คราบหินปูนเป็นหนึ่งในปัญหากวนใจของใครหลายคนเพราะหากสะสมในช่องปากเป็นจำนวนมาก นอกจากจะทำให้ฟันเหลือง ฟันสีคล้ำลง และมีกลิ่นปากแล้ว ยังอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพฟันด้านอื่นๆ ตามมาด้วย
ทันตแพทย์ส่วนใหญ่จึงแนะนำให้ขูดหินปูนอย่างสม่ำเสมอเพื่อสุขภาพช่องปากและฟันที่แข็งแรง แต่หลายคนอาจมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขูดหินปูนว่า มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน หากไม่ขูดหินปูนจะเกิดปัญหาใดตามมา
สารบัญ
หินปูนคืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?
หินปูน เรียกทางการแพทย์อีกอย่างหนึ่งว่า “หินน้ำลาย” เกิดจากคราบจุลินทรีย์ หรือเศษอาหารที่สะสมอยู่ตามซอกฟันเนื่องจากเป็นบริเวณที่ทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง
เมื่อเวลาผ่านไปคราบเหล่านี้จะจับกับเชื้อโรคกระทั่งตกตะกอนกลายเป็นของแข็งเกาะอยู่บนผิวฟัน ซอกเหงือก ซอกฟัน และขอบฟัน
หินน้ำลายในระยะแรกนั้นยังพอใช้แปรงสีฟันแปรงออกเองได้ แต่เมื่อใดที่มีแร่ธาตุจากน้ำลายมาผสมด้วยจะกลายเป็นคราบหินปูนที่มีลักษณะเป็นของแข็ง มีสีเหลือง น้ำตาล ไปจนถึงสีดำ ไม่สามารถขจัดออกได้เอง ต้องให้ทันตแพทย์ขูดหินปูนออกไปเท่านั้น
หินปูนพบมากและบ่อยในฟันหน้าล่างด้านใน รวมทั้งบริเวณเหนือเหงือก หรือใต้ขอบเหงือก
นอกจากหินปูนจะทำให้สูญเสียความมั่นใจเพราะทำให้ฟันมีคราบเหลือง ไม่สวยงามแล้ว หินปูนยังเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคและแบคทีเรียซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาด้านสุขภาพเหงือกและฟันมากมาย เช่น กลิ่นปาก ฟันผุ ฟันโยก เหงือกอักเสบ เหงือกร่น เลือดออกง่ายขณะแปรงฟัน หากมีอาการรุนแรงก็มีโอกาสสูญเสียฟันได้ในที่สุด
การขูดหินปูนคืออะไร?
การขูดหินปูนคือ การขจัดหินปูนออกจากช่องปากด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีขั้นตอนดังนี้
- ตรวจสุขภาพฟัน ทันตแพทย์จะตรวจสุขภาพฟันโดยละเอียดว่า มีหินปูนมากน้อยเพียงใด มีฟันผุ หรือปัญหาทางช่องปากอื่นๆ หรือไม่ เพื่อประเมินการรักษา
- ขูดหินปูน ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือขจัดหินปูนแบบที่มีแรงสั่นสะเทือนความถี่สูงเพื่อทำให้หินปูนหลุดออก จากนั้นจะใช้เครื่องมือชิ้นเล็ก (Hand instruments) ขูดหินปูนโดยละเอียดอีกครั้ง
- ทำความสะอาดฟันและเคลือบฟลูออไรด์ หลังขูดหินปูนเสร็จทันตแพทย์จะให้บ้วนปากเพื่อล้างคราบหินปูนออก จากนั้นจะทำความสะอาดฟันด้วยไหมขัดฟันอีกครั้งและเคลือบฟลูออไรด์เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ
เลือดออกตอนขูดหินปูนจะเป็นอะไรหรือไม่?
ตามปกติการขูดหินปูนจะไม่รู้สึกเจ็บ ไม่จำเป็นต้องฉีดยาชา แต่สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านช่องปาก เช่น มีอาการเสียวฟันมากอยู่แล้ว หรือเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ที่มีหินปูนอยู่ในร่องลึก อาจจำเป็นต้องฉีดยาชาเพื่อบรรเทาอาการ
โดยทั่วไปเครื่องมือที่ใช้ในการขูดหินปูนจะไม่ได้สัมผัสกับผิวฟันโดยตรงจึงไม่มีผลต่อเนื้อฟัน ไม่ทำให้ฟันสึกกร่อน แต่เนื่องจาก ส่วนใหญ่คนไข้ที่มีหินปูน จะมีเหงือกอักเสบ เลือดออกง่ายอยู่แล้ว การขูดหินปูนจึงอาจทำให้เลือดออกบ้าง
ส่วนปริมาณเลือดที่ออกนั้นจะมาก หรือน้อยตามอาการ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะเลือดสามารถหยุดไหลได้เองในภายหลัง
ยกเว้นผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด หรือมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด ต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนทำการรักษาทุกครั้ง
นอกจากนี้หลังขูดหินปูนอาจมีอาการเสียวฟันบ้าง แต่จะหายได้เองภายใน 2-3 วัน บางรายที่มีหินปูนจำนวนมาก อาจมีอาการเจ็บเหงือก เหงือกบวมได้ เพราะอย่างที่กล่าวไปว่าจุลินทรีย์ได้ปล่อยกรดทำลายเนื้อฟันและเหงือกไปแล้ว หากมีอาการดังกล่าวก็ควรปรึกษาทันตแพทย์ถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสม
จำเป็นต้องขูดหินปูนหรือไม่? ควรทำปีละกี่ครั้ง?
ทันตแพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้ขูดหินปูนเพื่อสุขภาพปากและฟันที่แข็งแรงเพราะหินปูนเป็นต้นเหตุสำคัญของโรคทางช่องปากหลายโรค ดังนั้นจึงแนะนำว่า ควรขูดหินปูนทุก 6 เดือน
แต่หากคุณมีปัญหาด้านช่องปาก หรือฟันอยู่แล้ว เช่น มีอาการของร่องลึกปริทันต์ ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ขูดหินปูนบ่อยครั้งขึ้น อาจเป็นทุก 3 – 4 เดือน
ขูดหินปูนใช้เวลาทำนานไหม?
โดยปกติการขูดหินปูนจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับปริมาณหินปูนและการเรียงตัวของฟันของแต่ละบุคคล
หลังขูดหินปูน มีวิธีปฏิบัติ หรือดูแลตัวเองอย่างไรบ้าง?
หลังขูดหินปูนจะรู้สึกว่า ปากโล่ง สบาย สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติทันที แต่บางรายอาจมีอาการเสียวฟันเล็กน้อย หากมีอาการนี้ไม่ต้องกังวลเพราะอาการจะหายไปเองใน 2-3 วัน
ถ้ามีอาการเสียวฟันหลังขูดหินปูน อาจงดดื่มน้ำเย็น งดรับประทานน้ำแข็ง เพื่อไม่กระตุ้นให้เกิดอาการ นอกจากนี้ก็ไม่มีข้อใดต้องปฏิบัติเป็นพิเศษ เพียงแค่แปรงฟันเช้า-เย็น และใช้ไหมขัดฟันทุกวันก็เพียงพอ
ขูดหินปูนมีข้อห้ามไหม ขูดได้ทุกคนหรือเปล่า?
ตามปกติทุกคนสามารถขูดหินปูนได้โดยไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรง แต่ก็มีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ควรระวังในการขูดหินปูนเช่นกัน ดังนี้
- กลุ่มที่มีปัญหาเรื่องเลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก เนื่องจากการขูดหินปูนอาจมีเลือดออกบ้าง จึงอาจส่งผลข้างเคียงตามมาได้ โดยโรคที่ควรระวังในการขูดหินปูน ได้แก่ โรคเกล็ดเลือดต่ำ หรือโรคลูคีเมีย โรคไต และผู้ที่มีประวัติเคยล้างไต (เพราะจะได้รับยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด) ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจและการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งได้รับยาละลายลิ่มเลือด
- กลุ่มที่อาจแสดงอาการในระหว่างการทำฟัน ได้แก่ โรคหัวใจอาจมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยใจสั่น โรคหอบหืดอาจมีอาการหอบเหนื่อย ต้องมียาพ่นประจำ และได้รับยา Steriod โรคลมชักและโรคความดันโลหิตสูง ต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนทำการรักษาทุกครั้ง
- กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งอาจมีผลกระทบทำให้แผลหายยาก
- กรณีเป็นโรคปริทันต์จะไม่สามารถขูดหินปูนแบบปกติได้ จำเป็นต้องรักษาโรคเหงือก เกลารากฟันด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายการรักษาในส่วนนี้จะแตกต่างกันไปตามแต่ละคลินิกทันตกรรม
หากคุณเข้าข่าย 3 กลุ่มนี้ ควรแจ้งทันตแพทย์ก่อนเพื่อหาวิธีการขูดหินปูนที่เหมาะสม
ส่วนผู้ที่อยู่ระหว่างการจัดฟันแบบโลหะและต้องการขูดหินปูนก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยทันตแพทย์อาจจะถอดลวดจัดฟันออกก่อน แล้วจึงจะเริ่มขูดหินปูนได้
เมื่อขูดเสร็จเรียบร้อย ทันตแพทย์ก็จะใส่ลวดจัดฟันให้คุณใหม่อีกครั้ง หรือไม่ต้องถอดลวด ก็สามารถขูดหินปูนได้เช่นกัน
หากอยู่ระหว่างจัดฟันแบบใส เมื่อต้องการขูดหินปูนออกก็เพียงแค่ถอดเครื่องออกด้วยตนเอง เหมือนตอนรับประทานอาหาร หรือทำความสะอาดเครื่องมือเท่านั้นเอง
เมื่อเห็นความสำคัญของการขูดหินปูน และอันตรายจากคราบหินปูนกันแล้ว อย่าลืมขูดหินปูนอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 6 เดือน เพื่อสุขภาพปากและฟันที่แข็งแรง