แผลริมอ่อน (Chancroid หรือ Soft Chancre) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า ฮีโมฟิลุส ดูเครย์ (Haemophilus Ducreyi) ทำให้เกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ หรือบริเวณที่สัมผัสเชื้อ เช่น ทวารหนัก ช่องปาก
โรคแผลริมอ่อนพบได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิง มีลักษณะเป็นแผลตุ่มพองนิ่ม ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวด รักษาได้ด้วยการกินยาปฏิชีวนะ ส่วนวิธีป้องกันโรคแผลริมอ่อนไม่ต่างจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
สารบัญ
แผลริมอ่อนติดต่อได้ทางไหน?
แผลริมอ่อนเป็นโรคที่ติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสบาดแผลที่ติดเชื้อโดยตรงโดยไม่รู้ตัว
เชื้อแบคทีเรีย ฮีโมฟิลุส ดูเครย์ (Haemophilus Ducreyi) อยู่ในแผลถลอก แผลสด ตามอวัยวะเพศ ช่องคลอด ทวารหนัก ช่องปาก หรือแม้แต่เยื่อบุตา
ถ้าเรามีไปสัมผัสบาดแผลนั้น ก็มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อนี้เข้าสู่กระแสเลือด และพัฒนากลายเป็นโรคแผลริมอ่อนในที่สุด
การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ไม่สวมถุงยางอนามัย การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย การมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง โดยเฉพาะทางทวารหนักทำให้เกิดบาดแผล เหล่านี้คือพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจทำให้ได้รับเชื้อ “โรคแผลริมอ่อน” ได้
อาการของโรคแผลริมอ่อน
แผลริมอ่อนมีระยะฟักตัวประมาณ 3-7 วัน อาจเร็วช้ากว่านั้นแล้วแต่บุคคลซึ่งถือว่าเป็นโรคที่แสดงอาการได้รวดเร็วหากเทียบกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ
อาการของแผลริมอ่อน จะเกิดตุ่มแผลบริเวณที่ติดเชื้อ ส่วนมากจะเกิดที่อวัยวะเพศ ขนาดแผลประมาณ 3-5 มิลลิเมตร รู้สึกเจ็บปวด แม้ไม่สัมผัส
ในผู้หญิงจะเกิดแผลริมอ่อนบริเวณแคมเล็ก ฝีเย็บ ขณะที่ผู้ชายมีแผลขึ้นบริเวณ ปลายองคชาต ลำองคชาต ตลอดจนอัณฑะ หรือในบางรายอาจมีแผลบริเวณทวารหนัก และช่องปากร่วมด้วย
ใน 1-2 วันหลังจากมีอาการของแผลริมอ่อน ตุ่มแผลจะเปื่อยนุ่ม ขอบบาง แค่สัมผัสก็อาจทำให้เลือดไหลได้ เป็นหนอง หากเสียดสีอาจแตกออก และสร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้ป่วยได้ อาจแสบขัดระหว่างปัสสาวะ ในผู้หญิงอาจมีตกขาวมามากผิดปกติ หรือส่งกลิ่นเหม็น
แผลริมอ่อน ซิฟิลิส เริม ต่างกันอย่างไร?
“แผลริมอ่อน” ถูกเรียกว่า “ซิฟิลิสเทียม” เพราะมีอาการใกล้เคียงกับโรคซิฟิลิสมาก ซึ่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ บางโรคมีลักษณะอาการบางอย่างที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน
การวินิจฉัยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องมีทางเดียวคือต้องพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาตรงตามโรคที่เกิดขึ้น แต่เหล่านี้คือข้อมูลเบื้องต้น ที่จะช่วยให้ผู้ป่วย สังเกตอาการตนเองว่าเข้าข่ายโรคใดกันแน่
จุดเด่นของอาการแผลริมอ่อน (Chancroid)
- ติดเชื้อแบคทีเรีย ฮีโมฟิลุส ดูเครย์ (Haemophilus Ducreyi)
- จำนวนแผลเกิดขึ้นหลายแผล
- ขอบแผลอ่อน ขอบไม่เรียบ แผลลึก
- พื้นแผลค่อนข้างดูสกปรก
- เป็นหลังจากติดเชื้อ 3-5 วัน
- มีอาการเจ็บ
จุดเด่นของอาการซิฟิลิส (Syphilis)
- ติดเชื้อแบคทีเรีย ทรีโพนีมา แพลลิดัม (Treponema Pallidum)
- จำนวนแผลเกิดขึ้นแผลเดียว หรือสองแผลแต่เชื่อมกัน
- ขอบแผลแข็ง ขอบเรียบ
- พื้นแผลค่อนข้างดูสะอาด
- เป็นหลังจากติดเชื้อ 2-8 สัปดาห์
- ในระยะแรก แผลจากซิฟิลิส ไม่มีอาการเจ็บ จุดนี้เองที่จะทำให้ผู้ป่วยแยกออกระหว่าง ซิฟิลิสและแผลริมอ่อน แต่หากมีการติดเชื้ออักเสบก็อาจรู้สึกเจ็บได้
จุดเด่นของอาการเริม (Herpes simplex)
- ติดเชื้อไวรัส เฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ Herpes Simplex Virus (HSV-2)
- เป็นตุ่มน้ำใส มักขึ้นเป็นกลุ่ม
- ถ้าตุ่มแตก จะเกิดอาการแสบ เจ็บ แผลถลอก แผลตก
แผลริมอ่อนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?
- ภาวะต่อมน้ำเหลืองอักเสบ เป็นหนอง
- มีความเสี่ยงจะที่ติดเชื้อโรคเอดส์ หรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น
- พังผืดหดรั้งเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะในเพศชาย หนังหุ้มปลายองคชาตอาจตีบตัน (Phimosis)
- เป็นแผลเป็นบริเวณอวัยวะเพศ เช่น ที่แคมของผู้หญิง หรือ หนังหุ้มปลายองคชาตของผู้ชาย
- ท่อทางเดินปัสสาวะบาดเจ็บ หรือท่อปัสสาวะรั่ว (Urethral Fistula)
- อวัยวะเพศผิดรูป
โรคแผลริมอ่อนติดต่อจากแม่สู่ลูก!
หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นผู้ป่วยโรคแผลริมอ่อน มีโอกาสที่จะแพร่เชื้อมาสู่ลูกน้อยในครรภ์ได้ด้วย ซึ่งเด็กที่เกิดมาติดเชื้อโรคแผลริมอ่อนแต่กำเนิด (Congenital Chancroid) จะแสดงอาการหลังคลอด ประมาณ 3-8 สัปดาห์ อาจเป็นเพียงตุ่มผื่น ตุ่มแผลตามตัวที่ไม่รุนแรง แต่ในรายที่ติดเชื้อรุนแรง อาจทำให้เด็กเกิดมาพิการ
แผลริมอ่อนรักษาอย่างไร?
หลังจากแพทย์ทำการวินิจฉัย ซักประวัติสุขภาพ และตรวจร่างกายอย่างละเอียด รวมถึงเก็บตัวอย่างหนอง หรือน้ำเหลืองในแผลไปตรวจสอบแล้ว ถ้าพบว่าเป็นโรคแผลริมอ่อนจริง การรักษาทำได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ การใช้ยาต้องทำโดยแพทย์สั่งและขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์
วิธีป้องกันเป็นแผลริมอ่อนทำได้อย่างไร?
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศ
- สวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด
- เลี่ยงพฤติกรรมการมีคู่นอนหลายคน หรือเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อย
- รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศ หลังจากมีเพศสัมพันธ์
- ตรวจสอบบริเวณอวัยวะเพศสม่ำเสมอ ว่ามีรอยโรค บาดแผล ตุ่มหนอง ตุ่มแดง หรือก้อนนูนผิดปกติหรือไม่ หากมีควรรีบพบแพทย์
- เข้ารับการตรวจร่างกาย ตรวจภายใน หรือคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่เสมอ
- สำหรับสตรีมีครรภ์ หรือกำลังวางแผนจะมีลูก แนะนำควรตรวจคัดกรองโรคแผลริมอ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ลูกในครรภ์
สำหรับใครที่มี ตุ่ม แผลหลายแผล ขอบแผลอ่อน เจ็บ สงสัยว่า จะโรคแผลริมอ่อน ขอแนะนำให้เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด