การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นนวัตกรรมด้านสุขภาพรูปแบบใหม่ โดยใช้ความเย็นในการฟื้นฟูร่างกาย ทำให้อวัยวะภายในทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดอาการบาดเจ็บในร่างกาย
Cryotherapy นิยมใช้ในแวดวงของคนที่ออกกำลังกายและนักกีฬา เพราะช่วยลดอาการปวดและอักเสบของกล้ามเนื้อ ปัจจุบัน Cryotherapy ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีงานวิจัยออกมารับรองว่า การใช้ความเย็นบำบัด ทำให้เกิดกระบวนการซ่อมแซมและฟื้นตัวในร่างกาย และยังส่งผลดีต่อสภาวะทางจิตใจ ระบบภูมิคุ้มกันและฮอร์โมน ดังนั้น Cryotherapy ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนที่รักสุขภาพ ที่สะดวกและทำได้รวดเร็ว
สารบัญ
- Cryotherapy คืออะไร?
- Cryotherapy ทำงานอย่างไร?
- ประโยชน์ของ Cryotherapy
- ข้อดีของ Cryotherapy
- ข้อเสียของ Cryotherapy
- Cryotherapy เหมาะกับใคร?
- Cryotherapy ไม่เหมาะกับใคร
- ก่อนทำ Cryotherapy เตรียมตัวอะไรบ้าง?
- ขั้นตอนการทำ Cryotherapy
- การดูแลตัวเองหลังทำ Cryotherapy
- ผลข้างเคียงจากการทำ Cryotherapy
- ทำ Cryotherapy เห็นผลจริงไหม? กี่ครั้งเห็นผล
- ความเสี่ยงในการทำ Cryotherapy
Cryotherapy คืออะไร?
การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) คือ นวัตกรรมที่ใช้ความเย็นบำบัดจากไนโตรเจนเหลว ช่วยลดอาการปวดและบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ช่วยรักษาการอักเสบของอวัยวะ ทำลายเนื้อเยื่อที่ผิดปกติ รักษาโรคผิวหนัง ช่วยปรับสภาพผิวให้ดูอ่อนเยาว์สุขภาพดี โดยใช้ความเย็นในอุณหภูมิต่างๆ ทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดในบริเวณที่อักเสบลดลง จึงช่วยลดอาการบวมและอักเสบได้
Cryotherapy ทำงานอย่างไร?
การบำบัดด้วยความเย็น จะใช้ความเย็นบำบัดร่างกาย โดยผู้ใช้บริการต้องเข้าตู้แชมเบอร์เยือกแข็ง เมื่อร่างกายเจอความเย็นจนอุณหภูมิในร่างกายลดลง สมองจะพยายามควบคุมอุณหภูมิให้คงที่เพื่อให้อวัยวะสำคัญทำงานได้ปกติ (Vital Organ) โดยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เพื่อให้ออกซิเจนในเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายมากขึ้น อวัยวะต่างๆ จึงอาจทำงาน และกำจัดของเสียได้ดีขึ้น กระตุ้นให้อวัยวะต่างๆ ทำงานดีขึ้น
ประโยชน์ของ Cryotherapy
การทำ Cryotherapy ผู้ใช้บริการจะต้องเข้าไปอยู่ในตู้ในอุณหภูมิติดลบ ประมาณ 2–5 นาที เพื่อฟี้นฟูร่างกายและทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งประโยชน์ของการทำ Cryotherapy มีดังนี้
- ช่วยลดอาการไมเกรน ปวดต้นคอ
- ช่วยลดอาการบาดเจ็บ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกาย
- ช่วยเพิ่มคุณภาพการนอน
- ช่วยเพิ่มการเผาผลาญ ลดน้ำหนัก
- ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์
- ช่วยรักษาโรคเกี่ยวผิวหนัง ปรับสภาพผิวทำให้ผิวดูสุขภาพดี
ข้อดีของ Cryotherapy
การใช้ความเย็นบำบัด เป็นวิธีทางเลือกที่ไม่ต้องผ่าตัดและเจ็บน้อยกว่า ข้อดีของการทำ Cryotherapy มีดังนี้
- ไม่เสี่ยงกระทบกับอวัยวะภายใน
- สะดวก ใช้เวลาไม่นานในการทำ
- ประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการผ่าตัด
- อาจมีส่วนช่วยรักษาและป้องกันโรคได้หลากหลาย
ข้อเสียของ Cryotherapy
แม้ว่าการใช้ความเย็นบำบัด จะมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายด้าน แต่การทำ Cryotherapy ก็ยังมีข้อเสียที่ควรพิจารณาก่อนใช้บริการด้วย ดังนี้
- ต้องทำโดยทีมผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการอบรมเฉพาะทางเท่านั้น
- มีการประเมินและตรวจเช็กสุขภาพหลายขั้นตอนในการเตรียมความพร้อม
- เป็นเทคโนโลยีใหม่ในประเทศไทย ยังไม่ค่อยมีบริการที่แพร่หลาย
Cryotherapy เหมาะกับใคร?
การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลสุขภาพ และบรรเทาอาการของโรคประจำตัวเรื้อรังบางชนิด ในระหว่างการทำ Cryotherapy ผู้รับการบำบัดจะมีอาการเจ็บเล็กน้อย โดยการทำ Cryotherapy อาจเหมาะกับกลุ่มคนต่อไปนี้
- คนที่มีปัญหากล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อบาดเจ็บ
- คนที่เป็นโรคผิวหนัง เช่น กระเนื้อ โรคผิวหนังภูมิแพ้
- คนที่ต้องการลดน้ำหนัก
- คนที่เป็นโรคไมเกรน
Cryotherapy ไม่เหมาะกับใคร
การบำบัดด้วยความเย็น (Cryotherapy) อาจไม่เหมาะกับผู้ที่ร่างกายไม่สามารถทนความเย็นในจุดเยือกแข็งได้ ดังนี้
- คนที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป
- คนที่มีโรคหลอดเลือดอุดตัน หรือมีประวัติเป็นโรคดังกล่าวมาก่อน
- คนที่มีภาวะตัวเย็นเกิน อุณหภูมิร่างกายต่ำ
- คนที่เป็นโรคภูมิแพ้อากาศหนาว
- คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
- คนที่มีแผลเปิด
- คนที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคเกี่ยวกับระบบการทำงานของหัวใจ
- คนที่มีภาวะโลหิตจาง
- คนที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ
ก่อนทำ Cryotherapy เตรียมตัวอะไรบ้าง?
ก่อนเข้าทำ Cryotherapy ควรงดรับประทานยาแอสไพรินและยากลุ่มที่ช่วยละลายลิ่มเลือด (Blood Thinners) นอกจากนี้ ก่อนเข้าทำบริการจริง ผู้รับบริการ ไม่ควรดื่มน้ำและรับประทานอาหาร งดแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่อย่างน้อย 4 ชั่วโมง ก่อนทำบริการ
ขั้นตอนการทำ Cryotherapy
การทำ Cryotherapy จะใช้ความเย็นในระดับอุณหภูมิต่างๆ มาบำบัดร่างกาย ผู้เข้าใช้บริการจะต้องเข้าตู้แชมเบอร์เยือกแข็ง เพื่ออบไอเย็นประมาณ 2–5 นาที ซึ่งขั้นตอนการทำ Cryotherapy มีดังนี้
- ตรวจร่างกาย วัดความดันและชีพจร ว่าผ่านเกณฑ์หรือไม่?
- ทำแบบทดสอบเพื่อประเมินความสามารถในการทนความเย็น (Cold Tolerance of the Body)
- เปลี่ยนชุดสำหรับทำ Cryotherapy
- เข้าใช้บริการ Cryotherapy โดยใช้ความเย็นบำบัดร่างกาย
การดูแลตัวเองหลังทำ Cryotherapy
หลังทำบริการ Cryotherapy ผู้เข้ารับบริการสามารถกลับมาทำกิจกรรมอื่นๆได้ อย่างไรก็ดี ก็มีข้อควรระวังที่ควรหลีกเลี่ยงเล็กน้อย ดังนี้
- ควรหลีกเลี่ยงการอบซาวน่า และงดการแช่น้ำอุ่น อย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อระดับอุณหภูมิในร่างกายกลับสู่ปกติ
ผลข้างเคียงจากการทำ Cryotherapy
ผู้ใช้บริการบางราย อาจมีอาการชา รู้สึกคล้ายเข็มทิ่ม เจ็บบริเวณที่รักษา มีรอยแดงบนผิว ซึ่งเป็นอาการปกติที่พบได้หลังทำการบำบัดเย็น อาการเหล่านี้จะหายไปได้ภายใน 3 วัน หลังจากที่ร่างกายกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ดี หากมีผิวมีอาการอักเสบกว่าเดิม หรือ เริ่มมีไข้เกิน 38 องศา ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ทำ Cryotherapy เห็นผลจริงไหม? กี่ครั้งเห็นผล
ความถี่ในการบำบัดความเย็น ขึ้นอยู่กับโรคหรืออาการบาดเจ็บที่ต้องการรักษา โดยหากต้องการฟื้นฟูสุขภาพทั่วไป แนะนำให้ทำ Cryotherapy 2–3 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองต่อความเย็นเป็นระยะ นอกจากนี้ การทำ Cryotherapy ครั้งแรก จะช่วยลดความเครียดได้ แต่อาจไม่ได้เห็นผลด้านสุขภาพ ควรมีทำต่อเนื่องสม่ำเสมอ
ความเสี่ยงในการทำ Cryotherapy
ไนโตรเจนเหลวที่ใช้ในการทำ Cryotherapy อาจทำให้เกิดความเสี่ยงระหว่างการทำ เช่น ภาวะพร่องออกซิเจน ภาวะขาดอากาศหายใจ และหากสารทำความเย็นโดนดวงตา อาจทำให้เป็นอันตรายได้ ดังนั้นก่อนการทำ Cryotherapy ผู้รับบริการ จะต้องผ่านตรวจร่างกายจากแพทย์ และในระหว่างทำ Cryotherapy จะมีทีมแพทย์ดูแลตลอดการรักษาเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
การบำบัดความเย็น (Cryotherapy) เป็นการรักษาด้วยความเย็นรูปแบบใหม่ ที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพและระบบภายในได้หลากหลาย นิยมกันมากในกลุ่มคนที่ออกกำลังกาย เนื่องจากทำง่าย ไม่ต้องเจ็บตัวมาก คำแนะนำสำหรับคนที่สนใจทำ Cryotherapy ควรเลือกทำกับผู้เชี่ยวชาญ และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น และสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล หรือผู้ให้บริการก่อนตัดสินใจทำ Cryotherapy เพื่อไม่ให้กระทบกับแผนการรักษาโรคนั้นๆ