ผ่าฟันคุด หยุดอันตราย ลดความเสี่ยง

ธรรมชาติมนุษย์จะมีฟันแท้ 32 ซี่ ในจำนวนนี้มีฟันกรามด้านในสุดที่บางคนไม่สามารถงอกขึ้นมาได้หรือขึ้นลักษณะผิดปกติ ลักษณะแบบนี้เรียกว่า “ฟันคุด” ซึ่งนอกจากฟันคุดจะสร้างความเจ็บปวดและความรำคาญใจแล้วยังอาจเกิดอันตรายอื่นๆ ตามมาอีกหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง วันนี้ HDmall.co.th ได้รวบรวมข้อมูลการผ่าฟันคุดที่ควรรู้น่าและน่าสนใจอย่างละเอียดมาฝากกัน

ฟันคุดคืออะไร?

ฟันคุดหมายถึงฟันซี่ใดก็ตามที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติ อาจจะมีกระดูกหรือเหงือกปิดขวาง หรือฟันขึ้นเอียงไปชนฟันข้างๆ ที่งอกอยู่แล้ว ส่วนใหญ่พบที่ฟันกรามซี่ในสุด และพบว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้ายเป็นซี่ที่เป็นฟันคุดบ่อยที่สุด หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ สร้างอาการปวด และสร้างความรำคาญใจอยู่ตลอดเวลา

ปกติฟันกรามล่างซี่สุดท้ายนี้จะขึ้นในช่วงอายุ 15-25 ปี อาจขึ้นลักษณะตั้งตรง เอียง หรือนอนในแนวระนาบ และมักขึ้นชิดกับฟันข้างๆ เสมอ นอกจากนี้ฟันซี่อื่นก็คุดได้ เช่น ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อยแต่พบได้น้อยกว่าฟันกรามล่างซี่สุดท้าย

การผ่าฟันคุดคืออะไร?

การผ่าฟันคุด (Wisdom Tooth Removal) คือการผ่าตัดนำฟันซี่ใดก็ตามที่ไม่สามารถขึ้นได้ตามปกติออก ซึ่งเป็นฟันที่มีเนื้อเยื่อหรือกระดูกปิดขวางอยู่ทำให้ไม่สามารถถอนฟันได้ตามปกติ จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อนำฟันซี่นั้นออกมาโดยไม่เป็นอันตรายต่อฟันซี่ข้างเคียงและอวัยวะส่วนอื่นบริเวณนั้น

ควรตรวจฟันคุดเมื่อไหร่?

ช่วงอายุ 15-20 ปี เป็นช่วงที่เหมาะสมในการตรวจฟันคุด โดยให้ทันตแพทย์ตรวจช่องปากว่ามีฟันกรามซี่สุดท้ายขึ้นในขากรรไกรหรือไม่ และมีแนวโน้มจะเป็นฟันคุดหรือไม่ โดยถ้าพบว่าฟันซี่ใดโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือฟันซี่ใดหายไป มีความเป็นได้สูงว่าอาจเป็นฟันคุด และเพื่อให้แน่ใจ ก็ควรไปเอกซเรย์เพื่อให้ทราบว่ามีฟันคุดฝังอยู่ในตำแหน่งไหนบ้าง ซึ่งการเอกซเรย์ฟิล์มพานอรามิกจะทำให้เห็นฟันทั้งหมดในกระดูกขากรรไกรทั้งบนและล่าง รวมถึงพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นในกระดูกขากรรไกร

ไม่ผ่าฟันคุดออกได้ไหม?

ปกติทันตแพทย์จะแนะนำให้ผ่าฟันคุดออกทุกกรณี เพื่อตัดปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากฟันคุด

ควรผ่าฟันคุดตอนอายุเท่าไหร่?

หากตรวจพบฟันคุดควรรีบผ่าออกให้เร็วที่สุด ซึ่งโดยทั่วไปการผ่าฟันคุดควรผ่าขณะอายุ 18–25 ปี เพราะสามารถทำได้ง่าย ซึ่งเป็นช่วงที่ฟันกำลังสร้างรากฟันเสร็จประมาณครึ่งรากหรือมากกว่า แต่ยังสมบูรณ์ หลังผ่าจะสามารถฟื้นตัวได้เร็ว และโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่ำ เช่น การชาของริมฝีปากล่างจากฟันคุดใกล้เส้นประสาท

ถอนฟันคุดต้องรอให้เห็นฟันคุดงอกก่อนไหม?

การผ่าฟันคุดไม่ต้องรอให้เห็นฟันคุดงอกก่อน ถ้าตรวจพบสามารถผ่าออกได้ทันที เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่จะตามมาหากปล่อยทิ้งไว้ เช่น ฟันผุ รากฟันถูกทำลาย ฟันเรียงผิดรูป เป็นต้น

ผ่าฟันคุดขณะที่เหงือกบวมได้ไหม?

ขณะที่เหงือกบวมสามารถผ่าฟันคุดได้ โดยการผ่าฟันคุดร่วมกับการให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อลดอาการอักเสบจากการติดเชื้อขณะผ่าตัด

ฟันคุดแบบไหนที่ต้องผ่า?

ฟันคุดมีทั้งแบบที่ต้องผ่าและไม่ต้องผ่า แบบที่ไม่ต้องผ่ามีลักษณะไม่สร้างความเจ็บปวด ไม่มีผลเสียต่อฟันซี่ข้างๆ และไม่เป็นสาเหตุของความผิดปกติอื่นๆ

ฟันคุดที่ต้องผ่าคือฟันคุดที่ทำให้เรามีอาการปวด ติดเชื้อ หรือเมื่อทันตแพทย์เห็นว่าอาจเป็นสาเหตุทำให้มีความผิดปกติอื่นๆ เช่น การอ้าปากได้จำกัด หรือกลืนน้ำลายแล้วเจ็บคอ โดยลักษณะฟันคุดดังกล่าวจะมี 2 แบบ ได้แก่

  • ฟันคุดที่มีเหงือกคลุม (Soft tissue Impaction) เป็นฟันคุดที่มีเหงือกปกคลุมและปิดกั้นจนฟันไม่สามารถขึ้นได้หรือขึ้นได้ไม่เต็มซี่ แนวการขึ้นของฟันมีลักษณะตั้งตรง สามารถเอาออกโดยการเปิดเหงือก ร่วมกับการถอนฟันคุด
  • ฟันคุดที่มีกระดูกคลุม (Bony Impaction) เป็นฟันคุดที่มีทั้งเหงือกและกระดูกปกคลุมและปิดกั้น ทำให้แนวการขึ้นของฟันมีทั้งตั้งตรง เอียง และนอน ทำให้ต้องมีการกรอกระดูกร่วมกับการตัดแบ่งฟันคุดเป็นส่วนๆ เพื่อนำฟันคุดออกมา

ประโยชน์ขอการผ่าฟันคุด

นอกจากจะช่วยลดอาการเจ็บปวดแล้วการผ่าฟันคุดยังมีประโยชน์อื่นๆ ที่ควรรู้ดังนี้

  • ป้องกันเหงือกที่ปกคลุมฟันไม่ให้อักเสบ เศษอาหารที่ไม่สามารถทำความสะอาดได้ที่ติดอยู่ซอกเหงือกรวมถึงเชื้อแบคทีเรียที่สะสมอยู่จะเป็นสาเหตุให้เหงือกอักเสบและทำให้รู้สึกปวด บวมและเป็นหนอง หากทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปใต้คาง หรือใต้ลิ้น ทำให้เจ็บคอกลืนน้ำลายไม่ได้ มีไข้ อ้าปากได้น้อยลง และหายใจลำบาก
  • ป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่อยู่ชิดกัน จะทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารมักติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่
  • ป้องกันรากฟันข้างเคียงไม่ให้ถูกทำลาย ขณะที่ฟันคุดกำลังขึ้นจะมีแรงดันไปกดรากฟันหรือกระดูกรอบรากฟันข้างเคียงจนเสียหาย
  • ป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันคุดที่ปล่อยไว้นานโดยไม่รักษาจะทำให้เยื่อเหงือกที่หุ้มรอบฟันคุดอักเสบและถุงน้ำบวมใหญ่ จนไปเบียดทำลายฟันซี่ข้างเคียงและกระดูกบริเวณรอบ ๆ
  • ป้องกันไม่ให้กระดูกขากรรไกรเปราะบาง ฟันคุดที่ฝังอยู่ใต้เหงือก จะไปแทรกอยู่ที่กระดูกขากรรไกร ทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น หากได้รับอุบัติเหตุหรือกระทบกระแทกกระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นจะหักง่าย
  • ป้องกันฟันเรียงเกและเป็นประโยชน์ต่อการจัดฟัน ฟันคุดที่กำลังขึ้นมีแรงดันทำให้ฟันซี่ข้างเคียงถูกดันจนเรียงผิดรูป ไม่ตั้งตรง หรือเรียงซ้อนกัน การผ่าฟันคุดจะช่วยป้องกันและหยุดไม่ให้เกิดการดันฟันซี่อื่นและอวัยวะข้างเคียง นอกจากนี้การผ่าฟันคุดยังช่วยให้การจัดฟันง่ายขึ้น ไม่เป็นอุปสรรคในการเรียงฟัน

การเตรียมตัวก่อนผ่าฟันคุด

การเตรียมตัวก่อนผ่าฟันคุดควรปฏิบัติตามแนวทางต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับอักเสบ ควรแจ้งและปรึกษาทันตแพทย์ก่อน
  • แจ้งยาที่กินประจำให้ทันตแพทย์ทราบก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดก่อนผ่าตัด 1 วัน เพราะอาจมีผลต่อการหยุดของเลือด และอาจทำให้แผลผ่าฟันคุดหายช้า
  • งดสูบบุหรี่ก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 12 ชั่วโมง
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่ใส่เครื่องประดับ เช่น กิ๊ฟ ต่างหู
  • รับประทานอาหารให้เรียบร้อยพออิ่มท้องก่อนผ่าฟันคุด
  • แปรงฟันและทำความสะอาดช่องปากให้พร้อมก่อนผ่าฟันคุด

ขั้นตอนการผ่าฟันคุด

ขั้นตอนการผ่าฟันคุดโดยทั่วไปมีขั้นตอนดังนี้

  1. ทันตแพทย์เอกเรย์ช่องปากเพื่อให้รู้ตำแหน่งฟันคุด และเพื่อพิจารณาตำแหน่งของฟันคุดกับเส้นประสาทเพื่อหลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนระหว่างผ่าตัด
  2. ทันตแพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อทำให้ฟันชาและบริเวณโดยรอบ
  3. หากฟันคุดไม่ทะลุผ่านเหงือก ทันตแพทย์จะใช้มีดกรีดเปิดเหงือกเป็นแผลเล็กๆ เพื่อเข้าถึงฟันคุด
  4. ทันตแพทย์อาจตัดฟันคุดเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อให้ง่ายต่อการถอนผ่านแผลที่เปิด
  5. ทันตแพทย์ถอนฟันคุด
  6. ทันตแพทย์เย็บปิดปากแผล

ระยะเวลาในการผ่าฟันคุดใช้เวลาประมาณ 20 นาที หากอาการซับซ้อนมากอาจใช้เวลากว่านั้น

การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดฟันคุด

หลังผ่าตัดฟันคุดจะมีอาการปวดและบวมบริเวณแก้มด้านที่ผ่าตัดประมาณ 3-5 วัน อ้าปากได้น้อยลง การพูดสามารถพูดได้ตามปกติ และเพื่อให้แผลหายกลับมาเป็นปกติโดยเร็วควรปฏิบัติดังนี้

  • หลังผ่าฟันคุดทันตแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการผ่ากัดผ้าก๊อชไว้แน่นประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อห้ามเลือด
  • ห้ามบ้วนเลือดและน้ำลายแรง เพราะอาจทำให้เลือดไหลไม่หยุด
  • หลังคายผ้าก๊อซแล้ว ถ้ายังมีเลือดซึมจากแผลผ่าตัด ให้ใช้ผ้าก๊อซที่สะอาดกัดใหม่อีกครั้ง
  • ประคบเย็นแก้มด้านนอกบริเวณที่ผ่าฟันคุดในช่วง 1-2 วันหลังจากผ่าฟันคุด หลังจากนั้นให้ประคบอุ่น
  • สามารถแปรงฟันได้ตามปกติแต่ให้ระมัดระวังอย่าแปรงฟันแรงโดยเฉพาะบริเวณที่ผ่า
  • รับประทานอาหารอ่อน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กระเทือนแผลผ่าตัด
  • รับประทานยาแก้ปวดและยาอื่นตามที่ทันตแพทย์สั่ง
  • งดเล่นกีฬาเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กระเทือนแผลผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์
  • บางรายอาจอ้าปากได้น้อยหลังผ่า ควรค่อยๆ ฝึกอ้าปากหลังจากเลือดหยุดดีแล้ว และหากการอ้าปากยังไม่เป็นปกตินานกว่า 1 สัปดาห์ ต้องไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษาหรือรับคำแนะนำท่าทางในการบริหารขากรรไกร
  • กลับมาพบทันตแพทย์เพื่อติดตามอาการหรือตัดไหมตามนัดหลังผ่าฟันคุด 7 วัน
  • หากมีปัญหาหรืออาการแทรกซ้อนอื่นควรรีบพบทันตแพทย์ทันที

สามารถป้องกันการเกิดฟันคุดได้ไหม?

ฟันคุดเป็นฟันที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติไม่สามารถป้องกันได้ แต่เราสามารถลดปัญหาได้ด้วยการตรวจเช็กสุขภาพช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากพบความผิดปกติจะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีก่อนจะที่ฟันคุดจะสร้างปัญหาให้กับฟันซี่อื่นและอวัยวะข้างเคียง อีกทั้งการผ่าตัดรักษาเมื่อพบแต่แรกยังทำได้ง่ายกว่าอีกด้วย

ผ่าฟันคุดกี่วันหาย?

โดยทั่วไปหลังจากผ่าฟันคุดจะมีอาการปวดและบวมบริเวณแก้มด้านที่ผ่าตัด ซึ่งประมาณ 3-5 วัน อาการเหล่านี้จะหายไป โดยสามารถลดอาการปวดบวมด้วยยาแก้ปวดและการประคบเย็น จากนั้นประมาณ 2 สัปดาห์แผลผ่าฟันคุดควรจะหายโดยสมบูรณ์

อาการข้างเคียงหลังผ่าฟันคุด

หลังผ่าฟันคุดอาจมีข้างเคียงเกิดขึ้นแต่ค่อนข้างน้อยมาก อาการโดยทั่วไปที่อาจพบได้ มีดังนี้

  • อาจมีเลือดไหลจากแผลผ่าตัดมากกว่าปกติ สาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากการกัดผ้าก๊อซแรงเกินไป หรือการออกแรงบ้วนเลือดที่ออกมาแรงเกินไปจนทำให้แผลผ่าตัดฉีก
  • อาจมีการติดเชื้อหลังการผ่าตัด หรือมีหนองเกิดขึ้น สาเหตุการติดเชื้ออาจเกิดจากฟันคุดอยู่ลึกใช้เวลาผ่าตัดนานจนเกิดการอักเสบ หรือดูแลรักษาความสะอาดแผลผ่าตัดไม่ดี
    • อาจมีไข้ จากการติดเชื้อ หรือเกิดการอักเสบจากแผลผ่าตัด
    • อาการปวดบวมอาจหายช้า หรือมีอาการเพิ่มมากยิ่งขึ้นจากการติดเชื้อ หรือเกิดการอักเสบจากแผลผ่าตัด
    • อาจมีกลิ่นปาก จากการติดเชื้อ หรือการทำความสะอาดแผลผ่าตัดไม่สะอาดเพียงพอ
    • อาจชาที่ใบหน้า ริมฝีปากหรือลิ้น ปกติฤทธิ์ยาชาจะมีผลประมาณ 3-4 ชั่วโมงหลังผ่าฟันคุด แต่หลังจากนั้น หากยังมีอาการชาซึ่งอาจเกิดจากเส้นประสาทรับความรู้สึกในขากรรไกรล่างได้รับการกระทบกระเทือนระหว่างผ่า ต้องรีบพบทันตแพทย์ทันที

ผ่าฟันคุดเจ็บไหม?

การผ่าฟันคุดมีความเจ็บปวดบ้างตามธรรมดาของการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นกับความสามารถและความชำนาญของทันตแพทย์ด้วยว่าสามารถควบคุมการฉีดยาชาได้ดีแค่ไหน หากได้พบทันตแพทย์ที่เก่งและมีความชำนาญผู้เข้ารับการผ่าฟันคุดจะรู้สึกเจ็บน้อยมาก

ผ่าฟันคุดช่วยให้หน้าเรียวไหม?

การผ่าฟันคุดไม่ช่วยทำให้ใบหน้าเรียวลง เพราะไม่ใช่การผ่าตัดที่มีผลทำให้ขากรรไกรมีขนาดเล็กลง เป็นเพียงการผ่าเอาฟันคุดออกเท่านั้น

โดยสรุปแล้ว แม้ฟันคุดจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ผ่าออก ก็อาจทำให้เกิดอันตรายตามมาภายหลังได้ ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาองค์ประกอบต่างๆ เช่น ตำแหน่งฟันคุด อายุผู้รับการผ่า โรคประจำตัว และอื่นๆ เพื่อรักษาอย่างเหมาะสมที่สุด


เช็กราคาการผ่าฟันคุด

Scroll to Top