รวมคำถามที่หลายคนมักสงสัยเกี่ยวกับ ภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้อาหาร เช่น สาเหตุ วิธีการตรวจ ความจำเป็นในการตรวจ ช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับตรวจภูมิแพ้ ฯลฯ ตอบโดย พญ. กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสาธารณสุขศาสตร์ โรงพยาบาลพญาไท 2
ภูมิแพ้อากาศ ภูมิแพ้อาหาร มีสาเหตุต่างกันหรือไม่?
ไม่ต่างกัน โดยหลักแล้วอาการแพ้เกิดจากร่างกายเกิดจากร่างกายมีการต่อต้านสารหรืออาหารนั้นๆ จนเม็ดเลือดขาวปล่อยฮิสตามีนเข้าไปกำจัดสิ่งแปลกปลอม ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกาย เกิดได้ทั้งจากกรรมพันธุ์หรือจากการสะสมมาเป็นเวลาหนึ่งจนเกิดอาการ ซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเกิดจากการสะสมแอนติเจนหรือสิ่งแปลกปลอมภายนอกเข้ามาในร่างกายมากขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่ออายุถึงระดับหนึ่ง ร่างกายก็เริ่มมีการต่อต้านขึ้นบางอย่าง ภูมิแพ้มีสามประเภทคือ ภูมิแพ้ผิวหนัง เกิดจากการสัมผัส เช่น แพ้ถุงมือ แพ้แชมพูบางตัว ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ส่งผลทำให้มีอาการฟึดฟัด ไอจาม หรือหอบหืด และภูมิแพ้อาหารที่แบ่งเป็นภูมิแพ้จริงกับภูมิแพ้อาหารแฝง
การตรวจภูมิแพ้จำเป็นไหม เพราะเหตุใด?
กรณีตรวจภูมิแพ้ แพทย์มักแนะนำให้ตรวจเมื่อปรากฏอาการ โดยเฉพาะอาการแพ้เฉียบพลัน เช่น ปากบวมเจ่อ ตาบวม หรือมีอาการอื่นๆ เรื้อรังที่หาสาเหตุในทางอายุรกรรมไม่ได้ เช่น โรคกระเพาะ กรดไหลย้อน ลมแน่น เป็นสิว ไมเกรน ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ตรวจเมื่อพบอาการแพ้เกิดขึ้น หากต้องการตรวจโดยที่ไม่มีอาการใดๆ ก็สามารถตรวจได้ แต่ผลที่ได้ก็จะเป็นศูนย์ หมายความว่าไม่มีการแพ้ใดๆ เลย
igG กับ igE คืออะไร ต่างกันอย่างไร?
ทั้งสองตัวคือแอนติบอดีหรือสารที่ร่างกายปล่อยออกมาเพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือสารก่อภูมิแพ้ และเรามักได้ยินชื่อสองตัวนี้ในการตรวจภูมิแพ้แบบเจาะเลือด โดย IgE เป็นแอนติบอดีสำหรับอาการแพ้อย่างเฉียบพลัน เช่น ปากบวมเจ่อ ตาบวม ผื่นขึ้น บวม แดง ร้อน เป็นต้น ขณะที่ IgG เป็นแอนติบอดีสำหรับอาการแพ้ที่ไม่เฉียบพลัน แต่เรื้อรัง เช่น มีไมเกรน สิวเห่อขึ้นตามร่างกายหรือใบหน้า ปวดประจำเดือนง่าย มีถุงน้ำในรังไข่ เป็นต้น ซึ่งการตรวจภูมิแพ้แบบเจาะเลือดเพื่อดู IgE และ IgG เป็นการค้นหาสาเหตุของอาการแพ้เหล่านั้น
สัญญาณแบบไหนแสดงว่าเราควรเข้ารับการตรวจภูมิแพ้ ถ้ายังไม่มีอาการ สามารถตรวจได้หรือไม่
หากสัมผัสหรือรับประทานอะไรแล้วเกิดอาการผิดปกติทางร่างกาย เช่น ผื่นแดง ผื่นคัน อาการทางเดินหายใจที่ทำให้หายใจลำบาก เป็นต้น หรือแม้กระทั่งหากรู้สึกว่าสุขภาพไม่ดี แม้จะผ่านการรักษามาแล้วหลายวิธีแต่ยังไม่ตอบโจทย์ การตรวจภูมิแพ้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจช่วยค้นหาสาเหตุและนำไปสู่การรักษาที่ถูกต้องได้
การตรวจภููมิแพ้ มีวิธีใดบ้าง แต่ละวิธีแตกต่างกันอย่างไร?
การตรวจภูมิแพ้แบ่งออกเป็น 3 วิธีคือ วิธีเจาะเลือด วิธีสะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test) และวิธีใช้แผ่นทดสอบ (Patch Test) โดยการเลือกใช้แต่ละวิธีจะขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ แบ่งตามประเภทภูมิแพ้คือภูมิแพ้ผิวหนัง ภูมิแพ้ทางเดินหายใจ และภูมิแพ้อาหาร สำหรับการเจาะเลือด จะแบ่งเป็นการตรวจ IgE สำหรับภูมิแพ้ที่มีอาการเฉียบพลัน และการตรวจ IgG สำหรับภูมิแพ้ที่มีอาการสะสมเรื้อรังโดยหาสาเหตุจากการตรวจทางอายุรกรรมทั่วไปไม่ได้ ส่วนการตรวจโดยการทดสอบทางผิวหนัง แบ่งออกเป็นวิธีสะกิดผิวหนังและวิธีใช้แผ่นทดสอบ วิธีสะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test) เป็นการใช้เข็มเล็กๆ สะกิดบริเวณท้องแขนแล้วจะหยดสารก่อภูมิแพ้ต่างๆ ส่วนมากเป็นการตรวจภูมิแพ้ที่ทำให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ ให้ผลตรวจเร็ว วิธีใช้แผ่นทดสอบ (Patch Test) เป็นการแปะแผ่นที่มีสารที่ทำให้แพ้ต่างๆ เช่น นิกเกิ้ล พาราเบน ฟอร์มาลดีไฮด์ ลงบนผิวหนังบริเวณแผ่นหลัง แพทย์จะอ่านผลภายในเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง และ 72 ชั่วโมง ใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะสารก่อภูมิแพ้บางตัวอาจให้ผลล่าช้า ส่วนมากเป็นการตรวจสำหรับภูมิแพ้ผิวหนัง ทั้งนี้ วิธีการตรวจที่ใช้จะขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา โดยดูจากประวัติครอบครัวและประวัติทางสุขภาพ
การตรวจตรวจสารก่อภูมิแพ้ ยิ่งเยอะยิ่งดี จริงหรือ?
สำหรับแพทย์แล้วจะพิจารณาจากอาการเป็นหลัก ให้รายการตรวจครอบคลุมสิ่งที่คิดว่าร่างกายน่าจะแพ้เท่านั้น หากแพทย์พิจารณาว่า อาการของผู้รับบริการเหมาะกับการตรวจหลายชนิดก็ถือว่าคุ้มค่า
ใครควรเข้ารับการตรวจภูมิแพ้บ้าง ตรวจเมื่ออายุเท่าไรจึงจะเหมาะสม?
อาการภูมิแพ้เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ ดังนั้น การตรวจภูมิแพ้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุ แต่ขึ้นอยู่กับอาการที่เกิดขึ้น
การตรวจภูมิแพ้ในเด็กกับผู้ใหญ่ มีวิธีการหรือขั้นตอนแตกต่างกันหรือไม่?
ไม่แตกต่างกัน เพียงแค่สำหรับวิธีที่ต้องใช้น้ำยาหยดลงบนผิวหนังอย่างวิธีสะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test) จะใช้ปริมาณน้ำยาน้อยกว่า เพราะพื้นที่ผิวหนังของเด็กมีน้อยกว่าผู้ใหญ่
ผลการตรวจภูมิแพ้ที่ได้มา สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง?
แพทย์จะให้คำแนะนำโดยขึ้นอยู่กับอาการ หากเป็นอาการแพ้เฉียบพลัน แพทย์จะให้งดเว้นการรับประทานสิ่งนั้นเลย เพราะมีโอกาสที่จะเกิดภูมิแพ้เฉียบพลันและความดันตกได้ หรือควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งใดบ้างที่มีส่วนผสมของสารก่อภูมิแพ้เหล่านั้น
ทุกคำถาม ตอบโดย พญ. กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสาธารณสุขศาสตร์ โรงพยาบาลพญาไท 2