รู้จัก “โลน” ต้นเหตุอาการคันอวัยวะเพศ

โลน (Pediculosis Pubis / Pubic Lice) คือแมลงขนาดเล็ก ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตร เป็นปรสิตชนิดหนึ่งที่ชอบอาศัยอยู่ในจุดที่ขนดก เช่น อวัยวะเพศ มีลักษณะส่วนปลายคล้ายปู เกาะเกี่ยวโคนเส้นขนเป็นที่อยู่อาศัย กินเลือดเป็นอาหาร

ทุกครั้งที่ตัวโลนกัดมนุษย์ สิ่งที่ทิ้งไว้คือ รอยตุ่มสีแดง อาการคันคะเยอ แม้ว่าจะไม่ได้สร้างอันตรายแต่ก็สร้างความรำคาญไม่น้อย ลองคิดภาพตามว่า ถ้าอวัยวะเพศของเรามี “โลน” จำนวนมาก อาการคันจะมากมายขนาดไหน บางคนก็เรียกอาการเหล่านี้ว่า “โรคโลน”

ที่สำคัญอย่าคิดว่า “โลน” จะติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น แม้ว่าจะพบได้บ่อยที่อวัยวะเพศก็ตาม จริงๆ แล้ว การใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วยโรคโลน เช่น เสื้อผ้า ก็สามารถทำให้เกิดการติดต่อได้ นอกจากจะอาศัยที่ขนอวัยวะเพศแล้ว ขนหน้าแข้ง ขนหน้าอก หรือแม้แต่ขนคิ้ว ขนตา โลนก็สามารถอาศัยอยู่ได้!

โรคตัวโลนมีอาการอย่างไร?

หลังจากได้รับ “โลน” มาจากผู้ป่วยคนก่อนหน้าภายใน 3-4 สัปดาห์ จะเริ่มแสดงอาการ และนี่คืออาการเด่นที่บ่งบอกว่าคุณกำลังโดนเล่นงาน

  • มีตุ่มแดง รอยโดนกัดที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก บริเวณใกล้เคียง หรือบริเวณที่มีขนและตัวโลนเกาะอยู่ เช่น ใต้รักแร้ หน้าอก แผ่นหลัง หนวด เครา ขนตา
  • มีอาการคันมากผิดปกติและคันรุนแรงมากขึ้นเวลากลางคืน
  • พบจุดสีดำ เป็นสะเก็ด ตามกางเกงชั้นใน นั่นคือมูลของโลน
  • พบจุดสีน้ำตาล บนเส้นขน นั่นคือไข่ของโลน
  • บางรายเกิดอาการแผลติดเชื้อบริเวณที่คัน เนื่องจากมีการเกาที่รุนแรง
  • บางรายเป็นไข้ ไม่มีแรง หงุดหงิดง่ายเนื่องจากอาการคัน

เพราะอะไรอาการถึงแสดงออกช้า?

โลนตัวเมียจะวางไข่บนเส้นขน ประมาณครั้งละ 30 ฟอง ภายใน 7 วันไข่เหล่านั้นจะฟักตัวออกมาเป็นตัวอ่อน และอีก 3 สัปดาห์ถัดมา ตัวอ่อนเหล่านั้นจะเติบโตเป็นตัวเต็มวัย ผสมพันธุ์กัน และวางไข่รอบถัดไป

หลังจากผสมพันธุ์โลนตัวผู้จะตาย ตัวเมียจะเริ่มกระบวนการวางไข่อีกครั้ง นั่นเป็นที่มาว่า หลังจากเราติด “โลน” มาจากคนอื่นแล้ว ใช้เวลา 3-4 สัปดาห์ จึงเริ่มแสดงอาการ! เพราะเป็นช่วงที่ “โลน” ขยายพันธุ์แล้ว

โรคโลน ไม่ได้เกิดเพราะเราสกปรก!

โรคโลน ไม่ได้เกิดจากการหมักหมมสิ่งสกปรก หรือทำความสะอาดร่างกายไม่ดีแล้วทำให้คันบริเวณอวัยวะเพศ แต่เกิดจากการรับ “ตัวโลน” ปรสิตชนิดหนึ่งมาจากผู้ป่วยคนก่อนหน้า

“โลน” ไม่สามารถบินหรือกระโดดได้ การติดต่อจึงเกิดจากการสัมผัสโดยตรง เช่น การกอด หอมแก้ม จูบ และการมีเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกันเช่นเสื้อผ้า ที่นอน

ถ้าโลนไม่ได้ดูดเลือดมนุษย์ จะตาย ภายใน 24-48 ชั่วโมง

การตรวจวินิจฉัยโรคจาก “โลน”

ในระยะแรกไม่มีทางรู้ได้เลยว่า กำลังเผชิญหน้ากับโรคโลนอยู่หรือไม่? เพราะโลนมีขนาดเล็ก สีกลมกลืนกับสีขน

เมื่อไปพบแพทย์ การวินิจฉัยจะเริ่มต้นจากการซักประวัติปัจจัยเสี่ยง ตรวจเช็กร่างกาย ใช้แว่นขยายดูบริเวณที่มีรอยอาการ หรืออาจใช้เทปกาวแปะสุ่มลงไปบริเวณหัวหน่าว แล้วใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจสอบว่ามีไข่ หรือตัวโลนซ่อนตัวอยู่หรือไม่

คันเพราะ “โลน” รักษาอย่างไร?

การรักษาอาการที่เกิดจาก “โลน” มีลักษณะคล้ายๆ การรักษาเหา คือใช้แชมพู โลชั่น ที่มีสารเคมี กำจัดแมลงจำพวก โลน เหา โดยเฉพาะ ซึ่งแพทย์อาจมีการสั่งยาในกลุ่มต่อไปนี้เพื่อให้นำไปใช้รักษา

  • กลุ่มเพอร์เมทริน (Permethrin) ใช้ทาบริเวณที่มีอาการคัน ห้ามใช้บริเวณใกล้ดวงตา
    กรณีที่เป็นยาชนิดที่ใช้แล้วต้องล้างออก เมื่อครบกำหนดเวลา จำเป็นต้องล้างออกให้สะอาด
  • กลุ่มมาลาไทออน (Malathion) ยารักษาโลน ชนิดโลชั่นหรืออีมัลชั่น สำหรับทาหนังศีรษะ ทาทิ้งไว้ให้ออกฤทธิ์ประมาณ 8-12 ชั่วโมง แล้วล้างออกด้วยการสระผม
  • กลุ่มลินเดน (Lindane) มีฤทธิ์แรงที่สุด รูปแบบเป็นแชมพูกำจัดเหา หิด โลน ชะโลมบริเวณที่มีตัวโลนให้ทั่วทิ้งไว้ 4 นาที แล้วล้างออกทันที กลุ่มนี้จะไม่เหมาะกับเด็ก
    และสตรีช่วงให้นมบุตร
  • กลุ่มไอเวอร์เมคติน (Ivermectin) ยากลุ่มนี้มีการใช้รักษาโรคจากปริสิต เช่น เหา ต้องจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น มีทั้งแบบทา และแบบรับประทาน

รักษาโรค “โลน” หายแล้ว มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม?

หลังจากได้รับการรักษาโรคตัวโลนแล้ว ยังไม่แนะนำให้มีเพศสัมพันธ์ทันที แต่ควรเว้นช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ให้แน่ใจก่อนว่าตัวโลนนั้นหมดไปแล้วจริงๆ

ในระหว่างนี้สามารถนอนร่วมเตียงเดียวกันได้ และควรหมั่นเปลี่ยน ทำความสะอาดเครื่องนอน ผ้าเช็ดตัว หรือของส่วนตัวที่ใช้ร่วมกัน

โรคจาก “โลน” ป้องกันได้อย่างไร?

  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่มีภาวะเป็นโรคโลน
  • ชำระล้างร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะหลังมีกิจกรรมทางเพศ
  • หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องนอน ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคตัวโลน เพราะโลนอาจเกาะอยู่ตามใยผ้าเหล่านี้
  • หมั่นทำความสะอาดเครื่องนอน ผ้าเช็ดตัว หรือของใช้ส่วนตัวที่ใช้ร่วมกับผู้ป่วยโรคตัวโลน ซักทำความสะอาดในน้ำร้อนอุณหภูมิมากกว่า 50 องศาเซลเซียส หรือนำเข้าเครื่องอบผ้าที่มีความร้อนสูงยาวนาน 30 นาที
  • หากไม่จำเป็น ควรหลีกเลี่ยงการลองชุดชั้นใน หรือชุดว่ายน้ำในห้างสรรพสินค้า เพราะอาจเสี่ยงติดโลนจากคนก่อนหน้านี้ได้

อาการคันจาก “โลน” ไม่ใช่เรื่องน่าอาย เพราะไม่เกี่ยวข้องกับความสะอาดส่วนตัวโดยตรงตามที่หลายคนเข้าใจผิด แต่เป็นการรับปรสิตมาจากผู้ที่ป่วยคนก่อนหน้า ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์ การใช้สิ่งของร่วมกัน


 ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

Scroll to Top