ไขมันในเลือดสูง ดูแลตัวเองอย่างไรดี

ผู้มีไขมันในเลือดสูง หมายถึง ผู้ที่รับการตรวจแล้วพบว่าระดับไขมันในเลือดสูงกว่าค่าปกติที่ถูกกำหนดขึ้น ซึ่งค่าปกตินี้ได้มาโดย การเก็บข้อมูลทางสถิติจากระดับไขมันในเลือดของบุคคลทั่วไป โดยพบว่า เมื่อมีค่าเกินระดับหนึ่งแล้ว บุคคลนั้นจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น โรคนี้มักพบในคนเชื้อชาติตะวันตกมากกว่าเอเชีย และพบในคนที่อาศัยในเขตเมืองมากกว่าชนบท สำหรับในประเทศไทย มีแนวโน้มที่จะตรวจพบโรคนี้มากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต การเข้าถึงการตรวจสุขภาพที่มากขึ้น และการบริโภคอาหาร

ไขมันในเลือดสูงดูจากค่าผลเลือดใดได้บ้าง?

  1. ระดับคอเลสเตอรอล (Total cholesterol) สูงกว่า 200 มก./ดล.
    คอเลสเตอรอลที่วัดได้จากเลือด ถูกนำมาเป็นตัวแทนของคอเลสเตอรอลทั้งหมดของร่างกายเพื่อใช้ในการวินิจฉัย ทางการแพทย์แบ่งชนิดของคอเลสเตอรอลไว้ตามความหนาแน่น
  2. ระดับไขมันชนิดเลว (LDL-C) สูงกว่า 130 มก./ดล.
    ไขมันชนิดเลว (LDL-C) มีความหนาแน่นต่ำ เป็นคอเลสเตอรอลที่ไปสะสมตามผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบและแข็ง ซึ่งเป็นสาเหตุในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และหลอดเลือดสมองตีบ
  3. ระดับไขมันชนิดดี (HDL-C) ต่ำกว่า 40 มก./ดล.
    ไขมันชนิดดี (HDL-C) มีความหนาแน่นสูง ทำหน้าที่นำไขมันไปทำลายที่ตับ ช่วยลดการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หากมีจำนวนน้อยเกินไปส่ง ผลเสียต่อร่างกายได้
  4. ระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) สูงกว่า 150 มก./ดล.
    ไตรกลีเซอไรด์เป็นไขมันสะสมในร่างกาย หากพบว่ามีมากเกินไป นั่นแสดงว่าจำเป็นต้องลดน้ำหนัก จำกัดการรับประทานอาหาร ของหวานและแอลกอฮอล์

สาเหตุของการเกิดไขมันในเลือดสูง

ไขมันในเลือดสูงเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค กิจวัตรประจำวัน และพันธุกรรม ภาวะไขมันในเลือดสูงจะดำเนินไปเรื่อยๆ โดยไม่มีอาการ ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะส่งผลเสียก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) และโรคหัวใจขาดเลือดตามมาได้ นอกจากนี้ในงานวิจัยพบว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคเหล่านี้สูง ควรได้รับยาช่วยลดระดับไขมันชนิดเลวโดยเร็ว เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน

วิธีการดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อตรวจพบไขมันในเลือดสูง

เมื่อตรวจพบไขมันในเลือดสูง สามารถปฏิบัติตัวเพื่อให้สุขภาพดีขึ้น ดังนี้

  1. หากสูบบุหรี่อยู่ ควรเลิกสูบบุหรี่
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยการวิ่ง เดินเร็ว สามารถช่วยลดปริมาณไขมันในเลือด และเพิ่มระดับของ HDL ได้อย่างดี โดยควรออกกำลังกายอย่างต่ำครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง
  3. สังเกตความเจ็บป่วยของตนเอง และไม่ละเลยการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำ เพื่อหาโรคประจำตัวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ตรวจดูค่าการทำงานของไต
  4. ในผู้มีน้ำหนักเกิน ควรลดน้ำหนัก
  5. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดพฤติกรรมการบริโภคอาหารมากเกินควร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวจำนวนมากเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมปัง โดนัท คุกกี้ เค้ก

เมื่่อสงสัยว่าอาจมีไขมันในเลือดสูง หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือด แนะนำให้งดน้ำงดอาหาร 8 ชั่วโมงเพือไปเจาะเลือดให้แพทย์ช่วยวินิจฉัย ทั้งนี้ การดูแลตนเองเมื่อตรวจพบไขมันในเลือดสูงไม่ใด้หวังเพียงเพื่อลดระดับไขมันที่ตรวจได้เท่านั้น แต่รวมไปถึงการดูแลตนเองเพื่อลดการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดด้วย

เป้าหมายในการลดระดับไขมันในเลือดของแต่ละบุคคลไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล หากมีความเสี่ยงมากหรือมีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องหลายโรค อาจจะต้องลดระดับไขมันในเลือดให้ต่ำกว่าผู้อื่น

Scroll to Top