โรคหัวใจ เป็นปัญหาสุขภาพที่หลายคนเป็นกังวล การรับรู้ถึงสัญญาณเตือนตั้งแต่เนิ่นๆ สามารถช่วยป้องกันภาวะที่รุนแรงได้ บทความนี้ชวนมาเช็ก 10 สัญญาณที่อาจบ่งบอกว่าคุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ รวมทั้งปัจจัยที่กระตุ้นให้คุณเสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น รู้ก่อน! จะได้เลี่ยงได้ทัน
สารบัญ
10 สัญญาณที่บอกให้รู้ว่า คุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
บางครั้งอาการของโรคหัวใจอาจคล้ายคลึงกับโรคอื่นๆ ได้บ้าง เช่น โรคกรดไหลย้อน ทำให้หลายคนอาจสับสน หรือไม่มั่นใจว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เป็นสัญญาณของโรคหัวใจหรือเปล่า แต่หากเช็กแล้วว่า คุณกำลังมีอาการดังต่อไปนี้ แนะนำให้รีบพบแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองเพิ่มเติม เพราะคุณอาจกำลังเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
1. เจ็บหรือแน่นหน้าอก
อาการเจ็บหรือแน่นบริเวณกลางหน้าอก เป็นหนึ่งในสัญญาณที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะเมื่อออกแรงมากๆ หรือมีความเครียด โดยอาการเจ็บแน่นหน้าอกนี้ มักจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าหลอดเลือดหัวใจมีการตีบหรือตัน ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากมีอาการนานเกิน 10-15 นาที ควรแจ้งญาติทันที และรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
2. หายใจลำบาก หายใจไม่ออก
หากคุณรู้สึกหายใจไม่ออก หรือหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ร่วมกับรู้สึกเจ็บ จุก แน่นหน้าอก เมื่อต้องทำกิจกรรมที่เคยทำได้อย่างสบายๆ หรือมีอาการในขณะนอนราบ นี่อาจเป็นสัญญาณว่าหัวใจของคุณไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจหายสาเหตุให้แน่ชัด
3. ใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การเต้นผิดจังหวะของหัวใจ เป็นสัญญาณของความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างบ่อยในผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยสาเหตุหลักๆ เกิดจากความผิดปกติของการนำไฟฟ้าในห้องหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจากที่ควรจะเป็น โดยมากมักเป็นการเต้นเร็วกว่าเดิม โดยไม่สัมพันธ์กับกิจกรรมใดๆ เลย
กล่าวคือ ตามปกติหากเราออกแรงหรือออกกำลังกาย หัวใจจะค่อยๆ เต้นเร็วขึ้นเรื่อยๆ แต่ในผู้ที่หัวใจเต้นผิดปกติ แม้จะนั่งอยู่เฉยๆ หรือทำกิจกรรมเดิม หัวใจก็อาจเต้นเร็วขึ้นถึง 150 ครั้งต่อนาทีได้
บางครั้งอาจรู้สึกว่าหัวใจเต้นสะดุด ใจสั่น ใจหาย หรือหัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ ซึ่งอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือวูบหมดสติร่วมด้วย
4. บวมที่ขา หรือข้อเท้า
อาการบวมที่ขา หรือข้อเท้า แม้ดูจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่จริงๆ แล้วเป็นหนึ่งในสัญญาณของโรคหัวใจ ซึ่งเกิดจากการที่หัวใจด้านขวาทำงานลดลง ไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เลือดจึงไหลจากขากลับสู่หัวใจได้ไม่สะดวก ทำให้เกิดเลือดค้างอยู่บริเวณขา ทำให้ขา หรือเท้าบวม หากลองกดจะพบว่าเนื้อบุ๋มลงไปตามแรงกดแล้วคืนตัวช้า
5. อ่อนเพลีย หรือ เหนื่อยง่ายผิดปกติ
อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้าง่าย แม้จะไม่ได้ทำกิจกรรมหนักๆ เลย เป็นอีกหนึ่งสัญญาณของโรคหัวใจ ซึ่งอาจบ่งบอกว่า หัวใจกำลังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้อย่างเป็นปกติ จนทำให้อวัยวะบางส่วนขาดเลือด และออกซิเจนไปหล่อเลี้ยง ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
6. เวียนศีรษะหรือหน้ามืด
หากคุณรู้สึกเวียนศีรษะหรือหน้ามืดบ่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อเปลี่ยนท่าทาง เช่น การลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจบ่งบอกถึงปัญหาการไหลเวียนเลือดที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ
7. เหงื่อออกมากเกินไป
เหงื่อออกมากเกินไป โดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ความร้อนหรือการออกกำลังกาย อาจเป็นสัญญาณของหัวใจที่ทำงานหนัก หรือภาวะหัวใจขาดเลือดได้เช่นกัน
8. ปวดหรืออึดอัดบริเวณแขน คอ หรือกราม
อาการปวดในบริเวณแขน คอ หรือกราม โดยเฉพาะด้านซ้าย อาจเป็นสัญญาณที่แสดงว่าหัวใจของคุณกำลังเผชิญกับภาวะขาดเลือด ในบางรายอาการเหล่านี้ อาจเกิดร่วมกับการเจ็บหน้าอกด้วย
9. คลื่นไส้หรืออาเจียน
อาการคลื่นไส้หรืออาเจียนที่เกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน เช่น ลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะหัวใจขาดเลือดได้ โดยเฉพาะในผู้หญิง
10. หายใจขัดหรือหายใจหอบ
การหายใจขัดที่ไม่ได้เกิดจากโรคทางเดินหายใจ หรือหายใจหอบ หายใจไม่ทันเมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่เคยทำได้โดยไม่มีปัญหา อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างเพียงพอ
เมื่อรู้ตัวว่า มีอาการผิดปกติและเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ แนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์ ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งป้องกันภาวะที่รุนแรงได้เร็ว ดังนั้น อย่าละเลยสัญญาณที่ร่างกายกำลังเตือนคุณ
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจที่คุณควรรู้
การมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง หรือการไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ทั้งสิ้น
ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจัยทางสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และคอเลสเตอรอลสูง ยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดตีบตันอีกด้วย นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคหัวใจ ก็มีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นโรคหัวใจสูงกว่าคนทั่วไป
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและดูแลสุขภาพ เช่น การออกกำลังกายเป็นประจำ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม และเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจหัวใจอย่างสม่ำเสมอ พร้อมกับหมั่นสังเกตความผิดปกติต่างๆ ในร่างกาย เป็นวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรคหัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การเข้าใจปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจและส่งเสริมให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้นในระยะยาวได้
สัญญาณมาครบ อยากตรวจให้แน่ชัด ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหัวใจ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย