การแพทย์แผนจีน (Traditional chinese medicine) เป็นศาสตร์การรักษาของจีนทีมีมานานกว่าพันปี ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ในประเทศไทยก็เช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่ามีคลินิกแพทย์แผนจีนในโรงพยาบาลต่างๆ หรือมีโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนโดยเฉพาะเลยทีเดียว มีการศึกษาทางคลินิกและรับรองจากศูนย์การแพทย์ผสมผสานและสุขภาพองค์รวมแห่งชาติ (National center of complementary and integrative health: NCCIH) ว่า การแพทย์แผนจีนนี้เป็นการรักษาทางเลือกที่รักษาอาการได้หลายอย่าง
การแพทย์แผนจีนประกอบไปด้วยวิธีการรักษาที่หลากหลาย เช่น การฝังเข็ม การครอบแก้ว การใช้สมุนไพร เป็นต้น
ในบทความนี้จะเน้นที่การฝังเข็มและครอบแก้ว ซึ่งเป็น 2 ศาสตร์ที่นิยมกันมาก
ฝังเข็ม คืออะไร?
การฝังเข็ม (Acupuncture) คือเทคนิคการรักษาที่ช่วยกระตุ้นอวัยวะของร่างกายด้วยการใช้เข็มเล็กๆ แทงผ่านผิวหนังตามจุดเฉพาะต่างๆ ที่มีกว่า 350 จุดทั่วร่างกาย เพื่อรักษาสมดุลภายใน
สมดุลของร่างกายจะเรียกว่า ฉี (Qi) ซึ่งประกอบไปด้วยพลังหยิน (Yin) และหยาง (Yang) ซึ่งตามแนวทางแพทย์แผนจีนแล้ว ร่างกายที่ไม่สมดุลเป็นสาเหตุของอาการป่วย ปวดเมื่อย หรือไม่สบาย การฝังเข็มก็เป็นไปเพื่อทำให้เลือดลมเดินดี พลังในร่างกายกลับมาสมดุลดังเดิมนั่นเอง
การฝังเข็มใช้สำหรับอาการอะไรบ้าง?
การฝังเข็มอาจมีส่วนช่วยในการไหลเวียนของเลือด แพทย์แผนจีนจึงเชื่อว่าการฝังเข็มสามารถบรรเทาอาการต่างๆ ได้ ดังนี้
- บรรเทาอาการปวดจากออฟฟิศซินโดรม (คอ หลังส่วนล่าง)
- บรรเทาอาการปวดข้อเข่า สะโพก เคล็ดขัดยอก
- บรรเทาอาการเอ็นข้อศอกด้านนอกอักเสบ
- บรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน ปวดใบหน้า
- บรรเทาอาการภูมิแพ้
- รักษาสมดุลความดัน
- รักษาความผิดปกติในกระเพาะอาหาร
อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาของแต่ละคนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อาการก่อนการรักษา ระยะเวลาการรักษา ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
ครอบแก้ว คืออะไร
การครอบแก้ว (Cupping) คืออีกหนึ่งเทคนิคการรักษาของแพทย์แผนจีน โดยใช้แก้วครอบบริเวณแผ่นหลังและเกิดแรงดูดผิวหนัง ทำให้เกิดเลือดคั่ง (Hyperemia) บริเวณเนื้อเยื่อมากขึ้น หรือสามารถใช้ห้ามเลือด (Hemostasis) ก็ได้
กระบวนการนี้อาจช่วยให้การไหลเวียนของเลือดเพิ่มมากขึ้นหรือลดลง และการครอบแก้วสามารถทำได้ทั้งแบบแห้งและแบบน้ำมันอโรม่ากลิ่นหอม
ครอบแก้ว ช่วยอะไร?
การครอบแก้วอาจมีส่วนช่วยในการรักษาได้หลายอย่าง ดังนี้
- อาจช่วยให้เพิ่มการไหลเวียนของเลือด
- อาจช่วยลดอาการปวด
- อาจมีส่วนช่วยบรรเทางูสวัด เริม และสิว
- อาจมีส่วนช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังจากการออกกำลังกาย
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มากพอที่จะยืนยันผลการรักษาที่แน่ชัดของการครอบแก้ว ฉะนั้นการครอบแก้วจึงยังเป็นการรักษาทางเลือก และอาจพิจารณาใช้ร่วมกับการฝังเข็ม