ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก องค์ประกอบ หน้าที่ การดูแล

โครงกระดูก เป็นโครงสร้างสำคัญในการกำหนดรูปร่าง สรีระ ลักษณะของมนุษย์แต่ละคน รวมทั้งให้ความแข็งแรง และป้องกันอันตรายแก่อวัยวะภายใน ทั้งยังเป็นแหล่งสะสมแคลเซียม และเกลือแร่จำเป็นอื่นๆ และเป็นแหล่งสร้างเม็ดเลือดที่่สำคัญให้กับร่างกายของเรา

ลักษณะและจำนวนของกระดูก

กระดูกจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและตลอดชีวิต โดยทารกแรกเกิดจะมีกระดูกทั้งหมด 350 ชิ้น และกระดูกจะมีลักษณะอ่อนนุ่ม เมื่อโตขึ้นกระดูกก็จะแข็งขึ้น และกระดูกบางชิ้นจะเชื่อมติดกัน เช่น กะโหลกศีรษะ

ส่วนวัยผู้ใหญ่ จะมีจำนวนกระดูกลดลงเหลือ 206 ชิ้น กระดูกแขนและขาจะมีลักษณะเป็นกระดูกชิ้นยาว ทำหน้าที่เหมือนคานงัดให้กับกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว กระดูกบางชิ้นจะมีหน้าที่ป้องกันอวัยวะภายในร่างกาย บางชิ้นมีไขกระดูก ซึ่งมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดให้ร่างกาย

กระดูกเป็นอวัยวะที่มีชีวิต และการเปลี่ยนแปลง เมื่อเซลล์เก่าตายไป จะมีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาแทนที่ตลอดเวลา กระดูกและข้อจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ โดยเฉพาะข้อเข่าและข้อสะโพกอาจเกิดโรคข้อเสื่อมได้ง่าย เมื่ออายุมากขึ้น กระดูกจะเริ่มสูญเสียแคลเซียมบางส่วน ทำให้กระดูกเริ่มพรุนและอ่อนแอ หรือเรียกภาวะนี้ว่า “โรคกระดูกพรุน”

การยึดต่อกันระหว่างกระดูก

กระดูกแต่ละชิ้นยึดต่อกันด้วยข้อต่อ ซึ่งมีหลายลักษณะ

  • ข้อต่อที่จะยึดกระดูกติดแน่น ไม่มีการเคลื่อนไหว เช่น ข้อต่อระหว่างกะโหลกศีรษะ
  • ข้อต่อที่เคลื่อนไหวได้เล็กน้อย เพราะมีกระดูกอ่อนเชื่อมอยู่ เช่น กระดูกสันหลัง
  • ข้อต่อที่มีถุงน้ำหล่อเลี้ยงในข้อ  ทำให้เคลื่อนไหวได้มากและเกือบทุกทิศทาง เช่น ข้อสะโพก ข้อไหล่ มีลักษณะเหมือนลูกบอลกลมๆ อยู่ในเบ้า ทำให้เคลื่อนไหวได้เกือบจะทุกทิศทาง
  • ข้อต่อแบบแอ่ง เช่น ข้อที่โคนนิ้วหัวแม่มือ สามารถเคลื่อนไหวในทิศทางหน้า หลัง และด้านข้างได้ จึงทำให้มือของเราสามารถหยิบจับสิ่งของได้ไม่ว่าใหญ่ หรือเล็ก หากไม่มีข้อกระดูกชนิดนี้ มือของเราจะเหมือนมือหุ่นยนต์
  • ข้อต่อแบบบานพับ เช่น ข้อนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อศอก เข่า ข้อชนิดนี้เคลื่อนไหวได้ทางเดียวเหมือนบานพับ โดยระหว่างกระดูกทั้ง 2 ชิ้นจะมีเอ็นหนาและแข็งแรงยึดกระดูกทั้ง 2 ชิ้นไว้ด้วยกัน
  • ข้อต่อแบบเลื่อน เช่น กระดูกข้อมือ เคลื่อนไหวได้เช่นเดียวกันกับข้อแบบแอ่ง แต่น้อยกว่า เมื่ออายุมากขึ้น การเคลื่อนไหวของข้อจะถูกจำกัดให้เคลื่อนได้น้อยลง และยากขึ้น

โรคเกี่ยวกับกระดูก

โรคของกระดูกที่พบได้ทั่วไป จะได้แก่

  • กระดูกหักเนื่องจากการบาดเจ็บ
  • ไขข้อเสื่อมเนื่องจากการบาดเจ็บหรือการใช้งานมาก
  • กระดูกอักเสบ
  • เนื้องอกในกระดูก
  • โรคกระดูกบาง
  • โรคกระดูกพรุน

นอกจากนี้ กระดูกยังเป็นอวัยวะที่พบการแพร่กระจายของมะเร็งจากอวัยวะส่วนอื่นได้ ที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งต่อมไทรอยด์ มะเร็งไต มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม

ส่วนอาการของโรคกระดูก ได้แก่

  • อาการปวด
  • อาการบวม
  • มีผิวแดงขึ้น
  • อาการร้อนรอบๆ บริเวณนั้น
  • อาการปวดต่างๆ เช่น ปวดหลัง ปวดคอหรือคอแข็ง ปวดแขน ปวดขา ปวดข้อหรือข้อบวม และปวดเข่า

นอกจากนี้ยังมีโรคข้ออื่นๆ หรืออาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับกระดูกและข้อที่มักพบได้ทั่วไปอีก เช่น

  • อาการไขข้ออักเสบ เนื่องจากการใช้งานหนักหรือติดเชื้อ มักจะเป็นที่กระดูกต้นคอข้อมือ ข้อสะโพก และข้อเข่า
  • โรครูมาตอยด์ เป็นโรคที่เกิดกับเนื้อเยื่ออ่อนรอบๆ ข้อ มีผลทำให้ข้อแข็ง และรูปร่างผิดไป มีอาการปวดคอ หรือคอแข็ง ร่วมกับอาการปวดข้อหรือข้อบวม และปวดเข่า

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการรับประทานอาหารให้มีสารอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีน แคลเซียม และวิตามินดี จะช่วยทำให้กระดูกแข็งแรง

ความหมายและชนิดของกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อ คือ เนื้อเยื่อในร่างกายที่หดตัวได้ เพื่อทำให้เกิดแรง และเกิดการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายในร่างกาย รวมถึงการปรับเปลี่ยนท่าทางต่างๆ ของเรา ซึ่งกล้ามเนื้อในร่างกายจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่

1.  กล้ามเนื้อหัวใจ มีเฉพาะที่หัวใจ
2.  กล้ามเนื้อเรียบ เป็นกล้ามเนื้อที่อยู่นอกเหนือการบังคับ จะทำงานโดยอิสระ ควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายใน เช่น การเคลื่อนไหวของลำไส้ในการขับกากอาหาร ผนังหลอดเลือด
3.  กล้ามเนื้อลาย เป็นกล้ามเนื้อที่มีมากที่สุดในร่างกาย จะยึดติดกับกระดูกและเคลื่อนไหวตามที่เราต้องการ ประกอบด้วยเส้นใยยาวมัดรวมกันด้วยเนื้อเยื่อ ซึ่งจะเกี่ยวพันโดยมีเส้นเลือดฝอยล้อมรอบ และจะเป็นตัวนำออกซิเจนมาเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้ เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานตามคำสั่งของสมอง ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย

การทำงานของกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อแต่ละมัดจะมีเส้นประสาทคอยเลี้ยงไว้ และจะเคลื่อนไหวได้เมื่อมีสัญญาณประสาทไปกระตุ้นทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ดังนั้นเมื่อไรที่ร่างกายมีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทก็จะทำให้มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อตามมาด้วย เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง จากโรคระบบประสาทส่วนกลางเสื่อม (Multiple sclerosis) หรือ ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม (Peripheral neuropathy) เป็นต้น

ส่วนการทำงานของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเปรียบได้กับเครื่องยนต์ของร่างกาย มีหน้าที่เปลี่ยนพลังงานเคมี ให้เป็นพลังงานของร่างกาย และกล้ามเนื้อแต่ละมัดจะมีเอ็นยึดกับกระดูกชิ้นต่างๆ ขณะที่กล้ามเนื้อหดตัว ก็จะดึงกระดูกที่ยึดติดอยู่นั้น ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้

ในการเคลื่อนไหวแต่ละส่วนของร่างกาย กล้ามเนื้อจะทำงานร่วมกันเป็นคู่ๆ ในแนวตรงกันข้าม คือกล้ามเนื้อด้านหนึ่งหดตัว อีกด้านหนึ่งจะคลายตัวช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ โดยกล้ามเนื้อลายจะเป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานตามคำสั่งของสมอง ส่วนกล้ามเนื้อเรียบจะทำงานโดยอิสระ และกล้ามเนื้อหัวใจจะทำงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อช่วยการหายใจ การย่อยอาหาร การไหลเวียนของเลือดและการเต้นของหัวใจ

การดูแลกล้ามเนื้อในร่างกายให้แข็งแรง

การออกกำลังกายบ่อยๆ หรือการทำงานออกแรง จะช่วยให้เส้นใยกล้ามเนื้อขยายขึ้น กล้ามเนื้อก็จะเจริญเติบโตมากขึ้นไปด้วย ดังนั้นการออกกำลังกายอย่างหนักจึงจะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้น และกล้ามเนื้อก็จะขยายขนาดเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้สามารถทำงานได้มากขึ้น

แต่ถ้ากล้ามเนื้อไม่ได้ใช้งานหรือมีอายุมากขึ้น เส้นใยก็จะหดตัวหรือฝ่อลง กล้ามเนื้อจะค่อยๆ เล็กลงและลีบไปในที่สุด

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจำเป็นต้องออกกำลังกายอย่างหนัก หรือหักโหมออกแรงมากๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงมากที่สุด แต่ควรออกกำลังกายอย่างพอดี ไม่หนักหรือเบาเกินไป รวมทั้งรับประทานอาหารที่ให้สารอาหารบำรุงกล้ามเนื้อและกระดูกให้แข็งแรง เช่น แคลเซียม โปรตีน เพียงเท่านี้ ทั้งกระดูกและกล้ามเนื้อของคุณก็จะแข็งแรงได้เอง ตามกลไกการทำงานของร่างกาย


เปรียบเทียบราคาโปรโมชั่นแพ็กเกจทำกายภาพบำบัด

Scroll to Top