มื่อพูดถึงสัตว์แปลก หรือ Exotic Pet หลายคนอาจคิดว่าเป็นการนำสัตว์ป่าจากต่างประเทศมาเลี้ยงเพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงแล้ว Exotic Pet หมายรวมถึงสัตว์อื่นๆ ด้วย ที่ไม่ใช่สุนัขหรือแมว เช่น กระรอก ปลา กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ กบ ฯลฯ
ใครที่กำลังวางแผนจะเลี้ยง Exotic Pet แต่ยังไม่รู้ว่า ควรเริ่มต้นอย่างไรดี HDmall.co.th จะพาไปทำความรู้จักกับ Exotic Pet พร้อมกับให้คำแนะนำในการเลี้ยง Exotic Pet อย่างถูกวิธี จะน่าสนใจแค่ไหน ไปดูกันเลย
สารบัญ
Exotic Pet คืออะไร?
Exotic Pet (อ่านว่า เอ็ก-โซ-ติก-เพ็ด) มีหลายความหมาย เช่น สัตว์แปลก สัตว์หายาก หรือสัตว์ป่า แต่ในประเทศไทย ส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึง “สัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ” ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษตามชื่อเรียกของมัน
Exotic Pet เป็นได้ทั้งสัตว์ป่าจากต่างประเทศ สัตว์ป่าในประเทศไทย สัตว์ที่พบได้ทั่วไป สัตว์ที่ได้รับการตัดแต่งพันธุกรรมจนมีรูปร่างที่ต่างจากสายพันธุ์เดิม หรือสัตว์มีพิษที่คนส่วนใหญ่ไม่เลี้ยงกัน แต่สามารถนำมาเลี้ยงก็ได้
Exotic Pet มีกี่ประเภท?
Exotic Pet แบ่งเป็น 6 ประเภทหลักๆ ได้แก่
- กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน เช่น อีกัวน่า กิ้งก่า มังกรเครา งู หรือเต่า
- กลุ่มสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบลูกศรพิษ กบโกไลแอท กบแคระแอฟริกัน กบนา กบมะเขือเทศมาดากัสการ์ กบแอฟริกันบูลฟร็อก หรือซาลาแมนเดอร์
- กลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น ด้วง หรือแมงมุมทารันทูล่า
- กลุ่มสัตว์ปีก เช่น นกคอกคาเทล นกแก้วมาคอร์ นกเหยี่ยว หรือนกยูง
- กลุ่มปลาแปลก เช่น ปลาปักเป้าฟาฮากา หรือปลาเทพา
- กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น กระต่าย เฟอเรท แฮมสเตอร์ สุนัขจิ้งจอก แรคคูน แพรีด็อก เมียแคท บุชเบบี้ หรือชูการ์ไกลเดอร์
3 ข้อควรรู้ก่อนเลี้ยง Exotic Pet
การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษ หรือ Exotic Pet นั้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงควรศึกษากฎหมายคุ้มครองสัตว์สงวน หรือสัตว์หายาก สัตว์บางชนิด การนำมาเลี้ยงอาจผิดกฎหมาย
และเมื่อได้สัตว์แปลกที่เลี้ยงได้อย่างถูกต้องแล้ว ก็ต้องไม่ลืมศึกษาวิธีการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงพิเศษอย่างเหมาะสม ทั้งในด้านของอาหารการกิน และสถานที่อยู่อาศัยด้วย
1. ตรวจสอบว่า Exotic Pet ได้รับอนุญาตให้เลี้ยงหรือไม่?
หากต้องการเลี้ยง Exotic Pet สิ่งหนึ่งที่ควรศึกษาคือ อนุสัญญาไซเตส (CITES) เป็นอนุสัญญาที่ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งควบคุมไม่ให้มีการค้าสัตว์ป่าและพืชพรรณระหว่างประเทศที่อาจทำให้เกิดภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของสัตว์ป่าและพืชพรรณเหล่านั้น
ชนิดสัตว์ป่าที่อนุสัญญาไซเตสควบคุม จะแบ่งเป็นบัญชีหมายเลข 1, 2 และ 3 มีรายละเอียดดังนี้
- บัญชีหมายเลข 1 เป็นชนิดที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้จะสูญพันธุ์แล้ว ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัย และเพาะพันธุ์ เช่น แมวป่าหัวแบน แมวลายหินอ่อน เต่ากระ จระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม
- บัญชีหมายเลข 2 เป็นชนิดที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ อนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็ว เช่น แมวป่า นกยูง เหยี่ยวขาว ลิงแสม
- บัญชีหมายเลข 3 เป็นชนิดพันธุ์ที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศใดประเทศหนึ่ง แล้วขอความร่วมมือประเทศภาคีให้ช่วยดูแลการนำเข้า เช่น หมาจิ้งจอก งูแมวเซา งูลายสอ ไก่ฟ้าหน้าเขียว หมาไม้
นอกจากอนุสัญญาไซเตสแล้ว จะต้องดูด้วยว่า Exotic Pet ที่ต้องการเลี้ยงนั้น จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย ซึ่งมีข้อห้ามในการล่า หรือมีไว้ในครอบครองหรือไม่
ตัวอย่างสัตว์ป่าสงวนไทย เช่น เก้งหม้อ กระซู่ กูปรี ควายป่า ละมั่ง สมัน เลียงผา กวางผา สมเสร็จ นกแต้วแล้วท้องดำ นกกระเรียน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แรด และพะยูน
หาก Exotic Pet ที่ต้องการเลี้ยงจัดอยู่ในรายชื่อบัญชีหมายเลข 2 หรือ 3 หรือไม่ได้จัดอยู่ในรายชื่ออนุสัญญาไซเตส รวมถึงไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย ย่อมหมายความว่า Exotic Pet สายพันธุ์ที่ต้องการเลี้ยง สามารถเลี้ยงได้อย่างถูกกฎหมายนั่นเอง
2. สามารถจัดเตรียมแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของ Exotic Pet ได้ไหม?
เมื่อตรวจสอบแล้วว่า Exotic Pet ที่ต้องการเลี้ยง สามารถเลี้ยงได้อย่างถูกกฎหมาย
สิ่งต่อไปที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องศึกษาก็คือ ลักษณะของแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของ Exotic Pet เป็นอย่างไร ต้องกินอาหารแบบไหน เพื่อที่จะได้ดูแล Exotic Pet ได้อย่างเหมาะสม
นอกจากจะช่วยให้น้องสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขแล้ว ยังช่วยให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงด้วย
ตัวอย่างลักษณะแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของ Exotic Pet
- สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ควรอาศัยในที่ที่มีน้ำและพื้นดิน สัตว์เหล่านี้ไม่ต้องดูแลมากเป็นพิเศษ แต่เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องระมัดระวังในการสัมผัส ควรสวมใส่ถุงมือทุกครั้ง เนื่องจากสัตว์เลื้อยคลานมักมีผิวหนังบอบบางเป็นพิเศษ
- สัตว์ปีก หรือนก เป็นสัตว์เลี้ยงที่ดูแลค่อนข้างง่าย ไม่จำเป็นต้องดูแลตลอดเวลา แต่ต้องมีกรงขนาดใหญ่พอให้นกได้บินเล่น และจะต้องระมัดระวังไม่ให้นกหลุดหายไป เนื่องจากนกที่ถูกเลี้ยงในกรงตั้งแต่กำเนิด มักไม่สามารถเอาชีวิตรอดในโลกภายนอกได้
- สัตว์เลื้อยคลาน เป็นสัตว์เลือดเย็น บางชนิดจำเป็นต้องใช้แสงยูวีเพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกาย และจำเป็นต้องมีขนาดกรงที่เหมาะสมกับขนาดของสัตว์เลื้อยคลานนั้นๆ
- แมลงและแมง เป็นสัตว์ที่ดูแลไม่ยาก สามารถอาศัยอยู่ในกล่องที่จำลองให้มีลักษณะใกล้เคียงกับแหล่งที่อยู่อาศัยได้ โดยไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ แต่จะต้องระมัดระวังเรื่องของพิษ และต้องมั่นใจว่าสัตว์เหล่านี้จะไม่หลุดออกจากกรง เนื่องจากอาจทำให้เกิดอันตรายได้
3. เช็กความพร้อมของตนเอง ในการเลี้ยง Exotic Pet
Exotic Pet เป็นสัตว์เลี้ยงชนิดพิเศษที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จะต้องมีแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม ได้รับอาหารที่เหมาะกับร่างกาย ไม่อย่างนั้นแล้ว อาจส่งผลให้น้องมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง และอาจทำให้เสียชีวิตได้
อีกทั้งการเลี้ยง Exotic Pet จะต้องระมัดระวังไม่ให้สัตว์เหล่านี้หลุดรอดออกไปข้างนอก เพราะส่วนใหญ่แล้ว Exotic Pet จะเป็นสัตว์ต่างถิ่น หากหลุดออกไปข้างนอก แล้วสามารถมีชีวิตรอด และสืบพันธ์ุได้ ก็อาจทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลได้
หากคุณมีความพร้อมทั้งในด้านของทุนทรัพย์ เวลา สถานที่ที่เหมาะสม ความรู้ในการดูแลน้องอย่างถูกวิธี และมั่นใจว่าจะสามารถเลี้ยงน้องได้จนหมดอายุขัย ก็สามารถเลี้ยง Exotic Pet ได้แล้ว
อยากรับ Exotic Pet มาเลี้ยง ต้องทำอย่างไรบ้าง?
การรับ Exotic Pet มาเลี้ยง ควรรับเลี้ยงจากผู้เพาะพันธุ์ หรือฟาร์มที่มีใบอนุญาตในการเพาะเลี้ยงและนำเข้า Exotic Pet โดยเฉพาะ มีแหล่งที่มาชัดเจน ซึ่งสัตว์บางตัวอาจถูกฝังไมโครชิพ ทำให้สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาได้
โดยราคาค่าตัวของ Exotic Pet จะเริ่มตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักล้าน ขึ้นอยู่กับชนิดของสายพันธุ์นั้นๆ
หลังจากที่ได้ Exotic Pet มาแล้ว หากไม่มั่นใจในวิธีการเลี้ยงดูน้องอย่างเหมาะสม ควรขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้เรียบร้อยก่อน และควรพาน้องไปตรวจสุขภาพและรับวัคซีนที่จำเป็นกับสัตวแพทย์ด้วย
Exotic Pet มักมีนิสัยซ่อนความเจ็บปวดเอาไว้ ซึ่งเป็นสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดตามธรรมชาติ ที่อาจทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงไม่รู้ตัว กว่าจะพบก็อาจสายเกินไปแล้ว
ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงควรพาน้องไปตรวจสุขภาพตั้งแต่แรกเลย การที่เราตรวจพบโรคภัยไข้เจ็บตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การดูแลรักษาเป็นไปได้อย่างง่ายขึ้นด้วย ที่สำคัญสัตวแพทย์ยังช่วยดูด้วยว่า เราเลี้ยงดูน้องๆ ได้อย่างเหมาะสมหรือเปล่า
Exotic Pet ต้องดูแลเป็นพิเศษหรือไม่ อย่างไร?
การเลี้ยง Exotic Pet อาจไม่จำเป็นต้องพาไปวิ่งเล่นเหมือนกับการเลี้ยงสุนัข บางตัวก็ไม่ต้องใช้พื้นที่เยอะ แต่น้องๆ เหล่านี้ก็ควรที่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษอยู่ดี โดย 3 สิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย มีดังนี้
- มีแหล่งที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม Exotic Pet บางสายพันธุ์อาจต้องการที่อยู่อาศัยที่เลียนแบบที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพวกมัน ในขณะที่ Exotic Pet บางชนิด เช่น พังพอน หรือแพรีด็อก สามารถอาศัยอยู่ในบ้านคนได้ตามปกติ
- ได้รับโภชนาการที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ หรือสัตว์ ล้วนต้องได้รับโภชนาการที่เหมาะสมเพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องจัดสรรอาหารที่เหมาะสมกับ Exotic Pet หลีกเลี่ยงการให้อาหารของมนุษย์ หรืออาหารแปรรูปที่เป็นอันตรายต่อสัตว์
- เฟอเรท เป็นสัตว์กินเน้ือสด ไม่สามารถกินแป้ง ผัก และผลไม้ได้
- กระรอก กินผลไม้และธัญพืชได้เกือบทุกชนิด แต่ไม่ควรให้กินแตงโม แตงไทย แตงกวา แตงล้าน หรือแคนตาลูก เพราะมีน้ำเยอะและเปลือกมียาง จะทำให้กระรอกท้องเสียง่าย
- กระต่าย กินหญ้าแห้งเป็นอาหารหลัก ไม่ควรให้กินแครอท หรือผลไม้ชนิดอื่นๆ มากเกินไป เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ และกระต่ายจะอุจจาระ “อึพวงองุ่น” ออกมา เป็นอึที่เกิดจากลำไส้ดูดซึมสารอาหารไม่หมด ลักษณะเป็นพวง นิ่ม และเงา ส่วนใหญ่แล้วกระต่ายจะกินกลับเข้าไป ไม่ต้องเก็บทิ้ง
- ตรวจสุขภาพประจำปี เจ้าของสัตว์เลี้ยง Exotic Pet ควรพาน้องๆ ไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจติดตามสุขภาพร่างกาย และพัฒนาการเจริญเติบโตการเลี้ยง Exotic Pet ไม่ใช่เรื่องยาก แค่ดูแลด้วยความใส่ใจและความรัก ให้น้องได้อยู่ในที่ที่เหมาะสม ได้กินอาหารที่ชอบ และได้เล่นในเวลาที่อยากเล่นก็เพียงพอแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้เริ่มต้นได้ด้วยการศึกษาวิธีการเลี้ยงดูที่เหมาะสมกับน้องๆ ก่อน
หากหลังจากที่เลี้ยง Exotic Pet ไปแล้ว พบว่า ตนเองไม่สามารถเลี้ยงต่อไปได้ ไม่ควรปล่อยเข้าไปในป่าเด็ดขาด เพราะอาจทำให้น้องไม่สามารถเอาตัวรอด และเสียชีวิตได้ ควรติดต่อกับฟาร์มที่ไปรับมา หรือขอความช่วยเหลือจากศูนย์พักพิงสัตว์ป่าที่สามารถรับดูแลน้องๆ ต่อไปได้