ตรวจโรคซึมเศร้า ไม่น่ากังวลอย่างที่คิด อ่านการเตรียมตัวและการรักษาได้ที่นี่

ภาวะซีมเศร้า (Depression) เป็นภาวะทางการแพทย์ชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่ออารมณ์ โดยอาจทำรู้สึกเศร้า วิตกกังวล หมดหวัง และอาจกระทบต่อสามารถในการทำงาน เช่น ประสิทธิภาพการคิดและความจำลดลง

ภาวะซึมเศร้าเกิดได้จากหลายสาเหตุ และหลายคนไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของภาวะซึมเศร้าของตัวเอง หากไม่ได้รับการตรวจโรคซึมเศร้า และรักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้ภาวะซึมเศร้ารุนแรงขึ้นจนกลายเป็นโรคซึมเศร้า และนำไปสู่การทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายได้

การทำความเข้าใจกับอาการ และการตรวจโรคซึมเศร้าจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย หากมีอาการเข้าข่าย จะได้สามารถนัดหมายพบผู้เชี่ยวชาญได้ทันเวลา โรคซึมเศร้าแบ่งออกเป็นหลายระยะ สามารถรักษาให้หายได้หากเข้ารับการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทาง

อาการของโรคซึมเศร้า

หลายคนอาจเข้าใจว่าโรคซึมเศร้านั้นจะต้องมีอาการซึม เศร้า เพียงอย่างเดียว เมื่อตนเองหรือคนใกล้ชิดไม่ได้มีอาการดังกล่าว จึงอาจมองข้ามเรื่องโรคซึมเศร้าไปได้

แต่แท้จริงแล้วอาการของโรคซึมเศร้านั้นมีความหลากหลาย และแต่ละคนอาจแสดงออกไม่เหมือนกัน โดยสามารถแบ่งคร่าวๆ ได้เป็นอาการทางใจ และอาการทางกาย ดังนี้

อาการทางใจของโรคซึมเศร้า

  • รู้สึกเศร้ามาก หมดหวัง หรือวิตกกังวล
  • หมดความสนุกในสิ่งที่เคยชอบ
  • หงิดหงิดง่าย หรืออารมณ์แปรปรวน
  • ไม่มีสมาธิ หรือจดจำสิ่งต่างๆ ได้แย่ลง
  • คิดทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย

อาการทางกายของโรคซึมเศร้า

  • ปวดหลัง
  • ปวดหัว
  • ปวดข้อ
  • ปวดตามแขนขา
  • พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป เช่น กินมากเกินไป หรือกินน้อยเกินไป ปวดท้อง ระบบย่อยอาหารผิดปกติ
  • พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนไป เช่น นอนไม่หลับ หรือหลับมากไป
  • เหนื่อยง่าย
  • เคลื่อนไหวช้า

อย่างไรก็ตาม อาการของแต่ละคนอาจแสดงออกไม่เหมือนกัน และอาจไม่ได้มีอาการครบตามที่กล่าวมาทั้งหมด

ใครควรตรวจโรคซึมเศร้า

ผู้ที่มีอาการ หรือมีคนใกล้ชิดมีอาการดังต่อไปนี้ ควรพิจารณาเข้ารับการตรวจโรคซึมเศร้าเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

  • มีอาการเข้าข่ายภาวะซึมเศร้าจนรบกวนการใช้ชีวิต เช่น กระทบความสัมพันธ์และการทำงาน แต่ยังไม่รู้วิธีจัดการกับปัญหาเหล่านี้
  • มีอาการเข้าข่ายภาวะซึมเศร้ายาวนานกว่า 2 สัปดาห์
  • มีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย วางแผนฆ่าตัวตาย รวมถึงเคยพยายามฆ่าตัวตาย

โรคซึมเศร้ามีกี่ประเภท?

แม้คำที่หลายคนได้ยินบ่อยที่สุดจะเป็นคำว่า “โรคซึมเศร้า” แต่ความจริงแล้วโรคซึมเศร้านั้นสามารถแบ่งย่อยได้อีกหลายประเภท ดังนี้

  • โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder: MDD) โรคซึมเศร้าประเภทนี้จะมีอาการซึมเศร้ารุนแรงนานกว่า 2 สัปดาห์ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก
  • โรคไบโพาร์ (Bipolar Depression) หรือโรคอารมณ์ 2 ขั้ว จะให้อารมณ์สลับไปมาระหว่างอารมณ์ดีมากกับก้าวร้าวหรือซึมเศร้ามาก โดยในช่วงที่ซึมเศร้าอาจรู้สึกหมดหวังและไม่มีแรง
  • ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด (Perinatal and Postpartum Depression) คืออาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในช่วงตั้งครรภ์และอาจยาวนานได้อีกเป็นปีหลังคลอดแล้ว โดยอาจรู้สึกกังวล เศร้า และเครียด
  • โรคซึมเศร้าเรื้อรัง (Persistent Depressive Disorder: PDD) หรือ Dysthymia เป็นโรคซึมเศร้าชนิดที่มีความรุนแรงน้อยกว่าแบบ MDD แต่มีอาการต่อเนื่องยาวนานกว่า 2 ปีขึ้นไป ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าประเภทนี้จะมีอาการรบกวนชีวิตประจำวันเป็นระยะ แต่ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
  • กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนชนิดรุนแรง (Premenstrual Dysphoric Disorder: PMDD) เกิดขึ้นกับผู้หญิงบางคนในช่วงก่อนมีประจำเดือน อาจมีอาการซึมเศร้ารุนแรง วิตกกังวล เครียด บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นคลุ้มคลั่ง
  • โรคซึมเศร้าแบบจิตหลอน (Psychotic Depression) เป็นอาการซึมเศร้ารุนแรง หลงผิด และอาจเห็นภาพหลอน เชื่อในสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
  • โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder: SAD) เป็นอาการซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งของปี มักเป็นฤดูหนาวที่กลางคืนยาวกว่ากลางวัน แต่อาการจะค่อยๆ หายไปในไม่กี่เดือน
โรคซึมเศร้าประเภทต่างๆ

อย่างไรก็ตาม หากสงสัยว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้าแบบใด ก็ไม่ควรตัดสินด้วยตัวเองว่าเป็นหรือไม่ แต่ควรเข้ารับการตรวจโรคซึมเศร้าเพื่อให้จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญช่วยวินิจฉัย เพราะจิตแพทย์มีความคุ้นเคยกับผู้รับบริการจำนวนมาก และอาจเข้าใจปัญหาที่คุณเผชิญอยู่ได้มากกว่า

การตรวจโรคซึมเศร้าทำอย่างไร?

หากสำรวจแล้วว่ามีอาการเข้าข่ายโรคซึมเศร้ายาวนานกว่า 2 สัปดาห์ หรืออาการต่างๆ กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน อาจพิจารณาเข้าพบจิตแพทย์เพื่อตรวจโรคซึมเศร้า

โดยจิตแพทย์อาจตรวจโรคซึมเศร้าได้จาก 2 วิธีหลักๆ ดังต่อไปนี้

1. ตรวจโรคซึมเศร้าด้วยการพูดคุย

จิตแพทย์อาจประเมินอาการคุณจากการพูดคุยและถามคำถามต่างๆ ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า เช่น อารมณ์ความรู้สึกของคุณในแต่ละวัน พฤติกรรมที่ทำเป็นประจำ งานอดิเรก รูปแบบการใช้ชีวิต ประวัติสุขภาพของตนเอง และครอบครัว

ตัวอย่างข้อมูลที่จิตแพทย์อาจค้นหาจากการพูดคุยกับคุณ เช่น

  • อารมณ์เศร้าหรือหดหู่เกือบทั้งวันเป็นประจำ
  • รู้สึกหมดหวัง ไร้ค่า หรือรู้สึกผิดเกือบทุกวัน
  • หมดความสนใจกับสิ่งที่เคยชอบ
  • น้ำหนักตัวเปลี่ยนไปเกิน 5% ภายใน 1 เดือน (ทั้งเพิ่มและลด)
  • อาการนอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไปเกือบทุกวัน
  • รู้สึกกระสับกระส่าย หรืออ่อนแรงจนคนอื่นสังเกตได้
  • อ่อนเพลีย หรือไม่มีแรงเกือบทุกวัน
  • ไม่มีสมาธิ หรือมีปัญหาด้านการตัดสินใจ
  • มีความคิดวนซ้ำๆ เกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าอาจมีอาการแตกต่างกันออกไป เช่น บางคนแยกตัวจากสังคม บางคนหงุดหงิดง่าย บางคนกินหรือนอนมากกว่าปกติ

ดังนั้น ในการตรวจวินิจฉัยของแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกันออกไป ข้อมูลด้านบนเป็นเพียงตัวอย่างเบื้องต้นที่จิตแพทย์อาจใช้ร่วมกับการตรวจโรคซึมเศร้าเท่านั้น

2. ตรวจโรคซึมเศร้าทางห้องปฏิบัติการ

ในบางกรณีจิตแพทย์อาจพิจารณาให้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาสาเหตุของอาการทางกาย รวมถึงสาเหตุที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า เช่น ไวรัส ยา ฮอร์โมน หรือภาวะพร่องวิตามิน

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้อาจไม่ใช่วิธีที่ใช้ในการตรวจโรคซึมเศร้ามากเท่ากับการตรวจด้วยการพูดคุย

การเตรียมตัวก่อนไปตรวจโรคซึมเศร้า

หลายคนอาจไม่เคยไปตรวจโรคซึมเศร้า จึงไม่ทราบว่าควรเตรียมตัวอย่างไรในการตรวจ แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าวิธีหลักในการตรวจโรคซึมเศร้ามักเป็นการพูดคุย และซักประวัติ

ดังนั้น ก่อนถึงวันนัดจึงควรจดข้อกังวล ไลฟ์สไตล์ และอาการเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าที่คุณมีเอาไว้อย่างครบถ้วน ตัวอย่างหัวข้อที่ควรจดเตรียมไว้ เช่น

  • สุขภาพจิต และสุขภาพกายของคุณ
  • อาการต่างๆ ที่เป็น หรือสงสัยว่าเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า
  • พฤติกรรมผิดปกติจากที่เคยทำ
  • ประวัติอาการป่วยที่เคยเป็น
  • ประวัติการเป็นโรคซึมเศร้าของคนในครอบครัว (หากมี)
  • ประวัติการใช้ยา อาหารเสริม ทั้งที่เคยใช้และกำลังใช้อยู่ รวมถึงผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์
  • รูปการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ เช่น การออกกำลังกาย การกินอาหาร การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการใช้สารเสพติด
  • พฤติกรรมการนอน หรือปัญหาเกี่ยวกับการนอนที่พบ
  • สาเหตุความเครียดที่กำลังเผชิญ เช่น ปัญหาแต่งงาน ปัญหาที่ทำงาน ปัญหาการเข้าสังคม
  • คำถามเพิ่มเติมที่อยากถามเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า
การเตรียมตัวก่อนไปพบจิตแพทย์

โรคซึมเศร้ามีกี่ระยะ ใช้เวลารักษานานแค่ไหน

ระยะที่ 1 : ช่วงอาการหนัก (Acute Phase)

ผู้ป่วยมักจะมีอาการเบื่อหน่าย มีความคิดด้านลบ รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ขาดสมาธิมีปัญหาด้านการนอน โดยบางคนอาจจะพบว่ามีอาการนอนไม่หรับ หรือนอนมากเกินไป บางครั้งมักจะมีความรู้สึกว่าไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ ส่งผลกระทบไปถึงการใช้ชีวิตไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียนหรือการทำงาน

ปกติใช้เวลารักษาประมาณ 6-8 สัปดาห์

ระยะที่ 2 ช่วงระยะเริ่มมีสติ (Continuation Phase)

ผู้ป่วยที่ผ่านการรักษาบำบัดมาแล้ว อาการต่างๆ ที่รบกวนจิตใจจะเริ่มทุเลาเบาบางลง เริ่มมีสติและกลับมาใช้ชีวิตได้มากยิ่งขึ้น แต่ในบางครั้งผู้ป่วยยังมีโอกาสที่จะพบว่าภาวะหม่นๆ ในจิตใจอยู่ โดย การดูแล ผู้ป่วยซึมเศร้า ในระยะนี้จะต้องพยายามประคับประคอง ไม่ให้อาการที่มีกลับมารุนแรง ผู้ป่วยจะต้องได้รับการดูแล และกินยาอย่างต่อเนื่อง

ปกติใช้เวลารักษาประมาณ 16-20 สัปดาห์

ระยะที่ 3 ช่วงอาการดี (Maintenance Phase)

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำงาน เรียน หรือเข้าสังคมเหมือนคนอื่น ๆ สิ่งสำคัญที่สุดในระยะนี้ คือ จะต้องดูแลไม่ให้ผู้ป่วยกลับไปเป็นโรคซึมเศร้าอีกครั้ง เพราะผู้ป่วยบางรายที่หยุดยาไปสามารถกลับมาป่วยซึมเศร้าได้อีกครั้ง อีกทั้งผู้ป่วยบางคนอาจจะหยุดยาเองซึ่งจะต้องมีการดูแลและติดตามอย่างใกล้ชิด

ระยะเวลาในการรักษาขึ้นกับหลายปัจจัย

โรคซึมเศร้ารักษาอย่างไร?

หากตรวจโรคซึมเศร้ามาแล้วจิตแพทย์วินิจฉัยว่าเป็น ก็มักจะมีการกำหนดแนวทางการรักษาให้ โดยอาจใช้หลายวิธีร่วมกันขึ้นกับดุลพินิจของจิตแพทย์ผู้ทำการรักษา โดยวิธีต่างๆ ที่เลือกใช้ อาจมีดังนี้

การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยจิตบำบัด

การทำจิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นวิธีทั่วไปที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าโดยอาศัยการพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งอาจเป็นนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์

การทำจิตบำบัดมีด้วยกันหลายประเภท ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นคนกำหนดแนวทางการบำบัดให้ตามความเหมาะสม โดยจุดประสงค์หลักๆ ของการทำจิตบำบัด อาจมีดังนี้

  • ช่วยปรับความคิดให้เข้ากับวิกฤติหรือปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่
  • ระบุความคิดและพฤติกรรมเชิงลบ จากนั้นแทนที่ด้วยความคิดเชิงบวก
  • พัฒนาความสัมพันธ์และประสบการณ์เชิงบวกต่อผู้อื่น
  • ช่วยกันหาวิธีจัดการกับปัญหา
  • ระบุประเด็นและพฤติกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อโรคซึมเศร้า และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น
  • ฟื้นฟูความพึงพอใจในชีวิต และความรู้สึกควบคุมชีวิตของคุณ
  • เรียนรู้วิธีตั้งเป้าหมายให้กับชีวิต
  • พัฒนาทักษะการยอมรับความทุกข์โดยใช้พฤติกรรมเชิงบวก

การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยยา

จิตแพทย์อาจจ่ายยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) เพื่อช่วยปรับสารเคมีในสมอง ซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 สัปดาห์กว่าจะเริ่มเห็นผล

แต่ยาต้านซึมเศร้าอาจมีผลข้างเคียงต่างกันออกไป หากผลข้างเคียงกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ก็ไม่ควรหยุดยาเองเพราะอาจทำให้เกิดอาการขาดยาได้ ควรปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของจิตแพทย์

หลายครั้งจิตแพทย์อาจเปลี่ยนยาให้คุณหลายชนิดจนกว่าจะเจอยาที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งผลข้างเคียงจะค่อยๆ ลดลงเมื่อร่างกายปรับตัวได้

อย่างไรก็ตาม แม้ยาส่วนใหญ่จะปลอดภัย แต่ในบางกรณีผู้ที่อายุต่ำกว่า 25 ปีอาจมีโอกาสคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายมากขึ้นหลังใช้ยาที่แพทย์จ่ายให้ โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์แรกๆ หลังจ่ายยาหรือปรับจำนวนยา ดังนั้นควรระมัดระวังผู้ที่ใช้ยาอย่างใกล้ชิด และปรึกษาจิตแพทย์ทันทีที่ผู้ใช้ยาเริ่มมีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย

การรักษาทางเลือกสำหรับโรคซึมเศร้า

การแพทย์แบบบูรณาการเชื่อว่าการมีจิตใจและร่างกายเป็นหนึ่งเดียวกัน (Mind-Body Connections) เป็นหัวใจสำคัญของการมีสุขภาพดี ทำให้ผ่อนคลาย จิตใจสงบ ซึ่งอาจใช้บรรเทาอาการให้คนที่เป็นโรคซึมเศร้าแบบไม่รุนแรงได้ ตัวอย่างการรักษาทางเลือก อาจมีดังนี้

  • การฝังเข็ม
  • โยคะ หรือไทเก๊ก
  • การเจริญสติ (Meditation)
  • การทำจินตภาพบำบัด (Guided Imagery)
  • การนวดผ่อนคลาย
  • ดนตรีบำบัด
  • การออกกำลังกายแบบแอโรบิก

อย่างไรก็ตาม การรักษาดังกล่าวควรทำควบคู่กับการรักษาโดยจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากสงสัยว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้าก็ควรเข้าตรวจโรคซึมเศร้าเพื่อวินิจฉัยให้ชัดเจนเสียก่อน

การบรรเทาโรคซึมเศร้าด้วยตัวเอง

การปรับเปลี่ยนความคิดหรือพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน อาจช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้

  • เรียนรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า การหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าอาจช่วยให้คุณมีแรงจูงใจที่จะปฏิบัติตามแผนการรักษามากขึ้น รวมถึงทำความเข้าใจกับครอบครัวเพื่อให้พวกเขาเข้าใจและสนับสนุนได้อย่างถูกวิธี
  • คอยสังเกตสัญญาณเตือนความซึมเศร้า จิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดอาจแนะนำให้สังเกตว่าอะไรที่กระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้า รวมถึงอาจบอกคนใกล้ชิดที่ไว้ใจให้ช่วยกันสังเกตสิ่งกระตุ้น ก็จะช่วยให้คุณวางแผนจัดการกับความซึมเศร้าได้ดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติด แม้ทั้ง 2 อย่างนี้จะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นในระยะสั้น แต่จะทำให้อาการแย่ลงในระยะยาว และทำให้โรคซึมเศร้าเป็นมากขึ้นกว่าเดิม
  • ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี การกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงทำกิจกรรมที่คุณชื่นชอบ ล้วนมีผลดีต่อสุขภาพจิตทั้งสิ้น
  • ปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรละเลยการไปพบนักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์ตามนัดแม้คุณจะรู้สึกดีแล้วก็ตาม รวมถึงไม่ควรหยุดยาเองโดยที่จิตแพทย์ไม่ได้บอก เพราะอาจทำให้อาการซึมเศร้ากลับมาได้

การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการกระตุ้นสมอง

การบำบัดด้วยการกระตุ้นสมอง (Brain Stimulation Therapies) แบ่งได้ 2 ประเภทหลักๆ ดังนี้

  • การรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy: ECT) เป็นการปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านสมอง เพื่อกระตุ้นการทำงานและสารสื่อประสาทในสมอง ช่วยบรรเทาความซึมเศร้าลง วิธีนี้มักใช้กับผู้ที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล หรือไม่สามารถรักษาด้วยยาได้
  • การรักษาด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Transcranial magnetic stimulation: TMS) เป็นการติดอุปกรณ์ไว้บริเวณหนังศีรษะก่อนจะปล่อยคลื่นแม่เหล็กกระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความซึมเศร้า มักใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ตอบสนองต่อยาได้ไม่ดี

การดูแลตัวเองหลังตรวจโรคซึมเศร้า

หลังจากตรวจโรคซึมเศร้าแล้วพบว่าคุณเป็น จิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำให้คุณสิ่งต่อไปนี้เพื่อให้คุณรับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดีขึ้น

  • ทำชีวิตให้ง่ายขึ้น พยายามลดภาระผูกพันต่างๆ ให้มากที่สุดหากเป็นไปได้ รวมถึงตั้งเป้าหมายที่สมเหตุสมผลกับตัวเอง และอนุญาตให้ตัวเองทำสิ่งต่างๆ น้อยลงได้เมื่อรู้สึกแย่
  • เขียนบันทึก การเขียนบันทึกเป็นส่วนหนึ่งในหลายๆ แผนการรักษา โดยเป็นหนึ่งในวิธีอนุญาตให้ตัวเองปลดปล่อยความเจ็บปวด ความโกรธ ความกลัว และอารมณ์อื่นๆ ออกมาบนหน้ากระดาษ
  • อ่านหนังสือหรือเว็บไซต์เชิงบวก บางกรณีจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดอาจเป็นผู้แนะนำหนังสือ หรือเว็บไซต์ให้อ่านด้วยเช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการแยกตัวจากคนอื่น พยายามมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางสังคม ครอบครัว หรือเพื่อนอย่างสม่ำเสมอ หรืออาจเข้ากลุ่มผู้สนับสนุนและช่วยเหลือคนเป็นโรคซึมเศร้า ก็อาจช่วยให้คุณมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นได้
  • เรียนรู้วิธีผ่อนคลาย และจัดการความเครียด เช่น การเจริญสติ การทำสมาธิ โยคะ ไทเก๊ก เป็นต้น
  • จัดตารางเวลาในแต่ละวัน การวางแผนว่าจะทำอะไรในแต่ละวันตอนไหนบ้าง อาจช่วยให้คุณจัดระเบียบ และรู้สึกว่าควบคุมวันของคุณได้ดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการตัดสินใจเมื่อเกิดความรู้สึกซึมเศร้า เพราะอารมณ์ดังกล่าวอาจทำให้คุณใช้ความคิดได้ไม่เต็มที่

โดยสรุปแล้วโรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในสิ่งที่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของหลายๆ คนอย่างมาก เพราะมีอาการหลากหลายแบบแตกต่างกันไปในแต่ละคน และอาจบานปลายไปสู่การทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้

ที่สำคัญคือโรคซึมเศร้ามีด้วยกันหลายประเภท จึงควรเข้ารับการตรวจโรคซึมเศร้ากับจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้รักษาได้อย่างถูกวิธี

แม้โรคซึมเศร้าจะดูน่ากังวลในความคิดของใครหลายคน แต่ก็มีคนเป็นจำนวนมากที่กำลังเผชิญอยู่เช่นกัน การเดินเข้าไปพบจิตแพทย์จึงไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไรอีกต่อไป และที่สำคัญโรคซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้เช่นเดียวกับโรคอื่นๆ

Scroll to Top