คราบหินปูน และเศษสิ่งสกปรกในช่องปากไม่ได้เกาะอยู่แค่บนผิวฟันที่เราเห็นได้จากภายนอกเท่านั้น แต่มันยังสามารถเข้าไปสร้างปัญหาความสกปรกได้ถึงตำแหน่งรากฟันใต้เหงือกเลยทีเดียว จนเกิดเป็นที่มาของการ “เกลารากฟัน” เพื่อให้รากฟันที่ซ่อนตัวอยู่ใต้เหงือกได้รับการทำความสะอาดอย่างหมดจด
แล้วเราจำเป็นจะต้องเกลารากฟันกันหมดทุกคนเลยหรือไม่ แล้ววิธีการเกลารากฟันเป็นอย่างไร แตกต่างไปจากการขูดหินปูนที่เราต้องทำเป็นประจำกับทันตแพทย์อย่างไรบ้าง มาติดตามชมพร้อมกันในบทความนี้
สารบัญ
- เกลารากฟันคืออะไร?
- เกลารากฟันช่วยอะไร?
- เกลารากฟันต่างกับขูดหินปูนอย่างไร?
- ควรเกลารากฟันทั้งปากหรือบางซี่?
- เกลารากฟันพร้อมขูดหินปูนได้ไหม?
- เกลารากฟันแล้วฟันโยกเกิดจากอะไร?
- เกลารากฟันกี่ครั้งดี?
- เกลารากฟันเจ็บไหม?
- การเตรียมตัวก่อนเกลารากฟัน
- ขั้นตอนการเกลารากฟัน
- การดูแลตัวเองหลังเกลารากฟัน
- ผลข้างเคียงจากการเกลารากฟัน
เกลารากฟันคืออะไร?
การเกลารากฟัน (Root Planing) คือ การกำจัดคราบจุลินทรีย์ คราบหินปูน และสิ่งสกปรกต่างๆ ที่เกาะอยู่ตรงตำแหน่งรากฟันใต้เหงือกให้สะอาด วิธีการจะคล้ายกับการขูดหินปูนทั่วไป แตกต่างกันตรงที่การขูดหินปูนทั่วไปจะกำจัดคราบบริเวณซี่ฟันที่โผล่พ้นเหงือกขึ้นมา แต่การเกลารากฟันจะกำจัดคราบบริเวณใต้เหงือกลงไปประมาณ 3 มิลลิเมตร
เกลารากฟันช่วยอะไร?
การเกลารากฟันเป็นหนึ่งในกระบวนการรักษาโรคปริทันต์อักเสบ โรคเหงือกอักเสบ หรือโรคประจำตัวเกี่ยวกับช่องปาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากหินปูนไปเกาะอยู่ที่รากฟัน จึงต้องรีบทำความสะอาดรากฟันเพื่อบรรเทาโรคเหล่านี้
กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคปริทันต์อักเสบ หรือโรคเหงือกอักเสบจนต้องมารักษาด้วยวิธีการเกลารากฟัน จะได้แก่
- กลุ่มผู้ที่ไม่ยอมมาขูดหินปูนทุกๆ 6 เดือนกับทันตแพทย์
- กลุ่มผู้ที่แปรงฟันผิดวิธีและไม่สะอาด
- ผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่เป็นประจำ
- กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีเงื่อนไขด้านสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทอง หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีภาวะฮอร์โมนผิดปกติ
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคปริทันต์อักเสบหรือโรคเหงือกอักเสบ
- ผู้ที่ใช้ประจำตัวบางชนิด เช่น ยากันชัก ยาลดอาการเจ็บแน่นหน้าอก
เกลารากฟันต่างกับขูดหินปูนอย่างไร?
แม้การเกลารากฟันจะคล้ายกับการขูดหินปูนทั่วไป และในหลายครั้งทันตแพทย์ก็สามารถทำทั้งขูดหินปูนและเกลารากฟันพร้อมกันได้ในการนัดหมายครั้งเดียว แต่ก็มีรายละเอียดเล็กน้อยที่ทำให้ทั้ง 2 อย่างมีความแตกต่างกัน ดังนี้
- ตำแหน่งในการขูดหินปูน การขูดหินปูนทั่วไป (Scaling) เป็นการกำจัดคราบหินปูนที่อยู่บนซี่ฟันซึ่งอยู่พ้นจากเหงือก และอยู่ใต้เหงือกเล็กน้อย ส่วนการเกลารากฟันจะเป็นการกำจัดคราบหินปูนที่อยู่บริเวณรากฟันโดยเฉพาะและอยู่ตรงตำแหน่งใต้เหงือกของเรา
- ความรู้สึกเจ็บ การขูดหินปูนไม่จำเป็นต้องมีการทายาชา และไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ เพียงแต่จะรู้สึกเสียวฟันเล็กน้อยระหว่างทำเท่านั้น ต่างจากการเกลารากฟันที่จะต้องมีการวางยาชาที่เหงือก เพื่อป้องกันความรู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองระหว่างสอดอุปกรณ์เข้าไปใต้เหงือกประมาณ 3 มิลลิเมตร
- จุดมุ่งหมาย การขูดหินปูนเป็นแนวทางการดูแลรักษาฟันให้อยู่กับเราไปนานๆ มากกว่าเพื่อการรักษาโรค แต่การเกลารากฟันจะเป็นการทำทันตกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการรักษาโรคโดยเฉพาะ
- เครื่องมือที่ใช้ขูดหินปูน อุปกรณ์ที่ทันตแพทย์จะใช้สำหรับขูดหินปูนกับเกลารากฟันมีความแตกต่างกัน โดยเครื่องมือเกลารากฟันจะมีความยาวและลักษณะที่สามารถสอดเข้าไปใต้เหงือกได้ลึกกว่า
ควรเกลารากฟันทั้งปากหรือบางซี่?
ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่า ผู้เข้ารับบริการแต่ละท่านจำเป็นต้องเกลารากฟันทุกซี่หรือเพียงบางส่วน โดยจะมีการตรวจเอกซเรย์และตรวจรอยโรคปริทันต์อักเสบก่อน จึงจะมีการวางแผนการเกลารากฟันต่อภายหลัง
เกลารากฟันพร้อมขูดหินปูนได้ไหม?
การขูดหินปูนและการเกลารากฟันเป็นกระบวนการที่ทันตแพทย์มักจะทำควบคู่ไปพร้อมๆ กันอยู่แล้ว เพื่อเป็นการทำความสะอาดผิวฟันอย่างหมดจดตั้งแต่ตัวฟันด้านบนไปจนถึงรากฟันที่อยู่ใต้เหงือก
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีทันตแพทย์อาจแบ่งการรักษาออกเป็น 2 ครั้งหรือมากกว่า ขึ้นอยู่กับปริมาณคราบหินปูนของแต่ละคน
เกลารากฟันแล้วฟันโยกเกิดจากอะไร?
ต้องอธิบายก่อนว่า อาการฟันโยก เป็นหนึ่งในอาการบ่งชี้ที่เกิดขึ้นได้ในผู้ที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบอยู่แล้ว โดยเกิดจากหินปูน คราบจุลินทรีย์จากอาหาร และสิ่งสกปรกได้ไปกัดเซาะทำลายผิวฟันทีละน้อย ทำให้เนื้อฟันเหลือน้อยลงจนเกิดช่องว่างระหว่างตัวฟันกับเหงือก ส่งผลทำให้ฟันเกิดการโยกจากช่องว่างที่เกิดขึ้น
หลังจากทันตแพทย์เกลารากฟันซึ่งจะทำให้คราบหินปูนและคราบจุลินทรีย์ต่างๆ หายไป พื้นที่ฟันที่เหลืออยู่จึงจะเหลือน้อยลงอีก ฟันจึงอาจโยกมากขึ้นจนเริ่มรู้สึกและมองเห็นได้ง่าย แต่ปัญหานี้จะค่อยๆ บรรเทาลง เมื่อโรคปริทันต์อักเสบได้รับการรักษาแก้ไขจนเหงือกกลับมาแข็งแรง และฟันไม่มีคราบหินปูนไปกัดกินเนื้อฟันกับรากฟันจนเสียหายเพิ่มขึ้นอีก
เกลารากฟันกี่ครั้งดี?
ทันตแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับจำนวนครั้งที่ผู้เข้ารับบริการควรเดินทางมาเกลารากฟัน ซึ่งโดยส่วนมากความถี่จะอยู่ที่ 2 ครั้งต่อปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและลักษณะของโรคปริทันต์อักเสบที่เกิดขึ้น ผู้เข้ารับบริการที่มีอาการของโรคนี้รุนแรงมากๆ อาจได้รับคำแนะนำให้เดินทางมาเกลารากฟันทุก 3-4 เดือน
เกลารากฟันเจ็บไหม?
การเกลารากฟันเป็นการใช้อุปกรณ์สำหรับทำทันตกรรมสอดเข้าไปในช่องว่างเล็กๆ ระหว่างเหงือกกับฟัน ลึกลงไปถึงรากฟัน จึงอาจทำให้รู้สึกเจ็บได้ แต่ทางทันตแพทย์จะมีการวางยาชาให้กับผู้เข้ารับบริการทุกท่านก่อนเริ่มเกลาฟันอยู่แล้ว เพื่อป้องกันการเกิดอาการเจ็บระหว่างเกลารากฟัน
การเตรียมตัวก่อนเกลารากฟัน
การเกลารากฟันไม่ต้องมีการเตรียมตัวที่ซับซ้อนแต่อย่างใด ผู้เข้ารับบริการสามารถเตรียมตัวคล้ายกับการไปขูดหินปูนหรือตรวจสุขภาพฟันทั่วไปได้เลย ดังนี้
- ผู้เข้ารับบริการต้องตรวจสุขภาพฟัน ตรวจเอกซเรย์ฟัน และตรวจดูอาการของโรคปริทันต์อักเสบอย่างละเอียดกับทันตแพทย์เสียก่อน
- แจ้งประวัติสุขภาพ ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยา ยาประจำตัวที่ใช้อยู่ปัจจุบัน รวมถึงวิตามินเสริม อาหารเสริม สมุนไพรเสริมสุขภาพทุกชนิดกับทันตแพทย์ล่วงหน้าก่อน
- ทำใจให้สบาย อย่าวิตกกังวล
- แปรงฟันให้สะอาดก่อนเดินทางมาเกลารากฟัน
ขั้นตอนการเกลารากฟัน
กระบวนการเกลารากฟันในศูนย์ทำทันตกรรมแต่ละแห่งอาจแตกต่างกันไปตามแผนการรักษาของทันตแพทย์แต่ละท่าน โดยส่วนมากอาจมีขั้นตอนหลักๆ ดังนี้
- เริ่มต้นจากการวางยาชาให้ผู้เข้ารับบริการ
- ทันตแพทย์จะเริ่มขูดหินปูนที่ฟันส่วนบนให้เรียบร้อยเสียก่อน
- จากนั้นจึงค่อยเริ่มต้นการเกลารากฟัน ซึ่งจะเป็นการใช้เครื่องมือที่มีปลายแหลมเล็กน้อย มีความยาวที่สามารถสอดเข้าไปใต้เหงือกลึกถึงรากฟันได้ แล้วขยับเกลารากฟันทีละส่วนอย่างละเอียด ลักษณะจะคล้ายกับการขูดหินปูนบนผิวฟันด้านบน แค่เปลี่ยนตำแหน่งเป็นการขูดหินปูนที่รากฟัน
การเกลารากฟันอาจใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 45-60 นาที ขึ้นอยู่กับแต่ละคน
การดูแลตัวเองหลังเกลารากฟัน
- 1-3 วันแรก ผู้เข้ารับบริการอาจเผชิญอาการเลือดออกตามซอกฟันและเหงือกได้บ้าง ให้แปรงฟันเบาๆ และควรใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่มประมาณ 1-2 สัปดาห์
- ใช้ยาสีฟันช่วยลดอาการเสียวฟันเพื่อบรรเทาอาการเสียวฟันซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในช่วง 1 สัปดาห์แรก
- งดกินอาหารร้อนจัดหรือเย็นจัดเพื่อบรรเทาอาการเสียวฟันในช่วง 1 สัปดาห์แรก
- งดกินอาหารที่มีเนื้อแข็งหรือที่ต้องใช้ฟันกดเคี้ยวเยอะในช่วง 1 สัปดาห์แรก เพราะมีโอกาสจะทำให้รู้สึกเจ็บระคายเคืองเหงือกได้
- บ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ หลังกินอาหารทุกมื้อในช่วง 1 สัปดาห์แรก
- แปรงฟันให้สะอาดทุกวัน วันละอย่างน้อย 2 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ
- กลับมาพบทันตแพทย์ตามนัดหมาย หากต้องเกลารากฟันหลายครั้ง และมาตรวจฟันทุก 6 เดือน
ผลข้างเคียงจากการเกลารากฟัน
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยๆ จากการเกลารากฟัน ได้แก่
- อาการเสียวฟัน แต่โดยทั่วไปจะดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์หลังเกลารากฟัน
- อาการเลือดซึม ซึ่งเป็นผลมาจากการสอดอุปกรณ์เข้าไปใต้เหงือก ให้หมั่นบ้วนน้ำเกลืออุ่นๆ และแปรงฟันเบาๆ อาการนี้จะบรรเทาลงภายใน 1 สัปดาห์เช่นกัน
- อาการฟันโยก ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้แต่เดิมของโรคปริทันต์อักเสบอยู่แล้ว แต่หลังจากเกลารากฟันและดูแลสุขภาพเหงือกให้กลับมาแข็งแรง ฟันก็จะขยับได้น้อยลงและฝังตัวแน่นกับเหงือกอีกครั้ง
การเกลารากฟันเป็นกระบวนการรักษาฟันที่ต้องใช้เวลาและความละเอียดจากทันตแพทย์สูง มีโอกาสทำให้รู้สึกเจ็บได้ และยังมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าการขูดหินปูนทั่วไป เพื่อลดโอกาสที่จะต้องมาเกลารากฟัน เราทุกคนต้องรักษาสุขภาพฟันและเหงือกให้แข็งแรงอยู่เสมอ ผ่านการแปรงฟันให้สะอาดเป็นประจำและมาตรวจฟันกับทันตแพท์ทุก 6 เดือน