครควรตรวจ STD?
การตรวจ STD มักไม่ได้อยู่ในโปรแกรมตรวจสุขภาพทั่วไป หรืออาจตรวจไม่ครบ ดังนั้นหากใครมีพฤติกรรมเข้าข่ายข้อดังต่อไปนี้ ควรติดต่อขอตรวจ STD ด้วยตัวเอง
- กำลังวางแผนมีบุตรหรือแต่งงาน เชื้อโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคสามารถส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ได้
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยาง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สามารถติดต่อผ่านทางสารคัดหลั่งในช่องคลอด น้ำอสุจิ และเลือด หากไม่ใช้ถุงยางก็มีโอกาสสูงมากที่จะติดโรค
- เพิ่งเปลี่ยนคู่นอนใหม่ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายโรคไม่มีอาการแสดงออกให้รู้ได้เลย ดังนั้นเราไม่อาจแน่ใจได้ว่าคู่นอนของเรามีเชื้อหรือไม่
- จับได้ว่าแฟนแอบเปลี่ยนคู่นอน เนื่องจากเชื้อสามารถส่งต่อกันได้แม้จะเพิ่งรับเชื้อก็ตาม
- มีคู่นอนหลายคน หากมีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน ก็ควรเข้ารับการตรวจ STD ไว้เพื่อความชัวร์
- ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีโอกาสเสี่ยงอย่างมากที่จะติดโรคจากการถูกล่วงละเมิด เพราะไม่ทราบถึงสุขอนามัยของผู้กระทำ
- เริ่มมีอาการของโรค โรคบางโรคก็อาจแสดงอาการออกมาให้เห็นชัดเจน เช่น ซิฟิลิส หนองใน อาจมีแผลบริเวณอวัยวะเพศ ปัสสาวะแล้วเจ็บ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับคู่ที่เคยตรวจก่อนแต่งงานกันไปแล้ว โดยไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น อาจยังไม่ต้องรับการตรวจก็ได้ นอกเสียจากตรวจเพื่อความสบายใจ
STD ตรวจจากอะไร?
การตรวจ STD ทำได้หลายวิธี แพทย์จะเลือกการตรวจที่เหมาะสมที่สุดจากการซักประวัติ ซึ่งวิธีตรวจหลักๆ จะมีดังนี้
- ตรวจเลือดหรือปัสสาวะ เป็นการตรวจที่นิยิมที่สุด เพราะสามารถตรวจได้หลายโรค เช่น เชื้อเอชไอวี เริม หนองใน ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบ
- ตรวจภายใน (Pap smears) ปกติแล้วการตรวจด้วยวิธีแปป สเมียร์ เป็นการตรวจเพื่อสังเกตอาการเริ่มต้นของมะเร็งปากมดลูก แต่มะเร็งปากมดลูกก็อาจเกิดจากการติดเชื้อ HPV เมื่อมีเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน
- ตรวจสารคัดหลั่ง ในบางกรณีแพทย์อาจใช้การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ ปากมดลูก ทางเดินปัสสาวะ หรือทวารหนัก เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อได้
- ตรวจร่างกาย ในกรณีที่อาการเริ่มแสดงออกมาให้เห็นแล้ว การตรวจร่างกายก็สามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยได้ เช่น เริม หูด ซิฟิลิส เป็นต้น
โปรดอย่าลืมว่ายิ่งบอกความจริงกับหมอมากแค่ไหน ยิ่งได้ผลตรวจที่แม่นยำเท่านั้น และการตรวจ STD ก็เป็นหนึ่งในการแสดงถึงว่าเราเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ ไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย