ไขมันในเลือดสูง ภัยเงียบก่อโรคร้ายที่มักไร้อาการแสดง

อาหารที่มีไขมันสูงมักมีรสชาติทั้งหวานทั้งอร่อย นอกจากนี้ยังมักให้ความรู้สึกนุ่มลิ้นระหว่างเคี้ยว แต่หากตามใจปากและกินมากเกินไปก็สามารถกระทบต่อระบบไหลเวียนเลือดได้ หลายคนอาจยังไม่เข้าใจว่าไขมันที่เรากินเข้าไป และควรจะไปย่อยในระบบทางเดินอาหารมีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับระบบไหลเวียนเลือด แล้วมันส่งผลกระทบอะไรต่อสุขภาพเราบ้าง อาการแสดงของไขมันในเลือดสูงเป็นอย่างไร

เราจะมาเจาะลึกเกี่ยวกับปัญหา “ไขมันในเลือดสูง” ซึ่งเป็นปัญหาหลักที่พบได้บ่อยจากการกินอาหารที่มีไขมันมากเกินไป จนก่อปัญหาต่อการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย อาการแสดงที่เห็นเด่นชัด และการปฎิบัตตัวหลังไขมันในเลือดสูง

ไขมันในเลือดสูงคืออะไร?

ภาวะไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) คือ ภาวะที่ร่างกายมีปริมาณไขมันในเลือดสูงเกินความเหมาะสม จนก่อปัญหาด้านสุขภาพหรือทำให้เกิดโรคประจำตัวบางชนิด

โดยประเภทของไขมันที่มีโอกาสสูงเกินความเหมาะสมในร่างกาย แบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

1. ไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesterol)

ไขมันคอเลสเตอรอล เป็นไขมันที่ร่างกายผลิตขึ้นมาผ่านการสังเคราะห์จากตับและลำไส้ โดยนำเข้าร่างกายจากการกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ติดมัน อาหารทะเล อาหารที่ปรุงจากเนย ไข่แดง ขนมเบเกอรี ขนมอบ อาหารทอด หรือที่ปรุงผ่านการใช้น้ำมัน

ไขมันคอเลสเตอรอลผิวเผินเหมือนจะมีแต่ข้อเสีย แต่จริงๆ แล้วไขมันชนิดนี้มีความจำเป็นต่อร่างกายอยู่ไม่น้อย เช่น เป็นสารตั้งต้นต่อการผลิตฮอร์โมนเพศ เสริมการทำงานของถุงน้ำดีในตับ กระตุ้นกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ สามารถแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

  • ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี (High Density Lipoprotein: HDL) เป็นไขมันคอเลสเตอรอลที่มีความหนาแน่นสูง ทำหน้าที่นำส่งไขมันคอเลสเตอรอลและกรดไขมันชนิดอื่นๆ ไปทำลายที่ตับและขับออกทางน้ำดี เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายมีไขมันสะสมมากเกินไป จนทำให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน
  • ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low Density Lipoprotein: LDL) เป็นไขมันคอเลสเตอรอลที่มีความหนาแน่นต่ำ ทำหน้าที่นำส่งไขมันคอเลสเตอรอลกระจายไปสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงในหลอดเลือด ซึ่งหากปริมาณไขมันที่นำส่งไปมีมากเกินไป ก็จะเป็นก่อให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงได้

2. ไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

ไขมันไตรกลีเซอไรด์ เป็นชนิดของไขมันที่ได้จากเผาผลาญสารอาหารประเภทแป้ง น้ำตาล เนื้อสัตว์ รวมถึงน้ำมันจากอาหารทุกชนิด นอกจากนี้ยังสามารถผลิตได้จากพลังงานแคลอรีส่วนเกินจากอาหารที่เรากินและร่างกายไม่ได้นำไปใช้ เมื่อนั้นก็จะมีการผลิตไขมันไตรกลีเซอไรด์เพิ่มขึ้นอีก

ไขมันในเลือดสูงเท่าไรถึงอันตราย?

หน่วยวัดระดับไขมันในเลือดของร่างกายมนุษย์คือ มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL) โดยสามารถแจกแจงเกณฑ์ได้ดังต่อไปนี้

1. กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ทั้งชายและหญิง

  • ไขมันไตรกลีเซอไรด์: ไม่ควรเกินกว่า 75-99 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันคอเลสเตอรอล: ไม่ควรเกินกว่า 170 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี: ควรมากกว่า 45 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี: ควรไม่เกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

2. กลุ่มเด็กอายุ 10-19 ขวบ ทั้งชายและหญิง

  • ไขมันไตรกลีเซอไรด์: ไม่ควรเกินกว่า 90-129 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันคอเลสเตอรอล: ไม่ควรเกินกว่า 170 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี: ควรมากกว่า 45 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี: ควรไม่เกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

3. กลุ่มผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป (ผู้ชาย)

  • ไขมันไตรกลีเซอไรด์: ไม่ควรเกินกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันคอเลสเตอรอล: ไม่ควรเกินกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี: ควรมากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี: ควรไม่เกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

4. กลุ่มผู้ที่อายุ 20 ปีขึ้นไป (ผู้หญิง)

  • ไขมันไตรกลีเซอไรด์: ไม่ควรเกินกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันคอเลสเตอรอล: ไม่ควรเกินกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดดี: ควรมากกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ไขมันคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี: ควรไม่เกินกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

สาเหตุของไขมันในเลือดสูง

ไขมันในเลือดสูงอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

  • พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะพฤติกรรมการกินอาหารที่มีไขมันสูงบ่อยเกินไป เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน เบเกอรีเนยนม มีรสชาติหวาน นอกจากนี้ยังรวมถึงพฤติกรรมสูบบุหรี่ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ และไม่ออกกำลังกายอย่างเพียงพอ
  • อายุที่มากขึ้น โดยเฉพาะเพศหญิงที่มักมีความเสี่ยงไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่าผู้ชายเมื่ออายุเริ่มใกล้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน แต่ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ชายที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตไม่เหมาะสมก็เสี่ยงมีไขมันในเลือดสูงได้เช่นกัน
  • ภาวะทางอารมณ์ โดยเฉพาะความเครียด สามารถเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ปริมาณไขมันสะสมในเลือดมากขึ้นได้
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม จนส่งผลให้ร่างกายมีความบกพร่องในกำจัดไขมัน LDLส่วนที่ไม่จำเป็น หรือทำให้ร่างกายสะสมไขมันในหลอดเลือดมากเกินไป
  • โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคไต โรคอ้วน ภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ โรคเบาหวาน
  • ยาประจำตัวบางชนิด ที่กระตุ้นให้ร่างกายสะสมไขมันเอาไว้ในหลอดเลือดมากเกินจำเป็น เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มสเตียรอยด์

ไขมันในเลือดสูงอาการแสดงเป็นอย่างไร?

ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงมักไม่มีอาการแสดงออกมาชัดเจน นอกจากเมื่อได้ไปเจาะเลือดตรวจระดับไขมันในเลือดที่สถานพยาบาล ก็จะพบความผิดปกติของระดับไขมันในเลือด

ขณะเดียวกัน ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูงบางรายก็มีอาการแสดงบางอย่างออกมาได้เช่นกัน ซึ่งเป็นผลกระทบจากการไหลเวียนของเลือดที่ไม่คล่องตัว เนื่องจากมีไขมันไปอุดตันอยู่ในหลอดเลือดมากเกินไป เช่น

  • เจ็บแน่นหน้าอก
  • ปวดท้อง
  • ปวดขา
  • ปวดไขข้อ
  • มีรอยปื้นหนาสีเหลืองบริเวณหนังตา ฝ่ามือ หรือข้อศอก

การตรวจสุขภาพประจำปีก่อนมีอาการแสดงที่ชัดเจน จะช่วยให้เตรียมรับมือได้ดีกว่า

ภาวะแทรกซ้อนของไขมันในเลือดสูง

ภาวะไขมันในเลือดสูงสามารถก่อให้เกิดภาวะหรือโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาในภายหลังได้มากมาย โดยที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • โรคหัวใจ
  • ภาวะหัวใจวาย
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคหลอดเลือดอุดตัน
  • อัมพฤกษ์
  • อัมพาต

การวินิจฉัยไขมันในเลือดสูง

การวินิจฉัยไขมันในเลือดสูงจะใช้เป็นวิธีเจาะเก็บตัวอย่างเลือด จากนั้นแพทย์จะรายงานระดับไขมันแต่ละชนิดที่พบในหลอดเลือดในผู้เข้ารับบริการทราบ

มีไขมันในเลือดสูงควรปฏิบัติตัวอย่างไร?

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
  • งดการสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อยที่สุด
  • หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันหรือน้ำตาลสูง เช่น
    • อาหารที่ปรุงผ่านการทอด เจียว หรือใช้น้ำมันปรุง
    • เนื้อสัตว์ติดมัน
    • เครื่องในสัตว์
    • ไข่แดง
    • อาหารทะเล
    • เบเกอรี ขนมที่ทำจากแป้ง น้ำตาล เนย
    • อาหารหรือขนมที่มีรสหวาน
    • ผลไม้รสหวาน
    • น้ำหวาน น้ำอัดลม
    • สุรา เบียร์
  • เพิ่มการกินอาหารประเภทผักใบเขียวหลากสี เพื่อเพิ่มกากใยและวิตามินที่มีประโยชน์ เสริมให้ร่างกายดูดซึมไขมันน้อยลง
  • หากอยากกินเนื้อสัตว์ ควรกินอาหารประเภทกลุ่มเนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน หรือนมพร่องมันเนยแทน
  • ออกกำลังกายอย่างเพียงพอทุกสัปดาห์ โดยควรออกวันละ 30 นาที สัปดาห์ 3-5 วันไม่ให้ขาด
  • หากมีโรคประจำตัว ให้กินยาตามที่แพทย์สั่งจ่ายอย่างเคร่งครัด
  • ระมัดระวังความเครียด หากรู้สึกถึงภาวะความเครียดสะสม ควรลองปรึกษาจิตแพทย์หรือหาวิธีผ่อนคลายความเครียดเพิ่มเติม
  • เดินทางกลับไปตรวจการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในหลอดเลือดกับแพทย์เป็นประจำ โดยสามารถสอบถามทางแพทย์เกี่ยวกับระยะเวลาความถี่ในการตรวจอีกครั้งได้

เน้นย้ำอีกครั้ง เมื่อพบปริมาณไขมันในเลือดสูง สิ่งที่ผู้ป่วยจะต้องพึงระวังให้มากก็คือ “พฤติกรรมการกิน” โดยเฉพาะรายการอาหารที่ได้กล่าวไปข้างต้นในข้อด้านบน

แพทย์อาจยังไม่ห้ามผู้ป่วยไม่ให้กินอาหารบางชนิดโดยเด็ดขาด แต่จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงกินให้น้อยที่สุด แต่หากปริมาณไขมันในตรวจพบอยู่ในระดับสูงมาก ร่วมกับผู้ป่วยมีโรคประจำตัวบางอย่างที่เกิดจากไขมันในเลือดสูง ในกรณีนี้แพทย์อาจสั่งห้ามผู้ป่วยไม่ให้กินอาหารบางชนิด

เพื่อป้องกันไม่ให้ตนเองมีปริมาณไขมันในเลือดสูงถึงขั้นต้องงดกินอาหารชนิดโปรด เราควรปรับพฤติกรรมการกินตั้งแต่ตอนนี้ อย่ากินอาหารที่มีไขมันหรือรสหวานจัดมากเกินไป ไม่ลืมที่จะออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ที่สำคัญ อย่าลืมไปตรวจสุขภาพกับแพทย์เป็นประจำทุกปี เพราะถึงแม้หลายคนจะมีพฤติกรรมชอบดูแลสุขภาพเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ยังอาจมีความเสี่ยงภาวะไขมันในเลือดสูงจากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้อีก


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top