สารต้านอนุมูลอิสระ ประโยชน์ กลไกการทำงาน อาหารที่มีสาร

สารต้านอนุมูลอิสระ จัดได้ว่าเป็นสารที่ทำหน้าที่ช่วยในการยับยั้งหรือลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระที่ให้โทษต่อร่างกาย หากมีสารชนิดนี้ในร่างกายเป็นจำนวนมาก จะทำให้ระบบการทำงานต่างๆ เสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นอาการเจ็บป่วย ระบบภูมิคุ้มกันถดถอย หน้าที่ของสารต้านอนุมูลอิสระจึงมีบทบาทสำคัญที่จะกำจัดเอาสารพิษเหล่านี้ออกไปจากร่างกายให้มากที่สุด ด้วยการรับเอาจากแหล่งอาหารที่เพียงพอ ก็จะช่วยทำให้ร่างกายมีสุขภาพที่ดีได้ยาวนานมากขึ้น

สารต้านอนุมูลอิสระคืออะไร ?

สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) หมายถึงสารที่ช่วยต่อต้านหรือกำจัดอนุมูลอิสระ (Free Radicals) ที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาออกซิเดชันภายในร่างกาย ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวสามารถพบได้จากหลากหลายรูปแบบตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนออกซิเดชั่นที่ทำให้เหล็กกลายเป็นสนิม น้ำมันพืชที่มีกลิ่นเหม็นหืน ผลแอปเปิลเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลคล้ำ

แต่หากเป็นในร่างกายเราจะพบได้จากการย่อยสลายโปรตีนและไขมัน ซึ่งมาจากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป การรับเอามลพิษทางอาการ ควันบุหรี่ เชื้อโรค ฝุ่นละออง การรับเอารังสียูวีจากแสงแดด หรือแม้กระทั่งการหายใจก็ทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันได้ กลายเป็นสารอนุมูลอิสระล่องลอยอยู่ภายในร่างกายและสร้างความเสียหายให้กับเซลล์ต่างๆ กลายเป็นอาการเจ็บป่วยและโรคภัยที่เราเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับแข็ง และโรคเบาหวาน เป็นต้น

สารต้านอนุมูลอิสระทำงานอย่างไร ?

หน้าที่ของสารต้านอนุมูลอิสระ ก็คือการเข้ากำจัดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย และยังทำหน้าที่ชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ต่างๆ ทำหน้าที่คงความอ่อนเยาว์ให้กับผิวและอวัยวะภายใน ดังนั้นบทบาทหลักของสารต้านอนุมูลอิสระ คือทำหน้าที่ “ลดการสร้าง” อนุมูลอิสระภายในร่างกาย และ “ลดอันตราย” ที่เกิดขึ้น

การเข้าไปทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระ จะเข้าไปจับกับตัวรับที่สามารถยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน สารอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นจะทำปฏิกิริยาต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ เข้าไปทำลายเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย สารต้านอนุมูลอิสระจะตรงเข้าขัดขวางปฏิกิริยาดังกล่าว เข้าจับกับสารอนุมูลอิสระ ยับยั้งไม่ให้เกิดการทำลายเซลล์ในปฏิกิริยาออกซิเดชัน และถูกออกซิไดซ์ โดยมีสารต้านอนุมูลอิสระเป็นตัวรีดิวซ์

ประโยชน์ของสารต้านอนุมูลอิสระที่มีต่อร่างกาย

  1. ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โดยทำหน้าที่ขับสารพิษที่เป็นต่อก่อให้เกิดมะเร็งออกจากร่างกาย
  2. ชะลอความเสื่อมสภาพของเซลล์ต่างๆ จึงช่วยลดความเสื่อมสภาพของร่างกาย ช่วยคงความอ่อนเยาว์ และมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น
  3. ยับยั้งการเจริญเติบโตและป้องกันการเกิดเนื้องอกในส่วนต่างๆ ของร่างกาย
  4. ช่วยป้องกันและลดการเกิดโรคภูมิแพ้ ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น
  5. ช่วยสร้างคอลลาเจนใต้ชั้นผิว ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อเยื่อที่จะทำให้ผิวเต่งตึง ลดรอยตีนกาและความหย่อนคล้อย
  6. ลดความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุ
  7. ช่วยปกป้องเซลล์ผิวหนังจากแสงแดด ความร้อน และรังสียูวีในอากาศ เปรียบเสมือนเกราะป้องกัน ไม่ให้ผิวเสื่อมสภาพ และยังเข้าไปทำหน้าที่ซ่อมแซมเซลล์ผิวไม่ให้หมองคล้ำอีกด้วย
  8. ช่วยลดการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคทางสมอง โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคกระดูกพรุน และโรคเรื้อรังที่พบในผู้ใหญ่วัยกลางคนไปจนถึงวัยสูงอายุ

สารต้านอนุมูลอิสระพบได้ในอาหารประเภทไหน ?

ประโยชน์ที่พบได้จากสารต้านอนุมูลอิสระที่ให้คุณค่าอย่างมหาศาลต่อร่างกาย นั่นก็เป็นเพราะว่าทุกครั้งที่เรามีการหายใจเข้าออก จะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันขึ้นมา การหายใจทุกๆ ครั้ง ร่างกายก็จะเสื่อมสภาพลงไปทุกวินาที ร่างกายจึงมีความแก่และเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง ความสามารถในการสร้างสารอนุมูลอิสระด้วยตัวเองจึงลดลงตามไปด้วย

ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องได้รับสารอาหารเหล่านี้จากแหล่งภายนอก โดยอาหารหลักๆ ที่เราสามารถพบสารต้านอนุมูลอิสระเป็นจำนวนมาก มีดังนี้

1. วิตามินซี

ในวิตามินซีมีสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นตัวช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนให้กับชั้นผิว ทำหน้าที่ซ่อมแซมกระดูกอ่อน เส้นเอ็น ผนังหลอดเลือดให้มีความแข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดการอักเสบ การติดเชื้อ และกำจัดแบคทีเรียและไวรัสไม่ให้เข้าสู่ร่างกายอีกด้วย อาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น ส้มเขียวหวาน, ฝรั่ง, มะขามป้อม, พริกชี้ฟ้าเขียว, มะละกอสุก เป็นต้น

2. วิตามินอี

ประโยชน์จากวิตามินอีจะช่วยป้องกันความเสื่อมสภาพของเซลล์จากแสงแดดและรังสียูวี ลดการเกิดริ้วรอยบนใบหน้าและตามผิวหนัง อีกทั้งยังช่วยเสริมการสร้างคอลลาเจนให้กับผิว อาหารที่มีวิตามินอีสูง เช่น งา, เมล็ดทานตะวัน, ฟักทอง, น้ำมันพืช, เนยเทียม, นม และข้าวโพด เป็นต้น

3. เบต้าแคโรทีน

สารต้านอนุมูลอิสระชนิดนี้ มีหน้าที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคในร่างกาย ลดความเสื่อมสภาพของเซลล์ต่างๆ และซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และที่สำคัญยังมีหน้าที่กำจัดสารก่อมะเร็ง ยับยั้งเซลล์มะเร็งให้น้อยลง อาหารที่มีเบต้าแคโรทีนสูง เช่น แครอท, ฟักทอง, แคนตาลูป, มะละกอ, ผักที่มีสีสันสดใส และมะเขือเทศ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารอาหารที่สำคัญ แม้ร่างกายจะสามารถสร้างขึ้นมาได้เองตามธรรมชาติ แต่กลับไม่เพียงพอกับปริมาณของสารอนุมูลอิสระที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การได้รับจากอาหารที่มีประโยชน์ร่วมด้วย จึงจะช่วยให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ได้อย่างที่ต้องการ


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจระดับฮอร์โมน

Scroll to Top