ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติเป็นอย่างไร

หลังอุ้มท้องเข้าสู่กลางไตรมาสที่ 2 คุณแม่ส่วนใหญ่จะเริ่มนึกถึง “การคลอด” ในช่วงปลายไตรมาสหน้า คุณแม่ส่วนใหญ่มักต้องการคลอดลูกด้วยตนเอง หรือคลอดธรรมชาติ เพราะรู้ว่า ดีต่อทั้งตนเองและลูกน้อย แต่ก็มีคำถามเกี่ยวกับขั้นตอนการคลอดธรรมชาติที่ต้องการคำตอบ

ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติเป็นอย่างไร? เจ็บไหม? ฉีดยาชาไหม? ต้องกรีดช่องคลอดไหม ใช้อะไรกรีด? HDmall.co.th จะพาไปหาคำตอบแบบชัดๆ เพื่อให้คุณแม่นำไปประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าห้องคลอด

ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติเป็นอย่างไร?

การคลอดธรรมชาติเป็นวิธ๊การคลอดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ เพราะถือเป็นวิธีมีประโยชน์ต่อคุณแม่และทารกหลายอย่าง เช่น น้ำนมมาเร็ว เสียเลือดน้อย ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อย แผลหายเร็วกว่าการผ่าคลอด

เพื่อให้เข้าใจขั้นตอนการคลอดธรรมชาติ โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะได้แก่ ระยะเจ็บท้อง ระยะเบ่งคลอด และการคลอดรก รายละเอียดมีดังนี้

ระยะเจ็บท้อง

เมื่อใกล้ถึงคลอดมดลูกจะหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอที่เรียกกันว่า “เจ็บท้อง” และจะเจ็บถี่และแรงขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันปากมดลูกจะค่อยๆ เปิดกว้างออกทีละน้อย โดยทั่วไปจะใช้เวลาในขั้นตอนนี้ประมาณ 5-8 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีน้ำสีชมพู หรือสีปนเลือดค่อยๆ ขับออกมา

เมื่อพ้นระยะเจ็บถี่และแรงแล้ว จะเข้าสู่ “ระยะเจ็บเบ่ง” ในระยะนี้มดลูกจะหดตัวแต่ละครั้งนานขึ้นและเกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ ในระยะนี้แพทย์จะตรวจดูปากมดลูกว่า “พร้อมคลอดหรือยัง”

คุณแม่บางรายในช่วงนี้อาจมีอาการอยากเบ่งร่วมได้ แต่ยังไม่ควรเบ่งจนกว่าแพทย์จะบอกเพราะอาจทำให้ช่องคลอดบวมได้ ระยะเจ็บเบ่งนี้จะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

ระยะเบ่งคลอด

เมื่อแพทย์ตรวจดูว่า ปากมดลูกเปิดอย่างเต็มที่แล้ว โดยทั่วไปจะมีความกว้างมากประมาณ 7-10 เซนติเมตร ไม่สามารถเปิดต่อไปได้อีกแล้ว นั่นหมายความว่า คุณแม่พร้อมคลอดแล้ว

จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการคลอดธรรมชาติทันที เมื่อคุณแม่เบ่งคลอดตามจังหวะที่แพทย์บอก ศีรษะทารกจะค่อยๆ เคลื่อนออกมาตามลมเบ่ง เนื้อเยื่อบริเวณช่องคลอดจะยืดตัวออก หรือแพทย์อาจตัดแผลฝีเย็บเพิ่มเพื่อให้คลอดได้ง่ายขึ้น

โดยทั่วไปคุณแม่ที่สุขภาพดี แข็งแรงอาจใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีก็สามารถคลอดได้สำเร็จ จากนั้นแพทย์จะใช้ลูกยางดูเมือกและน้ำคร่ำออกจากปากและจมูกทารกออกให้หมด เพื่อไม่ให้มีสิ่งปิดกั้นทางเดินหายใจ ทารกจะได้หายใจสะดวก และตัดแต่งสายสะดือ

ระยะคลอดรก

ส่วนคุณแม่จะเข้าสู่กระบวนการคลอดรกต่อไป โดยคุณแม่จะเริ่มมีลมเบ่งอีกครั้ง การคลอดรกนี้ออกแรงเบ่งไม่มากและใช้เวลาไม่กี่นาทีก็สามารถคลอดรกออกได้แล้ว โดยคุณแม่ไม่รุ้สึกเจ็บปวดใดๆ

จากนั้นแพทย์จะตรวจดูว่า ยังมีส่วนของรก หรือสิ่งอื่นใดตกค้างอยู่อีกหรือไม่ ตรวจดูมดลูกและช่องคลอด จากนั้นจึงเย็บแผล หรือรอยฉีกขาดเข้าด้วยกัน

หลังจัดการแผลเสร็จ พยาบาลห้องคลอดจะสังเกตอาการคุณแม่อีกระยะจนมั่นใจว่า มีสัญญาณชีพปกติดี การโดยรวมปลอดภัย และไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ จึงย้ายคุณแม่ไปห้องพักฟื้น เป็นอันเสร็จขั้นตอนการคลอดธรรมชาติ

คลอดธรรมชาติ เจ็บไหม? ฉีดยาชาไหม?

ความเจ็บปวดในการคลอดธรรมชาตินั้นจะอยู่ที่ระยะปากมดลูกเปิดทีละน้อยๆ การหดรัดตัวของมดลูกที่เพิ่มมากขึ้นๆ และถี่ขึ้น ซึ่งช่วงดังกล่าวกินเวลาหลายชั่วโมง แพทย์อาจให้ยาบรรเทาอาการเจ็บท้องคลอดทางเส้นเลือด แต่หากปวดรุนแรงอาจใช้การบล็อกหลังเพื่อระงับอาการเจ็บปวด

โดยทั่วไปการคลอดธรรมชาติจะไม่ฉีดยาชาระหว่างคลอด หากมีอาการปวดมากแทพย์อาจให้ยาระงับปวดระหว่างคลอด และจะฉีดยาชาในช่วงที่ต้องเย็บแผลฝีเย็บและแผลที่อื่นๆ ซึ่งอาจมีการฉีกขาดเข้าด้วยกันนั่นเอง

คลอดธรรมชาติ ต้องกรีดช่องคลอดไหม ใช้อะไรกรีด?

ฝีเย็บคือ ผิวหนังส่วนที่อยู่ระหว่างช่องคลอดกับทวารหนัก เมื่อถึงเวลาคลอดธรรมชาติแพทย์จำนวนไม่น้อยที่นิยมตัดแผลฝีเย็บ (Episiotomy) ของแม่เพิ่มขณะคลอดลูกเพื่อเพิ่มความกว้างของช่องคลอด ทำให้คลอดง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังถือว่า การตัดฝีเย็บยังช่วยลดการฉีกขาดของช่องคลอด ลดระยะเวลาการคลอดลง สามารถเย็บแผลฝีเย็บได้สวยงามกว่า เพราะปากแผลเป็นรอยตัด ขอบแผลไม่รุ่ย รวมทั้งป้องกันปัญหาช่องคลอดหลวมจากการคลอดธรรมชาติได้ด้วย

หลายคนอาจเข้าใจว่า อุปกรณ์ที่แพทย์ใช้ในการตัดแผลฝีเย็บคือมีด เนื่องจากมักได้ยินประโยคว่า “กรีดช่องคลอด” กันบ่อยๆ แท้ที่จริงแล้ว ปัจจุบันแพทย์จะใช้กรรไกรที่ออกแบบมาสำหรับการตัดฝีเย็บโดยเฉพาะ ส่วนการใช้มีดนั้นคงเป็นการตัดแผลฝีเย็บในอดีต

คลอดธรรมชาติ ไม่กรีดช่องคลอดได้ไหม?

ตัดแผลฝีเย็บเป็นเรื่องที่เมื่อเอ่ยขึ้นมาผู้หญิงมักจะหวาดเสียว จนมีคำถามว่า ไม่กรีดช่องคลอดได้ไหม ปัจจุบันการศึกษาหลายแห่งพบว่า การตัดแผลฝีเย็บอาจไม่ได้ผลดีอย่างที่ปฏิบัติตามๆ กันมา เพราะอาจทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้

  • ตกเลือดมากขึ้น
  • กล้ามเนื้อหูรูดมีการบาดเจ็บมากขึ้น
  • ไม่ได้ลดปัญหามดลูกหย่อน หรือช่องคลอดหย่อน
  • ไม่ลดอัตราการปัสสาวะเล็ด
  • ทำให้ต้องพักฟื้นหลังคลอดนานขึ้น
  • แผลมีโอกาสติดเชื้อหากดูแลไม่ดี
  • อาจมีปัญหาในการมีเพศสัมพัธ์ได้

ปัจจุบันในบางประเทศจึงไม่นิยมตัดแผลฝีเย็บขณะคลอดบุตร เช่น สหรัฐอเมริกา และหากจำเป็นต้องมีการตัดแผลฝีเย็บจริงๆ ก็ต้องมีข้อบ่งชี้ดังนี้

  • เป็นการคลอดท้องแรก
  • คลอดยากและใช้เวลาคลอดนาน
  • ทารกตัวโต
  • คลอดติดไหล่

ส่วนข้อมูลในประเทศไทยพบว่า ยังมีความนิยมตัดแผลฝีเย็บในการคลอดอยู่มาก ซึ่งเหตุผลอาจจะเกี่ยวข้องกับสรีรวิทยาของผู้หญิงไทยที่อาจมีเชิงกรานไม่กว้างนัก ทำให้ใช้เวลาคลอดนาน อาจเป็นอันตรายต่อแม่และทารกได้ การตัดแผลฝีเย็บจึงเหมาะสมนั่นเอง

คลอดธรรมชาติไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลย หากสุขภาพของคุณแม่แข็งแรงพอ ไม่มีข้อบ่งชี้สุขภาพอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตราย หรือมีความจำเป็นอื่นใด แนะนำให้คลอดธรรมชาติดีที่สุด


เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจฝากครรภ์และคลอดบุตร

Scroll to Top