ฮอร์โมน (Hormone) เป็นสารเคมีที่กลุ่มเซลล์ในต่อมไร้ท่อสร้างขึ้น แล้วส่งไปตามกระแสเลือด ไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย มีหลายชนิด แต่ละชนิดจะส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายที่แตกต่างกัน ซึ่งระดับฮอร์โมนที่สมดุลจะส่งผลต่อการมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และสภาวะจิตใจที่มั่นคง
ในบทความนี้จะพาทำความรู้จักกับการตรวจระดับฮอร์โมนในผู้ชาย นอกจากฮอร์โมนเพศชายแล้ว มักตรวจฮอร์โมนชนิดใดอีกบ้าง
สารบัญ
การตรวจระดับฮอร์โมนในผู้ชาย คืออะไร?
การตรวจระดับฮอร์โมนในผู้ชาย ส่วนใหญ่แล้วมักตรวจด้วยวิธีการเจาะเลือด แล้วส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการณ์ ร่วมกับซักประวัติ และตรวจสุขภาพทั่วไป โดยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (Consultation Anti-Aging Medicine)
รายการตรวจฮอร์โมนนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละโปรแกรม ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายในการตรวจ เช่น ตรวจระดับฮอร์โมนเพศชายเพื่อหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก หรือตรวจระดับฮอร์โมนทั่วไป เพื่อหาสาเหตุของภาวะซึมเศร้า ร่างกายไม่กระชับกระเฉง นอนไม่หลับ หรืออ้วนลงพุง เป็นต้น
หลังจากที่แพทย์ได้ผลตรวจแล้ว จะนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ ต่อไป
ตรวจระดับฮอร์โมนในผู้ชาย มักตรวจฮอร์โมนชนิดใดบ้าง?
ชนิดของฮอร์โมนที่มักพบในรายการตรวจระดับฮอร์โมนในผู้ชาย มีดังนี้
- Luteinizing Hormones (LH) ทำหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์เลย์ดิก (Leydig cell) ต่อมไร้ท่อที่อยู่ในอัณฑะ สร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ซึ่งเป็นกลุ่มฮอร์โมนเพศชายขึ้นมา
- Follicle Stimulating Hormone (FSH) ควบคุมการสร้างอสุจิ และกระตุ้นให้ LH เปลี่ยนฮอร์โมนแอนโดรเจนส่วนใหญ่ให้เป็นฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
- Estradiol (E2) ผลิตจากลูกอัณฑะและต่อมหมวกไต หากมีน้อยเกินไป อาจแสดงว่า เป็นหมัน หรือเกิดโรคที่ลูกอัณฑะ หรือต่อมหมวกไต หากมีมากเกินไป อาจแสดงว่า เกิดมะเร็งที่ลูกอัณฑะ หรือต่อมหมวกไต ทำให้เสียสมดุลของฮอร์โมนเพศระหว่างหญิงชาย หรือเป็นโรคอ้วน
- Testosterone ฮอร์โมนหลักของเพศชาย เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธ์
- Sex hormone binding globulin (SHBG) เกี่ยวข้องกับภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย หากมีมากเกินไปจะทำให้ Free testosterone ซึ่งอยู่ในกลุ่มฮอร์โมนเพศชายที่ร่างกายนำไปใช้ได้ง่าย ถูกจับไปมากขึ้น ทำให้มีปริมาณและประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
- Thyroid Stimulating Hormone (TSH) ทำหน้าที่กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมน T3 (Triiodothyronine) และ T4 (Thyroxine)
- Free T3 หมายถึง Triiodothyronine ที่ไม่ได้จับกับโปรตีน สามารถบ่งชี้โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ได้
- Free T4 หมายถึง Thyroxine ที่ไม่ได้จับกับโปรตีน สามารถบ่งชี้โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ได้
- Dehydroepiandrosterone Sulphate (DHEAs) เป็นหนึ่งในฮอร์โมนตั้งต้นของการสร้างฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนในกลุ่มสเตียรอยด์ชนิดอื่นๆ หากมีระดับผิดปกติจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชาย การเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ หรือโรคอัลไซเมอร์
- Insulin-like growth factor 1 (IGF-1) มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกายในวัยเด็ก และเสริมสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อร่างกายในผู้ใหญ่ สามารถใช้ประเมินอายุจริงของร่างกายได้
- Insulin like growth factor binding protein 3 (IGFBP-3) สามารถใช้ตรวจคัดกรองภาวะขาดฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth hormone deficiency) หรือภาวะที่มีฮอร์โมนการ เจริญเติบโตมากผิดปกติ ( Acromegaly) ได้
- Cortisol เป็นฮอร์โมนกลุ่มสเตียรอยด์ที่สร้างขึ้นจากต่อมหมวกไต เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียด และมีบทบาทเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น ต่อสู้กับอาการอักเสบ กระตุ้นตับให้สร้างน้ำตาลออกมาสู่กระแสเลือด หรือช่วยควบคุมปริมาณสารน้ำภายในร่างกาย
- Insulin ทำหน้าที่นำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์เพื่อไปใช้เป็นแหล่งพลังงาน และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม
ตรวจระดับฮอร์โมนในผู้ชาย ราคาเท่าไร ควรตรวจที่ไหนดี?
ราคาการตรวจระดับฮอร์โมนในผู้ชาย เริ่มตั้งแต่ 700-8,000 บาท ขึ้นอยู่กับรายการตรวจ และโปรโมชันของแต่ละสถานพยาบาล