preterm labor risk and prevention disease definition scaled

คลอดก่อนกำหนด คุณแม่ตั้งครรภ์เลี่ยงได้ แค่รู้ปัจจัยเสี่ยงและสัญญาณเตือน

คลอดก่อนกำหนดหรือภาวะเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด (Preterm labor หรือ Premature labor) เป็นภาวะที่คุณแม่คลอดทารกก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการชีวิตและพิการได้สูง และยังผลกระทบต่อตัวคุณแม่เองด้วย 

คลอดก่อนกำหนดเป็นภาวะที่เกิดได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน โดยมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น การตั้งครรภ์ตอนอายุมาก โรคประจำตัวของคุณแม่ หรือการใช้ยา ถ้าคุณแม่รู้สิ่งเหล่านี้ก่อน จะได้รู้ทันความเสี่ยง และดูแลครรภ์ได้ถูกวิธีด้วย

คลอดก่อนกำหนด คืออะไร แบบไหนเข้าข่ายคลอดก่อนกำหนด

เมื่อคุณแม่ฝากครรภ์แล้ว คุณหมอจะเป็นคนช่วยประเมินกำหนดการคลอดให้คร่าว ๆ โดยคำนวณจากประวัติการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายของคุณแม่ อายุครรภ์ปกติจะอยู่ระหว่าง 38–40 สัปดาห์ คุณแม่ที่คลอดทารกในช่วงนี้ถือว่าครบกำหนดคลอด (Full term) 

ส่วนคุณแม่ที่คลอดทารกก่อนอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์เต็ม จะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนด หรือภาวะเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนดนั่นเอง นอกจากนี้ ระยะการคลอดก่อนกำหนดยังแบ่งย่อยลงมาอีก คือ 

  • อายุครรภ์ 34–36 สัปดาห์ (Late preterm) เป็นกลุ่มการคลอดก่อนกำหนดที่พบบ่อยที่สุด ทารกจะมีลักษณะภายนอกปกติดี แต่อวัยวะภายในอาจผิดปกติ และมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย
  • อายุครรภ์ 24–33 (Early preterm) ทารกมักจะมีความผิดปกติหรือมีปัญหาสุขภาพ เพราะอวัยวะภายในยังพัฒนาไม่เต็มที่ และมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย
  • อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ มักจะแท้ง ทารกเสียชีวิต หรือมีโอกาสรอดน้อยมาก

ระยะการคลอดก่อนกำหนดแต่ละสถาบันอาจจะกำหนดแตกต่างกันไปบ้างเล็กน้อย พอสรุปได้ว่าการคลอดในช่วงอายุครรภ์ 24–36 สัปดาห์ หรือไม่ครบ 37 สัปดาห์เต็ม จะถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนด 

กรณีไม่รู้อายุครรภ์หรืออายุครรภ์ไม่แน่นอนจะนับเอาน้ำหนักตัวแรกเกิดของทารกเป็นเกณฑ์ คือ น้ำหนักตัวแรกเกิด 500 กรัมขึ้นไป

สาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คุณแม่ต้องคลอดก่อนกำหนด

การคลอดก่อนกำหนดมักไม่พบสาเหตุชัดเจน บางส่วนที่ทราบสาเหตุ มักจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่างต่อไปนี้

สุขภาพพื้นฐานของคุณแม่หรือโรคประจำตัว

  • ปากมดลูกสั้น มีความยาวของปากมดลูกไม่ถึง 2.5 เซนติเมตร ในช่วงอายุครรภ์ 16–24 สัปดาห์ เป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดมากกว่าปัจจัยอื่น 
  • อายุของคุณแม่ คุณแม่ตั้งครรภ์ตอนอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปีขึ้น จะมีแนวโน้มคลอดทารกก่อนกำหนด 
  • น้ำหนักตัวของคุณแม่ก่อนหรือช่วงตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ หรือน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์ ล้วนเพิ่มความเสี่ยงให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนดได้ 
  • โรคประจำตัวของคุณแม่ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไทรอยด์ และโรคหอบหืด 
  • มีประวัติการแท้ง คุณแม่ที่เคยผ่านการแท้งมาก่อน หรือแท้งหลายครั้งจะมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดในท้องถัดไปมากขึ้น
  • มีประวัติคลอดก่อนกำหนด ถ้าคุณแม่หรือคนในครอบครัวมีประวัติการคลอดก่อนกำหนด โอกาสที่คุณแม่จะคลอดก่อนกำหนดมักมีมากขึ้นถึง 50%
  • มีประวัติผ่าตัดหรือขูดมดลูก เช่น การผ่าตัดบริเวณปากมดลูก เคยได้รับการขูดมดลูกหลายครั้ง
  • ระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์สั้นกว่า 6 เดือน การตั้งครรภ์แต่ละครั้งควรห่างกันอย่างน้อย 18 เดือนขึ้นไป ถ้าน้อยกว่านั้นอาจเพิ่มความเสี่ยงให้คลอดก่อนกำหนดได้

ปัญหาและภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์

  • ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้ต้องยุติการตั้งครรภ์ก่อน เช่น ครรภ์เป็นพิษ ทารกในครรภ์มีภาวะเจริญเติบโตผิดปกติ ทารกโครโมโซมผิดปกติ 
  • การตั้งครรภ์แฝด ประมาณ 60% ของการตั้งครรภ์แฝดหรือจำนวนทารกในครรภ์มากกว่า 1 คน มักมีภาวะคลอดก่อนกำหนด 
  • การติดเชื้อในร่างกาย เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) โรคหัดเยอรมัน การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และการติดเชื้อในช่องคลอด 
  • ความผิดปกติของโพรงมดลูกหรือปากมดลูก มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ เช่น ปากมดลูกปิดไม่สนิท ภาวะรกเกาะต่ำ และภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด 
  • ความผิดปกติของน้ำคร่ำและถุงน้ำคร่ำ เช่น ปริมาณน้ำคร่ำน้อยหรือมากไป ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด
  • ภาวะโภชนาการไม่ดี มีภาวะขาดสารอาหาร หรือขาดสารอาหารที่จำเป็นในการตั้งครรภ์ เช่น โฟลิค ธาตุเหล็ก หรือสังกะสี

พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่ 

  • ภาวะที่เกิดขึ้นทางด้านจิตใจ เช่น ภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้า การใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว
  • พฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่มือสองมาก ๆ โดยเฉพาะช่วงอายุครรภ์ยังน้อย การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด และการใช้เสพสารเสพติดทุกชนิดขณะตั้งครรภ์ 
  • การทำงานหนักในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ที่ทำงานหนักมากกว่า 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือทำอาชีพที่ต้องยืนมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน

สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด มีอะไรบ้าง

สัญญาณเตือนที่บอกว่าอาจคลอดก่อนกำหนด และควรรีบไปพบคุณหมอโดยเร็ว คือ 

  • รู้สึกลูกดิ้นน้อยกว่าปกติ
  • ปวดหลังช่วงล่างหรือบริเวณเอวต่อเนื่องหรือเป็น ๆ หาย ๆ แม้จะเปลี่ยนท่าทาง
  • ปวดหน่วงท้องน้อย อาจปวดร้าวลงไปที่ขาหนีบและหน้าขา 
  • ปวดท้องเป็นพัก ๆ คล้ายกับตอนคุณแม่มีประจำเดือน รู้สึกได้ว่ามดลูกมีการบีบหดรัดตัวถี่ขึ้นกว่าปกติ และมีการบีบหดรัดตัวอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุก ๆ 10 นาที หรือทุก ๆ ครึ่งชั่วโมง
  • มีอาการน้ำเดิน มีน้ำไหลออกจากช่องคลอด เกิดจากถุงน้ำคร่ำแตกหรือรั่ว ทำให้มีน้ำคร่ำไหลออกมา มักเกิดตอนสู่ระยะใกล้คลอด บางครั้งก็เป็นสัญญาณเตือนของการคลอดก่อนกำหนดได้จากการบีบตัวแรงของมดลูก หรือการกระแทกจากอุบัติเหตุ
  • มีมูกเลือดออกมาทางช่องคลอด โดยอาจมีสีน้ำตาลปนเลือด หรือมีมูกข้นเป็นก้อนหลุดออกมา

อันตรายของการคลอดก่อนกำหนด เด็กคลอดก่อนกำหนด

ยิ่งคุณแม่คลอดก่อนกำหนดมากเท่าไร ยิ่งเป็นอันตรายต่อทารกมากเท่านั้น รวมถึงสุขภาพของตัวคุณแม่เองด้วย 

ปัญหาสุขภาพของทารกที่คลอดก่อนกำหนด

การคลอดก่อนกำหนดทำให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายของเด็กยังพัฒนาไม่สมบูรณ์เต็มที่ โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญอย่างปอด หัวใจและหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น

  • น้ำหนักตัวน้อย น้ำหนักตัวของทารกที่คลอดจากอายุครรภ์ปกติ จะมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 2,5003,000 กรัม ส่วนเด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักมีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม ยิ่งทารกคลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 3032 สัปดาห์ อาจมีน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม 
  • ตัวเหลืองหลังคลอด เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักจะมักจะมีอาการตัวเหลืองทุกคน ขึ้นอยู่กับว่าต้นเหตุมาจากไหน หรือรุนแรงจนต้องเปลี่ยนถ่ายเลือดหรือไหม 
  • โรค RDS (Respiratory distress syndrome) หรือภาวะหายใจลำบาก เกิดจากปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ถุงลมในปอดไม่มีสารช่วยยืดหยุ่นหรือลดการต้านทาน 
  • ภาวะติดเชื้อ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย เช่น การติดเชื้อในทางเดินหายใจ การติดเชื้อในกระแสเลือด 
  • ภาวะเลือดออกในสมอง (Intraventricular hemorrhage: IVH) พบได้บ่อยในทารกน้ำหนักตัวน้อยมาก ๆ 
  • ภาวะลำไส้ไม่ทำงาน (Necrotizing Enterocolitis: NEC) ลำไส้ของทารกอาจเกิดการติดเชื้อและอักเสบอย่างรุนแรง ทำให้เกิดภาวะลำไส้เน่าตายจากการขาดเลือด
  • ภาวะจอประสาทตาผิดปกติ (Retinopathy of prematurity: ROP) เป็นผลมาจากหลอดเลือดที่ตายังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ทารกอาจตาบอดได้เมื่อไม่ได้รับการรักษา
  • การเจริญเติบโตได้ช้า จากการที่อวัยวะต่าง ๆ พัฒนาไม่สมบูรณ์เท่ากับเด็กทั่วไป ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักจะโตช้า และยังมีปัญหาในด้านพัฒนาการตอนโตขึ้น

นอกจากนี้ ทารกคลอดก่อนกำหนดในช่วงอายุครรภ์น้อยมาก ๆ มักจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง จนถึงขั้นทำให้ทารกเสียชีวิตได้ 

ปัญหาสุขภาพของคุณแม่

แม้ว่าการคลอดก่อนกำหนดมักจะส่งผลกับตัวทารกได้มากกว่าคุณแม่ แต่คุณแม่เองมักจะเผชิญกับความวิตกกังวลเกี่ยวตัวสุขภาพของลูก และภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ง่ายขึ้น 

รวมถึงกระทบกับสายสัมพันธ์แม่ลูก (Bonding) ​จากการที่ทารกต้องเข้ารับการรักษาจากภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เวลาที่คุณแม่ในการเลี้ยงลูกทารกลดลง

เลี่ยงภาวะคลอดก่อนกำหนด คุณแม่ดูแลตัวเองอย่างไร 

ภาวะคลอดก่อนกำหนดเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุป้องกันได้ยาก บางสาเหตุสามารถเลี่ยงได้ เบื้องต้นคุณแม่สามารถทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ได้

เข้ารับการตรวจตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์
ก่อนการตั้งครรภ์คุณแม่ควรตรวจสุขภาพ เพื่อจะได้ตรวจเช็กร่างกายว่าอยู่ในสภาพปกติ และพร้อมต่อการตั้งครรภ์ หรือคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว จะได้รักษาโรค หรือควบคุมโรคให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก่อนการตั้งครรภ์ 

ฝากครรภ์ตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์
การไม่ได้ฝากครรภ์หรือได้รับการฝากครรภ์ช้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณแม่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด เมื่อรู้ตัวว่ากำลังตั้งครรภ์ คุณแม่ควรรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด หรืออายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เพราะตัวคุณแม่เองและตัวเล็กในท้องจะได้รับการดูแลจากคุณหมออย่างใกล้ชิด 

นอกจากนี้ ถ้าคุณแม่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดหรือความเสี่ยงอื่น ๆ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบด้วย 

เข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด
ในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 1822 สัปดาห์ (ไตรมาสที่ 2) คุณแม่ควรตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด เพื่อให้คุณหมอตรวจดูปากมดลูกว่าสั้นกว่าเกณฑ์หรือไม่ 

กรณีตรวจเจอปากมดลูกสั้นกว่าเกณฑ์ คุณหมออาจให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนทางช่องคลอด เย็บปากมดลูก หรือใส่ห่วงซิลิโคน เพื่อป้องกันปากมดลูกสั้นลง  

รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์
น้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นเยอะเกินไประหว่างตั้งครรภ์ จะเพิ่มความเสี่ยงให้คุณแม่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และครรภ์เป็นพิษ จนนำไปสู่ภาวะการคลอดก่อนกำหนดได้ 

เช่นเดียวกับคุณแม่ที่น้ำหนักตัวน้อยหรือต่ำกว่าเกณฑ์ ก็เพิ่มความเสี่ยงให้คลอดก่อนกำหนดได้ คุณแม่ควรรักษาน้ำหนักให้เหมาะสมตามคำแนะนำของคุณหมอ โดยเฉลี่ยแล้วน้ำหนักตัวคุณแม่ตอนตั้งครรภ์ควรเพิ่มจากเดิมประมาณ 315 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับดัชนีมวลกาย (BMI) ​ของคุณแม่ก่อนการตั้งครรภ์ด้วย 

ดูแลรักษาสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์
การดูแลสุขภาพของตัวเองระหว่างตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน กินวิตามินบำรุงครรภ์ตามคุณหมอแนะนำ ดื่มน้ำเยอะ ๆ หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินเป็นเวลานาน ไม่ยกของหนัก และไม่อั้นปัสสาวะ

คุณแม่ควรทำจิตใจให้ผ่อนคลาย สดชื่น ไม่เครียด ไม่ควรสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติด สำหรับการออกกำลังกาย ไม่ควรหักโหม ออกกำลังกายประเภทที่หนักหรือต้องออกแรงมากไป และไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้ง 

ฝึกสังเกตอาการเตือนใกล้คลอด
คุณแม่ควรฝึกสังเกตอาการบีบตัวของมดลูกให้เป็น เพราะหากช่วงท้องแก่ใกล้คลอดจะได้จับสัญญาณเตือนหรือสิ่งผิดปกติได้ หรือมีสัญญาณเตือนถึงภาวะคลอดก่อนกำหนด คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

เปรียบเทียบพร้อมเช็กราคาโปรฝากครรภ์ คลอดบุตร

ยกแพ็กเกจมาให้เลือกครบ ตั้งแต่ฝากครรภ์ อัลตราซาวด์ทารก คัดกรองดาวน์ซินโดรม ไปถึงคลอดบุตร พร้อมรับส่วนลดทุกการจองที่ HDmall.co.th เลือกแพ็กเกจที่ใช่ สถานที่ที่สะดวก แล้วคลิกจอง ทำนัดพร้อมรับบริการได้เลย หรือแช็ตหาแอดมิน

Scroll to Top