รู้จักกับอุปกรณ์จัดฟันลวด มีอะไรบ้าง?

การจัดฟันแบบติดแน่น หรือที่นิยมเรียกกันว่า “การจัดฟันลวด” เป็นการจัดฟันที่พบเห็นได้ทั่วไป การจัดฟันแบบติดแน่นที่ผู้รับบริการส่วนใหญ่นิยมกัน คือการจัดฟันแบบโลหะแล้วมีการล็อกลวดด้วยยางสีๆ ซึ่งผู้ที่ต้องการจัดฟันลวดส่วนใหญ่ทราบกันดีว่า ผู้ที่จัดฟันลวดรูปแบบนี้จะต้องเข้าไปพบทันตแพทย์ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อเปลี่ยนยางสี และให้ทันตแพทย์พิจารณาเรื่องการปรับขนาดลวด และรูปแบบของลวด

อยากรู้ว่าใครบ้างสามารถจัดฟันแบบติดแน่น หรือจัดฟันลวดได้ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฟันซ้อน ฟันเก แก้ได้ด้วยการจัดฟันลวด ก่อนได้เลย อุปกรณ์จัดฟันแบบติดแน่นสามารถแบ่งประเภทได้ด้วยหลายหลักเกณฑ์ เช่น ชนิดวัสดุที่ใช้ทำเครื่องมือจัดฟันหรือแบร็กเก็ต (Bracket) การยึดติดลวดเข้ากับตัวเครื่องมือ

ตัวอย่างเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น แบ่งตามชนิดวัสดุ

หากจำแนกประเภทเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น หรือจัดฟันลวด ตามชนิดวัสดุที่ใช้ จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

1. เครื่องมือจัดฟันโลหะ (Metal Braces/Brackets)

เป็นสแตนเลสคุณภาพสูง โดยทั่วไปมักผลิตจากโลหะผสมไทเทเนียม รวมกับนิกเกิ้ล และหรือโครเมียม มีผิวเรียบ มันวาว ทำให้คราบอาหารและจุลินทรีย์ติดได้ยาก

2. เครื่องมือจัดฟันเซรามิก (Ceramic Braces/Brackets)

มีขนาดและรูปร่างเหมือนเครื่องมือจัดฟันโลหะ แต่มีสีคล้ายกับสีฟัน หรือเป็นสีใส และมีราคาแพงกว่า

3. เครื่องมือจัดฟันคอมโพสิต (Composite Braces/Brackets)

ทำมาจากวัสดุเรซินคอมโพสิต มีลักษณะคล้ายเครื่องมือจัดฟันเซรามิก แต่เปราะกว่าเล็กน้อย และอาจเกิดการเปลี่ยนสีได้

ตัวอย่างเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น แบ่งตามการยึดติดลวดเข้ากับตัวเครื่องมือ

1. เครื่องมือจัดฟันที่ใช้ยางสี (Regular Braces: Elastic tie holds the wire)

เครื่องมือจัดฟันที่ใช้ยางสี เป็นเครื่องมือจัดฟันที่พบเห็นได้ทั่วไป โดยจะต้องใช้ยางรัดฟันเป็นตัวเคลื่อนฟัน ซึ่งยางรัดฟันจะมีอายุการใช้งานประมาณ 1 เดือน ทำให้ต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อเปลี่ยนยางทุกๆ เดือน

การจัดฟันด้วยเครื่องมือจัดฟันที่ใช้ยางสี เป็นการจัดฟันที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดฟันแบบอื่นๆ และมีสียางรัดฟันให้เลือกหลากหลาย สามารถเปลี่ยนสีได้ทุกๆ เดือน

2. เครื่องมือจัดฟันแบบไม่รัดยาง (Self-Ligating: Bracket door holds the wire)

แบร็กเก็ตของเครื่องมือจัดฟันแบบไม่รัดยาง ถูกออกแบบให้สามารถเคลื่อนฟันได้โดยไม่ต้องใช้ยางรัดฟัน ช่วยลดแรงฝืดของเครื่องมือและลวดจัดฟันในระหว่างเคลื่อนฟัน ทำให้สามารถเคลื่อนฟันได้เร็วกว่าเครื่องมือจัดฟันที่ใช้ยางสี

การที่ไม่ต้องใช้ยางรัดฟัน ผู้เข้ารับการจัดฟันอาจไม่ต้องไปพบทันตแพทย์ทุกเดือนเพื่อเปลี่ยนยางรัดฟันเหมือนการจัดฟันที่ใช้ยางสี (ขึ้นอยู่กับการประเมินของทันตแพทย์) และดูแลทำความสะอาดได้ง่ายกว่า เพราะยางรัดฟันเป็นแหล่งสะสมของคราบหินปูน แบคทีเรีย และกลิ่นปาก

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนารูปแบบของอุปกรณ์จัดฟันติดแน่นอีกมากมาย มีทั้งแบบเครื่องมือจัดฟัน 2 ชั้น มีทั้งเครื่องมือจัดฟันลักษณะสามเหลี่ยม และอื่นๆ อีกหลากหลายระบบ

8 อุปกรณ์จัดฟันที่ควรรู้จักก่อนจัดฟันลวด

อุปกรณ์จัดฟันมีหลายชนิด หลายรูปแบบ โดยอุปกรณ์จัดฟันแบบติดแน่นหรือที่เรียกกันรวมๆ ว่าจัดฟันลวด ที่ผู้เข้ารับการจัดฟันควรรู้จัก มีดังนี้

  • แบร็กเก็ต (Bracket) หรือเหล็กจัดฟัน เป็นอุปกรณ์ที่ติดบนตัวฟัน จะมีช่องสำหรับใส่ลวด และขอบสำหรับเกี่ยวยางจัดฟัน บางตัวจะมีฮุค (Hook) มีรูปร่างคล้ายตะขอไว้สำหรับเกี่ยวยางดึงฟันเพิ่มเติมด้วย
  • ยางรัดฟัน (O-ring) มีหลายสี ทำหน้าที่เป็นตัวรัดให้ลวดอยู่ในช่องของแบร็กเก็ต เพื่อให้ลวดค่อยๆ เคลื่อนฟันไปสู่ตำแหน่งที่ต้องการ
  • เชนจัดฟัน (Chain, Power-Chains หรือ C-Chains) มีหลายสี ทำหน้าที่เคลื่อนฟันไปในตำแหน่งที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องใส่ทุกคน ขึ้นอยู่กับแผนการรักษาของทันตแพทย์
  • หนังยางดึงฟัน (Elastic) ทันตแพทย์จะเป็นคนกำหนดตำแหน่งที่จะต้องเกี่ยวยาง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของผู้จัดฟันอย่างมาก โดยจะต้องเกี่ยวไว้อย่างน้อย 18 ชั่วโมงต่อวัน และเปลี่ยนหนังยางทุกๆ 12-24 ชั่วโมงหลังใส่ เพราะยางจะล้าและหมดแรงดึง หากดึงยางไม่สม่ำเสมอจะทำให้เวลาในการจัดฟันนานขึ้น
  • ที่ยกฟัน (Bite) มีทั้งสีฟ้า และสีเหมือนฟัน ทำหน้าที่ยกฟันให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถแก้ไขการสบฟันที่ผิดปกติได้ เช่น ฟันสบคร่อม ฟันสบลึก อาจทำให้การเคี้ยวอาหารยากขึ้นในช่วงแรกๆ ถ้าแตก หรือหลุด ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์ทันที
  • หมุดจัดฟัน (Mini screws) ใช้เป็นหลักยึดในการเกี่ยวยางในกรณีที่หลักยึดไม่เพียงพอ ทำภายใต้การใส่ยาชาเฉพาะที่ และจะเอาออกเมื่อจัดฟันเสร็จเรียบร้อย
  • บัทตอน (Button) เป็นที่เกี่ยวยางให้บิดฟันไปในตำแหน่งที่ต้องการ ใช้ยึดติดบนตัวฟัน ลักษณะหน้าตาเหมือนกระดุม ซึ่งมีทั้งแบบที่ทันตแพทย์เป็นผู้เกี่ยวยางให้เอง และแบบที่ให้คนไข้เกี่ยวยางเอง
  • เพลทจัดฟัน (Plate) ในบางรายอาจจำเป็นต้องใส่เพลทจัดฟันเพื่อยกฟันให้ฟันบน และล่างห่างจากกัน หรือใส่ร่วมกับการใช้สกรูเพื่อขยายช่องว่างในบางตำแหน่ง

Scroll to Top