หากถามคนสูบบุหรี่ว่า “ทำไมต้องสูบบุหรี่” คำตอบที่ได้รับจากบุคคลเหล่านี้เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คือ “สูบเพื่อคลายเครียด” และเป็นเหตุผลหลักที่คนสูบบุหรี่ใช้เป็นข้ออ้างที่จะสูบต่อไป แม้จะรู้ว่าบุหรี่นั้นมีโทษต่อสุขภาพของตนเองและคนรอบข้างมากมายเพียงใดก็ตาม เรามาดูกันว่าความเชื่อที่ว่าการสูบบุหรี่ช่วยคลายเครียดได้นั้นเป็นเรื่องจริงหรือเท็จกันแน่
สารบัญ
กลไกการเสพติดนิโคตินจากบุหรี่
นิโคติน คือสารเคมีที่มีอยู่ตามธรรมชาติในใบยาสูบ เมื่อสูบหรือเคี้ยว สารนิโคตินจะซึมผ่านถุงลมในปอดหรือเยื่อบุช่องปากเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เลือดจะถูกสูบฉีดไปยังสมองภายในเวลาเพียง 7 วินาที และไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารที่ทำให้เกิดความสุขและความรู้สึกพอใจ ที่มีชื่อว่าสารโดปามีน รวมทั้งสารนอร์อิพิเนฟรินที่ทำให้รู้สึกตื่นตัว สดชื่น กระปรี้กระเปร่า อารมณ์ดีขึ้น และผ่อนคลายจากความเครียด
หลังจากการสูบบุหรี่ในแต่ละครั้ง นิโคตินที่ได้รับจะถูกทยอยขับออกมา คนติดบุหรี่จึงรู้สึกอยากสูบมวนถัดไปเรื่อยๆ เพื่อรักษาระดับนิโคตินให้คงไว้และช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายเหมือนตอนที่สูบบุหรี่ เมื่อระดับนิโคตินในร่างกายลดต่ำลงก็จะเกิดความรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวาย และอยากสูบบุหรี่ขึ้นมาอย่างมาก
ดังนั้น การสูบบุหรี่เพื่อคลายเครียดจึงเป็นเสมือนข้ออ้างที่ผู้สูบบุหรี่ใช้บอกกับตัวเองเมื่อต้องการรู้สึกพอใจจากสารนิโคตินในบุหรี่เท่านั้น เพราะที่จริงแล้วในบุหรี่ไม่มีสารใดๆ ที่ช่วยขจัดความเครียดได้ ความผ่อนคลายที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่จะคงอยู่เพียงชั่วครู่ ก่อนจะตามมาด้วยอาการถอนนิโคตินตามที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้ผู้ที่สูบบุหรี่เสพติดและต้องการที่จะสูบต่อไป
สารพิษในบุหรี่
ในบุหรี่ 1 มวนประกอบด้วยใบยาสูบกระดาษที่ใช้มวน และสารเคมีหลายร้อยชนิดที่ใช้ในการปรุงแต่งกลิ่นและรส ซึ่งเมื่อองค์ประกอบเหล่านี้เกิดการเผาไหม้จะก่อให้เกิดสารเคมีมากกว่า 4,000 ชนิด และมีถึงประมาณ 250 ชนิดในนี้ที่เป็นอันตรายต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และมากกว่า 60 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง
ความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ที่เกิดจากการสูบบุหรี่หรือสูดควันบุหรี่
- โรคมะเร็ง 11 ชนิด ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งช่องปาก มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหารส่วนต้น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งไต มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งปากมดลูก
- โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ถุงลมโป่งพอง ปอดยืด ปอดบวม ปอดเสื่อม หอบหืดรุนแรง วัณโรค การพัฒนาปอดของทารกในครรภ์ไม่สมบูรณ์ รวมถึงโรคทางเดินหายใจในเด็กเล็กและบุคคลรอบข้างที่ได้รับควันบุหรี่
- โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมไปถึงโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่เสียชีวิต
- โรคอื่นๆ เช่น ต้อกระจก กระดูกพรุน เบาหวาน โรคซึมเศร้า ร่างกายทรุดโทรมจนเกิดโรคแทรกซ้อนได้ง่าย
เทคนิคง่ายๆ ในการอดบุหรี่ด้วยตัวเอง
- สำรวจความพร้อมของตนเองทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ว่ามีมากน้อยแค่ไหน
- หาเป้าหมายและแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่
- สร้างกำลังใจให้ตนเอง มีความตั้งใจ มุ่งมั่นจริงจังที่จะเลิกบุหรี่ให้สำเร็จ
- หากิจกรรมอื่นๆ ทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจเมื่อรู้สึกอยากบุหรี่ เช่น ออกกำลังกาย ทำงานอดิเรกที่ชอบ เป็นต้น
- หากมีอาการหงุดหงิด กระวนกระวาย และอยากอยากสูบบุหรี่มากในระหว่าง 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือนหลังจากเริ่มเลิกบุหรี่ สามารถใช้ตัวช่วยดังต่อไปนี้
- ใช้รสเปรี้ยวจากมะนาว โดยหั่นมะนาวทั้งลูกเป็นแว่นบางๆ แล้วนำมาอมหรือเคี้ยว
- อมน้ำเปล่าแล้วบ้วนทิ้ง ทำซ้ำๆ หลายครั้ง
- ใช้สมุนไพร เช่น ดื่มชาที่ชงจากหญ้าดอกขาวหรือกานพลู เคี้ยวและอมมะขามป้อมสดๆ หรือนำมาคั้นน้ำดื่ม เป็นต้น
- ไม่ควรใช้ลูกอมหรือหมากฝรั่งรสเมนทอล เพราะแทนที่จะลดความอยาก กลับกระตุ้นให้รู้สึกอยากมากยิ่งขึ้นได้
- ป้องกันการกลับไปสูบซ้ำโดยให้ระลึกเสมอว่าหากมีมวนที่หนึ่งย่อมต้องมีมวนต่อไปตามมาอย่างแน่นอน รวมทั้งรู้จักหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดความอยาก ทั้งจากภายนอกและภายใน
- ตัวกระตุ้นภายนอก ได้แก่ เพื่อนที่สูบบุหรี่ สถานที่ที่มีคนสูบบุหรี่อย่างเหล้าบาร์และเขตสูบบุหรี่ และสิ่งของใดๆ ที่ทำให้เกิดอาการอยากบุหรี่ เช่น ที่เขี่ยบุหรี่ ไฟแช็ค หรือกระทั่งซองบุหรี่
- ตัวกระตุ้นภายใน คือ พฤติกรรมที่เป็นความเคยชินทั้งหลาย เช่น จากที่เคยชอบสูบบุหรี่ตอนนั่งชักโครกอาจเปลี่ยนมาถือหนังสือพิมพ์หรือวารสารเข้าไปอ่านแทน หรือหากติดสูบบุหรี่หลังรับประทานอาหารก็ควรปรับโดยการแปรงฟันหรือใช้น้ำยาบ้วนปากช่วยลดความอยาก นอกจากนั้นสภาวะทางอารมณ์ก็ถือเป็นตัวกระตุ้นภายในเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความวิตกกังวล หงุดหงิด หรือโมโห คุณควรหาวิธีผ่อนคลายจากอารมณ์เหล่านี้ อย่างการนวดผ่อนคลาย ออกกำลังกาย หรือหลีกหนีจากสถานการณ์ตรงนั้น หากไม่สบายใจ ให้หาที่ปรึกษาเพื่อพูดคุยระบายความเครียดออกมาและช่วยกันหาวิธีแก้ไข หากเบื่อหรือเหงาก็หากิจกรรมที่ชอบและช่วยให้รู้สึกเพลิดเพลิน เป็นต้น
เช่นเดียวกับสารเสพติดชนิดอื่นๆ การสูบบุหรี่อาจทำให้คุณรู้สึกมีความสุขและผ่อนคลาย แต่ก็เพียงแค่ในช่วงสั้นๆ ขณะสูบเท่านั้น เทียบไม่ได้เลยกับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ที่ตามมาในระยะยาวหากคุณยังคงสูบต่อไป ดังนั้นแทนที่จะจัดการกับความเครียดด้วยวิธีที่ไม่ยั่งยืนและทำร้ายตัวเองแบบนี้ ไม่ดีกว่าหรือถ้าจะมองหาวิธีหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ช่วยรับมือกับความเครียดได้อย่างเห็นผล และดีต่อสุขภาพกายใจของคุณและคนรอบข้าง เช่น ออกกำลังกาย ฝึกหายใจ พูดคุยกับคนใกล้ชิด เป็นต้น
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ
แหล่งข้อมูล
- Mental Health Foundation, Smoking and mental health (https://www.mentalhealth.org.uk/a-to-z/s/smoking-and-mental-health)
- Stopping smoking is good for your mental health (https://www.nhs.uk/live-well/quit-smoking/stopping-smoking-mental-health-benefits/), 25 January 2018
- Coping With Stress Without Smoking (https://smokefree.gov/challenges-when-quitting/stress/coping-with-stress)