โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบ (Periodontitis) หรือที่เรียกกันว่า “รำมะนาด” เป็นโรคในช่องปากที่มีความรุนแรง และเป็นสาเหตุหลักของการสูญเสียฟันในวัยผู้ใหญ่ก่อนวัยอันควร เนื่องจากโรคดังกล่าวจะทำลายกระดูกรากฟันให้เสียหายนั่นเอง
โรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบรักษาหายไหม? รักษาโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบมีกี่วิธี? รักษาโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบด้วยตัวเองได้อย่างไร? ป้องกันโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบอย่างไร? HDmall.co.th จะพาไปหาคำตอบ
สารบัญ
โรคปริทันต์ ปริทันต์อักเสบ รักษาหายไหม?
โรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบ เกิดจากอวัยวะที่อยู่รอบๆ ฟัน เช่น เหงือก เอ็นยึดฟัน กระดูกเบ้าฟัน เคลือบรากฟัน ผิวรากฟัน มีการสะสมของคราบจุลินทรีย์มากๆ ขึ้น
โดยเฉพาะบริเวณใกล้ขอบเหงือกและเข้าไปในร่องเหงือก ทำให้สารพิษซึ่งอยู่ในคราบจุลินทรีย์จึงสามารถซึมผ่านเข้าไปในเหงือกได้ ไม่นานนักจึงเกิดการอักเสบของเหงือกขึ้นตามมา การอักเสบทำให้เหงือกไม่รัดแน่นกับฟัน
ยิ่งสารพิษเข้าไปในร่องเหงือกง่ายขึ้นก็ยิ่งทำอันตรายมากขึ้นเท่านั้น ส่วนร่างกายจะส่งเลือดมาเลี้ยงบริเวณเหงือกมากขึ้น ทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นขยายใหญ่ขึ้น เหงือกจึงบวม แดง และมีการอักเสบ
ดังนั้นเมื่อโดนแปรง หรือแรงกดใดเพียงเบา ๆ จะทำให้เลือดออกได้ การให้การรักษาที่ถูกต้องและการรักษาสุขภาพช่องปากอย่างดีในระยะแรกนี้ จึงสามารถหยุดปริทันต์ระยะแรกได้ เหงือกสามารถกลับสู่สภาพเดิมได้
แต่หากคราบจุลินทรีย์สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ร่องเหงือกก็จะลึกยิ่งขึ้นตามไปด้วย ถ้าร่องเหงือกลึกเกิน 3 ม.ม.จะเรียกว่า “ร่องลึกปริทันต์” เป็นระยะที่ไม่สามารถทำความสะอาดเองได้เลย
ยิ่งหากปล่อยทิ้งไว้อีก คราบจุลินทรีย์ที่สะสมจะเปลี่ยนเป็นหินปูน คราวนี้สารพิษจากคราบจุลินทรีย์ในร่องลึกปริทันต์ จะสามารถทำลายเนื้อเยื่อ กระดูกเบ้าฟันใกล้เคียงได้
ยิ่งหากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา คราบจุลินทรีย์ยิ่งสะสมลึกมากขึ้นยิ่งทำให้เกิดการสูญเสียกระดูกเบ้าฟัน ร่องลึกปริทันต์จะเลื่อนไปทางปลายรากฟันมากขึ้น อาการจะยิ่งรุนแรงขึ้นถึงขั้นเป็นหนอง ฝีในชั้นรากฟัน และฟันโยกคลอนในที่สุด หากถึงระยะนี้ทางเดียวในการรักษาคือ การถอนฟันซี่นั้นออก
โรคปริทันต์ โนคปริทันต์อักเสบ หากรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจ วินิจฉัย และรักษาเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสหายได้มากขึ้นเท่านั้น
รักษาโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบ รักษานานไหม?
ในบรรดาโรคเกี่ยวกับฟันและช่องปาก โรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบจัดเป็นโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานเพราะต้องรักษาอย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
ส่วนระยะเวลาการรักษาจะนานเท่าไหร่นั้นโรคปริทันต์อักเสบขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่
- ระยะของโรคปริทันต์ และความรุนแรงของโรค
- ดูแล รักษาความสะอาดของฟัน เหงือก และช่องปากตามที่ทันตแพทย์สั่ง
- การไปพบทันตแพทย์อย่างเคร่งครัดทุกครั้งตามนัด เริ่มที่นัดทุกๆ 1 เดือน ต่อเนื่อง 6 เดือน ตามด้วยทุกๆ 2 เดือน และเพิ่มเป็นนัดทุกๆ 3 เดือน จนกระทั่งสามารถควบคุมโรคได้
อย่างไรก็ตาม หลังรักษาอาการทุกระยะแล้ว ผู้ป่วยยังต้องป้องกันตนเองไม่ให้มีสาเหตุของโรคกลับมาอีก
โรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบรักษาได้อย่างไร?
โรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบแบ่งการรักษาตามความรุนแรงของอาการได้ดังนี้
การรักษาโรคปริทันต์ระยะแรก
- การขูดหินปูน ทันตแพทย์จะขูดหินปูนทั้งบนตัวฟันและส่วนที่อยู่บนผิวรากฟันภายในร่องปริทันต์ เพื่อกำจัดหินปูนและคราบจุลินทรีย์ที่เกาะอยู่บนตัวฟันและบริเวณขอบเหงือกออก
- การเกลารากฟัน ทันตแพทย์จะเกลารากฟันให้ผิวรากฟันให้สะอาดและเรียบ เพื่อกำจัดหินปูนและคราบจุลินทรีย์ที่เกาะลึกลงไปในผิวรากฟันออก เมื่อผิวรากฟันสะอาด เรียบ ยากต่อการสะสมของหินปูนและคราบจุลินทรีย์ อีกทั้งยังช่วยให้เหงือกกลับมายึดติดตัวฟันได้ดังเดิม
ทั้งนี้การขูดหินปูนและเกลารากฟันต้องทำหลายๆ ครั้งขึ้นอยู่กับความลึกของร่องปริทันต์และปริมาณคราบหินปูนใต้เหงือก
หลังรักษาด้วยการขูดหินปูนและเกลารากฟันไป 4-6 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะนัดมาตรวจดูอาการอีกครั้ง หากยังมีร่องปริทันต์เหลืออยู่ หรือกระดูกยังมีการละลายตัวอยู่ ทันตแพทย์อาจต้องรักษาด้วยการผ่าเหงือกต่อไป
การรักษาโรคปริทันต์ระยะกลาง
การผ่าตัดเหงือก ทันตแพทย์จะผ่าตัดยกเหงือกเพื่อดูการอักเสบที่ลุกลามไปยังรากฟัน หรือกระดูกเบ้าฟัน และกำจัดคราบจุลินทรีย์ หินปูนออกหากมี จากนั้นจึงนำเหงือกกลับสู่ตำแหน่งเดิม วิธีนี้จะทำให้ร่องเหงือกตื้นขึ้น
บางกรณีหากทันตแพทย์พบว่า กระดูกเบ้าฟันถูกทำลายไปมาก อาจพิจารณาศัลยกรรมปลูกกระดูกทดแทน
การรักษาโรคปริทันต์ระยะท้าย
การถอนฟัน ทันตแพทย์จะใช้การถอนฟันเมื่อมีการละลายของกระดูกเบ้าฟันมากจนเกือบถึงปลายรากฟัน ฟันโยกมาก เพราะไม่มีกระดูกมายึดไว้
หากโรคดำเนินมาถึงขั้นนี้จะไม่สามารถให้การรักษาใดๆ ได้อีกแล้ว นอกจากต้องถอนฟันซี่นั้นออกไป
รักษาโรคปริทันต์ โรคปริทันต์อักเสบด้วยตัวเองได้ไหม?
เราไม่สามารถรักษาโรคปริทันต์ หรือโรคปริทันต์อักเสบด้วยตนเองได้ เนื่องจากสาเหตุสำคัญของโรคนี้เกิดจากสะสมของเชื้อโรคต่างๆ ที่หินปูน หรือหินน้ำลายในช่องปาก
วิธีรักษาที่สำคัญคือ ต้องกำจัดหินปูน หรือหินน้ำลายที่ฟัน ร่องฟัน และใต้เหงือกออกให้หมดเท่านั้น ซึ่งการแปรงฟันโดยทั่วไปไม่สามารถกำจัดหินปูน หรือหินน้ำลายได้ นอกจากการขูดหินปูนด้วยเครื่องมือทางทันตกรรมเท่านั้น
รวมทั้งการรักษาอาการอักเสบอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นใต้เหงือก เช่น เป็นฝี เป็นหนอง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการกรีดระบายหนองออกจากร่องลึกปริทันต์
สิ่งเดียวที่สามารถทำได้ด้วยตนเองคือ หลังการรักษาโรคปริทันต์แล้ว ต้องทำความสะอาดฟันและซอกฟันอย่างถูกวิธีด้วยไหมขัดฟันและแปรงสีฟันเป็นประจำทุกวัน
รวมทั้งต้องไปพบทันตแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อตรวจดูว่า “ยังมีรอยโรคอีกหรือไม่ ยังมีคราบจุลินทรีย์และหินปูนหลงเหลือจากการทำความสะอาดเอง หรือไม่” เพราะโรคปริทันต์อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก
โดยทั่วไปผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคปริทันต์ควรได้รับการขูดหินปูนทุกๆ 3-6 เดือน
หากเป็นผู้ป่วยเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีเพื่อให้การรักษาโรคปริทันต์ดีขึ้น เช่นเดียวกับผู้ที่สูบบุหรี่ที่ควรลด หรือเลิกการสูบบุหรี่ เพื่อให้การรักษาโรคปริทันต์ดีขึ้น
โรคปริทันต์ ปริทันต์อักเสบเป็นโรคในช่องปากที่น่ากลัว เสี่ยงต่อการเหงือกร่น และสูญเสียฟันได้ แม้รักษาให้อาการดีขึ้นได้ แต่ช่องปากของคุณก็อาจไม่สมบูรณ์ดังเดิมอีกต่อไป
ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้เป็นโรคปริทันต์ ปริทันต์อักเสบ ด้วยการใส่ใจช่องปากให้มาก ทำความสะอาดให้ถูกวิธีและสม่ำเสมอ รวมทั้งไปพบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน