หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อ PrEP กับ PEP กันมาบ้างแล้ว ซึ่งเป็นยาที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และถึงแม้ว่ามองเผินๆ จะมีชื่อที่คล้ายกัน แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว PrEP กับ PEP มีความแตกต่างกันอยู่
PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) หมายถึงยาต้านเชื้อ HIV ที่ใช้ก่อนสัมผัสเชื้อ ส่วน PEP (Post-Exposure Prophylaxis) จะใช้หลังจากที่สัมผัสเชื้อ HIV มาแล้วไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งจะมีรายละเอียดอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป
สารบัญ
PrEP คืออะไร?
PrEP หรือ Pre-Exposure Prophylaxis คือยาสำหรับป้องกันการติดเชื้อ HIV ใช้กินก่อนที่จะสัมผัสกับเชื้อ HIV
การกินยา PrEP ต้องกินวันละ 1 เม็ด ในเวลาเดียวกันทุกวัน และควรกินอย่างน้อย 7 วันก่อนได้รับความเสี่ยง เพื่อให้ป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากถึง 99%
โดยส่วนใหญ่แพทย์จะจ่ายยา PrEP ให้พอต่อการกินในระยะเวลา 3 เดือน และควรกลับมาตรวจหาเชื้อ HIV ทุกๆ 3 เดือน
ถึงแม้ว่าจะกินยา PrEP แต่ก็ต้องสวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพราะยา PrEP ป้องกันได้แค่เชื้อ HIV แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้
PEP คืออะไร?
PEP หรือ Post-Exposure Prophylaxis คือยาต้านเชื้อ HIV แบบฉุกเฉินสำหรับผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ HIV มาแล้วไม่เกิน 72 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หรืออุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน ซึ่งสามารถป้องกันได้มากถึง 80%
ยา PEP จำเป็นต้องกินต่อเนื่องติดต่อกันนาน 28 วัน ในเวลาเดียวกัน ซึ่งยิ่งถ้าได้รับยา PEP เร็วมากเท่าไหร่ โอกาสในการป้องกันการติดเชื้อ HIV ก็มากเท่านั้น และหลังจากกินครบจำนวนวันที่กำหนดแล้ว ต้องตรวจเชื้อ HIV อีกครั้ง
ยา PEP ถือเป็นยาต้านการติดเชื้อ HIV แบบฉุกเฉิน ไม่สามารถการันตีได้ว่าคุณจะปลอดภัยจากการติดเชื้อ HIV ได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมร่วมด้วย เช่น สวมใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่เข็มฉีดยาร่วมกับคนอื่น ซึ่งถ้าหากไม่มั่นใจว่าร่างกายจะได้รับเชื้อ HIV หรือไม่ ควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์ทันที
PrEP เหมาะกับใคร?
การใช้ยา PrEP สามารถใช้ป้องกันการติดเชื้อ HIV ได้ โดยจะเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีเชื้อ HIV มาก่อน รวมถึงกลุ่มคนเหล่านี้จำเป็นต้องทานยา PrEP
- ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือทวารหนักในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
- ผู้ที่มีคู่นอนติดเชื้อ HIV
- ผู้ที่ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์
- ผู้ที่มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย เช่น มีคู่นอนหลายคน
- ผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยา หรืออุปกรณ์ฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
PEP เหมาะกับใคร?
สำหรับยา PEP ใช้กับผู้ที่ไม่มีเชื้อ HIV มาก่อนเหมือนกัน แต่ถ้ารู้ตัวหรือคาดว่าสัมผัสกับเชื้อ HIV มาแล้วในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง หลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับยา PEP โดยเร็วที่สุด
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือทวารหนักโดยไม่สวมใส่ถุงยางอนามัย
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด หรือทวารหนัก แล้วเกิดอุบัติเหตุถุงยางอนามัยหลุด ฉีกขาด แตก
- ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยา อุปกรณ์เตรียมยาต่างๆ ร่วมกับผู้อื่น
- ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุจากการโดนเข็มฉีดยาทิ่มตำ เช่น บุคลากรสาธารณสุข
ประโยชน์ของการใช้ยา PrEP
PrEP เป็นยาป้องกันการติดเชื้อ HIV ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 99% โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงการติดเชื้อ HIV จากการมีเพศสัมพันธ์
ในขณะที่ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ HIV จากการใช้เข็มฉีดยา จะสามารถป้องกันได้อย่างน้อย 74% ทั้งนี้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HIV มากน้อยนั้นขึ้นอยู่กับการกินยาที่ต่อเนื่อง และถูกต้องเหมาะสมตามที่แพทย์สั่ง
ประโยชน์ของการใช้ยา PEP
ยา PEP สามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV แบบฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากถึง 80% หลังจากสัมผัสเชื้อ HIV มาโดยตั้งใจ หรือโดยอุบัติเหตุก็ตาม เช่น การถูกล่วงละเมิดทางเพศ เข็มฉีดยาทิ่มตำ โดยจำเป็นต้องอยู่ระยะเวลา 72 ชั่วโมงหลังสัมผัสเชื้อ ซึ่งจำเป็นต้องกินยา PEP ต่อเนื่องติดต่อกัน 28 วันตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HIV สูงสุด
PrEP กับ PEP ต่างกันอย่างไร?
ถ้าถามว่า PrEP กับ PEP แตกต่างกันอย่างไร สรุปง่ายๆ ได้ว่า ยาทั้งสองตัวนี้สามารถต้านการติดเชื้อ HIV ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะมีวิธีการกินที่ต่างกัน คือ PrEP กินก่อนเสี่ยง ส่วน PEP กินหลังเสี่ยง
ใครที่คิดว่าตัวเองจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ HIV ควรปรึกษาแพทย์ ตรวจร่างกาย ตรวจคัดกรองโรคต่างๆ เพื่อจะได้มีแนวในการป้องกันการติดเชื้อ HIV อย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป
ยา PrEP และ PEP เป็นยาต้านการติดเชื้อ HIV เท่านั้น ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ได้ ทางที่ดีควรสวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งไม่ว่าจะทางช่องคลอด หรือทวารหนักก็ตาม รวมถึงพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ HIV จะดีที่สุด
ผลข้างเคียงของการใช้ PrEP และ PEP ระยะสั้น
- อาการคลื่นไส้ ซึ่งสามารถหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์แรกหลังจากกินยา PrEP หรือ PEP แนะนำให้กินยาระหว่างหรือหลังมื้ออาหารไม่นานนัก จะช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ในระดับหนึ่ง
- อาการปวดศีรษะ อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากขณะนั้นร่างกายขาดน้ำ พักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งระหว่างนี้สามารถกินยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรง หรือมีอาการนานมากกว่า 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
- อาการท้องเสีย สามารถเกิดขึ้นในช่วงแรกหลังจากรับยา PrEP หรือ PEP แต่จะดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ หากอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง หากกินยาพร้อมมื้ออาหารจะช่วยลดโอกาสการท้องเสียได้ดีกว่ากินหลังมื้ออาหาร
ผลข้างเคียงของการใช้ PrEP และ PEP ระยะยาว
- สุขภาพตับ ถ้ากินยา PrEP หรือ PEP มายาวนาน จะแสดงอาการทางผิวหนัง สีตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ปัสสาวะสีเข้มขึ้น อุจจาระสีอ่อน หรืออาจมีอาการเบื่ออาหาร
- สุขภาพไต ถือเป็นปัญหาที่พบได้น้อย แต่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งก่อนจ่ายยา PrEP หรือ PEP แพทย์จะตรวจสุขภาพหรือค่าไตก่อน
- สูญเสียมวลกระดูก หรือโรคกระดูกพรุน
ยา PrEP และ PEP ต่างก็เป็นยาต้านการติดเชื้อ HIV ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะต้องกินตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ก็ควรปฏิบัติตัวให้เหมาะสม ไม่เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อ HIV เช่น สวมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น หมั่นตรวจร่างกายว่าแข็งแรงดีหรือไม่ ตรวจพบเจอเชื้อ HIV รึเปล่า ซึ่งควรเข้ารับการตรวจซ้ำทุกๆ 3 เดือน