การรักษาทางทันตกรรมบางประเภท เช่น การถอนฟัน การใส่ฟันปลอม มักส่งผลให้ชีวิตประจำวันของผู้รับการรักษาเปลี่ยนไปอย่างมากหลังการรักษา
แต่ปัจจุบันนี้มีวิธีหลีกเลี่ยงการถอนฟันจากสาเหตุฟันผุ เรียกว่า “รักษารากฟัน” เป็นหนึ่งในทางเลือกของคนที่ต้องการรักษาฟันธรรมชาติเอาไว้
สิ่งที่หลายคนอาจสงสัยคือผลข้างเคียงจากการรักษาจะเป็นอย่างไร กระทบชีวิตประจำวันเหมือนกับการถอนฟันและใส่ฟันปลอมไหม
ในบทความนี้จะพามารู้จักการรักษารากฟัน ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และข้อห้ามหลังการรักษารากฟัน
สารบัญ
รักษารากฟันคืออะไร?
การรักษารากฟัน (Root canal treatment) เป็นการรักษาฟันที่ผุลึก หรือเกิดการติดเชื้อ โดยการกรอเอาเชื้อโรค เส้นประสาท และเนื้อฟันด้านในที่เสียหายออก เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเก็บฟันแท้เอาไว้ได้
การรักษารากฟันจำเป็นต้องใช้ยาระงับความรู้สึก ทำให้ผู้รับบริการไม่รู้สึกเจ็บขณะทำการรักษา แต่หลังจากรักษารากฟันแล้วก็อาจมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นได้บ้าง
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังรักษารากฟัน
การรักษารากฟันมีโอกาสสำเร็จสูงถึง 95% และผู้รับการรักษามักกลับไปใช้งานฟันซี่นั้นได้ตามปกติ แต่การรักษารากฟันก็มีโอกาสเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ ต่อไปนี้เป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากการรักษารากฟัน
1. ปวดหลังรักษารากฟัน
อาการปวดหลังรักษารากฟันเป็นเรื่องปกติที่ต้องเจอ สาเหตุของอาการปวดหลังรักษารากฟัน อาจมีดังนี้
- เนื้อเยื่อรอบเหงือกยังบวมและอักเสบอยู่ แม้ทันตแพทย์จะเอาเส้นประสาทและเนื้อฟันที่เสียหายออกไปแล้ว แต่เส้นประสาทบริเวณเหงือกรอบฟันที่ทำการรักษาอาจยังคงอยู่ ส่งผลให้เกิดอาการปวดขึ้นมานั่นเอง
- อุปกรณ์ที่ใช้รักษารากฟันเสียหาย อุปกรณ์ในการรักษามีโอกาสเกิดความเสียหายจากการทำความสะอาด หรือเคี้ยวอาหารที่แข็งเกินไปได้ โดยเฉพาะวัสดุชั่วคราวที่ใส่ให้ผู้รับบริการระหว่างรอวัสดุจริง เป็นเหตุให้รู้สึกระคายเคือง หรือปวดได้
- อุปกรณ์ชั่วคราวไม่พอดีกับคลองรากฟัน ในการรักษารากฟันทันตแพทย์จะใส่อุปกรณ์ชั่วคราวให้กับผู้รับบริการก่อน จากนั้นจึงจะผลิตอุปกรณ์ที่พอดีกับสภาพฟันของผู้รับบริการ ระหว่างนี้อุปกรณ์ชั่วคราวอาจไม่พอดีกับสภาพฟันทำให้เกิดอาการอึดอัดหรือปวดได้
อย่างไรก็ตาม อาการปวดหลังรักษามักจะหายไปได้เองใน 1-3 วัน สามารถใช้ยาแก้ปวดทั่วไปเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่หากอาการปวดรุนแรงขึ้นอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติ ควรแจ้งกับทันตแพทย์ผู้ทำการรักษาทันที
2. อาการชาจากยาระงับความรู้สึก
หลังจากรักษารากฟัน คุณอาจยังคงมีอาการชาจากยาระงับความรู้สึกอยู่ ถือเป็นผลข้างเคียงปกติที่พบเจอ แต่อาการจะค่อยๆ หายไปใน 2-3 ชั่วโมงหลังรักษารากฟัน
ในช่วงนี้ควรงดการกินอาหารจนกว่าฤทธิ์ของยาชาจะหายไป เพราะหากเคี้ยวอาหารก่อนที่ยาจะหมดฤทธิ์ อาจยังควบคุมการเคี้ยวและการกัดได้ไม่ดีจนกัดถูกลิ้นหรือกระพุ้งแก้มได้
3. อาจมีโอกาสเกิดการติดเชื้อซ้ำ
แม้จะรักษารากฟันไปแล้ว ก็อาจมีโอกาสเกิดการติดเชื้อซ้ำได้โดยขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนี้
- คลองรากฟันของผู้รับการรักษาอาจมีส่วนที่ทันตแพทย์มองไม่เห็น ทำให้รักษาได้ไม่ทั่วถึง
- มีรอยแตก หรือเสียหายที่หาไม่เจอตอนตรวจ ทำให้รักษาได้ไม่ทั่วถึง
- เกิดความผิดพลาดในการรักษาบางประการ ทำให้เชื้อแบคทีเรียหลงเข้าไปอยู่ภายในฟัน
อย่างไรก็ตาม ทันตแพทย์มักจะตรวจดูจนแน่ใจก่อนอยู่แล้วว่าตำแหน่งที่เกิดการติดเชื้อนั้นหายดีแล้ว จึงจะทำการอุดด้วยวัสดุอุดฟัน ช่วยลดโอกาสในการเกิดการติดเชื้อซ้ำได้มาก
4. การรักษารากฟันไม่ประสบความสำเร็จ
แม้อัตราการรักษารากฟันสำเร็จจะสูงถึง 95% แต่มีบางปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการด้วย ดังนี้
- กระบวนการรักษาเกิดความผิดพลาด เช่น มีรอยรั่วบริเวณที่อุดฟัน ทำให้เกิดความผิดปกติในภายหลัง
- ผู้รับบริการรักษาความสะอาดในช่องปากไม่ดีพอ หรือสภาพคลองรากฟันที่โค้งจนทำให้รักษาความสะอาดได้ยาก
- ฟันหรือวัสดุรักษารากฟันเกิดความเสื่อมไปตามกาลเวลา
- สภาพฟันของผู้รับบริการมีรอยแตกเป็นแนวตั้ง
วิธีการแก้ปัญหาความผิดปกติหลังจากการรักษา ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น หากฟันแตกเป็นแนวตั้ง ทันตแพทย์อาจต้องถอนฟันซี่ที่มีปัญหาออก แต่หากเกิดการอักเสบติดเชื้อหลังจากการรักษารากฟัน ทันตแพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดปลายรากฟัน
ข้อห้ามหลังการรักษารากฟัน
หลังจากรักษารากฟันเสร็จแล้วสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ก่อนที่การรักษาจะเสร็จสิ้น หรือได้ใส่วัสดุของจริงที่ทันตแพทย์ทำมาเฉพาะ ควรหลีกเลี่ยงข้อดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารเคี้ยวยาก
- หลีกเลี่ยงอาหารหวาน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
โดยสรุปแล้ว หากเปรียบเทียบอาการก่อนหน้าที่จะรับการรักษารากฟัน กับอัตราสำเร็จหลังจากรักษารากฟัน ก็ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะหากรักษาความสะอาดขอองช่องปากอย่างดี ร่วมกับพบทันตแพทย์ตามนัดเป็นประจำทุกครั้ง ฟันที่ทำการรักษาก็จะอยู่ได้นานเท่ากับฟันปกติ