ถอนฟัน กับข้อควรรู้ที่หลายคนสงสัย

หากพูดถึงการถอนฟัน หลายคนอาจนึกถึงการถอนฟันคุด เพราะเป็นหนึ่งในปัญหาทันตกรรมที่พบบ่อย แต่การถอนฟันไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงแค่นำฟันคุดออกเพียงอย่างเดียว ในบทความนี้จะพูดถึงข้อควรรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการถอนฟัน

ถอนฟันคืออะไร?

การถอนฟัน (Tooth extraction) เป็นการนำฟันซี่ที่ไม่สามารถรักษาได้ หรือฟันที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตออก โดยจะต้องทำภายใต้การดูแลของทันตแพทย์หรือศัลยแพทย์เท่านั้น

การถอนฟันใช้เวลาไม่นาน สามารถทำได้ในคลินิกทันตกรรมได้เลย และสามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวันได้ทันที โดยทันตแพทย์จะเป็นผู้แนะนำข้อห้าม และข้อควรปฎิบัติให้กับคุณ

อาการแบบไหนควรถอนฟัน?

ปกติแล้วผู้ใหญ่ และวัยรุ่นหลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า “ถอนฟันคุด” แต่นอกจากถอนฟันคุดแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการถอนฟันเช่นกัน ดังนี้

  • ฟันผุลึกจนไม่สามารถรักษารากฟันได้
  • ฟันเกิดการติดเชื้อ
  • สภาพฟันผิดปกติ หรือเกิดอุบัติเหตุ
  • ผู้ที่ต้องการจัดฟัน อาจต้องถอนฟัน 1-2 ซี่ เพื่อให้มีที่ว่างในการขยับของฟันซี่อื่น
  • ผู้ที่กำลังจะรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) บางคน ขึ้นกับแพทย์พิจารณา
  • ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะบางชนิด อาจต้องถอนฟันเพื่อเหตุผลด้านการดูแลรักษาความสะอาด

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่ตรงกับเงื่อนไขด้านบนจะรักษาด้วยการถอนฟันเท่านั้น แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมว่าควรถอนฟันหรือไม่

ถอนฟันเจ็บไหม?

เจ็บ แต่ทันตแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ หรือยาชาทั่วไปตามความเห็นของทันตแพทย์ นอกจากนี้หลังถอนฟันเสร็จอาจจ่ายยาแก้ปวดให้กินเพื่อลดอาการปวดด้วย

การเตรียมตัวก่อนถอนฟัน

ก่อนนัดวันถอนฟัน ทันตแพทย์จะเอกซ์เรย์ (X-ray) ช่องปากดูสภาพฟันเพื่อวางแผนการรักษา ในช่วงนี้สิ่งสำคัญในการเตรียมตัวคือการให้ข้อมูลกับทันตแพทย์ เพื่อให้ทันตแพทย์วางแผนการรักษาให้เหมาะสม

สิ่งที่ควรแจ้งกับทันตแพทย์ อาจมีดังต่อไปนี้

  • แจ้งทันตแพทย์หากมียา อาหารเสริม และวิตามินที่ใช้เป็นประจำ
  • แจ้งทันตแพทย์หากมีการรักษาประเภทอื่นๆ ที่กำลังจะมาถึง หรือเพิ่งรักษามา
  • แจ้งทันตแพทย์หากมีโรคเรื้อรังต่างๆ ดังนี้
    • โรคเกี่ยวกับหัวใจทุกชนิด เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว หัวใจผิดติแต่กำเนิด
    • โรคเบาหวาน
    • โรคตับ
    • โรคไทรอยด์
    • โรคไต และภาวะเกี่ยวกับต่อมหมวกไต
    • โรคความดัน
    • โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ทันตแพทย์มักแนะนำให้รักษาอาการอื่นๆ ให้หายก่อนที่จะเริ่มถอนฟัน เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจตามมา

ขั้นตอนการถอนฟัน

การถอนฟันสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทหลักๆ คือถอนฟันทั่วไปในกรณีที่การรักษาดูไม่ซับซ้อน และการผ่าตัดถอนฟัน ขึ้นอยู่กับสภาพฟันของคุณ

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการรักษาของทั้ง 2 ประเภทอาจไม่แตกต่างกันมากนัก ดังนี้

1. ขั้นตอนการถอนฟันทั่วไป

ทันตแพทย์อาจใช้การถอนฟันทั่วไปในกรณีที่ฟันซี่ที่ต้องการถอนโผล่พ้นเหงือกขึ้นมาแล้ว ทำให้การถอนทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ขั้นตอนอาจมีดังนี้

  • ในวันที่ทำการถอนฟัน จะต้องถอดอุปกรณ์ที่สวมไว้ภายในปากออก เช่น ฟันปลอม รีเทนเนอร์
  • ทันแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ (Local anesthetic) ซึ่งจะช่วยให้พื้นที่รอบๆ ฟันไม่รู้สึกเจ็บ แต่อาจยังรู้สึกถึงแรงกดบ้าง
  • ทันตแพทย์ จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า Elevator หรืออุปกรณ์แซะเหงือกในการถอนฟัน
  • จากนั้นจะใช้ที่คีบ คีบฟันที่หลุดออกมา

2. การผ่าตัดถอนฟัน

ทันตแพทย์อาจใช้การผ่าตัดถอนฟัน หากต้องมีการเปิดเหงือกเล็กน้อย ขั้นตอนการทำอาจมีดังนี้

  • ในวันที่ทำการถอนฟัน หากถอดอุปกรณ์ที่สวมไว้ภายในปากออก เช่น ฟันปลอม รีเทนเนอร์
  • ทันตแพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ หรือยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือด ซึ่งจะช่วยให้คุณไม่รู้สึกเจ็บ ในบางกรณีอาจได้รับยาชาแบบทั่วไป (General anesthesia) ขึ้นอยู่กับทันตแพทย์พิจารณา
  • เมื่อยาระงับความรู้สึกออกฤทธิ์ ทันตแพทย์จะทำการผ่าเหงือกเล็กๆ และอาจมีการนำกระดูกรอบฟันออก จากจึงค่อยทำการถอนฟัน
  • เมื่อถอนฟันแล้ว จึงเย็บปิดบาดแผล และอาจนัดมาตัดไหมอีกครั้งใน 7 วันถัดมา

อาการหลังถอนฟัน?

หลังจากถอนฟันเสร็จแล้ว ระหว่างที่แผลยังไม่หายดีอาจมีอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนี้

  1. ปวดบวม ถือเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นหลังจากถอนฟันเนื่องจากกล้ามเนื้อฉีกขาด อาการจะเป็นมากที่สุดในช่วง 2-3 วันหลังจากถอนฟัน และจะค่อยๆ ดีขึ้นหลังจากนั้น แต่หากอาการเป็นหนักขึ้น ควรไปพบทันตแพทย์ผู้ทำการรักษา
  2. เลือดไหลไม่หยุด เลือดไหลซึมออกจากแผลผ่าตัดหรือถอนฟัน เป็นอีกหนึ่งอาการที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่หากไหลเยอะผิดปกติ อาจเกิดจากผู้ใช้บริการกัดผ้าก๊อซไม่แน่นพอ ทำให้เลือดไม่หยุด หรือกินอาหารแข็งเกินไป ทำให้แผลกระทบกระเทือน ควรกัดผ้าก๊อซแผ่นใหม่ทันที แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบทันตแพทย์ทันที
  3. อาจเกิดการติดเชื้อ เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น รักษาความสะอาดไม่ดีพอ ผู้ใช้บริการมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เป็นเบาหวาน

การดูแลตัวเองหลังถอนฟัน

โดยปกติจะใช้เวลาไม่กี่วันที่แผลจะฟื้นตัวจากการถอนฟัน ต่อไปนี้เป็นข้อควร และไม่ควรปฎิบัติระหว่างการฟื้นตัวของแผล

ข้อควรปฎิบัติหลังถอนฟัน

  • ควรใช้น้ำแข็งห่อผ้าประคบแก้มหลังข้างที่ทำการถอนฟัน โดยทำครั้งละ 10 นาที เพื่อลดอาการบวม
  • หลังจากถอนฟันเสร็ต ทันตแพทย์จะวางผ้าก๊อซบริเวณที่ทำการถอนฟัน ควรกัดผ้าก๊อซให้แน่นพอประมาณเพื่อช่วยให้เลือดแข็งตัวและหยุดไหลเร็วขึ้น และอาจเปลี่ยนผ้าก๊อซหลังผ่านไป 2 ชั่วโมง หากยังมีเลือดซึมออกมาอีก สามารถใช้ผ้าก๊อซอีกแผ่นวางไว้ 1 ชั่วโมง
  • ควรกินยาปฎิชีวนะ หรือยาแก้ปวดที่ทันตแพทย์ให้มาจนครบตามที่ทันตแพทย์แนะนำ
  • ควรพักผ่อนเยอะๆ ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังจากถอนฟัน
  • ควรใช้หมอนหนุนศีรษะขณะนอน
  • ควรกินอาหารอ่อนๆ และไม่ร้อนจัด เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม นม โยเกิร์ต จนกว่าแผลจะหายสนิท
  • ควรใช้น้ำเกลือครึ่งช้อนชา ผสมน้ำอุ่น 8 ออนซ์บ้วนปากเพื่อทำความสะอาด หรืออาจใช้ยาบ้วนปากที่ทันตแพทย์ให้มา
  • ควรแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันตามปกติ แต่หลีกเลี่ยงบริเวณที่ถอนฟันในช่วงแรกหลังการถอนฟัน

ข้อควรระวังหลังถอนฟัน

  • ไม่ควรออกกำลังกายหนัก หรือทำกิจกรรมที่อาจกระทบกระเทือนแผล
  • ไม่ควรกินอาหารที่เคี้ยวยาก เพราะอาจทำให้แผลกระทบกระเทือน
  • ไม่ควรสูบบุหรี่จนกว่าแผลจะหายสนิท
  • ไม่ควรแคะหรือดูดแผลถอนฟัน
  • ไม่ควรใช้น้ำยาบ้วนปากอื่นๆ ที่ทันตแพทย์ไม่ได้เป็นผู้จ่ายให้

หากอาการปวดไม่ลดลงหลังจากผ่านไปแล้วหลายวัน อาจเป็นอาการของการติดเชื้อ โดยเฉพาะหากมีไข้ ปวด มีหนองไหลออกมาจากแผล ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์

อาการผิดปกติหลังถอนฟัน

การถอนฟันส่วนใหญ่มีความปลอดภัย ผลข้างเคียงไม่มาก แต่บางกรณีอาจเกิดการติดเชื้อ หรือมีสัญญาณอันตรายอื่นๆ ได้ หากมีอาการดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาทันตแพทย์โดยทันที

  • มีไข้ หรือรู้สึกป่วย
  • คลื่นไส้ หรืออาเจียน
  • แผลบวมหรือแดงมากผิดปกติ
  • ไอ หายใจถี่ เจ็บหน้าอก

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการถอนฟันลงได้มาก

โดยสรุปแล้ว การถอนฟันอาจเป็นได้ทั้งการรักษา หรือเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการรักษาประเภทอื่นก็ได้ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้รับการรักษา

การถอนฟันใช้เวลาไม่นาน แผลหายไว สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เกือบปกติ เพียงแต่ควรดูแลรักษาความสะอาดให้ดี และเคร่งครัดกับคำแนะนำของทันตแพทย์

Scroll to Top