ยาแอสไพริน (Aspirin) เป็นยาที่นิยมใช้เพื่อแก้ปวด ลดไข้ และใช้ลดความเสี่ยงในการเกิดเส้นเลือดอุดตัน และโรคหัวใจ
ยาแอสไพรินมีหลายรูปแบบการใช้ เช่น ยาเม็ด ยาเม็ดที่ละลายอย่างรวดเร็วในน้ำ แบบผง และรูปแบบเจลรับประทาน โดยบางชนิดสามารถหาซื้อได้ในร้านยาทั่วไป บางชนิดอาจต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น
สารบัญ
สรรพคุณของยาแอสไพริน
1. ลดไข้ บรรเทาอาการปวด
- ใช้ลดไข้และบรรเทาอาการปวด เช่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดฟัน หรือปวดจากการบาดเจ็บเล็กน้อย
- สรรพคุณในการบรรเทาอาการปวด มาจากการยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดิน (prostaglandin) ซึ่งเป็นสารเคมีในร่างกายที่กระตุ้นการอักเสบและความเจ็บปวด
2. ลดการอักเสบ
- ใช้บรรเทาการอักเสบในภาวะต่าง ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ โดยเฉพาะในกลุ่มโรคข้อรูมาตอยด์
- มีคุณสมบัติเป็นยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID)
3. ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
- แอสไพรินมีสรรพคุณในการต้านการแข็งตัวของเลือด โดยช่วยยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด จึงช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคหัวใจขาดเลือด
- นิยมใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น ผู้ที่เคยมีภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
4. ป้องกันภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ
- แอสไพรินมีการใช้เพื่อป้องกันการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดในผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ (Coronary Artery Disease) หรือผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ
นอกจากนี้ เคยมีการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า แอสไพรินอาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพ
การใช้ยาแอสไพรินขนาดสูงและต่ำ
ยาแอสไพรินขนาดสูง (300 มก.) จะใช้สำหรับลดอาการปวดทั่วไป ลดไข้ และลดบวมได้
ยาแอสไพรินขนาดต่ำ (71-75 มก.) จะใช้ติดต่อกันในระยะยาว ในการต้านเกล็ดเลือด ซึ่งจะทำให้เลือดหนืดน้อยลง ลดการจับตัวกันของเกล็ดเลือด โดยแพทย์จะให้ใช้ยาแอสไพรินขนาดต่ำในผู้ที่มีเงื่อนไขดังนี้
- มีโรคหัวใจวาย (Heart Attack) หรืออาการเจ็บหน้าอก (Angina)
- เส้นเลือดสมองตีบหรืออุดตัน
- โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (Peripheral Arterial Disease)
- เคยผ่าตัดทําทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass surgery: CABG) หรือการผ่าตัดเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจมาก่อน
ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน
คนส่วนใหญ่สามารถใช้ยาแอสไพรินได้อย่างปลอดภัย แต่ก่อนใช้ยาต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีอาการ หรือโรคประจำตัว ดังนี้
- ผู้ที่แพ้ยากลุ่มแอสไพริน หรือยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
- ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด
- ผู้ที่เคยมีประวัติแผลในทางเดินอาหาร
- ผู้ที่เป็นโรคตับ หรือโรคไตขั้นรุนแรง
- ผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเลือด
- ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง และยังไม่สามารถควบคุมความดันโลหิตให้ปกติได้
- มีอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 65 ปี
- ผู้หญิงที่กำลังอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
- ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคประจำตัว เพราะอาจเกิดปฏิกิริยาต่อยาแอสไพรินได้
วิธีการใช้ยาแอสไพริน
โดยทั่วไป ยาแอสไพรินขนาดสูง 300 มก. สำหรับแก้ปวด สามารถใช้ได้วันละ 3-4 ครั้ง หรืออย่างน้อยห่างกันครั้งละ 4 ชั่วโมง
ส่วนยาแอสไพรินขนาดต่ำนั้นใช้เพื่อป้องกันการแข็งตัวของเลือด จะให้ใช้วันละครั้ง ทุกวัน ไปตลอดชีวิต
ผลข้างเคียงของยาแอสไพริน
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้บ่อย มีดังนี้
- อาหารไม่ย่อย และปวดท้อง ซึ่งการรับประทานยาหลังอาหารอาจช่วยลดอาการเหล่านี้ได้
- เลือดไหล หรือมีรอยช้ำบนผิวหนังได้ง่าย
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้น้อย มีดังนี้
- ผื่นลมพิษ คัน และมีผื่นเล็กๆทั่วตัว
- ได้ยินเสียงกริ่งในหู
- หายใจลำบาก หรือเป็นหอบหืด
- มีอาการแพ้ยา อาจจะมีอาการหายใจลำบาก ปากบวมหน้าบวม และผื่นขึ้นทั่วลำตัว
- เลือดออกภายใน อาจจะมีอาการคืออาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระมีเลือดปน
- เลือดออกในสมอง มีอาการคือปวดศรีษะรุนแรง มองเห็นไม่ชัด หน้าและปากเบี้ยว
หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอาการแพ้ยารุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ปฏิกิริยาระหว่างยาแอสไพริน และยาอื่นๆ
ยาแอสไพรินสามารถเกิดปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นได้ รวมถึงยาสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่สูงขึ้น เป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้
ยาที่อาจทำปฏิกิริยากับยาแอสไพรินได้ มีดังนี้
- ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน หรือนาพร็อกเซน (Naproxen)
- ยาสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน (Prednisolone)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) เช่น วาฟาริน (Warfarin) หรือเฮปาริน (Heparin)
- ยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม SSRIs เช่น ฟลูออกซีทีน (Fluoxetine)
- ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงบางชนิด
- ยาต้านการชักบางชนิด เช่น ฟีไนทอย (Phenytoin)
ยาแอสไพรินไม่มีปฏิกิริยากับอาหาร แต่อาจก่อให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ถ้ากินยาแอสไพรินร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นจึงควรจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ลง
หากลืมรับประทานยาต้องทำอย่างไร?
หากเป็นผู้ที่ต้องใช้ยาแอสไพรินในการป้องกันการแข็งตัวของเลือด ให้กินยาทันทีที่นึกได้ และกินยามื้อต่อไปตามปกติ แต่หากนึกขึ้นได้ตอนใกล้มื้อถัดไปแล้วให้กินยามื้อถัดไปแทนโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า
แม้ว่า ยาแอสไพรินจะเป็นยาที่นิยมใช้ในการบรรเทาอาการปวดทั่วไป สามารถซื้อได้เองตามร้านขายยา อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้