“กัวซา” เป็นหนึ่งในศาสตร์การบำบัดแพทย์แผนจีนเช่นเดียวกับการฝังเข็ม ครอบแก้ว เชื่อกันว่า กัวซาเป็นวิธีที่สามารถล้างพิษ หรือถอนพิษออกจากร่างกายได้ แก้อาการ ความผิดปกติต่างๆ ได้ รวมทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพแบบองค์รวม ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย บำรุงผิวพรรณ กัวซาคืออะไร มีประโยชน์อะไรบ้าง ทำกัวซาตรงไหนได้บ้าง HDmall.co.th จะพาไปหาคำตอบ
สารบัญ
กัวซา คืออะไร?
กัวซา หรือ กวาซา (Gua sha หรือ Skin scraping) ที่เราได้ยินกัน แท้จริงมาจากคำ 2 คำประกอบกันคือ คำว่า “กัว หรือกวา” หมายถึง การกวาด หรือขูด และคำว่า “ซา” หมายถึง อาการซา หรือพิษของโรค ซึ่งจะแสดง ออกมาให้เห็นเป็นรอยจ้ำแดงๆ แบบห้อเลือด หรือผื่นแดง จุดแดง หลังจากกวาด หรือขูดผิวแล้วนั่นเอง
ดังนั้นคำว่า กัวซา จึงหมายถึงการขูด หรือกวาดพิษออกจากร่างกาย
แพทย์จีนเชื่อว่า ยิ่งรอยแดงจากการขูดกัวซานั้นยิ่งมีมากเท่าไหร่ ยิ่งแสดงถึง ระดับอาการเจ็บป่วยภายในของคนๆ นั้น แต่รอยดังกล่าวจะค่อยๆ หายไปใน 3-7 วัน
กัวซา ทำอย่างไร?
เดิมทีแพทย์จีนโบราณจะใช้เหรียญ ช้อน ถ้วย ไม้ เขาสัตว์ ที่มีลักษณะโค้งเล็กน้อย ผิวเรียบลื่น มากดลงน้ำหนักเล็กน้อยและขูดที่ผิวหนังในลักษณะเอียง 45 องศา บนผิวหนังโดยตรง หรือจะขูดผ่านเสื้อผ้าก็ได้
ในลักษณะการขูด เริ่มจากฝั่งซ้ายของร่างกายก่อน ขูดจากบนลงล่างโดยขูดเป็นจังหวะๆ ในแนวยาว แต่หากเป็นการทำกัวซาบริเวณไหล่ จะนิยมขูดจากด้านนอกเข้าด้านในแทนการขูดจากบนลงล่าง
การขูดกัวซาจะขูดจุดละ 10-50 ครั้ง หรือจนกว่าจะมีรอยผื่นแดงเกิดขึ้นในบริเวณนั้นๆ แล้วจึงย้ายไปขูดส่วนต่อไป
แพทย์จีนเชื่อว่า การขูด หรือกวาดของกัวซา เป็นการขับพิษ ขับโรคออกจากร่างกาย และช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดในร่างกาย คลายเส้นเอ็น และกระตุ้นเส้นลมปราณซึ่งโยงใยไปยังอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เมื่ออวัยวะนั้นๆ ได้รับการกระตุ้นจึงมีโอกาสกลับมาทำงานได้ปกติ
บางครั้งอาจใช้น้ำมันสมุนไพร หรือขี้ผึ้ง เพื่อช่วยให้สามารถขูดกัวซาได้ง่ายขึ้น และบบรเทาความเจ็บปวดลง อีกทั้งยังเชื่อว่า หากมีอาการป่วยจากภาวะร้อนเกินควรใช้น้ำมัน หรือขี้ผึ้งที่มีฤทธิ์เย็น เพื่อลดความร้อนในร่างกาย แต่หากป่วยจากภาวะเย็นเกินควรใช้สมุนไพรฤทธิ์ร้อนเพื่อเพิ่มความอบุอุ่นให้ร่างกาย
หลังทำกัวซาเสร็จแล้วควรดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำอุณหภูมิห้อง 1 แก้ว ผสมใบย่านาง เพื่อปรับสมดุลน้ำในร่างกาย
กัวซา ทำที่ส่วนไหนของร่างกายได้บ้าง?
กัวซาสามารถทำได้ทุกส่วนของร่างกายที่มีอาการผิดปกติ รู้สึกติดขัดไม่สบาย หรือส่วนที่ต้องการบำบัด ไม่ว่าจะเป็นศีรษะ ใบหน้า ลำคอ บ่า ไหล่ หน้าอก ลำตัว ท้อง แผ่นหลัง แขน ขา เท้า แต่ไม่ควรลงน้ำหนักบริเวณกระดูกข้อต่อมากนัก เพื่อป้องกันอาการข้อต่อหลุด
ส่วนที่ขูดกัวซานี้ยังสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายของการทำกัวซาครั้งนั้นๆ ด้วย เช่น หากต้องการให้ใบหน้าเปล่งปลั่ง มีเลือดก็ควรทำกัวซาที่ใบหน้า บางครั้งหากต้องการบำบัดทั้งตัวก็สามารถทำกัวซตั้งแต่ศีรษะไล่ลงมายังปลายเท้าได้
แต่ห้ามทำกัวซาในอวัยวะที่มีความนิ่ม บอกบาง และไวต่อความรู้สึก เช่น ดวงตา อวัยวะเพศ
ประโยชน์ของกัวซามีอะไรบ้าง?
แพทย์แผนจีนเชื่อว่า หนึ่งในสาเหตุความเจ็บป่วยของร่างกายมาจากการที่ภายในร่างกายเกิดพิษ เลือดลมไหลเวียนติดขัดไหลเวียนไม่สะดวก ขาดความสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย
การแก้ปัญหาที่สำคัญจึงหมายถึง การกระตุ้นเลือดลมให้ไหลเวียนสะดวกการขับพิษ แก้ไขความบกพร่องของอวัยวะต่างๆ และปรับสมดุลในด้านต่างๆ ของร่างกาย
สำหรับกัวซานั้น เชื่อว่ามีประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่
- บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น ปวดต้นคอ บ่า ไหล่ หลัง
- บรรเทาอาการปวดศีรษะ ปวดไมเกรน
- บรรเทาอาการปวดข้อ
- บรรเทาอาการปวดส้นเท้า โรครองช้ำ
- ลดไข้ แก้หวัด
- บรรเทาอาการ PMS ก่อนมีประจำเดือน เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ หงุดหงิด
- ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
- บรรเทาอาการคัดเต้านม
- บรรเทาอาการปัสสาวะขัด ลดอาการบวมน้ำ
- บรรเทาอาการ้อนวูบวาบ
- ช่วยสลายไขมันส่วนเกิน
- ช่วยให้ผิวพรรณสดใส ชุ่มชื้น มีเลือดฝาด
- ผ่อนคลาย
- สามารถบอกตำแหน่งของโรคได้
ทำกัวซาเองได้ไหม?
สามารถทำกัวซาด้วยตนเองได้ เพียงแต่ควรศึกษาชนิดของอุปกรณ์การทำกัวซา และวิธีการขูดกัวซาให้ดีก่อนเริ่มต้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดและปลอดภัย แต่หากไม่แน่ใจแนะนำให้ไปพบแพทย์แผนจีน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านกัวซาโดยตรงจะปลอดภัยและเห็นผลลัพธ์ได้ดีกว่า