ขี้หู เป็นสิ่งปกติและมีความสำคัญต่อมนุษย์ แต่หลายคนอาจกังวลว่าตัวเองอาจจะมีขี้หูมากจนเกินไป หรืออาจมองว่าขี้หูเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ จำเป็นต้องทำความสะอาด นำไปสู่คำถามว่าทำอย่างไรจึงจะนำขี้หูออกจากรูหูได้อย่างปลอดภัย จำเป็นต้องใช้การดูดขี้หูหรือไม่ ในบทความนี้มีคำตอบ
ขี้หู (Earwax) เป็นสิ่งที่ร่างกายของทุกคนสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย สิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กต่างๆ และป้องกันการติดเชื้อภายในบริเวณหู ตลอดจนช่วยในการผลัดเปลี่ยนเซลล์บริเวณรูหู โดยการนำซากเซลล์ที่ตายแล้วออกจากรูหู
กลไกที่นำขี้หูออกจากหูนั้นจะอาศัยการเคลื่อนไหวในบริเวณรูหูขณะพูดหรือเคี้ยวอาหาร หรือพูดอีกอย่างคือ ร่างกายมีการขับขี้หูเก่าๆ ออกมาได้เอง และตามปกติจะไม่มีการสะสมของขี้หูภายในรูหูจนแน่นเกินไป
ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบในผู้ที่มีขี้หูอัดแน่นอยู่ภายในหูคือมีพฤติกรรมชอบใช้ไม้พันสำลีหรือคอตตอนบัด (Cotton bud) พยายามทำความสะอาดหู การกระทำดังกล่าวจะเป็นการดันขี้หูเข้าไปอุดตันสะสมอยู่ภายในหู และทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
สารบัญ
ดูดขี้หู จำเป็นหรือไม่?
คำตอบคือ “ไม่มีความจำเป็น” อ้างอิงจากแนวทางการดูแลรักษาของราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ ของประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำว่าไม่มีความจำเป็นต้องนำขี้หูออกจากรูหู หากขี้หูนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น มีการสะสมของขี้หูแน่นอยู่ภายในรูหูจนทำให้การได้ยินเสียงลดลง เป็นต้น
ใครต้องดูดขี้หูบ้าง?
ผู้ที่ต้องได้รับการดูดขี้หู คือ ผู้ที่มีขี้หูอุดตัน (Impacted cerumen) ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ เนื่องจากการสะสมของขี้หูจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้ไม่สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง จนกระทั่งมีการสะสมเป็นจำนวนมาก
อาการแสดงของภาวะขี้หูอุดตัน ได้แก่
- การได้ยินเสียงลดลง
- รู้สึกแน่นหรือมีอาการเจ็บภายในรูหู
- รู้สึกเหมือนกำลังใส่ที่อุดหูอยู่ตลอดเวลา
- ได้ยินเสียงผิดปกติภายในหู
- มีขี้หูหรือของเหลวไหลออกจากหู
ดูดขี้หูเจ็บไหม สามารถดูดขี้หูเองได้หรือไม่ ทำอย่างไร?
ไม่ควรพยายามดูดขี้หู หรือนำขี้หูที่อยู่ภายในรูหู ด้วยตัวเอง เนื่องจากจะทำให้เกิดปัญหาขี้หูอุดตันตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ตลอดจนอาจทำให้เยื่อแก้วหูฉีกขาดได้
การดูดขี้หูจะทำโดยแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก (Otolaryngologist) ในผู้ที่มีข้อบ่งชี้ ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือสำหรับดูดขี้หูโดยเฉพาะ
เครื่องมือดูดขี้หู ประกอบด้วย
- ที่ดูดขี้หู (Suction)
- อุปกรณ์ที่ใช้คีบ เขี่ย
- อุปกรณ์อื่นๆ ทางการแพทย์ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ
ระหว่างการดูดขี้หูนั้นจะทำให้มีอาการเจ็บได้บ้างเล็กน้อย มีอาการคัน และระคายเคืองภายในหู อาจพบอาการไอเกิดขึ้นได้ด้วย เนื่องจากภายในรูหูมีแขนงของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 (Branch of the vagus nerve) มาเลี้ยงอยู่บริเวณนั้น ซึ่งเมื่อถูกกระตุ้นจะทำให้มีอาการระคายเคืองและทำให้ไอได้
เทียนดูดขี้หู ใช้ได้จริงไหม อันตรายหรือเปล่า?
เทียนดูดขี้หู คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีรูปทรงกรวยหรือทรงกระบอก ปลายด้านหนึ่งถูกออกแบบมาให้สอดเข้าไปในรูหู ส่วนอีกด้านหนึ่งจะทำการจุดไฟเพื่อที่จะทำให้เกิดสุญญากาศขึ้นมาภายใน และทำให้ขี้หูถูกดูดออกมาได้
ผลิตภัณฑ์เทียนดูดขี้หูไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ตลอดจนองค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration: FDA) ก็ได้ออกมาประกาศว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวทำให้เกิดเยื่อแก้วหูฉีกขาด แผลไฟไหม้ และเลือดออกภายในรูหูได้ จึงมีการห้ามจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา
สำหรับประเทศไทย องค์การอาหารและยาของไทย (อย.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ห้ามผลิต นำเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์เทียนละลายขี้หู พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2561 เป็นต้นไป ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
วิธีทำความสะอาดหูด้วยตนเองทำได้อย่างไรบ้าง?
มีหลากหลายวิธีที่สามารถทำความสะอาดหูได้ด้วยตนเอง เช่น การหยอดไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen peroxide) การหยอดน้ำมันพืชต่างๆ การใช้จุกยางแดง (Rubber ball syringe) ดูดขี้หู
แต่อย่างไรก็ตาม วิธีต่างๆ ที่กล่าวมาอาจเป็นอันตรายต่อเยื่อแก้วหูและหูชั้นกลางได้ จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องใช้สิ่งแปลกปลอมต่างๆ พยายามเข้าไปทำความสะอาดภายในรูหู อีกทั้งขี้หูยังมีประโยชน์ ช่วยป้องกันการติดเชื้อภายในบริเวณหูได้
หากต้องการทำความสะอาดหู แนะนำให้ใช้สำลีเช็ดทำความสะอาดเฉพาะบริเวณภายนอกรูหูเท่านั้น ไม่ควรดึงปลายสำลีเพื่อที่จะสอดเข้าไปในรูหู เพราะอาจทำให้เกิดภาวะขี้หูอุดตันตามมา
สำหรับผู้ที่มีของเหลวเข้าไปในหูภายหลังจากกิจกรรมทางน้ำต่างๆ แล้วต้องการนำของเหลวออกมา แนะนำให้ใช้สำลีแห้งใส่เอาไว้บริเวณภายนอกรูหู แล้วนอนตะแคง หันหูข้างที่มีของเหลวเข้าไปนั้นลง รอให้ของเหลวค่อยๆ ไหลออกมาเอง ไม่ควรพยายามเข้าไปเช็ดภายในรูหู
ในกรณีที่สงสัยว่ามีภาวะขี้หูอุดตัน ให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางหู คอ จมูก เพื่อทำการตรวจโดยใช้เครื่องมือส่องดูภายในรูหู (Otoscope) และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อภาวะที่เป็น
เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจรักษา หู คอ จมูก
ที่มาของข้อมูล
- กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานะกรรมการอาหารและยา, อย.ออกมาตรการห้ามผลิต นําเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์เทียนละลายขี้หู, (https://oryor.com/%E0%B8%AD%E0%B8%A2/detail/media_news/1240), 5 กุมภาพันธ์ 2561.
- Carol DerSarkissian, How to Clean Your Ears (https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/how-to-clean-your-ear), 28 October 2018.
- Harvard Health Publishing, Got an ear full? Here’s some advice (https://www.health.harvard.edu/staying-healthy/got-an-ear-full), 13 April 2018.