ปลูกเหงือก ปกป้องฟัน ยิ้มสวยสดใสอย่างมั่นใจ

เหงือกร่น สามารถส่งผลต่อสุขภาพช่องปากได้โดยที่เราไม่ทันรู้ตัว เนื่องจากเหงือกจะค่อยๆ ถอยร่นไปทีละนิด จนทำให้มองเห็นถึงคอฟันหรือรากฟัน

โดยอาการเริ่มแรกของเหงือกร่นจะมีแค่เสียวฟันเล็กน้อยเท่านั้น จะรับรู้ได้ว่าเหงือกร่นก็ต่อเมื่อเกิดปัญหาที่รุนแรงแล้ว นอกจากนี้ บริเวณที่เหงือกร่นยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค จึงอาจเกิดปัญหาภายในช่องปาก เช่น เหงือกอักเสบติดเชื้อ ฟันโยก ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจแล้ว ยังอาจส่งผลถึงขั้นสูญเสียฟันได้

การปลูกเหงือก สามารถแก้ไขปัญหาเหงือกร่นได้โดยการปกปิดรากฟันที่โผล่ออกมา ทำให้เหงือกดูเต็มขึ้น ดูมีสุขภาพฟันที่ดี ช่วยปกป้องฟัน มีรอยยิ้มที่สดใส และมีความมั่นใจได้อีกครั้ง HDmall.co.th ได้รวบรวมข้อมูลมาให้อย่างละเอียดสำหรับผู้สนใจ

เหงือกร่นคืออะไร?

เหงือกร่น (Gingival Recession) เป็นภาวะที่ขอบเหงือกมีการถอยร่นเข้าไปตรงบริเวณรากฟัน ซึ่งปกติแล้วขอบเหงือกจะอยู่ที่ระหว่างรอยต่อของรากฟันกับตัวฟัน ในบางกรณีเหงือกร่นจนเห็นคอฟันหรือรากฟันได้อย่างชัดเจน จนดูเหมือนว่าตัวฟันนั้นยาวขึ้น ทำให้เนื้อฟันสัมผัสกับเชื้อแบคทีเรียมากขึ้นและเกิดคราบหินปูนที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค จนอาจเกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อบริเวณเหงือกได้ โดยที่อาการเหล่านี้จะค่อยๆ เกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว จะมารู้ตัวอีกทีว่าเหงือกร่นก็ต่อเมื่อมีอาการเสียวฟันขึ้นมา หากปล่อยไว้และไม่ทำการรักษา จะทำให้กระดูกฟันที่ไม่แข็งแรงและหลุดได้

เหงือกร่นเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การแปรงฟันผิดวิธี การรักษาความสะอาดฟันที่ไม่ดี การอักเสบของเหงือกหรือโรคปริทันต์ การกัดฟัน การสูบบุหรี่ หรือเกิดจากพันธุกรรม เป็นต้น ซึ่งอาการของเหงือกร่นที่พบจะมีอาการเสียวฟัน เหงือกบวมแดงและเจ็บ เลือดออกหลังแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน ฟันโยก และทำให้ฟันหลุด

ปลูกเหงือกคืออะไร?

การปลูกเหงือก (Gum Tissue Graft) เป็นการผ่าตัดปลูกถ่ายเนื้อเยื่อบริเวณรากฟันที่หายไปจากอาการเหงือกร่น โดยการนำเนื้อเยื่อจากบริเวณรอบฟันมาใช้ แต่หากมีเนื้อเยื่อไม่เพียงพอก็จะใช้จากบริเวณบนเพดานปาก เพื่อมาเย็บติดกับเนื้อเยื่อเหงือกปิดรากฟันและทำให้เนื้อเหงือกดูเต็มขึ้น ซึ่งจะทำให้รากฟันปลอดภัยจากการติดเชื้ออักเสบได้ ทั้งนี้ต้องทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ประโยชน์ของการปลูกเหงือก

การปลูกเหงือกนั้น มีประโยชน์มากมายสามารถช่วยแก้ปัญหาภายในบริเวณช่องปากได้เป็นอย่างดี และรวมถึงแก้ไขบุคลิกภาพของผู้รับบริการได้อีกด้วย ดังต่อไปนี้

  • ป้องกันอาการเหงือกร่น และการสูญเสียฟัน
  • ลดอาการเสียวฟัน
  • ทำให้ฟันดูเรียงกันสวย
  • มีรอยยิ้มที่สวยงาม สร้างความมั่นใจมากขึ้น
  • มีสุขภาพฟันและภายในช่องปากที่ดี

ปลูกเหงือกมีกี่แบบ?

การปลูกเหงือกมีหลากหลายวิธีด้วยกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้รับบริการแต่ละราย โดยที่นิยมใช้จะมี 3 แบบดังต่อไปนี้

1. การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อยึดต่อ (Connective Tissue Graft)

เป็นการปลูกเหงือกด้วยการตัดชิ้นเนื้อเยื่อที่อยู่ด้านในของเพดานปาก ให้มีความหนาประมาณ 1-2 มิลลิเมตรออกมาใช้ในการปิดรากฟัน โดยนำมายึดติดเข้ากับเหงือกที่ร่น ซึ่งชิ้นเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายบางส่วนจะวางอยู่บนเยื่อหุ้มกระดูกฟัน และมีบางส่วนจะมีแผ่นเหงือกปิดทับไว้ด้านบน การปลูกเหงือกวิธีนี้จะช่วยให้เหงือกมีความหนา มีความแข็งแรงมากขึ้น และปิดรากฟันที่โผล่ออกมาได้เป็นอย่างดี

ขั้นตอนการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อยึดต่อ

  1. แพทย์วัดขนาดเหงือกที่ถอยร่น และทำความสะอาดด้วยการขูดหินปูนขจัดคราบฟันซี่ที่จะทำ
  2. แพทย์ทาและฉีดยาชาภายในปากบริเวณที่จะผ่าตัด
  3. แพทย์เปิดเหงือกตรงรากฟันที่จะปลูกเหงือกออก
  4. แพทย์ทำการตัดเนื้อเยื่อจากด้านในเพดานของออกมา โดยตัดมากกว่าขนาดเหงือกที่ถอยร่นประมาณ 1-2 มิลลิเมตร
  5. แพทย์ทำการตัดแต่งเนื้อเยื่อที่ได้มาตามลักษณะที่ต้องการ
  6. แพทย์นำชิ้นเนื้อเยื่อที่ได้สอดเข้าไปใต้เหงือก และเหลือบางส่วนปิดรากฟัน จากนั้นจะทำการเย็บติดเข้ากับเหงือก
  7. แพทย์เย็บปิดแผลบนบริเวณเพดานปากให้ติดกัน

2. การปลูกถ่ายแผ่นเหงือกอิสระ (Free Gingival Graft)

เป็นการปลูกเหงือกที่คล้ายกับการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อยึดต่อ แต่จะใช้เนื้อเยื่อทั้งชิ้นของเพดานปากที่หนาประมาณ 2 มิลลิเมตร มาติดเข้ากับเหงือกเพื่อปิดรากฟัน โดยวางอยู่บนเยื่อหุ้มกระดูกฟัน ซึ่งวิธีการนี้แพทย์จะใช้กับผู้รับบริการที่มีปัญหาเหงือกร่น

ขั้นตอนการปลูกถ่ายแผ่นเหงือกอิสระ

  1. แพทย์วัดขนาดเหงือกที่ถอยร่น และทำความสะอาดด้วยการขูดหินปูนขจัดคราบฟันซี่ที่จะทำ
  2. แพทย์ทาและฉีดยาชาภายในปากบริเวณที่จะผ่าตัด
  3. แพทย์ทำการตัดเนื้อเยื่อชั้นนอกสุดของเพดานปากออกมาตามขนาดที่ต้องการ
  4. แพทย์ทำการตัดแต่งเนื้อเยื่อที่ได้มาตามลักษณะที่ต้องการ
  5. แพทย์นำชิ้นเนื้อเยื่อที่ได้มาวางปิดรากฟัน และเย็บยึดติดกับเหงือก

3. การปลูกถ่ายเหงือกแบบเลื่อนแผ่นเหงือก (Pedicle Graft)

เป็นการปลูกเหงือกที่ไม่ไปตัดชิ้นเนื้อเยื่อจากบริเวณภายในปากมาใช้ แต่จะเลื่อนเนื้อเยื่อจากแผ่นเหงือกทางด้านข้าง หรือเลื่อนขึ้นมาทางตัวฟันก็ได้ ซึ่งจะต้องมีเนื้อเยื่อและความหนาที่จะยึดเพียงพอ โดยการเลื่อนแผ่นเหงือกมาปิดรากฟัน

ขั้นตอนการปลูกถ่ายเหงือกแบบเลื่อนแผ่นเหงือก

  1. แพทย์ทำความสะอาดด้วยการขูดหินปูนขจัดคราบฟันซี่ที่จะทำ
  2. แพทย์ทาและฉีดยาชาบริเวณที่จะผ่าตัด
  3. แพทย์จะตัดเปิดเนื้อเยื่อเหงือกเพียงบางส่วน โดยใช้ส่วนฐานยังคงยึดติดอยู่กับเหงือกเหมือนเดิม
  4. แพทย์ดึงเนื้อเยื่อเหงือกส่วนที่ตัดออกมาปิดรากฟัน และเย็บให้ติดกันสนิท

ปลูกเหงือกเหมาะกับใคร?

  • ผู้ที่มีฟันซี่ที่ดูยาวขึ้น จากอาการเหงือกร่น
  • ผู้ที่มีอาการเสียวฟัน จากอาการเหงือกร่น
  • ผู้ที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบหรือโรคเหงือก จนเกิดอาการเหงือกร่น
  • ผู้ที่มีเหงือกหรือกระดูกที่บางกว่าปกติ และมีอาการเหงือกร่น
  • ผู้ที่ต้องการจะทำการบูรณะฟัน เช่น การจัดฟัน การใส่ฟันปลอม แต่เหงือกที่อยู่บริเวณนั้นไม่สามารถรองรับการทำได้ อาจจะต้องทำการปลูกเหงือกช่วย
  • ผู้สูงอายุที่เหงือกเกิดการหย่อนคล้อยจนเห็นรากฟัน

การเตรียมตัวก่อนปลูกเหงือก

เมื่อตัดสินใจที่จะปลูกเหงือกแล้ว ควรมีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนดังต่อไปนี้

  • หากมีโรคประจำตัว ยาที่ต้องรับประทานประจำ หรือมีประวัติการแพ้ยา ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนผ่าตัด
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 วันก่อนผ่าตัด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และเตรียมพร้อมดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
  • สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและงดใส่เครื่องประดับที่เป็นโลหะ เช่น นาฬิกา ต่างหู สร้อยคอ แหวน
  • รับประทานอาหารให้เรียบร้อยอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
  • แปรงฟันและทำความสะอาดช่องปากก่อนผ่าตัด
  • พาเพื่อนหรือญาติมาด้วยในวันผ่าตัด เพื่อช่วยดูแลและพากลับบ้าน

การดูแลตัวเองหลังปลูกเหงือก

การดูแลตัวเองหลังจากปลูกเหงือกเป็นสิ่งสำคัญมาก เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและป้องกันการติดเชื้อ โดยมีข้อควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดดังต่อไปนี้

  • รับประทานยาตามแพทย์สั่ง
  • ประคบน้ำเย็นที่บริเวณช่องปากภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังการผ่าตัด เพื่อบรรเทาอาการบวมและช่วยห้ามเลือด
  • ทำความสะอาดด้วยการแปรงฟันได้ปกติในบริเวณที่ไม่ได้รับการผ่าตัด
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากตามคำแนะนำของแพทย์
  • รับประทานอาหารที่นิ่ม เช่น นม โยเกิร์ต ข้าวต้ม โจ๊ก ซุป
  • งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังผ่าตัด
  • หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็ง และการรับประทานอาหารที่มีความร้อนจัดเย็นจัด อาหารที่มีรสเผ็ด หรืออาหารหมักดองประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังผ่าตัด
  • งดการออกกำลังกายอย่างหนักประมาณ 1-2 สัปดาห์ หลังผ่าตัด
  • หลีกเลี่ยงการแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟันในบริการที่ได้รับการผ่าตัด เป็นเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์
  • พบแพทย์ตามนัด และหากมีอาการผิดปกติให้ไปพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอถึงเวลานัด

ปลูกเหงือกเจ็บไหม?

แพทย์จะใช้ยาชาเฉพาะจุดเพื่อลดความเจ็บปวด ทำให้ขณะที่ผ่าตัดจะไม่เกิดอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่หลังจากฤทธิ์ของยาชาหมดลง จะมีอาการเจ็บอยู่ประมาณ 2-3 วัน และสามารถลดอาการดังกล่าวได้โดยการรับประทานยาตามแพทย์สั่ง

ผลข้างเคียงและความเสี่ยงของการปลูกเหงือก

การปลูกเหงือกเป็นการผ่าตัดที่มีความปลอดภัยสูง หลังผ่าตัดแล้วจะมีความเสี่ยงและมีผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นน้อยมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการปวด บวม เลือดออก โดยที่อาการเหล่านี้จะหายไปเองได้ แต่หากเกิดอาการที่ผิดปกติต้องไปพบแพทย์ทันทีดังต่อไปนี้

  • อาการเลือดไหลไม่หยุดหลังผ่าตัดนานเกิน 20 นาทีขึ้นไป
  • อาการบวมช้ำ และปวดอย่างรุนแรงในบริเวณที่ผ่าตัด
  • อาการไข้ขึ้น และเกิดการติดเชื้อ
  • อาการเสียวฟันง่าย
  • อาการแพ้ยาชา
  • ฟันโยก ฟันห่าง และมีช่องว่างระหว่างฟัน

ปลูกเหงือกใช้เวลานานไหม?

การผ่าตัดปลูกเหงือกนั้นไม่นานเลย ใช้เวลาเพียงแค่ประมาณ 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์แพทย์อาจนัดมาตัดไหม

การปลูกเหงือกสามารถช่วยแก้ปัญหาเหงือกร่นได้เป็นอย่างดี ทำให้มีรอยยิ้มที่เพิ่มความมั่นใจ มีฟันเรียงตัวสวยดูมีสุขภาพดี อย่างไรก็ตามเพื่อที่จะให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีและลดความเสี่ยงใดๆ ก็ตามที่อาจเกิดขึ้นมา ต้องทำการปลูกเหงือกกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น


เช็กราคาปลูกเหงือก

Scroll to Top