ไขข้อสงสัย ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เบิกประกันสังคมได้ไหม?

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นโรคที่ไม่มียารักษา หากถูกสัตว์ที่ต้องสงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลียที่เยื่อบุตา ปาก หรือบาดแผลแล้ว จะต้องรักษาด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine) เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในผู้ที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน หรือไม่เคยได้รับวัคซีน

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถเบิกประกันสังคมได้หรือไม่?

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค (Pre-exposure prophylaxis rabies: PrEP) จะไม่สามารถเบิกประกันสังคมได้

แต่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค (Rabies Post-Exposure Prophylaxis: Rabies PEP) หากฉีดที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสังคมอยู่ สามารถฉีดได้เลย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสังคมอยู่ได้ และจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลเอกชนก็สามารถเบิกประกันสังคมย้อนหลังได้เช่นกัน

โดยผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนจะต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วนำใบเสร็จรับเงินพร้อมกับใบรับรองแพทย์ไปยื่นเรื่องเบิกคืนที่สำนักงานประกันสังคม โดยสามารถเบิกได้ไม่เกินครั้งละ 1,000 บาท

หลังจากนั้นให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มถัดไปที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสังคมอยู่ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรคนั้น หากฉีดด้วยวิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular regimen: IM) จะฉีดทั้งหมด 5 ครั้ง ในวันที่ 0, 3, 7, 14 และ 28

แต่ถ้าหากฉีดด้วยวิธีฉีดเข้าผิวหนัง (Intradermal regimen: ID) จะฉีดทั้งหมด 4 ครั้ง ในวันที่ 0, 3, 7 และ 28

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค ดีอย่างไร?

แม้ว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรคจะสามารถเบิกประกันสังคมได้ หรือสามารถไปฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิประกันสังคมอยู่ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ต้องฉีดแล้ว หากผู้ถูกกัดได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้าอย่างรุนแรง ก็จำเป็นที่จะต้องฉีดอิมมูโนโกลบิน (Immunoglobulin) ที่บาดแผล เพื่อทำลายเชื้อไวรัสที่บริเวณบาดแผล ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้มาก

โดยการฉีดอิมมูโนโกลบินที่บาดแผลจะต้องฉีดโดยเร็วที่สุด โดยควรฉีดพร้อมกับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเข็มแรกเลย แต่ถ้าหากมีข้อจำกัด ให้ฉีดในวันที่ 2 หรือห้ามช้าเกิน 7 วัน เพราะอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่อาจไม่สามารถหาอิมมูโนโกลบินมาฉีดได้อย่างทันท่วงที

ดังนั้นองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น สัตวแพทย์ เด็ก ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่โรคพิษสุนัขบ้าระบาด หรือผู้ที่วางแผนจะเดินทางไปต่างประเทศ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากโรคพิษสุนัขบ้า

เพราะหลังจากที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครบ 3 เข็มแล้ว เมื่อถูกกัด ไม่ว่าจะระดับร้ายแรงเท่าไหร่ ก็รักษาได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากระตุ้น 1-2 ครั้งเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องฉีดอิมมูโนโกลบิน ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่าย และประหยัดเวลาในการรักษาโรคได้มาก

ดังนั้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก็อย่าลืมที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนสัมผัสโรค เพื่อความปลอดภัยของตนเอง


ปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

Scroll to Top