การตรวจวิตามิน หนึ่งในทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพที่จะช่วยให้คุณใส่ใจตัวเองได้ดียิ่งขึ้น
สารบัญ
ตรวจวิตามินในเลือดคืออะไร?
การตรวจวิตามิน คือการเจาะเลือดไปวัดระดับวิตามินและแร่ธาตุในร่างกาย ว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ วิตามินตัวไหนที่ยังขาดอยู่และอาจนำไปสู่อาการผิดปกติในร่างกาย
วิตามินและแร่ธาตุ หรือที่เรียกรวมกันว่า Micronutrients เป็นสารอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโต และการทำงานของร่างกาย โดยปกติเราจะได้รับวิตามินและสารอาหารจากพืชและเนื้อสัตว์ที่เรากิน
แต่หากเรากินอาหารไม่หลากหลาย หรือไม่ครบ 5 หมู่ ก็จะเกิดภาวะขาดวิตามิน จนอาจนำไปสู่อาการผิดปกติในที่สุด
ประโยชน์ของการตรวจวิตามิน
การตรวจวิตามินสามารถช่วยให้เราเลือกวิตามินหรืออาหารเสริมได้เหมาะสมขึ้น หลายครั้งที่ในชีวิตประจำวันเราไม่สามารถเลือกกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ได้ จนขาดวิตามินบางชนิด
หลายคนหันมาสนใจวิตามินและอาหารเสริมทดแทน แต่หากกินวิตามินชนิดที่ร่างกายไม่ได้ขาดแคลน ร่างกายก็จะขับออกทางปัสสาวะไป ทำให้เราไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
การตรวจวิตามินจึงช่วยให้เราทราบได้จริงๆ ว่าร่างกายเราขาดวิตามินชนิดใดอยู่ จะได้เลือกเติมวิตามินหรืออาหารเสริมได้ถูกต้อง
นอกจากนี้ ยังอาจช่วยให้แพทย์วินิจฉัยอาการผิดปกติที่มาสาเหตุมาจากวิตามินได้ด้วย เพราะอาการที่มีสาเหตุมาจากการขาดวิตามินนั้นมีหลายอย่าง และอาการเหล่านั้นก็ยังเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วย
การตรวจวิตามินจึงอาจช่วยยืนยันได้ว่าอาการนั้นมีโอกาสเกิดจากการขาดวิตามินหรือไม่ จะได้กำหนดแผนการรักษาได้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ใครควรตรวจวิตามิน
การขาดวิตามินแต่ละชนิดอาจมีอาการแสดงออกหลายอย่างมาก ดังนั้นหนึ่งในวิธีทีประเมินตัวเองเบื้องต้นอาจเป็นการสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ดังนี้
- ผู้ที่สงสัยว่าตนเองขาดวิตามินบี 12 (Vitamin B12) อาจมีอาการ อ่อนเพลีย เกิดความสับสน เกิดอาการชาตามมือและเท้า ปวดหัว หงุดหงิด โดยเฉพาะคนที่มีภาวะโลหิตจาง อาจมีแนวโน้มที่จะขาดวิตามินบี 12 มากกว่าผู้อื่น
- ผู้ที่สงสัยว่าตนเองขาดวิตามินดี (Vitamin D) อาจป่วยง่าย อ่อนเพลีย ปวดหลัง ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ อารมณ์ไม่ดี ผมร่วง
- ผู้ที่สงสัยว่าตนเองขาดวิตามินเอ (Vitamin A) อาจมีอาการมองไม่ค่อยเห็นในเวลากลางคืน เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ลำคอ หน้าอก และช่องท้องง่ายขึ้น อาจทำให้ผิวแห้ง อาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ และอาจทำให้เกิดปัญหาเจริญเติบโตช้าในเด็ก
- ผู้ที่สงสัยว่าตนเองขาดวิตามินอี (Vitamin E) อาจนำไปสู่อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาการชาตามร่างกาย การมองเห็นแย่ลง และอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานด้อยลง
- ผู้ที่สงสัยว่าตนเองขาดวิตามินซี (Vitamin C) อาจนำไปสู่ผิวไม่เรียบ ผิวแห้ง เล็บมีจุดหรือเส้นสีแดง ฟกช้ำง่าย แผลหายช้า กระดูกไม่แข็งแรง มีเลือดออกตามไรฟันหรือเหงือก และระบบภูม้คุ้มกันไม่แข็งแรง
- ผู้ที่กำลังจะกินวิตามินเสริม และอาหารเสริม หรือกินวิตามินและอาหารเสริมอยู่แล้วเป็นประจำ
- ผู้ที่มีความเครียดสูง วิถีชีวิตเร่งรีบ รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่
- ผู้ที่มีปัญหาลำไส้ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการดูดซึมได้ไม่ดี
ตรวจวิตามินตรวจอะไรบ้าง?
โปรแกรมตรวจวิตามินแต่ละที่มีความแตกต่างกันออกไป โดยรายการที่อาจพบได้บ่อย มีดังนี้
- ตรวจวิตามิน บี 12
- ตรวจวิตามิน ดี (25-OH Vitamin D Total)
- ตรวจวิตามินเอ
- ตรวจวิตามินซี
- ตรวจวิตามินอี (Vitamin E: Alpha-Tocopheral)
- ตรวจวิตามินอี (Vitamin E: Gamma-Tocopherol)
- ลูทีนและซีแซนทีน (Lutein, Zeaxanthin)
- เบตาคริปโตแซนทีน (Beta-cryptoxanthin)
- ไลโคปีน (Lycopene)
- แอลฟาแคโรทีน (Alpha-Carotene)
- เบตาแคโรทีน (Beta-Carotene)
- โคเอนไซม์คิวเท็น (Coenzyme Q10)
- ตรวจสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant)
ตรวจวิตามินตรวจอย่างไร?
การตรวจวิตามินนั้นเหมือนกับการตรวจเลือดธรรมดา โดยปกติมักไม่จำเป็นต้องอดอาหารก่อนตรวจ เว้นแต่แพทย์จะกำชับเป็นบางโปรแกรมเท่านั้น
ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบถึงยาและอาหารเสริมที่ใช้ก่อนการตรวจ เพราะอาหารเสริมบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ได้
หลังจากตรวจเสร็จแล้ว บางโปรแกรมแพทย์อาจให้วิตามินเสริมส่วนที่ขาดกลับมากินเสริมด้วย ซึ่งผู้ใช้บริการควรต้องดูแลตัวเองควบคู่ไปกับคำแนะนำของแพทย์ กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อป้องกันไม่ใหเกิดอาการผิดปกติจากการวิตามินอีก