ยา มีโซโพรซอล (Mesoprostol) เป็นยาในกลุ่มที่ใช้เพื่อให้เกิดการคลอด ใช้เพื่อป้องกันและรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร และใช้รักษาภาวะตกเลือดหลังคลอดเนื่องจากการหดตัวของมดลูกน้อย การใช้ยามีโซโพรซอลอาจก่อให้เกิดการแท้งได้เนื่องจากการยาทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ด้วยสาเหตุนี้เองจึงมีการนำยานี้ไปใช้ในการทำแท้งผิดกฎหมาย
สารบัญ
- สรรพคุณและประโยชน์ของยา Mesoprostol
- กลไกการออกฤทธิ์ของยามีโซโพรซอล
- ข้อบ่งใช้ของยา
- ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา
- ข้อควรระวังของการใช้ยา
- ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
- ข้อมูลการใช้ยา ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
- ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย
- สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา
สรรพคุณและประโยชน์ของยา Mesoprostol
- ข้อบ่งใช้สำหรับแผลในกระเพาะอาหารแผลในลำไส้
- ข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการใช้ยากลุ่ม NSAID
- ข้อบ่งใช้สำหรับเหนี่ยวนำให้เกิดการคลอด
กลไกการออกฤทธิ์ของยามีโซโพรซอล
กลไกการออกฤทธิ์ของ มีโซโพรซอล (misoprostol) ซึ่งเป็นทั้งยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อมดลูก และกลุ่มยาลดกรด มีโซโพรซอลเป็นอะนาลอกสังเคราะห์ของพรอสตาแกลนดินสังเคราะห์ ชนิดอี 1 (synthetic prostaglandin E1) ฤทธิ์ในการลดกรด เนื่องมาจากมีโซโพรซอลสามารถปกป้องชั้นเยื่อเมือกในกระเพาะจากการถูกทำลายโดยกรด โดยเข้าไปยับยั้งการกระตุ้นการหลั่งกรดในเวลากลางคืน ลดปริมาณกรดที่หลั่งในกระเพาะ และเพิ่มการสร้างไบคาร์บอเนต (bicarbonate) และการหลั่งเมือกเพื่อปกป้องกระเพาะอาหาร มีโซโพรซอลยังเหนี่ยวนำการเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่บริเวณมดลูก และการคลายตัวของกล้ามเนื้อบริเวณปากมดลูก การใช้ยาในสตรีมีครรภ์จึงอาจทำให้เกิดการแท้งได้
ข้อบ่งใช้ของยา
ข้อบ่งใช้สำหรับแผลในกระเพาะอาหารแผลในลำไส้ ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 800 ไมโครกรัมต่อวัน แบ่งรับประทานสองถึงสี่ครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อยสี่สัปดาห์ รับประทานต่อเนื่องแม้ว่าอาการจะดีขึ้น อาจใช้ยาต่อเนื่องได้ถึง 8 สัปดาห์ ข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารจากการใช้ยากลุ่ม NSAID ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ 200 ไมโครกรัม วันละสองถึงสี่ครั้ง หากไม่สามารถทนต่อยาได้ ให้ลดขนาดยาเหลือ 100 ไมโครกรัมวันละสี่ครั้ง ข้อบ่งใช้สำหรับเหนี่ยวนำให้เกิดการคลอด ยาในรูปแบบชนิดเม็ดสอดช่องคลอด ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ยาสอดขนาด 200 ไมโครกรัม ให้นำยาสอดออกในเมื่ออยู่ในช่วงใกล้คลอด มีการหดรัดของช่องคลอดมากผิดปกติ ไม่สอดยาซ้ำถ้าหากยาหลุดออกจากช่องคลอด
ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา
หากลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่รับประทาน ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้จำนวน 1 เม็ดโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน ในกรณีลืมรับประทานยาใกล้กับเวลารับประทานถัดไป ให้รับประทานยาในมื้อถัดไปในขนาด 1 เม็ด โดยข้ามยาในมื้อที่ลืมไปและไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ด
ข้อควรระวังของการใช้ยา
- ห้ามใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ รวมถึงยังไม่ได้รับการยืนยันผลการตั้งครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของมดลูก
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเหนี่ยวนำให้เกิดการคลอด
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเกี่ยวข้องกับอาการท้องเสีย เช่น Irritable bowel syndrome
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ภาวะความดันโลหิตต่ำอาจเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดอันตรายรุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดส่วนปลาย
- ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะขาดน้ำอาจก่อให้เกิดอันตรายเมื่อใช้ยา
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไระวังการใช้ยานี้ในสตรีให้นมบุตร
ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เกิดผื่น มึนงง ปวดศีรษะ เพิ่มการหดรัดของช่องคลอด เลือดออกบริเวณช่องคลอดผิดปกติ อาการอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นได้น้อย ได้แก่ ความดันโลหิตต่ำ อาการอันไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ได้แก่ เกิดการช็อกจากการติดเชื้อ
ข้อมูลการใช้ยา ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
สำหรับการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม category X คือ ไม่แนะนำให้ใช้ยาในสตรีมีครรภ์เนื่องจากตัวยาสามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ สำหรับสตรีให้นมบุตร ไม่แนะนำให้ให้นมบุตรระหว่างการรับประทานยา
ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย
ยาจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น
สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา
แพทย์และเภสัชกรสามารถให้ข้อมูลการใช้ยาอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยควรแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่แพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการใช้ยา
- แจ้งข้อมูลการใช้ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทาน (รวมถึงวิตามิน และสมุนไพร) ในกรณีมียาประจำตัวจำนวนมาก ให้พกยาเพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยตรวจสอบก่อนสั่งจ่ายยาใหม่ ไม่ให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่จะได้รับใหม่และยาที่เดิมที่ผู้ป่วยใช้อยู่
- แจ้งประวัติการแพ้ยา หรืออาการแพ้ที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือแพ้อาหารชนิดใดอยู่ (เนื่องจากยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม ยีสต์) อาการที่เกิดขึ้น เช่น อาการบวม เกิดผื่น หายใจลำบาก หรือให้นำบัตรแพ้ยา พกติดตัวและแสดงบัตรนี้แก่แพทย์และเภสัชกรก่อนเข้าใช้บริการสุขภาพทุกครั้ง
- แจ้งข้อมูลในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ หรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์ หรือสามารถขับออกทางน้ำนมได้
- แจ้งข้อมูลที่จะส่งผลต่อการรับประทานยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา วิธีการรับประทานยา เพื่อแพทย์หรือเภสัชกรจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง