เทียบกันชัดๆ รีเทนเนอร์ 3 แบบ มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร

รีเทนเนอร์เป็นอุปกรณ์คงสภาพฟัน ซึ่งต้องใช้หลังจากจัดฟันเสร็จแล้ว แบบที่นิยมกันมากที่สุดคือแบบลวดกับแบบใส ซึ่งสามารถถอดออกได้ และยังมีอีกชนิดคือแบบติดแน่น แต่ละแบบมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร มาดูกันเลย!

1. รีเทนเนอร์แบบลวด

ข้อดีของรีเทนเนอร์แบบทั่วไป ได้แก่

  • สามารถถอดออกได้เมื่อต้องการทานอาหาร หรือทำความสะอาดฟัน
  • หาได้ง่าย สะดวก เนื่องจากคลินิกส่วนใหญ่มีรีเทนเนอร์ประเภทนี้อยู่แล้ว

ข้อเสียของรีเทนเนอร์แบบทั่วไป ได้แก่

  • เสี่ยงต่อการทำหาย หรือวางแล้วลืมทิ้งไว้ โดยเฉพาะเมื่อถอดแล้วไม่ได้เก็บใส่ตลับ
  • ถ้าไม่เก็บรักษาและดูแลให้ดี ก็อาจชำรุดเสียหายได้ง่าย
  • ขณะใส่จะมีน้ำลายออกมามากกว่าปกติ
  • อาจกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อและเติบโตของแบคทีเรียได้

อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ของการใช้รีเทนเนอร์แบบทั่วไป คือฟันที่จัดแล้วอาจล้มหรือเคลื่อนได้บ่อยๆ เนื่องจากคนไข้มักลืมใส่ ทำหาย หรือไม่ยอมมาเปลี่ยนเมื่อถึงเวลา ซึ่งหากไม่ใส่ไว้เป็นประจำตามที่ทันตแพทย์แนะนำ ฟันก็มีโอกาสกลับมาเอียง ซ้อน เก เหมือนกับก่อนจัดฟันได้

รีเทนเนอร์แบบลวดนี้ เราสามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้ โดยใช้แปรงขัดเบาๆ เป็นประจำทุกวัน และแช่น้ำยาบ้วนปากไว้ขณะที่ไม่ได้ใส่

ราคาของรีเทนเนอร์แบบใส่และถอดได้อาจแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 500 จนถึง 2,000 บาท

2. รีเทนเนอร์แบบใส

รีเทนเนอร์ประเภทนี้สามารถถอดและใส่ได้เช่นกัน แต่ความพิเศษคือรูปทรงของรีเทนเนอร์จะถูกหล่อขึ้นมาให้พอดีกับรูปฟันของคนไข้แต่ละคน

การทำรีเทนเนอร์แบบพลาสติกใส จะเริ่มจากการพิมพ์รูปฟันของคนไข้หลังจากผ่านการจัดฟันแล้ว แล้วจึงหล่อรีเทนเนอร์ตามพิมพ์นั้น โดยใช้วัสดุเป็นพลาสติกใสบางๆ หรือโพลียูรีเทน

ข้อดีของรีเทนเนอร์แบบพลาสติกใส ได้แก่

  • เมื่อใส่แล้วจะกลมกลืนไปกับฟันจนมองไม่เห็น คนไข้จึงรู้สึกมั่นใจกว่า
  • มีความพอดีกับรูปฟัน โอกาสเกิดฟันล้มหรือเคลื่อนจึงน้อยลงมาก
  • ตัวรีเทนเนอร์นั้นบางกว่าแบบลวดมาก จึงใส่สบาย ไม่รู้สึกรำคาญ
  • ส่งผลต่อการพูดหรือการออกเสียงน้อยกว่ารีเทนเนอร์แบบลวด

ข้อเสียของรีเทนเนอร์แบบพลาสติกใส ได้แก่

  • ไม่สามารถปรับเปลี่ยนรูปทรงได้ หากฟันขยับจากเดิมก็จำเป็นต้องเปลี่ยนรีเทนเนอร์ใหม่
  • หากแตกหักเสียหาย จะไม่สามารถซ่อมแซมได้
  • เมื่อเทียบกับรีเทนเนอร์แบบติดแน่น รีเทนเนอร์ประเภทนี้จะส่งผลต่อการพูดมากกว่า
  • มีโอกาสบิดงอผิดรูปได้หากโดนความร้อน
  • เมื่อใส่ไปนานๆ รีเทนเนอร์อาจเปลี่ยนสีหรือขุ่นขึ้นจนมองเห็นได้
  • เมื่อใส่แล้วฟันบนกับฟันล่างจะไม่สบกันตามปกติ
  • อาจมีของเหลวขังอยู่ภายใน และกลายเป็นสาเหตุของฟันผุได้

ผู้ผลิตรีเทนเนอร์แบบพลาสติกใส มีด้วยกัน 3 แบรนด์ใหญ่ๆ ได้แก่ Vivera, Essix และ Zendura ซึ่งแต่ละแบรนด์จะใช้วัสดุพลาสติกที่แตกต่างกันไป โดย Vivera ยังเป็นแบรนด์ผู้ผลิตอุปกรณ์จัดฟันแบบใส ที่เราเรียกกันว่า อินวิซาไลน์ (Invisalign) อีกด้วย

ปัจจุบัน รีเทนเนอร์แบบพลาสติกใสนั้นได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และคนไข้หลายคนก็มักเลือกใส่รีเทนเนอร์ประเภทนี้มากกว่าแบบลวด

ราคาของรีเทนเนอร์แบบพลาสติกใส อยู่ที่ประมาณ 1,500-2,500 บาทต่อชิ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ต้องสั่งทำพร้อมกัน 2 ชิ้น สำหรับฟันบนและฟันล่าง

3. รีเทนเนอร์แบบติดแน่น

รีเทนเนอร์แบบติดแน่น จะประกอบด้วยลวดแข็งหรือลวดพันเป็นเกลียว ที่ถูกทำให้โค้งงอพอดีกับรูปฟันของคนไข้ โดยลวดดังกล่าวจะถูกติดไว้ที่ด้านในของฟันซี่หน้าเพื่อยึดไม่ให้ฟันขยับเคลื่อนที่ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นฟันล่าง รีเทนเนอร์แบบติดแน่น หรือบางคนเรียกรีเทนเนอร์แบบฟิกซ์ (fixed retainer) จะไม่สามารถถอดออกได้ ยกเว้นทันตแพทย์จะเป็นคนถอดให้เท่านั้น

รีเทนเนอร์แบบติดแน่น มักใช้ในกรณีที่ทันตแพทย์เล็งเห็นว่าฟันที่เพิ่งจัดมีโอกาสล้มหรือเคลื่อนได้สูง รวมถึงในคนไข้เด็กๆ ที่อาจยังไม่มีวินัยมากพอในการใส่และถอดรีเทนเนอร์ตามที่ทันตแพทย์แนะนำ

รีเทนเนอร์ประเภทนี้สามารถใส่ไปได้เรื่อยๆ โดยไม่มีกำหนดต้องถอดออก ยกเว้นว่ามีปัญหาที่จำเป็นต้องถอด เช่น มีคราบแบคทีเรียหรือหินปูนมาเกาะ หรือทำให้เหงือกระคายเคือง เป็นต้น

ข้อดีของรีเทนเนอร์แบบติดแน่น ได้แก่

  • ไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการใส่ การถอด หรือระยะเวลาในการสวม
  • คนอื่นจะมองไม่เห็น เนื่องจากติดไว้ที่ด้านหลังฟัน
  • ส่งผลต่อการพูดและการออกเสียงน้อยมาก
  • ไม่ต้องกลัวว่าจะลืมหรือทำหาย
  • โอกาสพังเสียหายน้อยมาก

ข้อเสียของรีเทนเนอร์แบบติดแน่น ได้แก่

  • เมื่อใส่แล้วอาจทำความสะอาดฟันได้ยากกว่าเดิม โดยเฉพาะการขัดฟันด้วยไหมขัดฟัน และเนื่องจากรีเทนเนอร์แบบนี้ไม่สามารถถอดออกได้ จึงอาจเกิดการสะสมคราบแบคทีเรียและหินปูน ที่ทำให้เกิดโรคเหงือกได้
  • อุปกรณ์ติดแน่นกับฟัน ทำให้หลายคนใส่แล้วไม่ชอบ
  • ลวดโลหะอาจทำให้รู้สึกระคายเคืองลิ้นได้

รีเทนเนอร์แบบติดแน่นควรได้รับการทำความสะอาดทุกวัน เช่นเดียวกับฟันของเรา โดยเราอาจใช้อุปกรณ์คล้ายๆ ตัวร้อยด้าย ที่เรียกว่า threader เพื่อให้สามารถใช้ไหมขัดฟันบริเวณที่ติดกับลวดได้ง่ายขึ้น

ราคาของรีเทนเนอร์แบบติดแน่น อยู่ที่ประมาณชิ้นละ 2,000-5,000 บาท

Scroll to Top