ความงามและความสมดุลบนใบหน้า จะสร้างบุคลิกภาพและส่งเสริมความมั่นใจของทั้งหญิงและชาย โดยการฉีดฟิลเลอร์นั้น เป็นอีกวิธีหนึ่งในการช่วยปรับแก้ไขรูปหน้าให้ดูสวยงามได้รูปและคืนความอ่อนเยาว์ ที่เห็นผลไว ทำได้สะดวก และไม่ต้องผ่าตัด
ก่อนฉีดฟิลเลอร์ ผู้สนใจควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งของการฉีดฟิลเลอร์ ประเภทของฟิลเลอร์ การเลือกฟิลเลอร์ที่เหมาะกับแต่ละท่าน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีและมีความปลอดภัยที่สุด
สารบัญ
- ฉีดฟิลเลอร์ คืออะไร?
- ฉีดฟิลเลอร์ ตำแหน่งไหนได้บ้าง
- ฉีดฟิลเลอร์ ควรฉีดกี่ CC?
- ฟิลเลอร์เหมาะกับใคร?
- ฟิลเลอร์ไม่เหมาะกับใคร?
- ข้อดีของการฉีดฟิลเลอร์
- ข้อเสียของการฉีดฟิลเลอร์
- ฉีดฟิลเลอร์อยู่ได้นานไหม?
- ฟิลเลอร์ มีกี่ยี่ห้อ?
- ตรวจสอบฟิลเลอร์แท้อย่างไร?
- การเตรียมตัวก่อนการฉีดฟิลเลอร์
- ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์
- การดูแลหลังฉีดฟิลเลอร์
- ผลข้างเคียงของการฉีดฟิลเลอร์
- การฉีดสลายฟิลเลอร์ คืออะไร?
- ฉีดฟิลเลอร์เจ็บไหม?
ฉีดฟิลเลอร์ คืออะไร?
ฟิลเลอร์ (Filler) คือสารเติมเต็มผิวที่สังเคราะห์มาจากไฮยาลูโรนิกแอซิด (Hyaluronic Acid: HA) ที่สร้างขึ้นเลียนแบบสารตามธรรมชาติในชั้นผิวหนังและกระดูกอ่อนของมนุษย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของคอลลาเจน โดยฟิลเลอร์ที่มีความปลอดภัยสูงจะต้องผ่านการรับรองจากอย. แล้วเท่านั้น
เมื่อฉีดฟิลเลอร์เข้าใต้ผิวหนัง ฟิลเลอร์จะเข้าไปช่วยเติมเต็มช่องว่างให้กับเซลล์ผิวใต้ผิวหนัง ทั้งยังเป็นการเติมเส้นใยคอลลาเจนที่หายไป ส่งผลให้บริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ กระชับ เต่งตึง ชุ่มชื้น เรียบเนียน ดูสดใสเปล่งปลั่ง มีน้ำมีนวลขึ้น ซึ่งฟิลเลอร์จะมีความปลอดภัยและสามารถสลายไปเอง ไม่ทิ้งสารตกค้างในร่างกาย
หลังฉีดฟิลเลอร์จะสามารถเห็นผลได้ทันที ไม่ต้องพักฟื้น และยังสามารถเติมหรือปรับแต่งได้เรื่อยๆ จึงเป็นที่นิยมในการนำมาใช้แก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ บนใบหน้า ได้แก่ ริ้วรอย ร่องลึก รอยหมองคล้ำ จุดด่างดำ และปรับรูปหน้าได้อย่างเป็นธรรมชาติ จึงถือเป็นทางเลือกในการฟื้นฟูและเสริมสร้างใบหน้าโดยไม่ต้องผ่าตัด
ผู้สนใจควรเลือกใช้บริการฉีดฟิลเลอร์จากโรงพยาบาลหรือสถานเสริมความงามที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางประเมินปัญหาผิวก่อนบริการ
ฉีดฟิลเลอร์ ตำแหน่งไหนได้บ้าง
การฉีดฟิลเลอร์สามารถทำได้หลายจุด ขึ้นอยู่กับปัญหาที่ต้องการแก้ไข ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและช่วยพิจารณาเลือกตำแหน่งที่เหมาะสม โดยตำแหน่งที่มักพบปัญหาและนิยมฉีดฟิลเลอร์ มีดังนี้
- ขมับ การฉีดฟิลเลอร์ขมับเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยปรับรูปหน้าให้มีมิติ ขมับที่ตอบจะดูเต็มขึ้น ช่วยลดความเด่นของโหนกแก้มลง ส่งผลให้รูปหน้าละมุนได้สัดส่วนมากขึ้น ดูมีมิติ สดใสอิ่มฟู
- หน้าผาก การฉีดฟิลเลอร์หน้าผาก จะช่วยให้หน้าผากดูมีมิติ สมมาตร ดูอิ่มเอิบ นูนสวย และเรียบเนียน ทำให้ดูอ่อนเยาว์ขึ้น เหมาะกับผู้ที่มีหน้าผากยุบ แบน แคบ หรือมีริ้วรอยร่องลึก ไม่เรียบเนียน
- ใต้ตา การฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา จะช่วยเติมเต็มร่องลึกใต้ตาให้ตื้นขึ้น ช่วยลดริ้วรอย ทำให้ดูสดใส ไม่อิดโรย ความหมองคล้ำจางลง ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
- แก้มส้ม การฉีดฟิลเลอร์แก้มส้ม จะช่วยแก้ปัญหาความหย่อนคล้อยของบริเวณระหว่างใต้ตากับแก้ม และโหนกแก้มกับจมูกที่มีลักษณะคล้ายผลส้ม ให้รูปหน้ามีความอิ่มเอิบมากขึ้น ให้ใบหน้ามีความคมชัดสวยงาม
- ร่องแก้ม การฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม จะช่วยให้ร่องแก้มตื้นขึ้น ใบหน้าดูอิ่มฟูขึ้น ไม่โทรม ส่งผลให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ขึ้น เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาร่องแก้มลึกจากสาเหตุต่างๆ เช่น การยุบตัวของกระดูกใต้ตา
- ร่องน้ำหมาก การฉีดฟิลเลอร์ร่องน้ำหมาก จะช่วยเติมเต็มให้ผิวบริเวณร่องน้ำหมากดูเรียบเนียน เต่งตึงไร้ริ้วรอย และแก้ไขมุมปากตก ทำให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ขึ้น
- จมูก การฉีดฟิลเลอร์จมูก สามารถช่วยปรับแก้ไขรูปจมูกให้ดูโด่งขึ้น หรือให้เป็นทรงตามที่ต้องการได้ เช่นการเติมปลายหยดน้ำ ทำให้ดูมีมิติ สวยขึ้น เหมาะกับคนที่มีฐานจมูกอยู่บ้างแล้วและต้องการปรับรูปจมูกให้สวยขึ้นเท่านั้น
- ปาก การฉีดฟิลเลอร์ปาก จะช่วยให้ริมฝีปากดูอวบอิ่ม ชุ่มชื้น มุมปากยกขึ้น ปากดูอมยิ้ม ทั้งยังสามารถช่วยปรับรูปปากได้หลายทรง เช่น ทรงปากกระจับ ปากสายฝอ ปากเกาหลี เหมาะกับผู้ที่ปากมีริ้วรอย ปากบาง มุมปากตก ปากไม่เป็นทรง
- คาง การฉีดฟิลเลอร์คาง จะช่วยในการปรับรูปหน้า เติมเต็มส่วนที่ขาดหายให้ใบหน้าดูสมส่วน กรอบหน้าคมชัด ลดเหนียง หรือ คาง 2 ชั้น ใบหน้าเรียวขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาคางสั้น คางตัด คางบุ๋ม คางไม่เข้ากับรูปหน้า มีเหนียง
- กรอบหน้าหรือกราม การฉีดฟิลเลอร์กรอบหน้า จะช่วยกระชับผิวที่หย่อนคล้อยให้เต่งตึงขึ้น ช่วยยกข้างแก้ม แก้ปัญหามุมปากคว่ำ ปรับกรอบหน้าและแนวสันกรามให้ดูคมชัด ดูสมส่วน นอกจากนี้ยังทำให้ผิวยังดูเนียนนุ่มชุ่มชื้นขึ้น ทำให้ใบหน้าดูคมมีมิติและดูอ่อนเยาว์ขึ้น
ฉีดฟิลเลอร์ ควรฉีดกี่ CC?
การฉีดฟิลเลอร์ในแต่ละตำแหน่งจะใช้ในปริมาณที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัญหาที่ต้องการแก้ไข และความพึงพอใจของผู้ฉีด ซึ่งแพทย์จะประเมินปริมาณการฉีดตามความเหมาะสม โดยสามารถทยอยฉีดได้จนกว่าจะได้ผลลัพธ์เป็นที่พอใจสำหรับปริมาณการฉีดโดยทั่วไปมีดังนี้
- ฉีดฟิลเลอร์ขมับ ใช้ปริมาณฟิลเลอร์ตั้งแต่ 1-4 CC (0.5-2 CC ต่อ 1 ข้าง) โดยพิจารณาจากความลึกของขมับ
- ฉีดฟิลเลอร์หน้าผาก ใช้ปริมาณฟิลเลอร์ตั้งแต่ 1-3 CC โดยพิจารณาจากความแบนของหน้าผาก
- ฉีดฟิลเลอร์ใต้ตา ใช้ปริมาณฟิลเลอร์ตั้งแต่ 1-2 CC (0.5-1 CC ต่อ 1 ข้าง) โดยพิจารณาจากความลึกบริเวณใต้ตา
- ฉีดฟิลเลอร์แก้มส้ม ใช้ปริมาณฟิลเลอร์ตั้งแต่ 1-3 CC (0.5-1.5 CC ต่อ 1 ข้าง) โดยพิจารณาจากความแบนของแก้ม
- ฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้ม ใช้ปริมาณฟิลเลอร์ตั้งแต่ 1-3 CC (0.5-1.5 CC ต่อ 1 ข้าง) โดยพิจารณาจากความลึกบริเวณร่องแก้ม
- ฉีดฟิลเลอร์ร่องน้ำหมาก ใช้ปริมาณฟิลเลอร์ประมาณ 1-2 CC โดยพิจารณาจากความลึกบริเวณร่องน้ำหมาก
- ฉีดฟิลเลอร์จมูก ใช้ปริมาณฟิลเลอร์ประมาณ 1 CC หรือปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยประเมินตามความเหมาะสม
- ฉีดฟิลเลอร์ปาก ใช้ปริมาณฟิลเลอร์ประมาณ 1-2 CC โดยพิจารณาจากรูปปากเดิม และรูปทรงที่ต้องการ เช่น หากต้องการได้ทรงมุมปากยกขึ้น เติมแค่ปากบน ใช้เพียง 1 CC หรือหากต้องการเพิ่มวอลลุ่มให้ปากอวบอิ่มอาจใช้ถึง 2 CC แต่หากมีเนื้อปากเดิมอยู่แล้ว อาจใช้เพียง 1 CC ก็เพียงพอ
- ฉีดฟิลเลอร์คาง ใช้ปริมาณฟิลเลอร์ประมาณ 1-3 CC ขึ้นอยู่กับรูปคางเดิม และทรงที่ต้องการ
- ฉีดฟิลเลอร์กรอบหน้า ปริมาณฟิลเลอร์ขึ้นอยู่กับปัญหาและจำนวนจุดที่ต้องการแก้ไข
ปริมาณฟิลเลอร์สำหรับฉีดในแต่ละตำแหน่งที่แสดงไว้นี้ เป็นปริมาณที่ฉีดโดยประมาณ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล
ฟิลเลอร์เหมาะกับใคร?
การฉีดฟิลเลอร์นั้น เป็นวิธีที่ช่วยในการเติมเต็มความงามให้กับใบหน้าที่ทำได้สะดวก ปลอดภัย เห็นผลไว และไม่ต้องผ่าตัด เหมาะกับ
- ผู้ที่ต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็ว ไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้น
- ผู้ที่ไม่ต้องการผ่าตัด กลัวการผ่าตัด กลัวเจ็บ
- ผู้ที่ต้องการลดริ้วรอยร่องลึก ปรับแต่งแก้ไขจุดบกพร่องของรูปหน้า ให้ดูสมดุลและอ่อนเยาว์อย่างเป็นธรรมชาติ
- ผู้ที่ต้องการบำรุงผิว เพิ่มความกระชับ ความยืดหยุ่น เพิ่มความชุ่มชื้น ทำให้ผิวเต่งตึง เรียบเนียน
- ผู้ที่ต้องการลดปัญหารูขุมขน เติมหลุมสิวบนใบหน้า
ฟิลเลอร์ไม่เหมาะกับใคร?
แม้การฉีดฟิลเลอร์จะให้ผลลัพธ์ที่ดี เป็นวิธีที่ปลอดภัย แต่ก็ยังมีข้อจำกัดที่ไม่ควรฉีดสำหรับคนบางกลุ่มดังนี้
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
- ผู้ที่เเพ้สารไฮยาลูโรนิกแอซิด หรือ ส่วนผสมใด ๆ ของฟิลเลอร์ ห้ามฉีดฟิลเลอร์โดยเด็ดขาด
- ผู้ที่แพ้ยาชา
- ผู้ที่มีผิวไวต่อการเกิดแผลเป็น มีประวัติเป็นแผลคีลอยด์ง่าย
- ผู้ที่ป่วยเป็นเริม หรือ งูสวัด ห้ามฉีดฟิลเลอร์ เพราะอาจทำให้อาการป่วยกำเริบมากขึ้น
- ผู้ที่มีปัญหาเลือดออกง่าย เลือดออกเเล้วหยุดยาก ห้ามฉีดฟิลเลอร์ เพราะตัวยาที่กินอยู่เป็นประจำ เช่น แอสไพริน ยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ วิตามินอี เเละ สารสกัดจากใบแปะก๊วย อาจมีผลต่อการเเข็งตัวของเลือด
- ผู้ที่มีผิวอักเสบ เช่น ผื่น ลมพิษ ฯลฯ
นอกจากนี้ ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 21 ปี ไม่จำเป็นต้องฉีดฟิลเลอร์ เนื่องจากร่างกายยังมีกระบวนการสร้างเซลล์เพื่อเติมเต็มผิวตามธรรมชาติอยู่แล้ว
ข้อดีของการฉีดฟิลเลอร์
- ให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถปรับแก้ไขรูปหน้าให้สมดุล มีมิติ เติมเต็มริ้วรอยร่องลึก และปรับสภาพผิวให้สดใส ดูอ่อนเยาว์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ
- เป็นหัตถการที่ไม่ใช่การผ่าตัด ไม่ต้องเสี่ยงกับการวางยาสลบ และไม่ต้องพักฟื้น
- ไม่ทำให้เกิดรอยแผลหรือแผลเป็น
- ทำได้สะดวก รวดเร็ว โดยหลังฉีดฟิลเลอร์จะเห็นผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลงได้ทันที
- การฉีดฟิลเลอร์ที่ได้รับการรับรองจากอย.เป็นวิธีที่มีความปลอดภัย โดยทั่วไปไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ และไม่มีปัญหาสารตกค้าง สามารถสลายไปได้เองตามธรรมชาติ
- สามารถเติมฟิลเลอร์ได้เรื่อยๆ โดยการปรึกษาแพทย์ จนกว่าจะได้ผลเป็นที่พอใจ
- ขณะเดียวกัน หากผลที่ได้รับยังไม่เป็นที่พอใจ ก็สามารถฉีดสลายฟิลเลอร์ออกได้ทั้งหมด
ข้อเสียของการฉีดฟิลเลอร์
แม้การฉีดฟิลเลอร์จะมีข้อดีหลายข้อ แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ราคาค่อนข้างสูง และผลลัพธ์ที่ได้นั้นไม่ถาวร ผู้รับบริการจึงอาจต้องกลับมาฉีดเพิ่มเป็นระยะ นอกจากนี้หากเผลอไปฉีดฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับการรับรองจากอย. และไม่ได้ฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดอันตรายต่างๆ ได้
ฉีดฟิลเลอร์อยู่ได้นานไหม?
โดยปกติฟิลเลอร์กลุ่มไฮยาลูโรนิกแอซิก จะอยู่ได้ประมาณ 4-24 เดือน ขึ้นอยู่กับยี่ห้อ รุ่นของฟิลเลอร์ และรูปแบบการใช้ชีวิต จากนั้นจะสลายไปเองตามธรรมชาติ หลายคนจึงเรียกว่า “ฟิลเลอร์แบบชั่วคราว (Temporary Filler)”
นอกจากนี้ยังมีฟิลเลอร์อีก 2 แบบที่ให้ผลลัพธ์ยาวนานกว่า คือ ฟิลเลอร์แบบกึ่งถาวร (Semi-Permanent Filler) เช่น สารโพลีอัลคิลลิไมด์ (Polyakylimide) และฟิลเลอร์แบบถาวร (Permanent Filler) เช่นสารซิลิโคนเหลว แต่ปัจจุบันยังไม่ผ่านการรับรองจาก อย. ไทย เพราะอาจเกิดอันตรายจนหน้าเบี้ยวผิดรูปได้
ฟิลเลอร์ มีกี่ยี่ห้อ?
ฟิลเลอร์มีหลายยี่ห้อ แต่ละยี่ห้อจะมีรุ่นย่อยที่มีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ซึ่งจะเหมาะกับผิวในแต่ละจุด โดยยี่ห้อฟิลเลอร์ ที่ผ่านมาตรฐาน อย. ไทยจะต้องเป็นฟิลเลอร์แบบไฮยาลูโรนิกแอซิด (HA) เท่านั้น ปัจจุบันมีทั้งหมด 8 ยี่ห้อ ได้แก่
- Juvederm จากอเมริกา ประกอบไปด้วยรุ่นย่อย ได้แก่ Juvederm Voluma, Juvederm Volift, Juvederm Volbella, Juvederm Volite, Juvederm Ultra XC, Juvederm Ultra plus XC
- Perfectha จากฝรั่งเศส มีรุ่นที่ผ่านการรับรองจาก อย. อยู่ 5 รุ่น ได้แก่ Perfectha Subskin, Perfectha Deep, Perfectha Derm, Perfectha Fine lines, Perfectha Complement
- Restylane จากสวีเดน มีรุ่นที่ผ่านการรับรองจาก อย. อยู่ 7 รุ่น ได้แก่ Restylane Refyne, Restylane, Restylane Defyne, Restylane Lyft, Restylane Volyme, Restylane Vital, Restylane Vital light
- Belotero จากสวิสเซอร์แลนด์ ได้แก่ Belotero Soft, Belotero Balance, Belotero Intense, Belotero Volume
- Revanesse จากแคนาดา ได้แก่ Revanesse Ultra
- Neuramis จากเกาหลี ได้แก่ Neuramis Deep, Neuramis Lidocaine, Neuramis Light, Neuramis Deep Lidocaine, Neuramis Volume Lidocaine
- E.p.t.q. Filler (Epitique filler) จากเกาหลี ได้แก่ S100 lidocaine, S300 lidocaine, S500 lidocaine
- Yvoire จากเกาหลี ได้แก่ Yvoire Volume Plus, Yvoire Contour, Yvoire Classic Plus
หมายเหตุ: ข้อมูลดังกล่าวถูกรวบรวมขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งอาจมียี่ห้ออื่นๆ ที่ได้รับการรับรองเพิ่มเติมในภายหลัง
ตรวจสอบฟิลเลอร์แท้อย่างไร?
ฟิลเลอร์ที่ได้มาตรฐานอย. ไทย จะเป็นสาร Hyaluronic Acid:HA เท่านั้น โดยมีจุดตรวจสอบดังนี้
- กล่องฟิลเลอร์ต้องปิดเรียบร้อย ไม่ถูกแกะมาก่อน
- บนกล่องมีฉลากภาษาไทยติดอยู่ระบุว่า ยาควบคุมพิเศษ
- ข้างกล่องต้องมีเลข วัน-เดือน-ปี ที่หมดอายุอย่างชัดเจน และมีเลขทะเบียน อย.
- ฉลากในกล่องเป็นภาษาไทย
- เลขล็อตที่ข้างกล่องฟิลเลอร์และเลขล็อตที่หลอดฟิลเลอร์ข้างในจะต้องตรงกัน
- ฟิลเลอร์โดยทั่วไปจะมีปริมาณกล่องละ 1 CC และมีการซีลปิดไว้ และไม่แบ่งใช้กับคนอื่น
การเตรียมตัวก่อนการฉีดฟิลเลอร์
ในการเตรียมตัวก่อนฉีดฟิลเลอร์ มีข้อควรปฏิบัติดังนี้
- งดยาแอสไพริน Diclofenac, น้ำมันปลา และยาในกลุ่ม NSAIDs อย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนฉีดฟิลเลอร์
- งดวิตามิน และอาหารเสริม เช่น วิตามินอี น้ำมันพริมโรส กระเทียม โสม สารสกัดจากใบแปะก๊วย เป็นต้น 1 สัปดาห์ก่อนฉีดฟิลเลอร์
- งดยาทาผลัดเซลล์ผิวบริเวณที่ต้องการฉีดฟิลเลอร์ เช่น Tretinoin (Retin-A), Retinols, Retinoids, Glycolic Acid หรือครีมในกลุ่ม Anti-Aging ทุกชนิด 1 สัปดาห์ก่อนฉีดฟิลเลอร์
- งดแว็กผิว งดดึงหรือโกนขนบริเวณที่จะฉีดฟิลเลอร์ 1 สัปดาห์ก่อนฉีดฟิลเลอร์
- งดเลเซอร์บริเวณที่ต้องการฉีดฟิลเลอร์ 1 สัปดาห์ก่อนฉีดฟิลเลอร์
- หากมีโรคประจำตัวหรือยาที่ต้องรับประทานประจำให้แจ้งแพทย์ทราบงดดื่มแอลกฮอล์ อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนฉีดฟิลเลอร์
- งดกิจกรรมที่ทำให้เลือดสูบฉีด เช่น ซาวน่า ออกกำลังกายชนิด Cardio อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนฉีดฟิลเลอร์
- สามารถแจ้งเพื่อขอแปะยาชาและฉีดยาชาก่อนฉีดฟิลเลอร์ หรือขอฉีดยาชาอย่างเดียวก็ได้
ขั้นตอนการฉีดฟิลเลอร์
- พบแพทย์เพื่อประเมินใบหน้าและปัญหาของผิว เพื่อวางแผนจุดที่จะฉีดฟิลเลอร์ แพทย์จะแนะนำว่าควรฉีดฟิลเลอร์ยี่ห้อใดรุ่นใดที่เหมาะสมกับแต่ละจุด
- แพทย์ทำเครื่องหมายแต่ละจุดที่จะฉีดฟิลเลอร์ และอาจถ่ายภาพใบหน้าไว้ เพื่อเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้หลังการฉีด
- ทำความสะอาดใบหน้าโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียเช็ด เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ใช้ยาระงับความรู้สึก โดยอาจใช้วิธีทาหรือฉีดยาชาเพื่อช่วยลดความรู้สึกเจ็บที่อาจเกิดขึ้นขณะฉีดฟิลเลอร์ได้ ทั้งนี้ในฟิลเลอร์บางรุ่นจะมียาชาผสมอยู่ซึ่งจะช่วยบรรเทาความรู้สึกเจ็บจากเข็มได้อีกทาง
- ก่อนฉีดฟิลเลอร์ ผู้รับบริการสามารถขอให้แพทย์แกะกล่องฟิลเลอร์ให้ดู เพื่อตรวจสอบว่าว่าเป็นของแท้
- แพทย์ทำการฉีดฟิลเลอร์ ซึ่งจะใช้เวลาไม่นานในการฉีดฟิลเลอร์แต่ละเข็ม และแพทย์อาจพิจารณาเพิ่มปริมาณฟิลเลอร์ตามความเหมาะสม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นที่พอใจ
- เมื่อได้ผลลัพธ์เป็นที่พอใจแล้ว แพทย์จะทำความสะอาดและลบเครื่องหมายที่ทำไว้บนใบหน้าออก และอาจพิจารณาใช้น้ำแข็งประคบเพื่อลดอาการบวม ซึ่งรอยฟกช้ำอาจเป็นอยู่ประมาณ 1-2 วัน โดยไม่เจ็บมาก
- ผู้รับบริการสามารถกลับบ้านได้ โดยควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตนเองหลังฉีดฟิลเลอร์อย่างเคร่งครัด เพื่อดูแลฟิลเลอร์ให้เข้าที่และคงผลลัพธ์ไว้ได้นาน และมาพบแพทย์อีกครั้งตามนัดติดตามผล
การดูแลหลังฉีดฟิลเลอร์
ปกติหลังฉีดฟิลเลอร์จะไม่พบปัญหาใดๆ และสามารถฟื้นตัวได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง หรืออย่างมากเพียง 2-3 วันเท่านั้น โดยมีข้อแนะนำในการดูแลตนเองเมื่อกลับมาพักผ่อนที่บ้านดังนี้
- ห้ามนอนราบในช่วง 2-3 วันแรก ต้องนอนให้ศีรษะอยู่สูงกว่าหน้าอก โดยอาจใช้หมอนหนุน 2 ใบซ้อนกัน และไม่ควรนอนตะแคง โดยให้ใช้หมอนข้างวางข้างตัวทั้งซ้ายและขวา เพื่อป้องกันการกดทับใบหน้า
- ปรับอุณหภูมิห้องนอนให้อยู่ระหว่าง 18-23 °C ควรพักในที่ที่อากาศเย็น หลีกเลี่ยงความร้อน อย่างน้อย 2 วัน
- สามารถล้างหน้าด้วยน้ำเปล่าหรือสบู่อ่อนๆ ด้วยความระมัดระวัง และใช้เวลาในการล้างหน้าไม่เกิน 15 นาที
- งดแต่งหน้าหรือใช้ครีมบำรุงผิว อย่างน้อย 2 วัน
- หลังฉีดฟิลเลอร์ 2 วัน สามารถโดนน้ำได้ และทาครีมบำรุงผิวบริเวณรอยเข็มได้
- หลีกเลี่ยงการขยับใบหน้าเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัส บีบ นวด เกา คลำ คลึง ฯลฯ บริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์ ในช่วง 3 วันแรก
- ควรดื่มน้ำวันละ 1.5- 2 ลิตร หรือประมาณ 12 แก้ว ในช่วง 4 วันแรก เพื่อให้มีความชุ่มชื้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ งดรับประทานของหมักดอง ของดิบ และอาหารรสจัด อย่างน้อย 2 สัปดาห์ และในกรณีฉีดฟิลเลอร์ปากให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มร้อนด้วย
- งดออกกำลังกายหนักๆ อย่างน้อย 1 เดือน
- งดทำเลเซอร์ อบซาวน่า ที่ร้อนลงถึงชั้นผิว และไม่ควรประคบร้อน อย่างน้อย 1 เดือน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน และยาแก้อักเสบบางชนิด อย่างน้อย 1 สัปดาห์
- งดรับประทานวิตามิน หรืออาหารเสริมเพราะอาจทำให้เสี่ยงกับภาวะช้ำง่าย เช่น วิตามินอี น้ำมันพริมโรส กระเทียม โสม สารสกัดจากใบแปะก๊วย อย่างน้อย 1 สัปดาห์
- ควรกินยาตามที่เเพทย์จ่ายให้อย่างต่อเนื่องจนหมด เพื่อลดอาการบวมเเละป้องกันการติดเชื้อ
- หากมีอาการเจ็บปวด หรือมีหนอง หรือมีอาการรุนแรงอื่นๆ ให้รีบไปพบแพทย์
ผลข้างเคียงของการฉีดฟิลเลอร์
หากฉีดฟิลเลอร์ที่ผ่านอย. มักพบอาการข้างเคียงน้อย ดังนี้
- อาจมีรอยแดงจากเข็ม ซึ่งจะหายไปเองได้ใน 2-3 วัน
- อาจพบอาการบวมเล็กน้อย ซึ่งจะหายไปเองได้ใน 7-14 วัน ก่อนที่ฟิลเลอร์จะเข้าที่
- อาการแพ้ฟิลเลอร์ ซึ่งพบได้ต่ำกว่า 1% โดยอาการที่เกิดอาจเป็นลมพิษ หรืออาจเกิดการอักเสบ เป็นก้อนบวมแดง ให้รีบปรึกษาแพทย์
การฉีดสลายฟิลเลอร์ คืออะไร?
ในกรณีที่ผลลัพธ์ของการฉีดฟิลเลอร์ไม่เป็นที่น่าพอใจ ก็สามารถใช้เอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดส (Hyarulonidase) ในการสลายฟิลเลอร์ได้ ทั้งนี้เอ็นไซม์ไฮยาลูโรนิเดสนี้จะย่อยสลายฟิลเลอร์กลุ่มไฮยาลูโรนิกแอซิดเท่านั้น
หากการฉีดฟิลเลอร์มีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลกับสารตกค้าง เพราะฟิลเลอร์จากไฮยาลูโรนิกแอซิด จะสามารถสลายไปได้เองตามธรรมชาติ
แต่ในกรณีฉีดฟิลเลอร์ที่ไม่ผ่านอย. หรือฟิลเลอร์ปลอม เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดก้อนแข็งไหลย้อย อาจเกิดการติดเชื้อและอักเสบ ส่งผลให้ใบหน้าผิดรูป การแก้ไขทำได้ด้วยการขูดฟิลเลอร์ออก แต่หากฉีดมาเป็นเวลานานหรือแข็งมาก ก็อาจต้องใช้วิธีผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเหมาะสม
ฉีดฟิลเลอร์เจ็บไหม?
ในการฉีดฟิลเลอร์ แพทย์ผู้ทำการฉีด จะต้องทาหรือฉีดยาชากับผู้รับบริการก่อน ซึ่งยาชาจะมีฤทธิ์ในการระงับการทำงานของระบบประสาท ทำให้ผิวหนังและเนื้อเยื่อบริเวณที่ทายาชาไร้ความรู้สึกชั่วคราว จึงช่วยลดความรู้สึกเจ็บขณะฉีดฟิลเลอร์ลงมากจนแทบไม่รู้สึกเจ็บเลย และในฟิลเลอร์บางรุ่นก็จะมีส่วนผสมของยาชาอยู่ด้วย
นอกจากนี้ แพทย์ผู้ที่มีทักษะความชำนาญสูง จะสามารถดูแลให้ความเจ็บหรืออาการบวมช้ำเกิดขึ้นน้อยที่สุด สำหรับผู้ที่สนใจฉีดฟิลเลอร์ ควรพิจารณาเลือกสถานเสริมความงามที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากรีวิวผู้ที่เคยใช้บริการจริง จากแหล่งที่เป็นกลางและเชื่อถือได้ และเป็นรีวิวที่อัพเดทใหม่