เราทุกคนล้วนต้องเคยผ่านช่วงเวลาบิดหรือโยกฟันน้ำนมให้หลุดออกกันทุกคน อย่างไรก็ตาม ในเด็กบางคนก็ไม่สามารถถอนฟันน้ำนมออกเองได้และต้องพึ่งพาทันตแพทย์เป็นผู้ช่วยถอนฟันน้ำนมให้ แล้วกรณีนี้จะขึ้นได้เมื่อไร ใครควรไปถอนฟันน้ำนมกับคุณหมอ แล้วดูแลเหงือกหลังถอนฟันน้ำนมอย่างไร ตามมาดูกัน
สารบัญ
ถอนฟันน้ำนมคืออะไร?
ถอนน้ำฟันน้ำนม คือ กระบวนการถอนฟันประเภทฟันน้ำนมออกจากช่องปาก เป็นกระบวนการที่มักเกิดขึ้นในเด็กช่วงอายุ 6-12 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ฟันน้ำนมจะเริ่มหลุดออกจากเหงือก และมีฟันแท้ขึ้นมาแทน
การถอนฟันน้ำนมสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
- ถอนฟันน้ำนมด้วยตนเอง โดยสามารถถอนได้หากฟันน้ำนมซี่นั้นๆ ใกล้หลุดเต็มทีหรือโยกมากจนใกล้หลุดแล้ว เด็กหรือผู้ปกครองสามารถใช้ลิ้นดุนหรือเอามือถอนออกเองได้
- ถอนฟันน้ำนมกับทันตแพทย์ เป็นกระบวนการถอนฟันน้ำนมโดยทันตแพทย์เป็นผู้กระทำให้ มักเกิดขึ้นในกรณีที่ฟันน้ำนมหลุดช้า หรือมีเงื่อนไขด้านสุขภาพฟันอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
ถอนฟันน้ำนมช่วยอะไรได้บ้าง?
การถอนฟันน้ำนมมีประโยชน์ต่อสุขอนามัยและการใช้งานฟันทุกซี่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพหลายอย่าง เช่น
- เพื่อกำจัดฟันน้ำนมที่ขึ้นเกินหรือไปซ้อนเกเบียดกับฟันน้ำนมซี่อื่น
- เพื่อเปิดพื้นที่ให้ฟันแท้ขึ้นได้เต็มซี่และอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม โดยไม่มีฟันน้ำนมตั้งขวางจนเสี่ยงทำให้ฟันแท้เกิดปัญหาเกหรือล้มได้ในภายหลัง
- เพื่อรักษาโรคหรือความผิดปกติในช่องปาก เช่น ฟันน้ำนมผุ บิ่น หรือแตกอย่างรุนแรงจนเด็กปวดฟันมาก และเสี่ยงไปกระทบกับหน่อฟันแท้ที่กำลังจะขึ้นจนทำให้ฟันแท้เสียหายไปด้วย
ใครควรถอนฟันน้ำนม
เราทุกคนต้องถอนฟันน้ำนมทุกซี่ออกเพื่อหลีกทางให้ฟันแท้ขึ้นแทนอย่างครบถ้วน แต่จะถอนเองหรือถอนกับทันตแพทย์นั้น ก็ควรให้ทันตแพทย์เป็นผู้พิจารณาและให้คำแนะนำในการถอนฟันน้ำนมแต่ละซี่กับผู้ปกครองเอง
เพราะการถอนฟันน้ำนมเองโดยไม่มีความรู้ด้านการทำทันตกรรมหรือการดูแลแผลหลังถอนฟัน อาจเสี่ยงทำให้เหงือกบริเวณดังกล่าวเกิดปัญหาบาดเจ็บหรือมีเลือดไหลไม่หยุดได้ รวมถึงทำให้เด็กต้องเผชิญกับอาการเจ็บแผลจนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้หลังจากนั้น
การเตรียมตัวก่อนถอนฟันน้ำนม
เพื่อให้การถอนฟันน้ำนมของเด็กสำรวจลุล่วงตามเป้าหมายทุกซี่ ผู้ปกครองจึงต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้า ดังต่อไปนี้
- พาเด็กไปถอนฟันในวันที่เด็กสุขภาพแข็งแรง หากเด็กมีไข้ มีอาการไอ มีเสมหะ หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ให้เลื่อนนัดถอนฟันออกไปจนกว่าเด็กจะหายดี
- ควรให้เด็กมาตรวจสุขภาพฟันและปรึกษาทันตแพทย์ก่อน เพื่อให้เด็กได้สร้างความคุ้นกับสถานที่ทำทันฟัน รวมถึงเพื่อให้ทันตแพทย์ช่วยวางแผน กำหนดฟันซี่ที่จะถอนให้ล่วงหน้า และจะได้ตรวจเช็กดูความสมบูรณ์ของสุขภาพช่องปากด้านอื่นๆ ไปด้วย
- ให้เด็กแปรงฟันมาให้สะอาดก่อนเดินทางไปคลินิกทันตกรรม
- อย่าให้เด็กกินอาหารมากเกินไปก่อนมาถอนฟัน เพราะการอ้าปากและการใส่เครื่องมือเข้าไปในช่องปากนานๆ อาจทำให้เด็กรู้สึกอยากอาเจียนระหว่างถอนฟันได้
- ตั้งสติ วางแผนรับมือกับเด็กไว้ล่วงหน้า เพราะเด็กหลายคนมักมีอาการหวาดกลัวเมื่อเจอทันตแพทย์ เด็กบางคนอาจต่อต้านไม่ยอมขึ้นเตียงนอนในห้องทันตกรรม ผู้ปกครองควรเตรียมแผนรับมือเพื่อให้เด็กยินยอมให้ทันตแพทย์ถอนฟันน้ำนมตามแผนการรักษา อาจเตรียมสิ่งเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ตุ๊กตาหรือของเล่น หรือแท็บเล็ตที่มีการ์ตูนที่เด็กชอบไปด้วย หรือหากจำเป็น ก็อาจต้องยอมให้ทางคลินิกทันกรรมเอาผ้ารัดตัวเด็กไว้ให้อยู่นิ่งๆ ระหว่างถอนฟันน้ำนม
- เลือกทันตแพทย์ที่สามารถรับมือเด็กได้ หรือเลือกสถานพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญในการรับมือกับผู้เข้ารับบริการวัยเด็ก เพื่อลดบรรยากาศตึงเครียดและไม่ทำให้เด็กกลัวทันตแพทย์จนเกินไป
ขั้นตอนถอนฟันน้ำนม
ขั้นตอนการถอนฟันน้ำนมอาจแตกต่างกันไปตามสถานพยาบาลแต่ละแห่ง บางแห่งหากทางผู้ปกครองกับทันตแพทย์มีการตรวจสุขภาพฟันเด็กและวางแผนการถอนฟันน้ำนมไว้ล่วงหน้าแล้ว ก็อาจเริ่มการถอนฟันน้ำนมได้ทันที
แต่ในบางสถานพยาบาลจะมีการตรวจฟันก่อนในช่วงเริ่มต้น จากนั้นทันตแพทย์จึงค่อยถอนฟันน้ำนมให้ โดยขั้นตอนหลักๆ ของการถอนฟันน้ำนมทั้งหมด มีดังต่อไปนี้
- ทันตแพทย์เอกซเรย์ดูโครงสร้าง ลักษณะรากฟัน และตำแหน่งของฟันน้ำนมแต่ละซี่
- หลังจากวางแผนการถอนฟันน้ำนมเสร็จแล้ว ทันตแพทย์จะเริ่มทายาชาที่เหงือกให้เด็ก โดยเป็นยาชาที่ปลอดภัย ไม่ส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพของเด็กแต่อย่างใด
- ทันตแพทย์ใช้เครื่องมือถอนเอาฟันน้ำนมออกอย่างระมัดระวัง
- ทันตแพทย์ใช้ผ้าก๊อซกดลงที่เหงือกบริเวณที่ถอนฟัน หรืออาจให้เด็กกัดผ้าก๊อซทิ้งไว้เพื่อห้ามเลือดประมาณ 20 นาที หากเลือดหยุดไหลแล้ว ก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้
การดูแลหลังถอนฟันน้ำนม
หลังจากผ่านไป 2-3 วัน เหงือกที่เพิ่งผ่านการถอนฟันน้ำนมจะกลับมาสมานตัวเป็นปกติอีกครั้ง แต่ผู้ปกครองก็ยังต้องดูแลสุขอนามัยและสุขภาพเหงือกอย่างเหมาะสม เพื่อให้เหงือกฟื้นตัวและไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก เช่น
- ให้กินยาแก้อักเสบหรือยาแก้ปวดหากเด็กมีอาการเจ็บเหงือก แต่ควรเป็นยาที่สั่งจ่ายโดยทันตแพทย์เท่านั้น
- ประคบเย็น หากเด็กยังปวดระบมเหงือกหลังจจากถอนฟัน
- ให้เด็กกินอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก ซุป ข้าวต้ม อาหารบด อาหารไม่เผ็ดและไม่รสจัดในช่วง 2-3 วันแรกหลังถอนฟัน เพื่อให้แผลถอนฟันกระทบกระเทือนน้อยและไม่รู้สึกแสบร้อนเหงือก
ถอนฟันน้ำนมเจ็บไหม?
ในกรณีถอนฟันน้ำนมด้วยตนเอง หากฟันน้ำนมซี่นั้นๆ หลุดพ้นจากเหงือกแทบทั้งหมดแล้วและโยกตัวค่อนข้างเยอะ ฟันก็มักจะหลุดออกมาเองโดยแทบไม่รู้สึกเจ็บเหงือกใดๆ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการดึงถอนฟันน้ำนมของเด็กแต่ละคนด้วย และควรให้ผู้ปกครองเป็นคนดูแลอย่างใกล้ชิด
แต่ในกรณีที่ต้องถอนฟันน้ำนมทั้งซี่ออกจากตัวเหงือก โดยที่ตัวฟันยังมั่นคงหรือโยกเพียงเล็กน้อย เด็กก็อาจรู้สึกตึงหรือระบมเหงือกได้บ้าง แต่โดยปกติยาชาที่ทันตแพทย์ทาให้จะช่วยระงับอาการเหล่านั้นในระหว่างการทำหัตถการได้ และไม่ทำให้เด็กรู้สึกเจ็บจนทนไม่ไหวแต่อย่างใด
ถอนฟันน้ำนมแล้วฟันแท้จะขึ้นไหม?
ไม่ว่าจะถอนฟันน้ำนมด้วยตนเองหรือกับทันตแพทย์ ฟันแท้ของเด็กทุกคนจะงอกตามขึ้นมาในภายหลังอยู่เสมอ และจะขึ้นครบอย่างเต็มที่เมื่อเด็กอายุได้ประมาณ 12-13 ปี
ในระหว่างนั้นผู้ปกครองยังต้องพาเด็กไปตรวจฟันทุกๆ 6 เดือนหรือปีละ 2 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ และสอนให้เด็กรู้จักการดูแลทำความสะอาดฟันด้วยตนเองอยู่เป็นประจำ